E-DUANG : จิตใต้สำนึก ทางการเมือง ถวิลหา อาวรณ์ รัฐประหาร

ไม่ว่าความเชื่อที่ว่า “ต่อให้เรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมาก็ทำไม่ได้” ไม่ว่าคำถามที่ว่า “จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน”

นี่คือสภาพที่คำพระเรียกว่า “วาสนา”

นี่คือสภาพที่นักจิตวิทยาในสกุล ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เรียกว่า “จิตใต้สำนึก”

ที่ว่าเป็น”วาสนา”มาจากการหมกมุ่นครุ่นคิดในสิ่งที่ตนเคยกระทำ ไม่ว่าจะเป็นในห้วงก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นในห้วงก่อนและหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ เกิดความคิดเปรียบเทียบ และรู้สึกว่าตนเองดีกว่า เหนือกว่าอีกฝ่าย จึงได้ตามมาด้วยประโยค

“จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน”

 

คำว่าแบบนี้คือแบบที่ดำรงอยู่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนา คม 2562

แบบก่อนคือหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การมาในห้วงแห่งได้ชัยชนะในการรัฐประหาร เป็นการมาพร้อมกับเสียงเพลง

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา

แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน”

เวลาผ่านมา 5 ปีกว่า พลันที่ประสบเข้ากับภาวะน้ำท่วมทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คำมั่นสัญญาที่ว่า”แผ่นดินจะดีในไม่ช้า”ก็หวนกลับมาตั้งคำถาม

เสียงบ่นที่ดังระงมไม่ว่าจากคนที่เคยเชียร์อย่างพระเอกบิณฑ์ ไม่ว่าจะตามเพจต่างๆคือคำตอบที่ดีที่สุด

คำตอบถึงผลงานความสำเร็จของ”รัฐบาล”

 

ความเจ็บปวดภายในหัวอกจึงปะทุออกมาถึงกับร้องถึง”ไอ้คนที่อยู่เมืองนอก” ไม่ว่าจะเป็นคนพี่ ไม่ว่าจะเป็นคนน้อง จึงดังก้องกังวานขึ้นจาก”วาสนา”อันเป็นอนุสัย

ขณะเดียวกัน “จิตใต้สำนึก”ลึกเร้นจึงนำไปสู่การตั้งคำถาม

“จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน” นั่นก็คือ ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

นั่นคือการส่งสัญญาณ”รัฐประหาร”อีกครั้งหนึ่ง

เหมือนกับเดือนกันยายน 2549 เหมือนกับพฤษภาคม 2557