ใครคือพระบรมวงศานุวงศ์องค์สุดท้าย ที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ เกี่ยวข้องอะไรกับ “พระไพรีพินาศ”

ผู้ช่วยไขปริศนาเรื่อง “พระไพรีพินาศ” คนสำคัญที่สุดคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งแต่ปี 2477 ท่านได้เปิดประเด็นคำถามต่อปราชญ์ใหญ่ นำไปสู่การบันทึกปุจฉา-วิสัชนาใน “สาส์นสมเด็จ”

และในปี 2496 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ท่านก็ยังมีความฝังใจจำกับพระไพรีพินาศองค์นั้นอยู่ ถึงกับมีฉันทานุมัติให้คณะสงฆ์และศรัทธาวัดบวรฯ นำรูปแบบพุทธศิลป์และชื่อไพรีพินาศไปใช้เรียก “พระกริ่ง” เพื่อรำลึกถึงท่านได้

กระทั่งทุกวันนี้ “พระกริ่งไพรีพินาศ” ได้กลายเป็นพระกริ่งที่มีชื่อเสียง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักเสียยิ่งกว่า “พระไพรีพินาศ” พุทธศิลป์ชวาต้นแบบ

 

หม่อมไกรสร
คือ “ไพรี” ของรัชกาลที่ 4

หม่อมไกรสรเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ว่าเกี่ยวข้องกับพระไพรีพินาศแบบ “เปิดหน้าชก” ท่านผู้นี้มีนามเดิมว่า พระองค์เจ้าไกรสร หรือกรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว และเป็นต้นราชสกุลวงศ์ “พึ่งบุญ” กับ “อนิรุทธเทวา”

เรื่องราวของหม่อมไกรสรมีผู้เรียบเรียงไว้อย่างพิสดารพันลึก สรุปความได้ว่ามีภาพลักษณ์ของ “ผู้ร้าย” ถึง 3 สถานะ

สถานะแรก คือ เป็นเกย์ ชอบเพศเดียวกัน ละทิ้งหน้าที่การงานไปเริงกามารมณ์

สถานะที่สอง คือ เกกมะเหรกเกเร มักใหญ่ใฝ่สูง จ้องจะเลื่อยขาเก้าอี้ของรัชกาลที่ 3 อยู่เนืองๆ

และสถานะสุดท้าย คอยรังแครังคัดพระสงฆ์สายธรรมยุตช่วงรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช

ปูมหลังมีอยู่ว่า พระองค์เจ้าไกรสรถือว่าพระองค์ก็เป็นโอรสองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 1 แม้จะมีสถานะเป็นอาของรัชกาลที่ 3 แต่อายุอานามก็ไล่เลี่ยกัน ฉะนั้น โดยศักดิ์และโดยสิทธิ์ ก็ย่อมมีโอกาสนั่งบัลลังก์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัชกาลที่ 3 (มีพระราชมารดาเป็นเจ้าจอมเหมือนกัน) จึงรอคอยจังหวะช่วงใกล้ผลัดแผ่นดิน

แต่กลับมีเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระวชิรญาณภิกขุมาเป็นเสี้ยนหนามอีกราย มีเรื่องเล่าว่าพระองค์เจ้าไกรสรเคยเร่งตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลมกับเจ้าฟ้าองค์นี้มาก่อนแล้ว ในช่วงที่รัชกาลที่ 2 ใกล้สวรรคต พระองค์เจ้าไกรสรหลอกว่าพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) มีรับสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาเข้าเฝ้าฯ ที่วัดพระแก้ว แท้เป็นกลลวง กลับจับเจ้าฟ้ามงกุฎขังในวิหาร 7 วัน

ยิ่งช่วงเจ้าฟ้าพระกำลังเดินบิณฑบาต พระองค์เจ้าไกรสรก็แกล้งใส่บาตรด้วยข้าวต้มร้อนจัด ทำให้เจ้าฟ้าพระต้องโยนบาตรทิ้งเพราะทนความร้อนของบาตรเหล็กไม่ไหว

กระทั่งรัชกาลที่ 3 จับได้ว่าพระองค์เจ้าไกรสรเตรียมแผนก่อกบฏคิดจะขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งยังจัดวางโอรสของตนให้เข้ายึดวังหน้า รัชกาลที่ 3 จึงทรงมีรับสั่งให้ถอดยศจากพระองค์เจ้าเป็นแค่หม่อม และให้นำไปสำเร็จโทษ ถือเป็นพระบรมวงศานุวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์

ทุกวันนี้สามารถไปดูลานประหารได้ที่วัดปทุมคงคา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2391

ความทราบไปถึงเจ้าฟ้าพระขณะทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น จู่ๆ ก็มีผู้นำพระพุทธรูปแบบชวามาถวายพอดี ทรงเก็บงำเหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดขึ้นพร้อมกันนี้ไว้ในใจ (หนึ่ง ความตายของหม่อมไกรสร สอง การได้รับพระพุทธรูปจากแดนไกล)

กระทั่ง 5 ปีผันผ่านไป หลังจากรัชกาลที่ 4 เสวยราชสมบัติครบ 2 ปี คือใน พ.ศ.2396 พระองค์ทรงนำพระพุทธรูปชวาออกมากระทำพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่องพ้นไพรี” ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ในสาส์นสมเด็จ

เป็นนัยว่า ทรงหลุดพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู (คือหม่อมไกรสร) พร้อมเฉลิมนามพระพุทธรูปว่า “พระไพรีพินาศ” สอดคล้องกับชื่อพระเจดีย์ที่ประดิษฐานคู่เคียงกัน

เท่านั้นยังไม่พอ อีก 4 ปีต่อมา คือในปี 2400 รัชกาลที่ 4 ยังได้เฉลิมนามป้อมรบแห่งหนึ่งที่เขาแหลมสิงห์ จันทบุรี ซึ่งเป็นป้อมของรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นเพื่อรับศึกญวน (ยุครัชกาลที่ 3 ไม่มีการตั้งชื่อป้อม) ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” อีกด้วย กับอีกป้อมหนึ่งตั้งอยู่คู่กันว่า “ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร” (ใช้ตัว ฏ สะกด)

แนวคิดในการตั้งชื่อ “ไพรีพินาศ” ของรัชกาลที่ 4 เช่นนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพุทธศิลป์สยาม ซึ่งในอดีตโดยมากชื่อพระพุทธรูปมักมีน้ำเสียงในเชิงสื่อถึงพระสมณโคดม เช่น พระศรีศากยมุนี พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระพุทธสิหิงค์ เป็นต้น

แต่ยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 แนวโน้มในการตั้งชื่อพระพุทธรูปค่อนข้างเน้นไปในทางแคล้วคลาด ประหารศัตรูตัวเป็นๆ เสียส่วนใหญ่ นอกจากพระไพรีพินาศแล้ว ยังมีชื่อ พระพุทธนิรันตราย (รอดจากอันตราย)