‘ครูบาก๋องดัง’ (กลองดัง) อีกหนึ่งสมัญญา ของ ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

11 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาครบรอบวาระ “145 ปีชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย” ดังนั้น ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน วัดวาอารามต่างๆ ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนหรือที่เรียกว่า “กลุ่มล้านนา” ได้พร้อมใจกันจัดงานรำลึกถึงท่านอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

ตัวดิฉันเอง ปีนี้ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรม “ตามรอยวัดของครูบาเจ้าศรีวิชัยในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย” ในฐานะที่ดิฉันเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน “กลุ่มเมืองพานศึกษา” เราร่วมมือกับ “สภาวัฒนธรรมอำเภอพาน” จัดงานรำลึกถึงคุณูปการของครูบาเจ้าศรีวิชัยสองแห่ง ภาคเช้าที่ วัดหนองบัวเงิน และภาคบ่ายที่ วัดมหาวัน (สันป่ง สะดือเมือง)

วัดทั้งสองแห่งได้ต้อนรับคณะของเราที่เดินทางไปจากลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ด้วยการตีกลองสะบัดชัย กลองปูชา และกลองอื่นๆ เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ทราบดีว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีฉายาอีกนามว่า “ครูบากลองดัง” ภาษาล้านนาอ่าน “ก๋องดัง”

ก่อนจะเจาะลึกไปถึงสมัญญา “ครูบาก๋องดัง” ขอปูพื้นให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมด้วยว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยได้รับการยกย่องในสมัญญาหรือฉายาอะไรมาแล้วบ้าง และด้วยเหตุผลใด

ภายในวิหารวัดศรีเมืองมูล อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา มีภาพวาดและรูปปั้นแบบเซรามิกของครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมหุ่นขี้ผึ้งของศิษยานุศิษย์

จาก “ครูบา” ถึง “ครูบาเจ้า”

นอกจากคำว่า “ครูบา” แล้ว ยังพบคำเรียก “ครูบาเจ้า” ที่ใช้เรียก “พระศรีวิชัย” หรือ “สิริวิชโยภิกขุ” อีกด้วย

ครูบาเจ้า หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่างเหมือนครูบา แต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าหัวหมวดอุโบสถตามระบบการปกครองพระพุทธศาสนาในล้านนาแบบเดิม บางรูปอาจสืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองนคร หรืออาจเป็นชาวบ้านสามัญชนก็ได้

นอกจากนี้ ยังพบว่า “ครูบาเจ้า” ใช้เรียกพระภิกษุที่มีบุญบารมีสูงได้ด้วยเช่นกัน แม้ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงใดๆ ดังที่ใช้เรียก “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” นั่นเอง

การใช้คำว่า “ครูบาเจ้า” เรียกขานพระภิกษุรูปใดนั้น ในอดีตพบไม่บ่อยนัก เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นถึงการเคารพยกย่องพระศรีวิชัยเหนือพระสงฆ์รูปอื่น

หลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าชาวล้านนาได้เรียกพระศรีวิชัยว่า “ครูบาเจ้า” มีมาแล้วตั้งแต่อย่างน้อยในปี พ.ศ.2461 เมื่อท่านอายุ 40 ปี พรรษา 19 เป็นข้อความบนแผ่นจารึกไม้สีแดง เดิมอยู่ในวิหารวัดแม่ตืน ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ต่อมา เก็บรักษาในกุฏิเจ้าอาวาส

ข้อความเขียนด้วยอักษรธัมม์ล้านนา อาจารย์ภูเดช แสนสา ปริวรรตถอดความได้ดังนี้

“วัดแม่ทืน ครูบาเจ้าสีวิไชยาชนะ เปนเค้าได้ฅิดจัดการก่อส้าง ขึ้นเมื่อพุทธสักกราชได้ 2461 จุลสกราชได้ 1280 ตัว ปีกัดเม็ด เดือน 8 เพง เมงวันสุก”

 

ครูบาหลวง

คําว่า “ครูบาหลวง” หรือ “ตุ๊เจ้าหลวงที่ดี” ก็เป็นคำอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้เรียกเฉพาะครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างแพร่หลายเช่นกัน ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีสมณศักดิ์ใดๆ ทางโลก (แต่ชาวบ้านยกย่องท่านเทียบได้กับการเรียก ครูบาหลวงวัดฝายหิน ผู้เป็นสังฆราชาแห่งเชียงใหม่)

นัยเป็นการยกย่องว่าเป็นครูบาของครูบาทั้งปวง จากการลงพื้นที่วิจัยพบว่าชุมชนหลายอำเภอ อาทิ ชาวลี้ แม่ทา ทุ่งหัวช้าง เสริมงาม รวมถึงชาว อ.พาน แม่ใจ ฯลฯ ล้วนเรียกท่านว่า ครูบาหลวง ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งสองคำนี้ คือ ครูบาเจ้า และครูบาหลวง พบว่ามีการใช้เรียกแทนกัน เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้งเป็นคำเรียกจากฝ่ายคณะสงฆ์ล้านนาและชาวล้านนาทั่วไป ที่มีนัยของการยกพระศรีวิชัยให้อยู่เหนือพระสงฆ์รูปอื่นๆ นั่นเอง

