E-DUANG : พัฒนาการ ของ สมัชชาคนจน เป้า เศรษฐกิจ ไม่ใช่ การเมือง

หากมองจากความเคยชินในแบบเดือนตุลาคม 2516 หากมองจากประสบการณ์ในแบบเดือนพฤษภาคม 2535

หรือในแบบก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หรือในแบบก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การปรากฏขึ้นของ “สมัชชาคนจน” ไม่ว่าบริเวณหน้าทำเนียบรัฐ บาล เมื่อเดือนตุลาคม ไม่ว่าบนท้องถนนที่ราษีไศล ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน

มีความแตกต่างในทาง”เนื้อหา”อย่างสิ้นเชิง

เป้าหมายของ “สมัชชาคนจน” เป็นเป้าหมายในทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ มิได้เป็นเรื่องในทางการเมือง มิได้ต้องการโค่นล้มหรือแย่งชิงอำนาจรัฐ

นี่คือความเคลื่อนไหวจาก”ภาคประชาชน”ของแท้

 

การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป้าหมายอยู่ที่ไม่พอใจระบอบ อย่างที่เรียกกันว่า “ถนอม-ประภาส”

“รัฐธรรมนูญ” เสมอเป็นเพียง “เครื่องมือ”

การเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป้าหมายอยู่ที่ไม่พอใจต่อการสืบทอดอำนาจของ “รสช.”

เป็นเรื่องในทาง”การเมือง” แท้ๆ

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตยที่มีเป้าอยู่กับ “ทักษิณ ไทยรักไทย” เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกปปส.ที่มีเป้าอยู่กับ”ยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย”

แต่ “สมัชชาคนจน” ไม่ได้ต้องการโค่นล้ม “ประยุทธ์ พลังประชารัฐ” ตรงกันข้าม กลับฝากความหวังว่า “ประยุทธ์ พลังประชารัฐ”คือกลไกที่จะแก้ปัญหาให้

“สมัชชาคนจน”จึงต้องการพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

บทเรียนจากอดีตน่าจะบ่งบอกว่า “สมัชชาคนจน” เป็นขบวนการประ ชาชนที่ต้องการชีวิตที่ดี ต้องการได้รับความเป็นธรรม

เขาเรียกร้องกับทุกรัฐบาลอย่างเสมอภาค สร้างสรรค์

ไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่ว่ารัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่ารัฐบาล นายชวน หลีกภัย ไม่ว่ารัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

เขาไม่ได้ต้องการ”โค่น” เขาไม่ได้ต้องการ “ทำลาย” เพียงแต่เขาต้องการความเห็นใจ

เพราะว่าชะตากรรมของเขามาจากการพัฒนาที่ไม่สร้างสรรค์