‘รุธิราชรำพัน’ ข้อสันนิษฐานของ ‘ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร’ ‘พระเมืองแก้ว’ เป็นผู้แต่ง ‘โคลงนิราศหริภุญไชย’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘รุธิราชรำพัน’ ข้อสันนิษฐานของ ‘ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร’ ‘พระเมืองแก้ว’ เป็นผู้แต่ง ‘โคลงนิราศหริภุญไชย’

 

ดิฉันได้รับหนังสือชื่อไพเราะเพราะพริ้งว่า “รุธิราชรำพัน” ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าวตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พร้อมได้ฟังการปาฐกถาถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียดจากผู้เขียนคือ “อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร” เมธีวิจัยอาวุโส ของ สกว. ผู้ล่วงลับไปสู่สวรรคาลัยได้เกือบ 1 ปี

“รุธิราชรำพัน” หาใช่วรรณกรรมแปลกหน้าอื่นใดที่ไหนไม่ แท้คือ “โคลงนิราศหริภุญไชย” ที่เรารู้จักกันอย่างดีนั่นเอง

แล้วไฉน อาจารย์วินัยจึงไม่ใช้ชื่อเดิมอันคุ้นเคยเล่า จู่ๆ มาเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เพื่ออะไร?

 

สองนัยยะของ “รุธิราช”

อาจารย์วินัยอธิบายว่า เริ่มแรกสุดก่อนจะมาถูกเรียกว่า “โคลงนิราศหริภุญไชย” นั้น วรรณคดีชิ้นนี้ก็ถูกเรียกกันมาก่อนแล้วหลายชื่อ

บ้างเรียก “โคลงเมิงเปล้า” (ปีเปล้า = ปีฉลู เพราะแต่งในปีฉลู) บ้างเรียก “ลำพูนคราวทาง” (คราวทาง = ระยะทางที่มีการพรรณนา) บ้างเรียก “ลำหละปูน” (หรือลำนำละพูน) สุดท้ายเรียกกันติดปากว่า “โคลงนิราศหริภุญไชย” ซึ่ง ดร.วินัยก็ยอมรับชื่อนี้

เพียงแต่งานสารัตถวิพากษ์ชิ้นสำคัญนี้ ท่านมีความประสงค์จะตอกย้ำปริศนาที่เราเคยสงสัยกันมาหลายทศวรรษ ให้แน่นหนักอีกครั้งว่า ผู้พิรี้พิไรครวญคร่ำโศกาดูรด้วยต้องจากนางอันเป็นที่รัก หรือผู้เขียนโคลงนิราศนี้มีสถานะเป็นถึง “กษัตริย์หนุ่ม” หาใช่คนธรรมดาไม่

อาจารย์วินัยจึงขอใช้ถ้อยคำให้ตรงประเด็นไปเลยว่า “รุธิราชรำพัน” เป็นการฟันธงว่าใครแต่ง

“รุธิ” แปลว่าอะไรได้บ้าง ความหมายแรก รุธิ แปลว่า วัยหนุ่ม วัยกำดัด คนเลือดร้อน “รุธิราช” จึงแปลว่า กษัตริย์หนุ่มผู้ที่กำลังอยู่ในวัยอันรุ่มร้อนต่อความรัก

ความหมายที่สอง รุธิ แปลว่า อำนาจ ผู้สร้าง ผู้ปกป้อง มีความหมายเดียวกันกับภาษาสันสกฤตว่า “รุทร” เช่นคำว่า “รุทรภาค” ยอดมนบนสุดของศิวลึงค์ หมายถึงพระศิวะ ดังนั้น รุธิราช จึงหมายถึงกษัตริย์ผู้สร้างเมือง ผู้ปกป้องนครา

“รุธิราชรำพัน” จึงแปลได้ว่า โคลงนิราศรำพึงรำพันที่รจนาโดยกษัตริย์หนุ่มผู้รุ่มร้อนด้วยความรัก ในขณะเดียวกันก็เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่

คำว่า “รุธิราช” มิใช่คำที่อาจารย์วินัยประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ลอยๆ หากปรากฏอยู่จริงจุดหนึ่งในโคลงนิราศหริภุญไชยบทที่ 28