กลองปูชา (ปู่จา) วัดศรีเมืองมูล ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยชื่นชมและให้รางวัลชนะเลิศในการประกวดการตีกลองดัง เป็นที่มาของวัด “พระเจ้าก๋องดัง” วัด “ครูบาก๋องดัง”

ครูบาต๋นบุญ หรือนักบุญแห่งล้านนา

“ครูบาต๋นบุญ” หรือภาษาเขียนใช้ “ตนบุญ” (หมายถึงผู้มีบุญ) ภาษาภาคกลางเรียกว่า “นักบุญ” อันเป็นสมัญญาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับการเพรียกขานมานานเกือบศตวรรษว่าเป็น “นักบุญแห่งล้านนา”

แนวคิดเรื่อง “ต๋นบุญ” ของชาวล้านนาถือเป็นอุดมการณ์ทางศาสนาอันยิ่งใหญ่ ได้รับการสืบทอดมาจากพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เข้ามาผสมผสานกับคติพุทธเถรวาทของพื้นเมือง ที่มีความเชื่อว่าศาสนาพุทธจะเสื่อมลงในช่วงระยะเวลา 5,000 ปี แต่จะมี “ต๋นบุญ” ปรากฏขึ้นมาช่วยกอบกู้พระพุทธศาสนาในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตทุกข์เข็ญ

เนื่องจาก “ต๋นบุญ” ผู้นั้นเคยได้รับการพยากรณ์จากอดีตพุทธเจ้ามาก่อนแล้ว และในชาตินี้ “ต๋นบุญ” จะถือกำเนิดเป็นบรรพชิตที่มีบุคลิกลักษณะพิเศษ กล่าวคือ มีความเคร่งครัดในศีลาจารวัตร มีความสามารถในการสร้างผลงานด้านศาสนกิจให้สำเร็จลุล่วง

ก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแก่ทุกกลุ่มชน สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คนทุกหมู่เหล่า

 

ครูบาศีลธรรม

ที่มาของ “ครูบาศีลธรรม” พบว่าในเมืองเชียงตุง ยังคงมีการเรียกสามเณรบางรูปผู้มีวัตรปฏิบัติเรียบร้อย มีอากัปกิริยาสงบเสงี่ยมสำรวม ถือศีลกินเจมาโดยตลอด ไม่ซุกซนเหมือนเณรน้อยทั่วๆ ไป จึงเป็นที่เคารพรักของชาวเชียงตุงว่า “สามเณรศีลมั่น” และหากสามเณรรูปนั้นยังยืนหยัดมั่นคงในศีลอันบริสุทธิ์อยู่จนถึงเป็นพระภิกษุ ก็จะเรียกว่า “ตุ๊เจ้าศีลธรรม”

“ครูบาศีลธรรม” เป็นอีกนามหนึ่งที่ชาวล้านนาใช้เรียกขานครูบาเจ้าศรีวิชัย เหตุที่ท่านตั้งใจประพฤติดีไม่หวั่นไหว เคร่งครัดรักษาศีลปฏิบัติธรรม และไม่รู้จักเบื่อที่จะเทศนาสั่งสอนเรื่องศีลเรื่องธรรม

ความยึดมั่นในศีลธรรมของท่านถึงขั้นตั้งสัจจาธิษฐานว่า ขอเป็นพระโพธิสัตว์ หรือขอบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ ขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต

 

ครูบาทันใจ

ทั้งนี้ ในบางพื้นที่อาจมีชื่อเรียกขานท่านในนามอื่นที่แตกต่างกันออกไป เช่นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เรียกท่านว่า “ครูบาทันใจ” หรือ “ตุ๊เจ้าตันใจ๋” เนื่องจากท่านเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ใช้เวลาก่อสร้างเสนาสนะเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว

เช่นเดียวกับที่ชาว อ.พาน ชุมชนวัดพระหิน บ้านสันต้นเผิ้ง (ผึ้ง) มีพระธาตุขวยปู วัดนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัยสั่งงานให้สล่าเตรียมวัสดุไว้ล่วงหน้า ประเภทหิน ไม้ ปูน ทราย ดิน กระจก ประมาณ 7 วัน ครั้นเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมาถึง พระธาตุองค์นี้สามารถก่อสร้างเสร็จเป็นมหัศจรรย์ภายในวันเดียว

ชาวสันต้นเผิ้ง จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “ตุ๊เจ้าตันใจ๋” และมีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่ง พบว่าวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณปฏิสังขรณ์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มักมีการสร้างพระเจ้าทันใจไว้ด้วยเสมอ

กลองปู่จาวัดผาลาด อ.เสริมงาม จ.ลำปาง สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เคยลั่นเองเป็นปาฏิหาริย์เมื่อมีคนแอบลักขโมยของมีค่าในวิหาร อันเป็นที่มาของคำเรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “ครูบาก๋องดัง” อีกหนึ่งชุมชน

