ประเพณีฆ่าเททิ้ง ยุคอยุธยา ราวๆ สิบปีฆ่ากันหนึ่งครั้ง

ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แย่งอำนาจ ยึดอำนาจ ในรัฐอยุธยา (และรัฐจารีตยุคก่อนทุกแห่งในไทยและในอุษาคเนย์) เป็นที่รู้กันว่าต้องมีแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อถึงปลายรัชกาลเกือบทุกรัชกาล

เพราะต่างปรารถนาเถลิงอำนาจเหนือคนอื่น และต่างมีขุมกำลังเป็นของตน แม้มากบ้างน้อยบ้างก็ต่างหวังว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

เมื่อมีแย่งยึดกันขึ้นแล้วก็ต้องมีการสูญเสีย เพราะต้อง “ฆ่าเททิ้ง” ฝ่ายตรงข้ามที่ล้วนเป็นเจ้านายขุนนางข้าราชการด้วยกัน

 

ประเพณี ฆ่าเททิ้ง

ร.5 สรุปประเพณี “ฆ่าเททิ้ง” เมื่อแย่งอำนาจในราชสำนักอยุธยา ไว้ดังนี้

“ข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบาง เพราะฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดินแล้ว

แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย

แผ่นดินพระนารายน์ ฆ่าขุนนางที่เปนพวกเจ้าฟ้าไชยและพระศรีสุธรรมราชา เห็นจะเกือบหมด เปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ

แผ่นดินพระเทพราชาฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายน์หย่อยมาจนถึงไปตีนครราชสิมา เห็นจะเรียกว่าเกือบหมดได้

แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญ ฤาพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์จะเปนขุนนางอยู่ไม่ได้

แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระเคราะห์ดีไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือเห็นจะมีน้อยเพราะอยู่ในราชสมบัติน้อยตั้งไม่ทันเต็มที่

แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดเปนพระยาราชนายก ซึ่งนับว่าเป็นคนออกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉนั้น ขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤาตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น

คิดดูในระหว่าง 90 ปี ฆ่าเททิ้งกันเสียถึง 7 ครั้ง เกือบปน 13 ปี ฆ่ากันครั้งหนึ่ง ฤาถ้ารอดตายก็กลายเปนไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่าผู้ดีกลายเปนไพร่ๆ กลายเปนผู้ดีถึง 7 ครั้ง ใน 90 ปีนั้น”

(พระกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สอบเรื่องราวตำราพระเมรุ กรมหลวงโยธาเทพ กับพระราชพงศาวดาร ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.121 พิมพ์อยู่ในประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 105-106)

 

แผ่อำนาจ แบบเจ้าพ่อ-ลูกน้อง

นอกจากแย่งอำนาจ ยึดอำนาจกันเองในราชสำนักแล้ว การเมืองรัฐจารีตต้องแผ่อำนาจออกไปนอกราชสำนักด้วย แบบเจ้าพ่อ-ลูกน้อง เพื่อความมั่นคง

มีคำอธิบายของ อ.ทวีศักดิ์ เผือกสม แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก (ในหนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2555 หน้า 19-20) ดังนี้

“อำนาจรัฐในทางปฏิบัติรวมศูนย์อยู่ที่ตัวกษัตริย์ ในลักษณะความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อกับลูกน้อง คือ

กษัตริย์มีลักษณะแบบเจ้าพ่อที่ให้การอุปถัมภ์ลูกน้องนักเลง หรือบรรดาเจ้าเมืองตามหัวเมือง ที่ตราบใดยังคงค้อมหัวเก็บส่วยส่งหัวคิวให้ เจ้าพ่อที่ศูนย์กลาง ก็จะยังให้การอุปถัมภ์อยู่ต่อไป

ในทางกลับกัน บรรดาเจ้าพ่อตามหัวเมืองก็จะยังยอมรับส่งส่วยให้ศูนย์อยู่ ตราบใดที่เจ้าพ่อที่ศูนย์กลางยังให้การยอมรับ เกียรติยศ และคุ้มกะลาหัวจากการรังแกของเจ้าพ่อจากรัฐใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อใดเกิดคิดแข็งข้อตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ส่งส่วยอีกแล้ว หรือคิดจะไปยอมรับเจ้าพ่อที่อยู่ในศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่ง เจ้าพ่อหรือรัฐส่วนกลางก็จะหาทางกำจัดกวาดล้างไป

หรือถ้ากวาดล้างก็ไม่ได้ แย่งเอามาก็ไม่ได้ อีกฝ่ายก็แย่งไปอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ก็จะเกิดลักษณะความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่บรรดาเจ้าพ่อ หรือนักเลงเล็กๆ ตามหัวเมือง ต้องอยู่ในภาวะยอมสยบให้กับเจ้าพ่อที่ส่วนกลางมากกว่าหนึ่งศูนย์อำนาจขึ้นไป

เรียกกันว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า หรือเมืองสามฝ่ายฟ้า เช่น กรณีของหัวเมืองลาว เชียงใหม่ เขมร เป็นต้น

การเป็นรัฐแบบเจ้าพ่อ-จักรพรรดิราช ทำให้อำนาจการปกครองจะมีความเข้มแข็งอยู่ที่เมืองหลวงหรือตัวราชธานี อันเป็นที่ประทับของมหากษัตริย์ และจะยิ่งมีความอ่อนแอลงเมื่อยิ่งไกลออกไป ซึ่งอำนาจการปกครองที่แท้จริงจะอยู่ในมือของเจ้าหรือขุนนางท้องถิ่นมากกว่าจะอยู่ในมือของกษัตริย์

เจ้าพ่อหรือกษัตริย์ที่เรืองอำนาจขึ้นมาแต่ละองค์ จึงโน้มเอียงที่จะคิดและอ้างว่าตัวเองก็มีคุณลักษณะของการเป็นพระจักรพรรดิราชอยู่ด้วยผู้หนึ่ง เช่น กษัตริย์พม่าโดยทั่วไปจะถือว่าอยุธยาและแม้กระทั่งจีน เป็นรัฐบรรณาการที่ขึ้นกับอำนาจของหงสาวดี-พม่า

การอ้างเช่นนี้ใครก็ย่อมอ้างได้ แต่การจะพิสูจน์นั้นสามารถทำได้ด้วยการรบพุ่งเอาชนะรัฐใกล้เคียงทั้งหลายให้มาอ่อนน้อมยอมรับความเป็นพระจักรพรรดิของตน และโดยการแสวงหาสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษของพระเจ้าจักรพรรดิ คือการครอบครองบุญญาธิการ 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว”

 

อำนาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

หลักฐานยุคอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.1893 เป็นต้นไป เชื้อสายราชวงศ์ละโว้ (ขอม) แย่งอำนาจกับเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ลาว) ผลัดกันได้อำนาจ จนเสียกรุง พ.ศ.2112

ต่อจากนั้น เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยจะเข้าแทรกแซงแย่งอำนาจได้เป็นครั้งคราว จนเสียกรุง พ.ศ.2310