ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันค้างเนื้อหาการถอดความจารึก ลพ.3 วัดมหาวัน ไว้ประเด็นหนึ่ง
คือพบหลักฐานการสร้างพระพุทธรูป ทั้งปางมารวิชัย (ในจารึกใช้คำว่าปางตรัสรู้ธรรม-ภาษามอญใช้คำว่า เฆียะย่งซ้าด) และปางไสยาสน์ (พระนอน) จำนวนหลายองค์
ฉบับนี้ตั้งใจจะมาเฉลยว่า มีการสร้างพระพุทธรูปรวมแล้วกี่องค์กันแน่
จารึกด้านแรกนับได้ 8 องค์ ส่วนจารึกด้านหลังนับได้อีก 4 องค์ รวม 12 องค์
รายละเอียดของพระพุทธรูปเหล่านี้ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จะใช่พระรอดองค์จิ๋วหรือไม่ (เหตุที่พระรอดก็เป็นปางมารวิชัย) เราคงต้องนำไปวิเคราะห์กับหลักฐานด้านโบราณวัตถุที่พบในวัดมหาวันอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าควรหมายถึงพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หรือเล็ก ทำด้วยวัสดุชนิดใด เคยประดิษฐานไว้ที่จุดไหนกันบ้าง
จากเวทีเสวนาที่เราเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์จารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชยหลัก ลพ.3 วัดมหาวัน เพียงหนึ่งหลัก ผลลัพธ์ของมันคือ ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่จารึกอักษรมอญโบราณทั้ง 11 หลัก (ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย 9 หลัก รวมจารึกเวียงมโนแล้ว +จารึกเวียงเถาะ 1 หลัก อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ + จารึกวัดธงสัจจะอีก 1 หลัก)
ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ย้ำว่า ความสำคัญด้านอักษรศาสตร์ของจารึกมอญโบราณหริภุญไชย เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณค่าที่ถอดรหัสได้ในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะหากเราศึกษาเจาะลึกจารึกมอญโบราณหริภุญไชยทั้ง 11 หลักอย่างละเอียดแล้ว จักค้นพบความยิ่งใหญ่ของอักษรเหล่านี้ว่ามีคุณูปการต่อจารึกอักษรกลุ่มต่างๆ ในระดับภูมิภาคอุษาคเนย์เลยทีเดียว
ต้นกำเนิดลายสือไท ก.ไก่ตัวแรก
ของอักษรสุโขทัยรับมาจากหริภุญไชย
อาจารย์พงศ์เกษมยืนยันมานานหลายปีดีดักแล้วว่า ความสำคัญของจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชย ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่มักไม่มีใครกล่าวถึงเลยก็คือ
การเป็นต้นแบบให้แก่ตัว ก.ไก่ ของลายสือไท อักษรสุโขทัยที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันเป็นต้นกำเนิดตัวอักษรไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน
โดยอาจารย์พงศ์เกษมได้อ้างถึง ตัว ก.ไก่ ที่ปรากฏอยู่ในจารึกอักษรมอญโบราณหลัก ลพ.6 วัดบ้านหลวย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งมีพัฒนาการของการเขียนตัว ก.ไก่ ให้ไปมีความใกล้เคียงกับตัว ต.เต่า ของอักษรมอญโบราณแล้ว
หมายความว่า เดิม ก.ไก่ ทั้งของอักษรมอญโบราณและอักษรขอมโบราณ จะคล้ายกับตัว M หรือเลข ๓ (เลขสามไทย) ต่างกันที่อักษรขอมมีการเติมศกข้างบน
ในขณะที่ตัว ต.เต่า ของอักษรมอญโบราณมีความใกล้เคียงกับตัว ก.ไก่ ในลายสือไทค่อนข้างมาก อาจารย์พงศ์เกษมได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญว่า จารึกหลัก ลพ.6 วัดบ้านหลวย เริ่มเปลี่ยนไปเขียนตัว ก.ไก่ ในลักษณะที่คล้ายกับตัว ต.เต่า อย่างมาก
ในที่สุดอาจารย์พงศ์เกษมก็ได้ข้อสรุปว่า ตัว ก.ไก่ ของจารึกมอญโบราณวัดบ้านหลวยนี่เอง ที่ส่งอิทธิพลให้แก่ตัว ก.ไก่ อักษรตัวแรกของลายลือไท
สะท้อนว่า อาณาจักรสุโขทัยมีการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านอักขระจารึกกับอาณาจักรหริภุญไชยอย่างแนบแน่น เคียงคู่ขนานไปกับการใกล้ชิดกับทางขอมละโว้อีกซีกหนึ่ง
ความสัมพันธ์กับอักษรทมิฬ-หริภุญไชย
จุดเชื่อมโยงไปสู่อักขรวิธีของลายสือไท
ปัญหาเรื่อง “ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” จริงหรือปลอม เก่าหรือใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย 700 กว่าปี หรือเพิ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4? เป็นข้อถกเถียงที่มีมานานกว่า 4 ทศวรรษ
ปมข้อหนึ่งที่ฝ่ายไม่ให้น้ำหนักว่าจารึกหลัก 1 เป็นของแท้ก็คือ การวางสระ วรรณยุกต์ ไว้ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ ที่ปรากฏในจารึกหลัก 1 นั้น ดูแปลกๆ ทะแม่ง ๆ คือจู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาเพียงหลักเดียว ดูค่อนข้างพิสดาร
ในขณะที่จารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัยโดยรวม เขาวางสระ วรรณยุกต์ไว้บนบ้างล่างบ้าง เหมือนกับอักขรวิธีในปัจจุบัน?
