วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ภาวะทวิบถของ ‘ไต้หวัน’ ในทะเลจีนใต้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
AFP PHOTO / MILITARY NEWS AGENCY / HO /

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไม่นาน รัฐบาลสาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของ เจียง ไค เช็ก (เจี่ยง เจี้ย สือ) ได้ส่งเรือรบไท่ผิง (มหาสันติ) เข้าไปยึดครองเกาะที่ใหญ่ที่สุดเกาะหนึ่งในทะเลจีนใต้ที่มีพื้นที่ 5.1 ตารางกิโลเมตร จากนั้นก็ตั้งชื่อเกาะนี้ตามชื่อเรือรบว่า ไท่ผิง โดยที่เกาะนี้ทางตะวันตกจะเรียกกันว่า อีตู อาบา (Itu Aba)

การยึดครองครั้งนั้นเป็นไปตามการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีน ที่ว่าทะเลจีนใต้แทบทั้งหมดเป็นของตน และได้ลากเส้นเป็นรูปตัวยู (U) เพื่อแสดงเขตน่านน้ำที่ตนอ้าง

จนภายหลังจากที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ.1949 ไปแล้ว รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ในการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้จากรัฐบาลสาธารณรัฐ

ส่วนรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองนั้น ได้ย้ายไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เกาะไต้หวัน และได้รับการรับรองจากสมาชิกสหประชาชาติให้เป็น “จีนเดียว” ที่มีความชอบธรรม

ซ้ำยังได้ที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงถาวรขององค์การโลกบาลนี้ด้วย

ตลอดเวลาที่ไต้หวันมีฐานะที่ชอบธรรมดังกล่าว ไต้หวันยังคงอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้มาโดยตลอด

ไต้หวันยังคงอ้างแม้ภายหลังจากที่ต้องหลุดออกจากที่นั่งในสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ.1971 ไปโดยมีจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแทนที่ และก็ยังคงกองกำลังของตนที่เกาะไท่ผิงหรืออีตู อาบา มาจนทุกวันนี้

ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ทั้งก่อนและหลังได้เข้ามามีที่นั่งในสหประชาชาติแทนไต้หวันใน ค.ศ.1971 ก็ยังคงอ้างสิทธิ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญ ต่างก็อ้างด้วยเหตุผลชุดเดียวกัน นั่นคือ เหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ว่าตนเป็นผู้ค้นพบหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ก่อนใคร

ตอนที่ไต้หวันอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติแล้วนั้น ยังเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะตอนนั้นไต้หวันเองก็ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งตนอาจจะได้กลับมามีที่นั่งแทนจีนแผ่นดินใหญ่ในสหประชาชาติก็ได้ แต่หลังจากที่วันเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า ความหวังดังกล่าวก็ค่อยๆ ริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่เหลืออะไรให้หวังอีกต่อไปในที่สุด

ช่วงที่ไต้หวันไม่เหลือความหวังที่จะเป็น “จีนเดียว” นี้เอง ไต้หวันจึงจำต้องเอาตัวรอดด้วยการเสนอความคิดเรื่อง “สองจีน” ขึ้นมา คือตนเป็นประเทศหนึ่ง จีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง แม้จะเสนอความคิดที่ว่าขึ้นมา (ซึ่งไม่สู้จะสำเร็จมากนัก) ไต้หวันก็ยังคงอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้อยู่เช่นเดิม

ชั่วอยู่แต่ว่าเสียงไม่ดังเท่าจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ต่อการที่ไต้หวันยังคงยึดครองที่เกาะไท่ผิงหรืออีตู อาบา เพราะถึงอย่างไรเสียการยึดของไต้หวันก็ไม่ต่างกับจีนยึด ด้วยจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตน เมื่อ “มณฑล” ของตนยึดก็ไม่ต่างกับตนยึด

การอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ดังกล่าวของไต้หวันดำรงเรื่อยมา แม้จะมีการปะทะกันด้วยกำลังในบางครั้งบางคราระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับคู่พิพาทอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่ไต้หวันก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และได้แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดิ้นรนให้ตนเป็นจีนที่สอง

หากจะมีอะไรที่เพิ่มเข้ามาในการอ้างสิทธิ์ของไต้หวันในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นการที่ไต้หวันได้ไปสร้างสนามบินเล็กๆ บนเกาะที่ว่าในสมัยประธานาธิบดี เฉิน สุย เปี่ยน

ไต้หวันมาแสดงการอ้างสิทธิ์ของตนอีกครั้งหนึ่งก็ในปีนี้เอง เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยข้อร้องเรียนของฟิลิปปินส์เกี่ยวกับปัญหาในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.2016 โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวสรุปออกมาเป็นประโยชน์แก่ฟิลิปปินส์ ไต้หวันได้แสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ต่างกับจีนแผ่นดินใหญ่