ทวารทองขืมเขื่อนขั้ง เสิกแสลง

รุธิราช รังรีแปง ใหม่หม้า

เจียนเถิงพี่ยังแยง หาแม่ นะแม่

บ่จวบโฉมสร้อยฟ้า ไต่เต้าตามเรียม

คำแปล ประตูทองของแนวกำแพงกั้นที่ทำให้ข้าศึกหวาดกลัวนั้น รุธิราชเจ้า (พระราชาผู้ปกป้องคุ้มครองอันยิ่งใหญ่) โปรดให้สร้างขึ้นมาใหม่ ใกล้ถึงที่นั่นพี่ยังมองหาน้องอยู่นะ ไม่ได้พบว่าเจ้าโฉมงามดั่งนางฟ้าได้เดินทางติดตามพี่มา

ข้อความคำว่า “รุธิราช” ในบทที่ 28 นี้เอง ที่อาจารย์วินัยมองว่าผู้รจนาคงได้แอบทิ้งรหัสไว้ให้ผู้อ่านรับรู้เองเป็นนัยๆ โดยโคลงที่เหลืออีกจำนวน 180 บทไม่มีจุดไหนอีกแล้วที่ยอมบอกใบ้ หรือแอบซ่อนนามแฝง ฉายาใดๆ ไว้ให้เราทายได้เลย

หนังสือ “รุธิราชรำพัน”

ใครคือคนรักของ “ศรีทิพ”?

แน่นอนว่าเนื้อหาสาระด้านต่างๆ รวมทั้งอรรถรสเชิงวรรณศิลป์ของบทกวีจำนวนมากถึง 183 บท (หายไป 2 บทสุดท้าย จึงเหลือเพียง 181 บท) ดร.วินัยได้ทำการวิพากษ์สารัตถะไว้แล้วในทุกมุมทุกแง่อย่างละเอียดลออ ไร้ข้อกังขา ซึ่งท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้

ในที่นี้ ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านที่เป็น FC โคลงนิราศภุญไชย เฝ้าติดตามวรรณคดีอมตะชิ้นนี้มานานกว่า 30-40 ปี ยังติดใจเพียงแค่ปรัศนีย์หลักเรื่องเดียวเท่านั้นคือ สรุปแล้วใครแต่งโคลงนิราศหริภุญไชย? หรืออาจแปลงเป็นคำถามคลาสสิกอีกอย่างได้ว่า ใครกันหนอคือคนรักของ “ศรีทิพ”?

ส่วนประเด็นอื่นๆ นั้น เราได้รับคำเฉลยเกือบครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าเรื่องปีศักราชที่แต่งก็ชัดเจนว่าตรงกับ พ.ศ.2060 เรื่องวันเวลาในการเริ่มเดินทางก็ทราบแล้วว่าขบวนเสด็จตั้งต้นที่วัดพระสิงห์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2060

แม้อาจจะขาดบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนไปบ้าง อาทิ ช่วงที่ขบวนเสด็จอยู่แถวเวียงกุมกามแล้วมีการพรรณนาว่าน้ำปิงแห้งเหือดนั้น มีการข้ามน้ำแม่ปิงหรือไม่? หากไม่ ก็แสดงว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ไปแล้ว แต่หากมีการข้าม ก็ย่อมหมายความว่าช่วงเวลาที่แต่งนั้น แม่น้ำปิงยังไม่เปลี่ยนสายแต่ประการใด

ใจคอคนที่แต่งโคลงนิราศหริภุญไชย หมายมั่นจะทิ้งแค่รหัสชื่อของนางผู้เป็นที่รักว่า “ศรีทิพ” เท่านั้นจริงๆ หรือ? โดยมิยอมเฉลยชื่อผู้แต่ง ทั้งนี้มองมุมกลับ ต้องถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างร้ายกาจ ด้วยทำให้มิรู้กี่ทศวรรษแล้วที่นักวรรณกรรม-นักประวัติศาสตร์เฝ้าถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงอยู่แต่ประเด็นที่ว่า คนรักของ “ศรีทิพ” คือใครกันหนอ?

ดิฉันเคยถามท่านอาจารย์วินัยตั้งแต่ปี 2560 ที่งานเสวนาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลางปี 2562 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร งานเปิดตัวหนังสือรุธิราชรำพัน ว่าเหตุไรอาจารย์วินัยจึงปักใจเชื่อว่า ผู้รจนาคือ “พระเมืองแก้ว” กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 11 อาจารย์วินัยได้เบาะแส หรือได้กลิ่นอายมาจากบทโคลงชิ้นไหนหรือ? เพราะเอาเข้าจริงแล้วโคลงบทที่ 28 ก็ไม่ได้ยืนยันว่า “รุธิราช” เป็นผู้แต่ง

อาจารย์วินัยอธิบายว่า แทบทุกบททุกบาทในโคลงนิราศฯ นี้ เราสัมผัสเองได้ถึง “เลือดขัตติยมานะ”ของผู้ประพันธ์ว่าไม่ใช่คนธรรมดา ที่ต่ำต้อยกว่าหญิงคนรัก อีกประการหนึ่ง น่าจะผิดวิสัยของขุนนางอำมาตย์อยู่ไม่น้อย ที่กระทำการหมายปองดอกฟ้าแล้วยังมีหน้ามารจนาบทกวีอวดสาธารณชนอีก

ดิฉันแอบเถียงในใจ ก็เป็นไปได้เหมือนกันนา ดูอย่างสุนทรภู่สิ! แอบรักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ยังกล้าเขียน “รำพันพิลาป” ในเพศสมณะด้วยซ้ำ

ดูเหมือนว่าคำยืนยันของอาจารย์วินัยนั้น น่าจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับการตีความของ ศาสตราจารย์ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ซึ่งเสนอว่า ผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญไชยควรจะเป็น “มหาอำมาตย์ศิริยวาปี” ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีใจหลงรักและภักดีต่อ พระนางโป่งน้อย สิริยศวดี พระราชมารดาของพระเมืองแก้ว มากกว่า

รายละเอียดเรื่องดังกล่าวดิฉันเคยเขียนไว้แล้วในคอลัมน์นี้เรื่อง “ล้านนาศึกษาในไทศึกษา ครั้งที่ 13 500 ปีโคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ” จำนวน 5 ตอน ตีพิมพ์ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ผู้สนใจค้นหาอ่านย้อนหลังได้

สรุปคร่าวๆ คือ ความเห็นของอาจารย์อรุณรัตน์นั้น มองว่า “ศรีทิพ” คือพระนางโป่งน้อย สิริยศวดี ส่วนผู้แต่งโคลงนั้นมีสถานะต่ำศักดิ์กว่า น่าจะเป็นอำมาตย์ผู้มีนามคล้ายกัน ทำหน้าที่ค้ำบัลลังก์ให้กับพระนาง

ภาพจินตนาการ “ศรีทิพ” จากหนังสือ “รุธิราชรำพัน”

มหาอำมาตย์ศิริยวาปีสิ้นชีวิต
ก่อนมีการเขียนโคลงนิราศหริภุญไชย

ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้เขียนอธิบายถึงกรณี “ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำมาตย์กับพระมหาเทวี” ไว้ในหนังสือ “รุธิราชรำพัน” ด้วยเช่นกัน ระหว่างหน้า 27-32 เนื้อหาค่อนข้างยาว สรุปความได้ว่า

มีมหาอำมาตย์ใหญ่แห่ง “หนองขวาง เขลางค์” ผู้หนึ่ง (บ้างเรียก ศิริยวาปี/ตริยวาปี) มีความสนิทสนมกับพระนางสิริยศวดี ซึ่งเกิดที่ “กุสาวดี” (แปลว่าเมืองหญ้าคา-นักวิชาการเชื่อว่าหมายถึงเกาะคา) ซึ่งอาจเป็นเครือญาติกัน ทั้งคู่ช่วยกันโค่นราชบัลลังก์ของ “พระญายอดเชียงราย” พระราชสวามีของพระนางสิริยศวดีลง แล้วสถาปนาพระเมืองแก้วขึ้นเป็นกษัตริย์

อาจารย์วินัยบอกว่า ความที่ทั้งสองเป็นชาวเมืองลำปางแถวเกาะคาเหมือนกัน ย่อมไม่แปลกที่จะสนิทสนมชิดเชื้อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะการจับมือกันไว้ให้แน่น เป็นการช่วยให้ต่างฝ่ายต่างได้มาซึ่งอำนาจ

