‘วรรณะ’ ระบบชนชั้นที่ถูกแช่แข็ง เพราะโลกอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อะไรที่เรียกว่า ระบบ “วรรณะ” ของพ่อพราหมณ์นั้น ไม่ได้มีอยู่เฉพาะดินแดน และวัฒนธรรมของชมพูทวีป คือภูมิภาคเอเชียใต้ ที่มีประเทศอินเดียเป็นศูนย์กลาง ตามอย่างที่มักจะเข้าใจกันเท่านั้น

เพราะยังมีร่องรอยหลักฐานของการส่งทอดแนวคิดดังกล่าวไปยังดินแดน หรือวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ยอมรับนับถือเอาศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้าไป โดยเฉพาะในภูมิภาคอุษาคเนย์ ดังปรากฏเป็นข้อความบนศิลาจารึกต่างๆ ให้เห็นอยู่อีกด้วย

แต่ที่ปรากฏอยู่บนจารึกแล้ว จะมีการนำมาใช้ในเชิงปฏิบัติในแต่ละสังคมวัฒนธรรมจริงหรือเปล่านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะหลายทีก็จะเป็นการกล่าวถึงในทำนองการอ้างอิงถึงความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การอ้างว่าผู้นำชุมชนของตนสืบสายมาจากวรรณะกษัตริย์ของอินเดีย หรือหมอผีของหมู่บ้านแท้จริงแล้วก็คือเชื้อสายพราหมณ์ใหญ่จากชมพูทวีป โดยที่ไม่ได้มีการนำมาใช้ปฏิบัติจริงในสังคมก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยเสียหน่อย

ส่วนที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ได้การนำเอาระบบระเบียบดังกล่าวมาใช้จริงก็คือชนชาวฮินดูบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ระบบวรรณะในวัฒนธรรมฮินดูบาหลีนั้น ก็ไม่เหมือนกับที่เป็นอยู่ในอินเดียเสียเลยทีเดียว

ชาวฮินดูบาหลีนั้นมีครบทั้ง 4 วรรณะ อันประกอบไปด้วย พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร เช่นเดียวกับต้นแบบในอินเดีย แต่ชนชาวบาหลีที่สมาทานความเป็นพราหมณ์-ฮินดูเหล่านี้กลับไม่รู้จัก “จัณฑาล” ซึ่งก็คือ ลูกหลานที่เกิดจากพ่อแม่ที่แต่งงานข้ามวรรณะ จนจัดเข้าอยู่ในหมวดหมู่ของวรรณะตามมระบบระเบียบของชาวฮินดูในชมพูทวีปไม่ได้ การแต่งงานข้ามวรรณะจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยไม่ผิดจารีตอันใดในวัฒนธรรมฮินดูแบบบาหลีมาแต่โบราณแล้ว

แต่ก็ไม่ใช่ว่านี่จะเป็นสิ่งที่ยุติธรรมเมื่อมองย้อนกลับไปจากจุดยืนของสิทธิความเท่าเทียมของมนุษย์แต่ละในคนในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นักหรอกนะครับ เพราะในสังคมฮินดูบาหลีแบบจารีตนั้น ชายในวรรณะสูงสามารถแต่งงานกับหญิงในวรรณะต่ำได้อย่างไม่มีปัญหา

แต่หากกลับกันคือหญิงไปแต่งงานกับชายที่วรรณะต่ำกว่าก็ยุ่งยากกว่ากันมาก

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีภาษิตบาหลีอธิบายว่า น้ำกามก็เหมือนน้ำ คือไหลลงจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งก็แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ภาษิตที่นักสตรีนิยม รวมไปถึงใครต่อใครที่เชื่อว่าคนเท่ากันในโลกปัจจุบันนี้จะปลื้มปริ่มตามไปด้วย

 

และก็เป็นเช่นเดียวกับในอินเดียที่โดยทฤษฎีแล้ว วรรณะพราหมณ์ ควรจะมีฐานะสูงกว่าวรรณะกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ทางสังคมที่ส่งผลต่อการถือครองอำนาจของวรรณะต่างๆ ในสังคมอยู่อีกมาก

ในกรณีของบาหลีนั้น วรรณะกษัตริย์คือผู้ถือครองอำนาจที่แท้จริง ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะพราหมณ์ที่มีคุณสมบัติประกอบพิธีกรรมได้มีจำนวนน้อย โดยพราหมณ์เหล่านี้อาจมีอำนาจเหนือชาวบ้านอยู่บ้าง แต่สำหรับในราชสำนักแล้ว พวกเขาก็เป็นเพียงแค่ข้าราชบริพารคนหนึ่ง ที่มีหน้าที่รับใช้กับกษัตริย์ และหมู่เชื้อพระวงศ์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม วรรณะที่สังคมชาวฮินดูบาหลีคือว่าเป็นวรรณะสูงนั้น ประกอบด้วย “พราหมณ์”, “กษัตริย์” หรือที่เรียกในสำเนียงถิ่นบาหลีว่า “ษัตริยะ” (satria) และ “แพศย์” หรือ “เวศยะ” ตามสำเนียงบาหลี ซึ่งมีศัพท์เรียกทั้งสามวรรณะชั้นสูงนี้รวมกันว่า “ตรีวังศะ” นั้น ก็มีเพียงราวๆ หนึ่งในสิบของจำนวนประชากรเท่านั้นนะครับ