Taiwanese President Tsai Ing-wen speaks during the annual Han Guang life-fire drill in southern Pingtung on August 25, 2016. Taiwan president Tsai Ing-wen said the island's army needs to find a clear direction and face its shortcomings as she presided over a live-fire drill amid cooling relations with Beijing. / AFP PHOTO / SAM YEH
AFP PHOTO / SAM YEH

ผู้แสดงปฏิกิริยาตัวหลักก็คือ ประธานาธิบดีหญิง ไช่ อิง เหวิน ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่ถึงสองเดือน ตอนแรกที่เธอแสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยนั้นเป็นที่สอดรับกับความรู้สึกของชาวไต้หวัน ที่ต่างก็รู้สึกไม่ต่างกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หากเธอยังคงปฏิกิริยาที่ว่าเอาไว้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่เป็นปัญหาคือเหตุการณ์หลังจากนั้น

กล่าวคือ หลังจากที่ ไช่ อิง เหวิน แสดงความไม่เห็นด้วยในระยะแรกของคำวินิจฉัยไปไม่นาน เธอก็กลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไปจนผิดสังเกต

เช่น เธอห้ามไม่ให้เรือประมงไต้หวันเดินทางไปยังเกาะไท่ผิงเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเกาะนี้ในเชิงสัญลักษณ์ หรือเรียกให้กองเรือของหน่วยยามฝั่งที่เดินทางไปยังเกาะไท่ผิงเพื่อตรวจการณ์รอบน่านน้ำเกาะนี้หลังคำวินิจฉัยให้กลับมา

ทั้งสองกรณีดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไต้หวันอย่างมาก

และส่งผลให้คะแนนนิยมที่มีต่อตัวเธอลดลงอย่างรวดเร็ว

เสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเธอดังไปทั่ว เสียงมีไปต่างๆ นานา แต่เสียงที่ดูมีเหตุผลน่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นเสียงที่มองว่า เธอกำลังทำให้ไต้หวันตัดขาดกับการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างที่ละเอียดอ่อน

ที่สำคัญ วัตถุประสงค์ที่ว่ามีปลายทางอยู่ที่อิสรภาพของไต้หวัน

ประเด็นนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกันก็มีความสุ่มเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุที่ว่า ไต้หวันคิดที่จะเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเป็นเรื่องจริง

กล่าวโดยง่ายก็คือ ไต้หวันคิดที่จะเป็นจีนที่สองที่เป็นประเทศเอกราช ไม่ใช่ไต้หวันที่มีความอิหลักอิเหลื่อดังเช่นทุกวันนี้ ที่เมื่อจะเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างประเทศใดก็ไม่เต็มที่ เช่น เวลาจะแข่งกีฬาหรือประชุมระหว่างประเทศใดๆ ก็ต้องใช้ชื่อว่า จีนไต้หวัน (China Taiwan) บางทีก็ถูกเรียกว่า ทางการไต้หวันแห่งประเทศจีน (Taiwan Authority of China) หรือ สาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน (Republic of China on Taiwan) ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องผูกติดกับจีนแผ่นดินใหญ่โดยที่ตนไม่เต็มใจอยู่ร่ำไป

ครั้นจะแสดงตนเป็นเอกราชอย่างเปิดเผยและเต็มที่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ขู่เอาไว้ว่า ถ้าไต้หวันทำเช่นนั้นเมื่อไร จีนจะถือว่าไต้หวันกำลังเป็นกบฏ ซึ่งจีนสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามกบฏได้อย่างชอบธรรม

ถ้าเช่นนั้นแล้วท่าทีที่เปลี่ยนไปของ ไช่ อิง เหวิน มาเกี่ยวอะไรกับประเด็นการเป็นอิสระจากจีนด้วยเล่า?

หลายปีมานี้ ท่ามกลางความอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ไต้หวันซึ่งไม่อาจแสดงตนเป็นเอกราชได้ตรงๆ นั้น ได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อสื่อถึงนัยดังกล่าวแบบอ้อมๆ ในหลายเรื่องด้วยกัน

เรื่องที่เห็นได้ชัดก็คือ แผนที่ไต้หวัน ที่ถ้าเป็นตอนที่ไต้หวันยังเป็นจีนเดียวก่อน ค.ศ.1971 อยู่นั้น แผนที่ไต้หวันในนามสาธารณรัฐจีนจะรวมเอาจีนแผ่นดินใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐด้วย

แต่หลังจากที่ต้องเสียที่นั่งในสหประชาชาติให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ และความหวังที่จะหวนกลับไปเป็นจีนเดียวริบหรี่ลงจนดับมอดไปแล้ว ไต้หวันซึ่งคิดใหม่เรื่องสองจีนก็แนะนำตนเองแก่ชาวโลกผ่านแผนที่ใหม่ของตน