แม้กระนั้นก็ยังมิอาจฟันธงได้ว่าทั้งสองต้องรักกัน บางทีมหาอำมาตย์อาจเป็นแค่พี่เลี้ยง ญาติผู้ใหญ่? หรือดีไม่ดีอาจเป็นพี่น้องคลานตามกันมาด้วยซ้ำ? เนื่องจากชินกาลมาลีปกรณ์มีการใช้คำว่า “มาตุโล” ซึ่งแปลว่า ลุงที่เป็นญาติฝ่ายแม่

สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ มหาอำมาตย์ศิริยวาปีเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้า พ.ศ.2059 อย่างน้อยก็เป็นเวลา 1 ปีก่อนที่จะมีการแต่งโคลงนิราศหริภุญไชย โดยอาจารย์วินัยอ้างถึง ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า มหาเทวีสิริยศวดีได้ทำการยกบ้านของมหาอำมาตย์ผู้นี้ให้เป็นสังฆาราม และทรงฉลองวัดอันเป็นที่ฌาปนกิจศพของมหาอำมาตย์ ตั้งชื่อว่า วัดนันทาราม (คนละแห่งกับวัดนันทารามาย่านวัวลาย เชียงใหม่ นันทารามนี้น่าจะอยู่แถวเกาะคา)

นอกจากนี้แล้ว ชินกาลมาลีปกรณ์ยังกล่าวถึงนามของมหาเสนาบดีคนใหม่ชื่อ “โวหริต” ว่าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงอิฐเมืองหริภุญไชยใหม่เพื่อป้องกันข้าศึก

สรุปก็คือ ในความเห็นของอาจารย์วินัยนั้น เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่มหาอำมาตย์ศิริยวาปี จักเป็นผู้แต่งโคลงนิราศภุญไชย ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2560 หลังจากการเสียชีวิตของเขาไปแล้ว 1 ปี

อนึ่ง ข้อมูลดังกล่าวนี้สอดรับกับหลักฐานการค้นคว้าใหม่ของ อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ที่กำลังศึกษาเรื่องประวัติความเป็นมาของพระนางโป่งน้อยสิริยศวดีอยู่อย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน โดยอาจารย์ชัยวุฒิพบคำตอบว่า มหาอำมาตย์ตริยวาปี (ศิริยวาปี) แห่งหนองขวาง มีศักดิ์เป็นพี่ชายแท้ๆ ของพระนางสิริยศวดีจริง

รายละเอียดส่วนนี้ ดิฉันขอเวลาชำระสะสางทำความเข้าใจกับหลักฐานต่างๆ อันยุ่งยากซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่อาจารย์ชัยวุฒิเปิดประเด็นไว้อีกสักระยะ เมื่อตกผลึกในทุกรายละเอียดแล้ว จักนำมาขยายผลต่อไป

ก่อนจบขอนำเสนอโคลงหวานสุดจะรำพันบทหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลายท่านมักมองข้าม เพราะส่วนใหญ่คนอ่านโคลงนิราศฯ มักมีเป้าหมายต้องการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากกว่า

จอมนุชเนื้ออ่อนอ้อน อรพิน เช่นแม่

อห่อยสรรเสริญยิน ยิ่งล้ำ

อัปสรบำเรออินทร์ อัคคเทพ ทิพเอ่

อกอาบอมฤตขว้ำ เขือกร้อนรนสิเนห์

คำแปล แม่จอมนางเนื้ออ่อน ผู้งามอ้อนแอ้นดังดอกบัวเช่นเจ้านั้น ได้ยินเขาสรรเสริญว่า เจ้างามอย่างไม่มีที่ตำหนิยิ่งกว่าเหล่าอัปสรที่บำเรอพระอินทร์ผู้เป็นจอมเทพเสียอีก แม่ศรีทิพเอย อกอาบน้ำอมฤตของพระองค์ยังวาบไหวร้อนรนด้วยไฟเสน่หาในตัวเจ้า

ส่งท้าย สมมุติว่าทฤษฎีมหาอำมาตย์ศิริยวาปีมีอันต้องตกทิ้งไป แม้กระนั้น ก็ยังไม่มีโคลงบทไหน บาทใด ที่ช่วยการันตีถึงขั้น “บีบให้มั่นคั้นให้ตาย” ได้ว่า พระเมืองแก้วคือผู้รจนาโคลงนิราศหริภุญไชยอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