ครูบาก๋องดัง

มาถึงสมัญญาที่ดิฉันอยากนำเสนอในครั้งนี้ ได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน 2 กลุ่ม คือกลุ่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และกลุ่ม อ.เสริมงาม จ.ลำปาง

กลุ่มวัดศรีเมืองมูล และวัดดอนตัน ต.ป่าซาง อ.ดอกคําใต้ ทั้งพระและฆราวาสได้ให้ข้อมูลว่า

ในปี 2465 ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยขึ้นสร้างวิหารหลวงวัดศรีโคมคํา เมื่อสร้างเสร็จได้ฉลอง 7 วัน 7 คืน มีการประกวดแข่งขันวงกลองอืดสึ้ง ในงานนี้วัดศรีดอนมูลได้เข้าร่วมประกวดแข่งขันด้วยและได้รับรางวัลชนะเลิศ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเรียกวัดศรีเมืองมูลว่า “วัดพระเจ้ากลองดัง” (วัดพระเจ้าก๋องดัง)

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาแวะพักที่ อ.ดอกคำใต้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2476 พร้อมทั้งได้สร้างกลองปูชา และกลองแอวไว้กับวัดศรีเมืองมูล ศรัทธาชาวบ้านค่าได้นําบุตรหลานมาขอให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยอุปสมบทบรรพชาเมื่อครั้งมาพำนักอยู่วัดนี้ และชาวบ้านได้ขนานนามครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “ครูบาก๋องดัง”

เหตุที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเมื่อรับนิมนต์ไปสร้างวัดไหนๆ ก็แล้วแต่ ประโยคแรกที่ท่านมักถามหาคือ “วัดนี้มีกลองไหม” เจ้าอาวาสวัดศรีเมืองมูลหรือวัดพระเจ้าก๋องดังเล่าว่า “คนเฒ่าคนแก่บอกว่า ครูบาฯ จะลองเคาะกลองตัวเดิมของวัดก่อนว่าเสียงกระหึ่มไหม หากเสียงไม่ดัง ท่านบอกให้สล่าเปลี่ยนหนังหุ้มกลองใหม่ หากวัดไหนยังไม่มีกลอง ท่านจะให้สล่าสร้างขึ้นให้ใหม่”

เมื่อเราถามว่า ทำไมครูบาฯ จึงให้ความสำคัญกับกลอง พระครูวิธานฯ ตอบว่า

“เพราะเมื่อครูบาฯ ไปช่วยสร้างวัดแต่ละแห่ง จำเป็นต้องระดมกำลังคนมาช่วยก่อสร้างจำนวนมหาศาล หากคนมาน้อยงานจะสำเร็จช้า ดังนั้น การลั่นกลองจึงเป็นเสมือนสัญญาณการมาถึงของท่านครูบาฯ ทันทีที่คนในหมู่บ้านได้ยินเสียงกลอง จะรีบรวบรวมข้าวปลาอาหาร แบกทรายปูน ถือสิ่วค้อน เครื่องไม้เครื่องมือมารวมตัวกัน มุ่งตรงไป ณ วัดที่ครูบาฯ พำนัก ตามเสียงกลองที่ได้ยินนั้น”

อีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลเรื่อง “ครูบาก๋องดัง” คือกลุ่มวัดผาลาด วัดนาเอี้ยง วัดศรีลังกา ในเขต อ.เสริมงาม ย่านนี้มีลูกศิษย์ครูบาฯ คนสำคัญชื่อ “ครูบาตา คนฺธวํโส” ผู้เคยรับใช้อุปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ครูบาตาได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านครูบาศรีมา ทำให้เราทราบว่า

วัดในกลุ่มเสริมงามเอง ก็เช่นเดียวกับวัดทุกแห่งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะ ท่านมักถามหากลอง หรือช่วยสร้างกลองให้ ที่วัดผาลาดมีกลองปู่จา (ปูชา) ขนาดใหญ่มากในศาลาสร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ต่อมาปี 2522 ได้มีโจรใจบาปแอบเข้ามาลักขุดเจาะขโมยของมีค่าที่ด้านหลังองค์พระประธานในพระวิหาร

ปรากฏว่าเกิดสิ่งมหัศจรรย์คือเสียงฆ้องเสียงกลองปู่จาลั่นดังขึ้นเอง 3 ครั้ง โดยไม่มีใครตี ปลุกให้ชาวบ้านแตกตื่นรีบวิ่งไปดูเหตุการณ์ที่วัดผาลาด ทำให้โจรไม่สามารถขโมยของมีค่าไปได้ ชาวบ้านเชื่อว่าการรอดพ้นจากเภทภัยในครั้งนั้นได้ ก็เนื่องมาจากปุญญาปารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยคุ้มปกวัดผาลาดนั่นเอง

และชุมชนแห่งนี้เป็นอีกย่านหนึ่งที่เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “ครูบาก๋องดัง” •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