E-DUANG : แนวรบ แก้ไข รัฐธรรมนูญ เริ่มเติบใหญ่ ขยายตัวชัด

นับแต่เลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา บทบาทของ ส.ส.บทบาทของสภาผู้แทนราษฎร มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ยิ่งถ้านำไปเปรียบเทียบ ไม่ว่ากับบทบาทของ สนช.ในอดีต ไม่ว่าบทบาทของ ส.ว.ในปัจจุบัน

ยิ่งสร้างจุดต่างในเชิง”คุณภาพ”

คุณภาพในที่นี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของปวงชนระหว่าง “ผู้แทน”ที่มาจากการเลือกตั้ง กับที่มาจากการแต่งตั้ง

หากภายในการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ก็ทำให้ไส้ในอันดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกกระชาก ลากออกมาล่อนจ้อน

ความชอบธรรมในการแก้”รัฐธรรมนูญ”จึงชัดเจน

 

มติของ 7 พรรคฝ่ายค้านในการเดินหน้าเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่นับวันจะได้รับความเห็นด้วยทางสังคมมากยิ่งขึ้น

กระนั้น ยุทธศาสตร์จะประสบความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับยุทธวิธี ในแต่ละจังหวะก้าวมีความเหมาะสม ถูกต้อง

ยุทธวิธีสำคัญหนึ่งคือการเคลื่อนไหว 2 ประสาน

ก้าวหนึ่งอันเป็นก้าวสำคัญ คือการเคลื่อนไหวในท่ามกลางประชาชน ปลูกฝังความคิดรวบยอดให้ตระหนักถึงความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญและความจำเป็นต้องมีการแก้ไข

ตัวอย่างที่แจ่มชัดที่สุด คือ ตัวอย่างจากปัญหาและวิกฤตระลอกแล้วระลอกเล่า

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง”ถวายสัตย์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง”ไพบูลย์”

เมื่อใดที่ก้าวในภาคประชาชนเติบใหญ่ขยายตัวจึงอาศัยกำลังของประชาชนเข้าไปหนุนเสริมและผลักดันก้าวที่ 2 นั่นก็คือ การใช้เวทีรัฐสภามาเป็นเครื่องมือ

บีบรัฐบาล บีบรัฐสภาให้เดินไปในแนวทางเดียวกัน

 

ยิ่งการเคลื่อนไหวในสังคมขยายกรอบและขอบเขตออกไปกว้างมากเพียงใด การแยกจำแนกบทสรุปจะยิ่งเด่น ใครต้องการแก้ไข ใครขัดขวางมิให้บังเกิด

อาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วน มาเป็นอาวุธ

ทะลวงเข้าไปภายในรัฐบาล ทะลวงเข้ายังพรรคร่วมรัฐบาล

ถามถึงจิตสำนึก ถามถึงจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย