ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ ‘สุรยุทธ์ จุลานนท์’ บทเรียน ‘พฤษภาทมิฬ’ ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมืองอีกต่อไป

AFP PHOTO / THAI ARMY

สัมภาษณ์พิเศษ
“10 ปี พฤษภาฯ 2535″ กับบทบาท”สุรยุทธ์ จุลานนท์” “ปลูกต้นประชาธิปไตยในใจทหาร”

 

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ณ สมรภูมิราชดำเนิน คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่ถูกขนานนามว่า “พฤษภาทมิฬ” อุบัติขึ้น

แต่ก็ดูจะเป็น “บาดแผล” ของกองทัพที่ไม่อยากมีใครพูดถึง แต่สิ่งที่กองทัพไทยได้รับจากเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเสียงเพรียกร้องประชาธิปไตย หรือการโค่นล้มอำนาจของทหารด้วยกันเองก็ตาม แต่มันก็เป็นบทเรียนอันมีค่าของทหาร

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคำสั่งเข้ามาสัมผัสเหตุการณ์ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ที่ทำให้เขาทึ่งในพลังประชาชนและได้บทเรียนสำคัญคือ “ทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป”

เมื่อมาวันนี้เขาได้เป็น ผบ.ทบ. มากว่า 3 ปีแล้ว เขาได้พยายามพิสูจน์ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความผิดพลาดของทหาร และได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก โดยพยายามให้ทหารถอยออกจาก “การเมือง” อันเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้า และเป็นแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

“ผมจึงย้ำเสมอว่า ผมจะไม่ยอมให้เกิดการปฏิวัติ ผมยืนตรงข้ามกับการปฏิวัติ เพราะเรามีบทเรียนแล้วว่ามันแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย แม้จะทำปฏิวัติมา แต่ก็บริหารประเทศไม่ได้ แล้วที่สุดก็ไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ แล้วผมก็ยืนยันว่า ผมจะไม่เล่นการเมือง ทั้งตอนนี้และหลังเกษียณ ไม่ว่ายังไง ผมพอแล้ว ผมอยากอยู่อย่างสงบ อยากบวชและออกธุดงค์ ตามที่ผมตั้งใจไว้” พลเอกสุรยุทธ์ วัย 59 ปีกล่าว

This handout photo released from the Thai Goverment House, new Thai Interim Prime Minister Surayud Chulanont (R) listens to Thai coup leader General Sondhi Boonyaratkalin (L) at the Government House in Bangkok, 01 October 2006. Thailand's new military-appointed premier got down to work 02 October, tasked with healing deep political divisions and assuring the world the country is on the path back to democracy. RESTRICTED TO EDITORIAL USE NO GETTY AFP PHOTO/GOVERNMENT HOUSE/HO / AFP PHOTO / GOVERNMENT HOUSE / AFP
AFP PHOTO / GOVERNMENT HOUSE / AFP

สิ่งที่ พลเอกสุรยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ให้ความสำคัญที่สุดคือ การปลูกต้นประชาธิปไตยในจิตใจของทหาร ด้วยการใช้หลักประชาธิปไตยในการปกครองบังคับบัญชา โดยที่ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถเสนอความเห็นขึ้นมาได้ หรือว่าถ้าเห็นว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ถูกต้อง ก็ต้องท้วงติงหรือมีสิทธิที่จะทราบเหตุผลและไม่ทำตามได้ โดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิ์ไม่พอใจหรือลงโทษเพราะถ้าใครทำอย่างนั้นมาร้องเรียนได้

“ประชาธิปไตยกับทหาร ไม่ใช่เส้นขนานที่จะสวนทางหรือไม่มีวันมาพบกันได้ เมื่อก่อน แม้ทหารจะสอนให้ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่มาวันนี้ ทหารก็มีสิทธิทักท้วงหรือไม่ทำตามได้ ถ้าไม่มีเหตุผลหรือไม่ถูกต้อง” พลเอกสุรยุทธ์ยืนยัน และเห็นว่าไม่ว่าใครมาเป็น ผบ.ทบ. ก็ควรจะรักษาหลักการนี้ไว้

เพราะแม้แต่คำสั่งล่าสุดของกองทัพบก ก็ยังเปิดโอกาสให้พลทหาร หรือทหารเกณฑ์ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของ ทบ. สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในรูปแบบและวิธีการฝึกทหารได้ รวมทั้งทหารเกณฑ์เหล่านี้จะได้ร่วมในระบบประเมินผลของการฝึกของกองพันและนายทหารครูฝึกด้วย โดยเน้นการอยู่ร่วมกันด้วยการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่การรับคำสั่งและทำตามคำสั่งแต่อย่างเดียว

 

แต่กระนั้นก็ตาม การที่กองทัพจะเป็นประชาธิปไตย ทหารจะเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยพลเอกสุรยุทธ์ระบุว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ผบ.ทบ. หรือผู้นำเหล่าทัพเท่านั้น เพราะต้องทำให้ทหารทุกคนมีความคิดเป็นประชาธิปไตยให้ได้ แม้จะต้องใช้เวลาก็ยังดีกว่าไม่เริ่มต้น เช่น การให้ทหารไปช่วยดูแลการเลือกตั้งของ กกต. จะทำให้ทหารซึมซับประชาธิปไตย และได้ภูมิใจว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในกองทัพ ในตัวทหารว่าเป็นกลางทางการเมือง จึงได้ขอให้ทหารมาช่วยนับคะแนน

