ไมเคิล ไรท์ : ระบบการศึกษาและอำนาจในสังคมไทย ฝรั่งเป็น “อริ” หรือ “อริยะ” ?

ในรัชกาลที่ 3 ดูเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สยามยังเป็นสยามเหมือนสมัยอยุธยา พุทธและพราหมณ์ยังเป็นบรรทัดฐานของ “อารยธรรม”, กษัตริย์ยังเป็นกษัตริย์, ไพร่ยังเป็นไพร่ และจักรพรรดิเมืองจีนยังเป็นร่มโพธิ์ ร.3 จึงไม่มีเหตุต้องสนใจฝรั่งหรือฟังเสียงทูตที่เข้ามาเรียกร้องต่างๆ นานา

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลที่ 3, โลกรอบด้านสยามกำลังเปลี่ยนไปมาก และมีการปฏิวัติโลกทรรศน์ของปัญญาชนสยาม ว่าง่ายๆ “ไตรภูมิ” ของชาวสยามถูกพลิกคว่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผลก็คือสยามจะเป็นสยามแบบเดิม (อยุธยา, ขอม) อีกต่อไปไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงครั้งรัชกาลที่ 3 มีหลายประการ หลายระดับ ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งด้านภววิสัยและอัตวิสัย

 

ทางด้านนอก

ในต้นรัชกาลที่ 3 ได้ยึดรามัญญเทศ (เมืองมอญในตอนใต้ของพม่า) ประชิดชายแดนด้านตะวันตกใน ค.ศ.1825 และฝรั่งเศสเริ่มเบียดเบียนรังแกเวียดนาม ประชิดชายแดนด้านตะวันออก

มองจากกรุงเทพฯ แล้วคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นศัตรูเก่า (พม่าและเวียดนาม) ถูกถอนอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็น่ากลัวเพราะสยามถูกขนาบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่ต่างมีอาวุธร้ายแรงและการจัดทัพที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าให้พูดถึงฝรั่งเศสที่เกลี้ยกล่อมเขมรและลาว และอังกฤษที่เกลี้ยกล่อมล้านนาและรัฐต่างๆ ในแหลมมลายู

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น, ในสงครามฝิ่น (1839-42) อังกฤษและมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ได้รุกรานรังแกและบังคับเมืองจีนตามใจชอบ โดยที่จีนสู้หรือโต้ตอบไม่ได้เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ล้าสมัย และการจัดตั้งทั้งทางทัพและทางบ้านเมืองใช้งานไม่ได้เสียแล้ว

ผลก็คือสยามโดดเดี่ยว, ไม่มีที่พึ่ง บารมีจักรพรรดิเมืองจีนหดหู่, นโยบายอันเก่าแก่ที่สยามเคยพึ่งร่มโพธิ์เมืองจีนจึงล่มสลายไม่มีความหมาย

ในเรื่องนี้อย่าเชื่อผมเลย ให้ฟังเสียง ร.3 ที่ตรัสในวาระสุดท้ายว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์, รัชกาลที่ 3, กรมศิลปากร, พ.ศ.2538, หน้า 152)

ด้านภายใน

ในปลายรัชกาลที่ 3 สยามถูกล้อมรอบ จึงยากที่จะส่งทัพไปรุกรานบ้านอื่นเมืองอื่น (เช่น เขมร, ลาว, มลายู) แล้วลากเชลยศึกกลับมาเป็นไพร่ขุดคลอง, สร้างกำแพงเมือง, ทำนาข้าว (สิ่งที่ขอมเคยทำมาก่อน)

ในยุคขาดแคลนแรงงานเช่นนี้ ชนชั้นปกครองจึงหันไปจ้างแรงงานราคาถูกของคนจีนที่หนีความอดอยากในจีนตอนใต้

นี่คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษา ในเมื่อแรงงานจีนเข้ามาแทนที่แรงงานไพร่เดิม (ลาว, มอญ, เขมร, มลายู)

แรงงานไพร่เดิมนั้นหายไปไหน มีเวลาว่างจากราชการและมีเสรีภาพที่จะสร้างครอบครัวให้ร่ำรวยมั่งคง ?

หรือตกนอกคอกเศรษฐกิจสมัยใหม่ ?

เรื่องนี้ต้องค่อยว่ากันภายหลัง

 

กึ่งในกึ่งนอก

รัชกาลที่ 3 เป็นยุคมหัศจรรย์สำหรับชาวสยามและฝรั่งพอๆ กัน เพราะเป็นยุคที่ความคิดและการทดลองยุคก่อนๆ เริ่มมีผลเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ด้วยตา

ในรัชกาลที่ 3 เรือกลไฟลำแรกเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยา เราท่านไม่ตื่นเต้นกับเรือกลไฟ, แต่คนรุ่น ร.3 เคยเห็นแต่เรือฝีพายหรือเรือใบ นี่คงเป็นครั้งแรกที่ท่านเห็น “เรือเดินเอง” ที่ไม่ต้องคอยลมเข้าใบหรือพึ่งแรงพาย ซึ่งคงสร้างความตื่นเต้นกับคนทั่วไปและเรียกร้องความสนใจในหมู่เจ้านาย (เช่น เจ้าฟ้าจุฑามณี/พระปิ่นเกล้า) ที่โปรดศึกษาวิทยาศาสตร์

ในด้านแพทยศาสตร์ตะวันตกยังล้าหลังอยู่มาก แต่มีสิ่งใหม่ที่เป็นจุดเด่นคือการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษอย่างได้ผลที่การแพทย์แผนโบราณไม่มีมาก่อน หมอสอนศาสนานำเข้ามาครั้งรัชกาลที่ 3 และเป็นที่นิยมทั้งในและนอกรั้ววังในทันที

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือแท่นพิมพ์ของหมอ บรัดเลย์ ที่สามารถพิมพ์ภาษาไทยด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก (แท่นพิมพ์ภาษาไทยอักษรโรมันมีมาก่อนแล้ว)

‘พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ’ เป็นคนแรกที่จับความได้ว่า แท่นพิมพ์เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญครั้งยิ่งใหญ่ เช่น กับที่เกิดในยุโรปแต่ก่อนเมื่อ Gutenburg คิดแท่นพิมพ์ที่ทำให้หนังสือ (และความรู้) เป็นของทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นเจ้านายฝ่ายเดียวที่มีทรัพย์เลี้ยงเสมียนคัดลอกเอกสารหรือจารใบลาน

‘พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ’ เป็นชาวสยามคนแรกที่เป็นธุระสั่งซื้อแท่นพิมพ์กับตัวพิมพ์อักษรไทย (จากคณะมิชชันนารีเมืองกัลกัตตา) มาไว้ที่วัดบวรนิเวศ

วันบวรฯ นี้น่าจะเคยเป็นศูนย์กลางที่ชาวสยามเริ่มศึกษาตะวันตก (ที่ผมอยากเรียกว่า “ผรังคิวิทยา”) เป็นที่น่าเสียดายมากว่าหลัง 2475 ชนชั้นปกครองใหม่รังเกียจเจ้านายรุ่นเก่า, จนบัดนี้จึงไม่มีการศึกษาบทบาทของวัดบวรฯ ครั้งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนกลาง

(ผมหมายถึงการศึกษาเชิงวิเคราะห์, ไม่ใช่สรรเสริญหรือติเตียน)

การเปลี่ยนแปลงทางปัญญา

ระหว่างต้นรัชกาลที่ 1 กับปลายรัชกาลที่ 3 สภาพภายนอกและภายในของสยามได้เปลี่ยนไปมาก แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนทรรศนะของปัญญาชนชั้นเจ้านายครั้งรัชกาลที่ 3 (ปัญญาชนชาวบ้านยังไม่มีเสียง)

ในรัชกาลที่ 3 มีเจ้านายหลายคนว่างราชการจึงมีเวลาว่างติดตามความสนใจของตน อย่าคิดว่ามีพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงองค์เดียว ในกลุ่มปัญญาชนครั้ง ร.3 ยังมีอีกหลายๆ คน เช่น เจ้าฟ้าจุฑามณี (ที่พ่อขนานนามว่า George Washington ตามผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐ) พระองค์เจ้าวงศาธิราชที่ได้ประกาศนียบัตรทางการแพทย์ (ทางไปรษณีย์) จากสหรัฐ และคงมีอีกหลายๆ ท่านที่ประวัติศาสตร์ลืมหรือตั้งใจเขี่ยไม่ให้ใครรู้ไม่ให้ใครจำ

เจ้าฟ้าจุฑามณีถนัดภาษาอังกฤษ, ถนัดการฝึกทหารแบบตะวันตก และยังใฝ่ใจกลศาสตร์และเทคโนโลยีถึงได้ต่อเรือกลไฟลำแรกของสยาม

อย่างไรก็ตาม พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นปัญญาชนรุ่น ร.3 ที่น่าสนใจที่สุด (และติดตามได้ง่ายที่สุดเพราะมีหลักฐานสมบูรณ์ที่สุด)

พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นปัญญาชนสมบูรณ์แบบ (Renaissance Man) ที่รวบรวม “โบราณวิทยา” (ความรู้ที่รับมาจากอดีต เช่น ภาษามคธ และพุทธศาสน์) กับ “ผรังคิวิทยา” (ความรู้ใหม่ที่รับมาจากตะวันตก เช่น ภาษา วิทยาศาสตร์ และทฤษฎีการปกครองสมัยใหม่) ในองค์เดียวกัน อย่าให้ผมรายงานทั้งหมด ซึ่งปรากฏมากมายก่ายกองในที่อื่น

 

ผมขอยกสอง-สามประเด็นที่เห็นว่าสำคัญมากและน่าควรศึกษาอีกต่อไป

ประการแรก คือ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (ที่ถนัดภาษามคธ) เคยศึกษาภาษาละตินกับ “สังฆราช” ปาลเลกัว (พ่อเจ้าวัด Conception สามเสนปัจจุบัน) และนับถือท่านเป็นพระอาจารย์ที่บ้านเขมร ภาษาละตินเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิโรมันเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วและเป็นภาษาโบราณหลักๆ ของวัฒนธรรมตะวันตก ประเด็นสำคัญคือ ภาษาละตินและมคธมีลักษณะทางภาษาศาสตร์ (ทั้งไวยากรณ์และศัพท์) ที่แสดงว่าเป็นญาติกันอย่างสนิท

ผมไม่มีหลักฐานว่า ท่านเรียนละตินแล้วคิดอย่างไร (เพราะไม่มีบันทึก) แต่ขออนุมานว่า พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคงจับความได้ทันทีว่า ชาติฝรั่งที่ใช้ภาษาละตินเป็นหลักทางวัฒนธรรมนั้น น่าจะเป็นอารยชนที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ ศากยมุนี ที่พูดมคธเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว นี่คือการปฏิวัติทางทัศนคติว่า พวกฝรั่งไม่ได้เป็น “ยักษ์เป็นมาร” ดั่งที่คิดมาก่อน หากเป็น “นานาอารยประเทศ” คำนี้เป็นคำที่จะได้ยินบ่อยมากในรัชกาลที่ 5 ต่อไป

ประการที่สอง คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัย (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ซึ่งผมไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นงานใน คริสต์ศตวรรษที่ 13 ผมเชื่อว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎคงได้วานให้คณะบัณฑิตทำขึ้นมาไม่ใช่เพื่อหลอกใครแต่เพื่อเชื่อมโยงระหว่างอดีตที่นับถือ (Ideal Past) กับอนาคตที่ฝันหา (Ideal Future)

ว่าอีกนัยหนึ่ง, จารึกหลักที่ 1 ไม่ได้เป็นเอกสารโบราณ “ปลอม” (Fake) หากเป็นพิมพ์เขียวสำหรับอนาคตอันอุดมในรูปของวรรณกรรมโบราณ จารึกหลักนี้สนองความต้องการของสังคมไทยกลาง คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ต้องการการสืบสันตติวงศ์แบบตะวันตก, การค้าเสรี ฯลฯ ที่ชนชั้นปกครองทั่วโลกไม่เคยนึกถึงใน คริสต์ศตวรรษที่ 13 (โปรดดูศิลปวัฒนธรรมปีที่ 21 ฉบับที่ 9)

นอกจากปัญญาชนในบรมวงศ์แล้ว ผมเชื่อว่ายังคงมีอีกหลายคนที่ช่วยปฏิวัติความคิดครั้งนั้น เช่น เจ้านายในตระกูลบุนนาค นักประวัติศาสตร์มักเสนอว่าพวกบุนนาคนั้นเป็นพวก “อนุรักษนิยม” บ้าง, “หัวโบราณ” บ้าง, แต่จากจดหมายเหตุฝรั่งจะเห็นได้ชัดว่าผู้นำตระกูลบุนนาค (อย่างน้อยดิศและช่วง) ทำการค้าขายกับต่างประเทศ ถนัดภาษาอังกฤษ และติดตามข่าวในยุโรปและอเมริกา (จากหนังสือพิมพ์สิงคโปร์และฮ่องกง ?)

ดังนั้น เราไม่ควรมองข้ามบทบาทของตระกูลบุนนาค

 

ในขณะที่ปัญญาชนชาวเมืองหลวงเริ่มแปรพักตร์ไปสู่ทิศตะวันตกและผดุงวัฒนธรรมใหม่นั้น ยังได้เกิดวิวัฒนาการทางปัญญาอีกขนานหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นคู่ (หรือเป็นลูก) ของทัศนคติใหม่ของชนชั้นปกครอง นั่นคือ ในสายตาของคน “เจริญ” ในเมืองหลวง ชาวชนบท (ไม่ว่าเป็น ไทย, ลาว, มอญ, เขมร) กลายเป็นคนล้าหลัง ไม่มีปัญญา ไม่มีวัฒนธรรมที่น่าเคารพหรือควรปรึกษา

นี่คือจุดเริ่มต้นของช่องว่างระหว่างนักปกครอง (ข้าราชการ) และผู้ที่ถูกปกครอง (ราษฎร) ที่ยังอยู่กับเราจนทุกวันนี้และแก้ไม่ตกเพราะไม่มีใครยอมรับว่าสาเหตุเป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะกลัวจะต้องโทษท่านหรือชนชั้นของท่าน

ในเรื่องนี้ผมไม่เห็นทางที่จะโทษใคร หรือโทษชนชั้นใด เรื่องแบบนี้เป็น “กรรม” ที่กลิ้งเหมือนกงล้อตามรอยตีนของวัวลาก คนทุกคนเกิดในกาลสมัยของตนและเผชิญปัญหาเฉพาะของตนด้วยปัญญาเท่าที่มีในยุคนั้นๆ ดังนั้น คนปัจจุบันจะติเตียนคนในอดีตไม่ได้

หรือว่านักประวัติศาสตร์ไทยจะโทษฝรั่งชั่ว ? ก็โทษฝรั่งได้ และคงสร้างความอบอุ่นใจ ความพอใจไม่น้อย

แต่ตราบเท่าที่คนไทยโทษชาติอื่นในความเจ็บปวดของตน ก็เท่ากับว่าคนไทยไม่ต้อง (และไม่มีทาง) แก้ปัญหาของตนเอง

 

สรุป

สุดท้ายนี้ผมขอเสนอว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในรัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, รัชกาลที่ 7 และสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น ล้วนแต่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและวิวัฒนาการทางปัญญาที่เกิดครั้งรัชกาลที่ 3 นั้น สำคัญกว่ากันมาก

เพราะเป็นจุดกำเนิดของปัญหาปัจจุบัน