ปมข้อนี้เอง ที่ทำให้ฝ่ายไม่เชื่อว่าจารึกหลัก 1 ทำขึ้นจริงในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นำมาใช้เป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งว่า จารึกหลักนี้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากอักษรอริยกะ ที่พระองค์ท่านสนใจ และมีพระราชประสงค์อยากประดิษฐ์ตัวอักษรให้เหมือนอินเดียและตะวันตกแบบสากล คือรวบเอาสระไว้บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ มากกว่าที่จะเป็นอักษรโบราณเมื่อ 700 กว่าปีสมัยพ่อขุนรามฯ
ต่อมา เมื่อเร็วๆ นี้ ใน อ.วังชิ้น จ.แพร่ รอยต่อกับ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้มีการค้นพบศิลาจารึกแบบลายสือไทหลักที่ 1 คือมีการวางสระไว้ในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ ถึงสองหลัก
หลักแรก พบที่เมืองตรอกสลอบ อ.วังชิ้น และอีกหลักเป็นเศษจารึกแตกหัก เหลือเพียง 5 บรรทัด เดิมเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดบางสนุก ข้างที่ว่าการอำเภอวังชิ้น ปัจจุบันหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่าย อย่างไรก็ดี อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย บอกว่า ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ทำการอ่านและปริวรรตไว้เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด ราวสองปีที่ผ่านมา ทางวัดเชิงคีรี หมู่ที่ 3 ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้พบตัวอักษรจารึกแบบลายสือไทอีกชิ้นหนึ่ง บนแผ่นหินชนวนที่วางไว้ใต้ฐานรอยพระพุทธบาท เขียนคำว่า “พระมหาสุมนเถระ” เป็นรูปแบบอักขรวิธีเดียวกันกับจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รวมเป็นชิ้นที่สาม
กล่าวโดยสรุปคือ จวบปัจจุบันนี้เราค่อยๆ ค้นพบหลักฐานด้านจารึกสุโขทัยที่มีการเขียนสระ วรรณยุกต์ บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ เฉกเช่นอักขรวิธีของจารึกหลัก 1 พ่อขุนรามฯ มากขึ้นเรื่อยๆ
คำถามคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชรับอักขรวิธีเช่นนี้มาจากไหน หรือบางท่านอาจโต้เถียงว่า ไม่จริง เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลเพียงคนเดียวจะลุกขึ้นมาประดิษฐ์อักษรลายลือไทได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว เพราะอักษรย่อมต้องเกิดขึ้นจากพัฒนาการของผู้คนในสังคม
ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่เป็นผู้คิดอักขรวิธีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเพียงพระองค์เดียวก็ได้ อาจเกิดจากฉันทามติที่คิดร่วมกันจนตกผลึกโดยเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต คำถามเดิมคือ คณะปราชญ์สุโขทัยยุคนั้น รับรูปแบบการวางสระในบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะมาจากไหน?
อาจารย์พงศ์เกษมอธิบายว่า คำตอบนี้ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจแต่อย่างใดเลย มีร่องรอยความสัมพันธ์ของอักษรคฤนถ์ (พัฒนามาจากอักษรพราหมี) ซึ่งชาวทมิฬในอินเดียใต้ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 ปรากฏอยู่ในกลุ่มอักษรมอญหริภุญไชยอยู่บางตัว เช่น ตัว ณ.เณร
อักษรคฤนถ์มีการเข้าอักขรวิธี วางสระและพยัญชนะไว้ในบรรทัดเดียวกัน อันเป็นรูปแบบสากลที่ส่งอิทธิพลให้อักษรมอญหริภุญไชย และแน่นอนว่า ย่อมส่งต่อไปยังอักษรลายสือไทในยุคแรกๆ ทว่าต่อมาชาวไทยสุโขทัยอาจไม่ถนัดรูปแบบดังกล่าว จึงปรับเปลี่ยนให้สระและวรรณยุกต์อยู่บน-ล่างแบบปัจจุบัน
ต้นแบบของอักษรมอญในพม่า
อาจารย์พงศ์เกษมกล่าวถึงปรมาจารย์ด้านอักษรมอญโบราณที่มีชื่อเสียงในระดับโลกคือ Prof.Dr. Harry Leonard Shorto (คศ.1919-1995) หรือที่ลูกศิษย์ชาวไทยนิยมเรียกว่า อาจารย์ชอร์ตโต้ นักจารึกวิทยาชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญ-ขแมร์ที่เคยสอนเขา ว่าท่านชอร์ตโต้เคยลงความเห็นว่า
ตัวอักษรมอญโบราณหริภุญไชยมีความพิเศษมากๆ ซึ่งไม่เหมือนอักษรมอญกลุ่มอื่นเลย นั่นคือการเขียนตัว ม.ม้า ด้วยการใช้ขีดเฉียงตรงกลางจากซ้ายบนลงล่างขวา ในขณะที่ ม.ม้า ของอักษรมอญกลุ่มอื่นๆ ที่พบในลพบุรี นครปฐม หรือกลุ่มอีสานแถบฟ้าแดดสงยาง เป็น ม.ม้า ที่มีขีดตัดเป็นเส้นตรง ไม่ใช่ขีดเฉียง
อาจารย์ชอร์ตโต้จึงสรุปว่า ม.ม้า ตัวนี้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของ ม.ม้า ในกลุ่มอักษรมอญในลำพูนเลยก็ว่าได้
และตัว ม.ม้าที่มอญหริภุญไชยประยุกต์มาจนกลายเป็นอัตลักษณ์แล้วนี่เอง ได้ไปปรากฏขึ้นในจารึกมรเจดีย์ ในอาณาจักรพุกามสมัยพระเจ้าครรชิต (กยันสิตถา) ด้วยเช่นกัน แต่เดิมนักจารึกวิทยาของกรมศิลปากรหลายท่านเคยตีความว่า จารึกมอญลำพูนน่าจะรับอิทธิพลการเขียนอักษรมอญมาจากจารึกมรเจดีย์ของพุกาม
ทว่า ปัจจุบันนี้ อาจารย์พงศ์เกษมได้พิสูจน์ตามแนวทางของ ศ.ดร.ชอร์ตโต้แล้วว่า อักษรมอญหริภุญไชยต่างหาก ที่เป็นต้นแบบให้แก่อักษรมอญของพระเจ้าครรชิต เนื่องจากในพุกามไม่มี timeline ที่แสดงถึงพัฒนาการด้านการก่อกำเนิดอักษรมอญโบราณทีละขั้นๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะผิดกับที่ลำพูน หากเป็นการรับอักขระของอารยธรรมที่เจริญแล้วมาใช้แบบก้าวกระโดด ซึ่งอารยธรรมที่ว่านั้นก็คือ อารยธรรมหริภุญไชย
ต่อมา จากจารึกมรเจดีย์ของพระเจ้าครรชิต อักขระมอญหริภุญไชยในพุกามก็ได้กลายเป็นต้นแบบของอักษรมอญในประเทศพม่า และอักษรพม่า ไทใหญ่ ที่ใช้กันในประเทศพม่าจวบปัจจุบัน
อาจารย์พงศ์เกษมจึงมองเห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มจารึกอักษรมอญโบราณ 11 หลักในลำพูน-เชียงใหม่นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด สมควรได้รับการเสนอให้เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกต่อยูเนสโก (Documentary Memorial of the World)
ขอแรงใจจากพี่น้องชาวลำพูนและนักวิชาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องช่วยกันสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยนะคะ ซึ่งดิฉันและอาจารย์พงศ์เกษม จักพยายามเชิดชูคุณค่าของกลุ่มศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหริภุญไชยขึ้นสู่เวทีโลกให้ได้ อย่างสุดความสามารถ •
ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022