“ผบ.ทบ. คนเดียว ทำให้ทหารทุกคนเป็นทหารอาชีพไม่ได้หรอก ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะตอนนี้ทหารที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ยังมีอยู่มาก ต้องค่อยๆ หล่อหลอมกันต่อไป สังคมต้องช่วยกันด้วย” พลเอกสุรยุทธ์กล่าว

พลเอกสุรยุทธ์ ยังเห็นว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้ทหารปรับเปลี่ยนบทบาทมากขึ้น ในการถอยออกจากการเมือง แต่มาสร้างความเข้าใจสร้างคะแนนนิยมศรัทธาจากประชาชนด้วยการช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น ในการบรรเทาสาธารณภัยหรือช่วยเหลือทุกอย่างให้มากที่สุด ทบ. จึงจะเน้นงานด้านกิจการพลเรือนมากขึ้น รวมทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการสกัดกั้นตามแนวชายแดน การปราบปรามและการบำบัดฟื้นฟู

พลเอกสุรยุทธ์ยอมรับว่า ความพ่ายแพ้ผิดพลาดของทหารในเหตุการณ์จลาจลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นั้น เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ทหารถอยออกจากการเมือง และไม่กล้าที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองอีก

“เหตุการณ์ครั้งนั้น ทหารได้บทเรียนหลายอย่าง โดยเฉพาะทหารไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในทางการเมือง ความล้มเหลวของการปฏิวัติรัฐประหารที่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอะไรได้เลย นอกจากทำให้เกิดความรุนแรง ความเสียหาย และบ้านเมืองถอยหลัง” พลเอกสุรยุทธ์กล่าว

พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ทหารคนไหนที่อยากจะเล่นการเมือง ก็ควรจะลาออกจากกองทัพหรือรอให้เกษียณอายุราชการก่อนแล้วก็มาเล่นการเมือง จึงเป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรเอากองทัพไปเล่นการเมืองเพราะมันหมดสมัยแล้ว

“ในยุคนี้ควรจะเลิกใช้กองทัพเป็นฐานทางการเมือง เพราะจริงๆ แล้วกองทัพเป็นกลไกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล อย่าทำให้กองทัพเป็น “กลไกนอกระบบ” เพราะทหารเองก็ทำตามคำสั่งรัฐบาล แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมือง” พลเอกสุรยุทธ์กล่าว

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในทรรศนะของพลเอกสุรยุทธ์นั้น เห็นว่าทำให้ฝ่ายการเมืองเองก็ต้องฉุกคิดว่า อย่ามาใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ และที่สำคัญ อย่ามาก้าวก่ายกองทัพ หรือแทรกแซง โดยเฉพาะเรื่องภายในกองทัพ การแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ที่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละเหล่าทัพ จะพิจารณากันเอง เพราะระดับนายพลทุกเหล่าทัพ จะใช้คณะกรรมการห้าเสือของแต่ละเหล่าทัพพิจารณาอยู่แล้ว เพราะฝ่ายการเมืองคงจะไม่รู้จักทหารในกองทัพดีเท่าทหารในกองทัพด้วยกันเอง

“แต่ไม่ใช่ว่า ฝ่ายการเมืองจะไม่มีอำนาจเข้ามาดูแลการโยกย้ายทหาร เพราะทั้งนายกรัฐมนตรี หรือ รมว.กลาโหม ล้วนมีสิทธิ แต่ก็ควรจะมีอำนาจตัดสินใจเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพเท่านั้น ที่ตอนนี้ทางกองทัพพอยอมรับได้และยอมรับความจริงว่า ฝ่ายการเมืองเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็น ผบ.เหล่าทัพ แล้วแต่จะต้องเลือกคนที่กองทัพยอมรับได้ด้วย” พลเอกสุรยุทธ์กล่าว

แต่ในระดับรองๆ ลงมาให้เป็นเรื่องของ ผบ.เหล่าทัพ แต่หากฝ่ายการเมืองต้องการจะเสนอชื่อนายทหารคนใดให้พิจารณาก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมั่นใจ นายทหารที่เสนอชื่อมานั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม และสู้กับคนที่กองทัพจะเลือกได้ ถ้าเราเห็นว่าเหมาะสมดีกว่าคนที่กองทัพเลือก เราก็อาจจะยอมให้บ้างเป็นบางตำแหน่ง แต่ถ้าชื่อที่การเมืองเสนอมา เรารับไม่ได้จริงๆ เราก็ไม่ยอม ซึ่งที่ผ่านมา เราก็มีตัวอย่างและเห็นกันอยู่แล้ว

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร บทบาทของกองทัพในวันนี้ ก็ยังทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ทึ่ง ถึงขั้นจะยึด ทบ.ไทย เป็นแบบอย่าง (mode) ขนาดที่ ผบ.ทบ. อินโดนีเซีย เอ่ยถาม พลเอกสุรยุทธ์ว่า ทำให้ทหารออกจากการเมืองได้ยังไง โดยเฉพาะไม่เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายการจลาจลทางการเมือง ที่ได้รับคำตอบจากพลเอกสุรยุทธ์ว่า

“เพราะรัฐธรรมนูญได้มีการจำกัดบทบาทของทหารในเรื่องการปราบปรามจลาจล และทหารเองก็ได้มีส่วนในการปฏิรูปต่างๆ เพราะเมื่อทหารมีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมืองด้วย ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ง่ายและเร็ว”

แต่ก็ต้องติดตามและจับตาดูกันต่อไป…