E-DUANG : อนิจจัง แห่งอำนาจ คสช. ลักษณะพลวัตแห่งอำนาจ

ปรากฏการณ์ “สภาล่ม” ไม่เพียงแต่ยืนยันเอกภาพที่กำลังมีปัญหาภายในรัฐบาล หากแต่ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงลักษณะอันมิได้ดำ รงอยู่อย่างเสถียรของอำนาจ

ทั้งๆที่เมื่อประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 มีความมั่นใจในอำนาจเป็นอย่างสูง

เพราะมั่นใจในอำนาจจึงได้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

คำถามที่ตามมาก็คือ หากเปรียบเทียบอำนาจของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2562 กับอำนาจของรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร

เหมือนเดิมหรือว่าแตกต่างกัน

คำตอบจากพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นอย่างหนึ่ง คำตอบจากพรรคพลังประชารัฐก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

 

อย่าว่าแต่ความแตกต่างระหว่างรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษ ภาคม 2557 กับ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เลยที่จะมีความแตกต่าง

หากแม้กระทั่งรัฐบาลก่อนและรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็แตกต่างกัน

ความโอ่อ่า มั่นใจในอำนาจของตนเองเมื่อได้รับการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคมด้วยเสียง 500 เสียง

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสภาวะ”สภาล่ม”ติดต่อกันจากวันที่ 27 มายังวันที่ 28 พฤศจิกายน ได้เสนอคำถามอันแหลมคมยิ่งต่อรัฐบาลและโดยเฉพาะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ 249 อยู่ที่ ส.ว. คำถามก็คือ แล้ว 251 ส.ส.ที่เคยมีอยู่ในมือเหตุปัจจัยอะไรทำให้หายไป

 

เงาสะท้อนที่หายไปอันเป็นรากฐานทำให้เกิดสภาวะ”สภาล่ม”ติดต่อกันยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงอนิจจะลักษณะแห่ง”อำนาจ”

นั่นก็คือ อำนาจมิได้ดำรงอยู่อย่าง”สถิต”

แม้จะมั่นใจใน “รัฐธรรมนูญ” ถึงระดับที่ว่า DESIGN มาเพื่อ “พวกเรา” แม้จะมั่นใจใน”อภินิหาร”ทางกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในที่สุด อำนาจก็ดำรงอยู่เหมือนกับ”ไอศครีม”

อาจได้มาจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 อาจได้มาโดยอภินิหารของรัฐธรรมนูญ

แต่แล้ว ณ วันนี้ อำนาจนั้นดำรงอยู่อย่างไร