E-DUANG :​​ จากกรณี ถวายสัตย์ ปฏิญาณ ​​ถึงกรณี ความล้ำเลิศ “กูเกิล”

มีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตน” กับ กรณีการเอ่ยถึงความล้ำเลิศของ”กูเกิล“ระหว่างบรรยายที่ สมาคมเอเชียแห่งมหานครนิวยอร์ค

1 เพราะว่ามี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวละครสำคัญ

1 เพราะว่าปฏิบัติการทั้งกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” และการเอ่ยถึงความล้ำเลิศของ”กูเกิล“ได้กลายเป็นประเด็น กลายเป็น ข้อถกเถียงอย่างแหลมคมในสังคม

อย่างแรกนำไปสู่การยื่นญัตติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ อย่างหลังนำไปสู่การออกมาปฏิเสธอย่างทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาประเทศไทย

ทั้งหมดก็เนื่องจากบทบาทที่มีการยิ่งขึ้นของ”เทคโนโลยี”และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง”โซเชียล มีเดีย

 

ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สังคมรับรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่าง”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา

คำตอบก็คือ คลิปข่าว”ในราชสำนัก”

หากไม่ได้นั่งดูข่าวในราชสำนักเมื่อคืนวันที่ 16 กรกฎาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล คงไม่สามารถเสนอความเห็นทักท้วงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

กระทั่ง กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เช่นเดียวกับ หากไม่มีการนำเอารายละเอียดการบรรยายที่สมาคมเอเชียแห่งมหานครนิวยอร์คโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเผยแพร่ผ่านข่าวและโซเชียลมีเดียนำไปถ่ายทอดต่อ

ชาวบ้านคงไม่ได้รับรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงกูเกิลอย่างไร และพูดถึงประชาชนคนไทยว่าอย่างไร

นั่นแหละคือที่มาแห่ง”ปฏิกิริยา”อย่างกว้างขวาง

เป็นปฏิกิริยากระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาปฎิเสธและระบุว่าคำพูดของตนถูกบิดเบือน

บิดเบือนหรือไม่ อย่างไรรายละเอียดในคลิปคือ”คำตอบ”

 

ไม่ว่าสถานการณ์อันเกี่ยวกับ”ถวายสัตย์ปฏิญาณ” ไม่ว่าสถาน การณ์อันเกี่ยวกับการสดุดีความล้ำเลิศของ”กูเกิล” มีความจริงดำรงอยู่อย่างเด่นชัด เป็นความจริงที่”จริงแท้” มิได้“เสกปั้น”

ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมจะเชื่อในความเป็นจริงแบบไหน ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมมีความเข้าใจต่อความเป็นจริงเช่นใด

นี่เป็นปมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเรียนรู้ เข้าใจ