ส่วนอีกเก้าในสิบของประชากรที่เหลือก็คือ “ศูทร” หรือชาวบ้านธรรมดาโดยทั่วไปนี่แหละ

ดังนั้น ชนชาววรรณะสูงเหล่านี้จึงนับได้ว่ามีเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ดี

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่พวกฮอลันดาจะเข้ามาครอบครองบาหลีนั้น ระบบวรรณะของบาหลีมีลักษณะที่ค่อนข้างหลวม แถมยังมีกลุ่มคนที่ไม่ถูกจัดเข้าไปอยู่ในระบบวรรณะอีกต่างหาก

คนนอกระบบวรรณะกลุ่มสำคัญก็คือ ช่างตีเหล็ก เพราะกษัตริย์ในเกาะบาหลีซึ่งมักทำสงครามเสมอ ดังนั้น ผู้ชำนัญการในการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์อย่าง ช่างตีเหล็ก จึงมีความสำคัญ จนถูกแยกไว้ต่างหากจากศูทรทั่วไป ซึ่งก็อาจเรียกอย่างลำลองได้ว่า เป็นแรงงานไพร่นั่นเอง

ระบบวรรณะในบาหลีดำเนินไปอย่างยืดหยุ่น มากกว่าที่จะเคร่งครัดตายตัวอยู่อย่างนี้จนกระทั่งเมื่อพวกฮอลันดาเข้ามายึดครองเกาะบาหลีแล้ว ชาวดัตช์กลับเห็นว่าศาสนาฮินดูของบาหลีจะช่วยป้องกันการขยายตัวของมุสลิม ที่มีอำนาจอยู่เหนือคาบสมุทรมลายู และอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะในขณะนั้น จนทำให้ชนชาวยุโรปกลุ่มนี้ไม่ไว้วางใจ ดังนั้น จึงพยายามเก็บบาหลีให้ “เหมือนเดิม”

แต่ก็เป็นความ “เหมือนเดิม” ตามจินตนาการของพวกฮอลันดาเองว่าเดิมคืออย่างไร? เท่านั้นแหละนะครับ ไม่ใช่ว่าเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแต่เดิมจริงๆ

 

หนึ่งในการคงความเหมือนเดิมที่พวกดัชต์นำมาใช้กับเกาะบาหลีนั้นก็คือ การ “แช่แข็ง” ระบบวรรณะให้เคลื่อนย้ายได้ยากกว่าที่เคยเป็นมาแต่เดิม จนกลายเป็นปัญหาสืบมาถึงสังคมฮินดูบาหลีในช่วงหลังยุคอาณานิคม เพราะเป็นไปได้ยากในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ปล่อยให้ปัจเจกบุคคลเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยอิสระ

แต่ไม่ว่าจะถูกแช่แข็งอย่างไร ชาวบาหลีก็มีวิธีเคลื่อนย้ายทางสังคมผ่านระบบวรรรณะไม่ต่างจากอินเดีย ซึ่งก็มักจะถูกมองว่า “วรรณะ” เป็นหลักการที่เคร่งครัดจนทำให้ผู้คนที่สังกัดอยู่ในระบบวรรณะในอินเดียนั้น กระดุกกระดิกร่างกายของตนเองตามอำเภอใจได้ยากเช่นกัน

อันที่จริงแล้ว ระบบวรรณะในอินเดียก็ไม่ได้ใจร้ายเสียจนไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่เกิดในวรรณะต่ำเงยหน้าอ้าปากได้

ตัวอย่างคลาสสิคชิ้นหนึ่งก็คือ การที่หมู่ชนในวรรณะศูทร ที่ประกอบอาชีพการทำภาชนะดินเผา รวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับชนชั้นวรรณะอื่นที่ข้อห้ามของวรรณะไม่อนุญาตให้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้ จนทำให้ชนชาวศูทรกลุ่มดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของชนชั้นที่วรรณะสูงกว่า

ดังนั้น ในอินเดียเอง “วรรณะ” ก็เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไว้อ้างถึงเท่านั้นเช่นกันนะครับ นอกจากนี้ สิทธิและอำนาจของคนอินเดีย โดยเฉพาะในชนบท ยังขึ้นอยู่กับกลุ่มก้อนอื่นๆ ที่เรียกว่า “ชาติ” (อ่านว่าชา-ติ) อีกด้วย

และถึงแม้ว่าอะไรที่เรียกว่าแม้ว่าชาตินี้ ก็ยังผูกติดอยู่ในระบบวรรณะ แต่สิทธิและอำนาจของชาติไม่ได้เรียงตามวรรณะที่ตนสังกัด เช่น ในบางแห่งคนในชาติหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นวรรณะพราหมณ์ อาจไม่ได้มีสิทธิและอำนาจมาก เมื่อเทียบกับอีกชาติหนึ่งซึ่งอยู่ในวรรณศูทร เพราะปัจจัยที่สำคัญกว่าก็คือ กำลังทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้คนเหล่านั้นต่างหาก

คนในชาติที่ถูกถือว่าต่ำ อาจไต่เต้าขึ้นไปสู่ขั้นบันไดทางสังคมที่สูงขึ้นได้ หากมีกำลังทางเศรษฐกิจและการเมืองที่จะทำอย่างนั้น โดยการลอกเลียนทางวัฒนธรรมของชาติสูง เช่น แต่งตำนานของตระกูลให้มีกำเนิดในวรรณะสูง เลิกกินเนื้อสัตว์บางอย่าง ไม่ไปเทวาลัยที่ถือว่าสำหรับชาติต่ำ แต่เลือกไปทำบุญในเทวาลัยที่ถือว่าของชาติสูงแทน ฯลฯ ในที่สุดก็อาจเลื่อนชาติของตนให้เป็นที่นับถือของคนอื่นได้

หรือแม้แต่เลื่อนชาติของตนจากวรรณะต่ำให้กลายเป็นชาติในวรรณะสูงก็ได้ด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ฮินดูแบบบาหลีนั้น แตกต่างจากฮินดูของอินเดียอย่างมาก เนื่องจากผสมปนเปด้วยลัทธินับถือบูชาบรรพชนอย่างที่นักวิชาการหลายท่านมักจะอ้างว่ามีความเข้มข้นกว่ามาก แถมยังบวกด้วยการนับถือเทพแห่งทะเล, ภูเขา, สถานที่, สิ่งของ ฯลฯ เข้าไปอีกด้วยต่างหาก

แน่นอนว่า ชาวฮินดูบาหลีก็นับถือพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์ของฮินดู คือ พระอิศวร,พระนารายณ์ และพระพรหม แต่ไม่สู้จะให้ความสำคัญนัก สังเกตได้จากการที่ในเทวาลัยของบาหลี ทั้งของชาวบ้านหรือของกษัตริย์ ซึ่งเรียกว่า “ปุระ” จะว่าไปก็ไม่ใช่ที่อยู่อย่างถาวรของพระเจ้าหรือบรรพชน แต่เป็นเหมือนโรงแรมมากกว่า คือจะลงมาสิงสถิตเมื่อทำพิธีอัญเชิญมาเท่านั้น เสร็จแล้วก็เช็กเอาต์ไปที่อื่น

แต่สิ่งที่เหมือนกันกับในอินเดียก็คือ ความสูงต่ำของคนขึ้นอยู่กับว่าเขาสังกัดอยู่ในกลุ่มตระกูลใด ไม่ได้อยู่ที่วรรณะล้วนๆ กลุ่มตระกูลของพวกศูทรบางกลุ่มนั้น เคยแย่งอำนาจตั้งตัวและเป็นราชาของบางรัฐในบาหลีด้วยซ้ำไป

กลุ่มตระกูลเหล่านี้อาจยกสถานะขึ้นได้เพราะอำนาจ หรือเงินตรา โดยผ่านการแต่งงานกับกลุ่มตระกูลที่สูง จนกลายเป็นญาติกัน นอกจากนี้ ก็อาจจะมีกี่แต่งประวัติตระกูลเสียใหม่ให้ผูกพันไปกับตระกูลสูง เช่น เป็นลูกลับๆ ของกษัตริย์องค์นั้นองค์นี้ หรือจะองค์ไหนๆ ก็ได้ เป็นต้น

เอาเข้าจริงแล้ว ความรู้เรื่องระบบ “วรรณะ” ในแบบกระแสหลัก ที่คนทั้งโลกเคยได้ร่ำเรียนกันนั้นเป็นความรู้เรื่องวรรณะจากสายตาคนนอก คือนักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิชาการฝรั่ง (เพราะชาวดัตช์ได้เข้ามายึดครองบาหลี เช่นเดียวกับที่อังกฤษได้เข้ามายึดครองเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย) ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากคนในวัฒนธรรมตนเองมาแต่แรกเริ่มหรอกนะครับ

ที่สำคัญก็คือระบบวรรณะนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยจัดการในการทำสำมโนประชากร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการ “จินตกรรม” ถึงความเป็น “รัฐชาติ” สมัยใหม่ อย่างไม่ต้องสงสัย

ซ้ำยังเป็นจินตกรรมที่ฝรั่งต้องการฝันเห็น ไม่ใช่จินตกรรมแต่ดั้งเดิมที่ของคนพื้นเมืองที่ถูกปกครองเคยใช้เพื่อสร้างอำนาจให้กับกลุ่มก้อนของตนเองเสียด้วย

“วรรณะ” ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของ “ชนชั้น” จึงมีบันไดให้เดินขึ้นเดินลงเสมอ แต่บันไดที่ว่าถูกควบคุมไว้ด้วยผู้มี “อำนาจ” ในการปกครอง ซึ่งอาศัยอยู่บนส่วนยอดของชนชั้นเสมอ และผู้มีอำนาจคนเดียวกันนี้เองที่เป็นคนนิยาม และกำหนดความหมายของ “ชนชั้น” ในแต่ละยุคสมัยขึ้นมา •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