ทางหลวงภาคใต้ พ.ศ.2493

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะล่องใต้ไปตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2493 ซึ่งนอกจากสายหลัก คือถนนเพชร์เกษม ในอดีต หรือทางหลวง 4 ในปัจจุบันแล้ว ยังมีการก่อสร้างทางหลวงแยกย่อยออกไปอีกหลายสาย

เริ่มจากที่ ถนนกาญจนวณิชย์ จากสงขลา ไปสะเดา มีการประกาศนาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระยาประกิตย์กลศาสตร์ (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างทางสงขลา

ต่อมา เมื่อมีการตั้งชื่อทางหลวง โดยใช้ระบบหมายเลข ช่วงหาดใหญ่ ไปถึงสะเดา ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง 4 (ถนนเพชรเกษม) แต่ยังคงเหลือถนนกาญจนวณิชย์ ที่เชื่อมเมืองหาดใหญ่เข้ากับเมืองสงขลา ช่วงตั้งแต่ทางแยกคลองหวะ ในเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ ไปทางทิศเหนือ ไปสิ้นสุดที่ทางแยกสำโรง ในเขตอำเภอเมืองสงขลา

จากภูเก็ต ไปท่าฉัตร์ชัย มีนามว่า ถนนเสถียรฐาปณกิจ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาเสถียร ฐาปนกิจ (ดวง บุนนาค) อดีตนายช่างทางเอก

ปัจจุบัน กลายเป็นทางหลวง 402 หรือเรียกขานว่า ถนนเทพกระษัตรี ตามข้อสันนิษฐานว่า เป็นแนวเดียวกับถนนโบราณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และได้รับพระราชทานนามดังกล่าว จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สําหรับถนนจากยะลาไปเบตงนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สารศาสตร์ ศิริลักษณ์ สุขยางค์) อดีตนายช่างทางเอก จึงประกาศนามว่า ถนนสุขยางค์ เมื่อมีการก่อสร้างทางหลวง 410 (ปัตตานี-เบตง) จึงถูกผนวกรวม เหลือเพียงส่วนที่อยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา

ส่วนถนนจากยะลาไปปัตตานีนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุบิล สิโรรส อดีตนายช่างแขวง จึงประกาศนามว่า ถนนสิโรรส เมื่อถูกผนวกรวมเหมือนถนนสุขยางค์ กลายเป็นทางหลวง 410 เหลือเพียงในเขตเทศบาลนครยะลา

ยังมีถนนจากปัตตานีไปนราธิวาส ที่ประกาศนามว่า ถนนรามโกมุท เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงปริญญาโยควิบูลย์ (ชม-อุบล รามโกมุท) อดีตนายช่างควบคุมการสร้าง

ปัจจุบัน ถนนรามโกมุท เหลือเป็นถนนสายสั้นๆ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี

ในครั้งนั้น มีการสร้างทางหลวงจากสถานีรถไฟควนเนียง จังหวัดสงขลา มีปลายทางที่ด่านศุลกากรเกาะนก จังหวัดสตูล ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ที่ประกาศนามว่า ถนนยนตรการกำธร เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงยนตรการกำธร (มล รณะนันทน์) อดีตนายช่างผู้ก่อสร้าง ที่เป็นคนปักษ์ใต้ เคยอยู่ที่ยะลามาก่อน

ปัจจุบันถูกผนวกรวมกับทางหลวง 4 และทางหลวง 406

 

สําหรับ ถนนสุนอนันต์ ที่ประกาศนามเพื่อเป็นเกียรติแก่นายอำพน สุนอนันต์ อดีตนายช่างแขวง เป็นทางหลวงจากนครศรีธรรมราช ไปปากพนัง

ปัจจุบันผนวกรวมกับทางหลวง 4013 เหลือเพียงซอยสุนอนันต์ ในเขตอำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช

และชุมชนบ้านริมถนนสุนอนันต์ อยู่ที่ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช เดิมชื่อ ชุมชนบ้านริมคลองสุขุม ตามนามพระยาสุขุมนัยวินิจ เทศาภิบาลมลฑลนครศรีธรรมราช ได้ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำปากพนัง ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างถนนสุนอนันต์ ประชาชนจึงย้ายบ้านจากริมคลองมาอยู่ริมถนน

ทางหลวงแผ่นดินในภาคใต้ ที่ก่อสร้างในครั้งนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่ถูกผนวกรวมกับทางหลวงหมายเลขต่างๆ ตามระบบทางหลวงแผ่นดินปัจจุบัน

แต่ส่วนที่เหลือ ยังคงอยู่ในเมืองต่างๆ และยังคงเรียกขานตามนามเดิมที่ประกาศไว้

ที่แปลกต่างไปจากนามถนนอื่นๆ ทั่วไป คนรุ่นใหม่ในหลายชุมชน อาจสังเกตเห็นบ้าง แต่ก็ไม่รู้ที่มา

มองบ้านมองเมืองคราวนี้ นอกจากเป็นเรื่องที่คนรุ่นเก่าบอกกล่าวคนรุ่นใหม่ให้ได้รับรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองแล้ว ยังสะท้อนวัยผู้เขียนชัดเจนว่า เป็นระดับ สว.แล้ว •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส