E-DUANG : เลือก ในทาง ยุทธศาสตร์ พันธมิตร สัประยุทธ์ คสช.

ชะตากรรมที่พรรคไทยรักษาชาติประสบทำให้วาทกรรม”เลือกตั้ง เชิงยุทธศาสตร์”ได้รับการหยิบยกมาอภิปราย ถกแถลง อย่างจริง จังอีกวาระหนึ่ง

แน่นอน คะแนนย่อมยังอยู่ภายในพรรคตระกูล”เพื่อ”

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ ไม่ ว่าจะเป็นพรรคเพื่อชาติ

และอีกพรรคหนึ่งคือ พรรคอนาคตใหม่

อาจเกิดสภาวะปั่นป่วน รวนเร กับพรรคไทยรักษาชาติ แต่หากจับตานักการเมืองระดับ นายจาตุรนต์  ฉายแสง นายสุธรรม แสงประทุม นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นต้น

จะสัมผัสได้ในความนิ่ง สงบ เปี่ยมด้วยคัมภีรภาพ

 

ยุทธศาสตร์ใหญ่ในทางการเมือง คือ การต่อต้านคสช. ต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. โดยเป้าหมายใหญ่รวมศูนย์ไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเลือกในทางยุทธศาสตร์จึงเกาะเกี่ยวอยู่กับยุทธศาสตร์นี้

อย่าได้แปลกใจหากพรรคอนาคตใหม่จะเน้นย้ำอย่างหนักแน่นในหลักการอันเป็นอุดมการณ์ของตน

นั่นก็คือ 1 ไม่เอาการสืบทอดอำนาจคสช. 1 แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ 1 ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ตั้งแต่เมื่อปี 2549 และเมื่อปี 2557

คำประกาศของพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้เท่ากับเป็น”เส้นแบ่ง”ในทางการเมือง

นั่นก็คือ ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองใดก็ตามที่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของคสช. เห็นด้วยกับรัฐประหาร เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

จุดยืนพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้ไม่แตกต่างเลยกับจุดยืนภายในพรรคตระกูล”เพื่อ”

 

ชะตากรรมอันพรรคไทยรักษาชาติประสบอาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

การต่อสู้ย่อมมีทั้งการรุกและการถอย

การต่อสู้ย่อมมีทั้งด้านอันเป็นชัยชนะ และทั้งด้านอันเป็นพ่ายแพ้

การเลือกในทางยุทธศาสตร์จึงเป็นยุทธวิธีหนึ่ง

การจัดแถวเพื่อนำไปสู่การก่อรูปของพันธมิตรในการเอาชนะ ทางการเมืองจึงมีความจำเป็น