ไทยอยุธยา รับมรดกสงกรานต์แบบผี, พุทธ, พราหมณ์ ผ่านขอมเมืองละโว้ และนครธม

เล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนสีลม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 (ภาพจากเฟซบุ๊กศูนย์ภาพมติชน-ข่าวสด)

สงกรานต์เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ถูกทำให้เป็นพุทธท้องถิ่นโดยราชสำนักสมัยแรกๆ ของอุษาคเนย์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสามัญชน คนส่วนใหญ่ล้วนไม่รู้จักสงกรานต์

แต่นานไปก็ลดความศักดิ์สิทธิ์ แล้วปะปนประเพณีท้องถิ่นกลายเป็นสงกรานต์ของคนทั่วไป

คำนิยามและอธิบายความเป็นมาของสงกรานต์ยังไม่สมบูรณ์ จึงยังต้องการคำถามอีกมากเพื่อทักท้วงถกเถียงต่อไปอีกนาน

แต่สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้พากันหยุดนิ่ง โดยเฉพาะทาง

ประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา ไม่เคลื่อนไหวค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม สงกรานต์ในไทยจึงหยุดแค่งมงายแล้วฟูมฟายเรื่องปลอมๆ ว่า “ปีใหม่ไทย”

 

นำเข้าจากอินเดีย

สงกรานต์เป็นพิธีกรรมนำเข้าจากอินเดียตั้งแต่ยุคเริ่มแรกการค้าโลก ราวหลัง พ.ศ.1000

ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ซึ่งนับถือพระอาทิตย์ (สุริยเทพ) เมื่อย้ายเข้าสู่ราศีเมษ (อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของจอมฟ้าเหนือศีรษะ พระอาทิตย์มีกำลังและความร้อนสูงสุด) เรียกมหาสงกรานต์ ชาวอินเดียพากันไปริมน้ำฉลองรับศักราชใหม่ (ปีใหม่)

โดยเป่าสังข์บันลือเสียงสดุดีพระสุริยเทพ และขับไล่สิ่งอัปมงคล แล้วทูนหัวด้วยหม้อกลัศที่สิงสถิตพระวรุณ (คือเทพแห่งน้ำ) อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในทางสากลจึงมีกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำในชุมชนทั้งโลก

 

ถูกทำเป็นท้องถิ่น

สงกรานต์แขกอินเดียอยู่ในช่วงเวลาของราศีเมษ (มีนาคม-เมษายน) ตรงกับเดือน 5 (จันทรคติ) ของท้องถิ่นอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นหน้าแล้ง มีพิธีผีเลี้ยงสืบเนื่องหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

เมื่อแผ่ถึงอุษาคเนย์ บรรดาราชสำนักสมัยนั้นต่างดัดแปลงสงกรานต์เข้ากับท้องถิ่นเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยปรับการใช้น้ำในพิธีพราหมณ์อินเดียฉลองศกใหม่ เป็นสรงน้ำเทวรูป, พระพุทธรูป และพระเจ้าแผ่นดิน จากนั้นมีงานอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการละเล่น โดยพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทอดพระเนตร พบในเอกสารจีนของโจวต้ากวาน เมื่อเข้าไปในรัฐเจินละ (นครธม) พ.ศ.1839 ดังนี้

1. สรงน้ำเทวรูปในรัฐนับถือศาสนาพราหมณ์ กับสรงน้ำพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ในรัฐนับถือศาสนาพุทธ แล้วรองน้ำสรงนั้นไปสรงน้ำพระเจ้าแผ่นดินอีกทอดหนึ่ง

2. มีการละเล่นที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวกับเลี้ยงผีตามประเพณีดั้งเดิมที่ทำมาก่อนรับศาสนาจากอินเดีย โดยเฉพาะเลี้ยงผีที่สิงในเครื่องมือทำมาหากิน

พิธีกรรมทั้งสองนี้มีในราชสำนัก ไม่แพร่หลายไปนอกราชสำนัก จึงไม่เป็นกิจกรรมของราษฎรสมัยนั้น
เว้นเสียแต่สรงน้ำพระเจ้าแผ่นดิน ปรับจากประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมในพิธีเลี้ยงผีต้องรดน้ำดำหัวปู่ย่าตายายซึ่งปฏิบัติเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว

 

อยุธยารับจากขอมละโว้และนครธม

สงกรานต์ในไทยสมัยเริ่มแรก จำกัดพื้นที่ในหมู่เจ้านายกับผู้ดีราชสำนักอยุธยา โดยรับมรดกจากวัฒนธรรมเขมร (นครธม) ผ่านขอมละโว้ (ลพบุรี)

แล้วปรับเข้ากับศาสนาไทยซึ่งผสมปนเปกันหมดเป็นเนื้อเดียวทั้งผี, พุทธ, พราหมณ์ มีตั้งแต่งานออกสนาม จนถึงงานทำบุญทำทาน ดังพบในนิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) ว่า

๏ เดือนห้าอ่าโฉมงาม การออกสนามตามพี่ไคล
สงกรานต์การบุญไป ไหว้พระเจ้าเข้าบิณฑ์ถวาย

แล้วยังมีบอกใน คำให้การชาวกรุงเก่า เรื่องพระราชพิธีเดือน 5 เถลิงศก (คือเปลี่ยนศักราช) สงกรานต์ ดังนี้

1. เสด็จสรงน้ำพระศรีสรรเพชญ์ และเทวรูปพระพิฆเนศ
2. พระสงฆ์ราชาคณะรับพระราชทานบิณฑบาตและจตุปัจจัยทานในพระราชวังทั้ง 3 วัน
3. ก่อพระเจดีย์ทรายและมีฉลองพระเจดีย์ทรายในวัดพระศรีสรรเพชญ์
4. ตั้งโรงทานเลี้ยงพระสงฆ์และราษฎร มีอาหารคาวหวาน, น้ำกินน้ำอาบ, ยารักษาโรค ทั้ง 3 วัน

ชาวบ้านในกรุงเทพฯ เล่นสงกรานต์

ความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมของผู้ดีสมัยอยุธยาลดลง ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นยาจกเข็ญใจไพร่ทาสในกรุงเทพฯ สมัยรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในแผ่นดิน ร.3 เริ่มมีประเพณีสงกรานต์ไปทำบุญทำทานสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ มีการละเล่นต่างๆ อย่างหัวหกก้นขวิดจนถึงเล่นพนันต่างๆ

พบข้อความบอกไว้ใน นิราศเดือน ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีสมัย ร.3 ดังนี้

โอ้ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์
พวกมนุษย์สุดสุขครัน ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์
ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส อภิวาทพุทธรูปในวิหาร
ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย
ที่เฒ่าแก่แม่หม้ายมิใคร่เที่ยว สู้อดเปรี้ยวกินหวานลูกหลานหลาย
ที่กำดัดซัดสีสวยทั้งกาย เที่ยวถวายน้ำหอมพร้อมศรัทธา

สรงน้ำสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน ไม่มีสาดน้ำ

แต่ในที่สุดก็กลายเป็นสาดน้ำตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งยังหาคำนิยามอธิบายไม่ได้ว่าสาดน้ำสงกรานต์มาจากไหน? เมื่อไร? ทำไม?