แผนที่ใหม่ของไต้หวันจะเป็นรูปเกาะไต้หวันโดดๆ ซ้ำยังไม่มีการขีดเส้นแสดงเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้ และไม่ระบุว่าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเช่นกัน

ในขณะเดียวกันก็ไม่มีข้อความใดๆ ที่ระบุว่าตนเป็นประเทศเอกราช เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้ว

ถัดจากแผนที่ก็มาเป็นเรื่องทะเลจีนใต้ ที่ตลอดเวลาที่ไต้หวันคิดเรื่องเอกราชของตนภายใต้หลักคิดเรื่องสองจีนนั้น ไต้หวันแทบไม่ส่งเสียงทะเลาะกับคู่พิพาทในทะเลจีนใต้เลยก็ว่าได้ โดยปล่อยให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นคนว่าไป

และหากไม่นับการยึดครองเกาะไท่ผิง (ที่ยึดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงไม่นาน) แล้ว ไต้หวันก็ไม่เคยเข้าไปยุ่มย่ามอันใดในเกาะอื่นๆ ของทะเลจีนใต้เช่นกัน ยิ่งตอนที่ไต้หวันคิดเรื่องเอกราชด้วยแล้ว ไต้หวันก็แทบจะห่างไกลจากปัญหาทะเลจีนใต้เลยก็ว่าได้ คือห่างไกลจนเหมือนว่าตนไม่ได้เป็นคู่พิพาทกับใครเลย

ตรงกันข้าม ถ้าหากไต้หวันโหวกเหวกโวยวายในปัญหาทะเลจีนใต้แล้วก็จะเท่ากับไต้หวันได้ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ที่ต่างก็อ้างสิทธิ์บางส่วนในทะเลจีนใต้ไปโดยปริยาย

ลองคิดดูว่า ลำพังทุกวันนี้ไต้หวันเองก็หาเพื่อนได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งไปมีปฏิปักษ์เพิ่มขึ้นมาอีกเช่นนี้ เส้นทางสู่เอกราชของไต้หวันจะยิ่งยากเพียงใด

และลองคิดดูอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าหากไต้หวันไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับปัญหาในทะเลจีนใต้เลยแม้แต่น้อย ไต้หวันจะลดภาระ (ที่เป็นปัญหา) ของตนได้มากแค่ไหน

ซึ่งให้บังเอิญด้วยว่า ภาระเรื่องทะเลจีนใต้นั้นเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่ไม่น้อย

ที่กล่าวมานี้ยังไม่นับว่า ถ้าหากไต้หวันยังคงยืนหยัดอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ในขณะที่ก็ต้องการเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยแล้ว ก็ย่อมเท่ากับว่าไต้หวันจะต้องต่อสู้กับจีนด้วย

ซึ่งไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาระที่เต็มไปด้วยปัญหาทั้งสิ้น

เหตุดังนั้น แม้เราจะไม่รู้ว่าลึกลงไปแล้วอะไรคือวัตถุประสงค์แฝงของ ไช่ อิง เหวิน ที่เปลี่ยนท่าทีไปอย่างกะทันหัน แต่ท่าทีนั้นก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอแม้แต่น้อย เพราะท่าทีที่ว่าสวนกระแสความรู้สึกชาตินิยมของชาวไต้หวันอย่างรุนแรง ส่วนชาวไต้หวันเองซึ่งต้องการเป็นอิสระจากจีนเช่นกันก็ไม่อาจตอบได้ว่าจะรับภาระดังกล่าวได้นานแค่ไหน ทั้งนี้ มิพักต้องถามหาความสำเร็จจากภาระที่ว่าด้วยซ้ำไปว่ามีมากน้อยเพียงใด

ผลก็คือ ปัญหาทะเลจีนใต้ได้นำพาให้ไต้หวันต้องตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากยังยืนยันว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนแล้วต่อสู้ต่อไป ไต้หวันก็จะมีภาระอันหนักอึ้ง ครั้นจะสละการอ้างสิทธิ์ไปเสียเพื่อปลดภาระออกไป ไต้หวันก็ไม่อาจตัดความรู้สึกชาตินิยมออกไปได้ ภาวะดังกล่าวจึงย้อนแย้งอยู่ในตัว ซ้ำร้ายยังย้อนแย้งอยู่ท่ามกลางความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากจีนอีกด้วย

ภาวะนี้จึงมิใช่อะไรอื่น นอกเสียจากไต้หวันกำลังตกอยู่ในท่ามกลางทวิบถ (dilemma) ในทะเลจีนใต้ไปแล้วนั้นเอง