ชาวสยามยุคแรกๆ มีศูนย์กลางอยู่เวียงจัน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873)

บริเวณสองฝั่งโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาวปัจจุบัน สมัยโบราณดินแดนเดียวกัน ผู้คนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ที่มีหลักแหล่งแห่งหนบนสองฝั่งโขง แม้จะมีหลายชาติพันธุ์ แต่ก็ล้วนเป็นพวกเดียวกัน หรือเครือญาติกัน

คนหลายชาติพันธุ์สองฝั่งโขง มีชื่อเรียกตัวเองและคนอื่นๆ ต่างกันอย่างไร? ไม่พบหลักฐานพอจะบอกได้ชัดๆ แต่เมื่อราวเรือน พ.ศ.๑๖๐๐ มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า สยาม แล้วมีศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งอยู่บริเวณเวียงจันทุกวันนี้ หลังจากนั้น ชาวสยามพวกนี้กระจายไปสู่ดินแดนบ้านเมืองอื่นๆ ทั่วไป เช่น บริเวณทะเลสาบในกัมพูชา บริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

พัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของดินแดนลาวที่เกี่ยวข้องกับเวียงจัน มีหลักฐานโบราณคดีประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เช่นเดียวกับดินแดนประเทศไทย ผมเคยรวบรวมเรียบเรียงไว้ในหนังสือเจ๊กปนลาว (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๐)

 

ลาวยุคแรกๆ

ในเขตลาว เชื่อกันว่าศูนย์กลางของดินแดนโคตรบอง (โคตรบูร) นั้น ระยะแรกตั้งอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในดินแดนลาว ใกล้กับลำน้ำเซบั้งไฟ (คำว่า “เซ” เป็นภาษาในตระกูลมอญ-เขมร แปลว่าลำน้ำ) ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านแขวงคำม่วนลงแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามพระธาตุพนม

มีเอกสารจีนโบราณกล่าวพาดพิงถึงบ้านเมืองและแว่นแคว้นในดินแดนลาวที่ควรจะอยู่ในช่วงเวลาของแคว้นศรีโคตรบูร ดังนี้

ชื่อ “เย่ฉาง” มีอยู่แล้วในเอกสารจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ และหมายถึง “ฉาน” หรือ “สยาม” อันเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทย-ลาว ซึ่งเมื่อตรวจสอบทิศทาง และสอบสวนสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ส่วนสำคัญของ “เย่ฉาง” มีดินแดนอยู่ในลาวปัจจุบัน ทั้งยังมีขอบเขตต่อเนื่องไปถึงภาคกลางของเวียดนาม ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วย

เย่ฉาง (ในลาวสมัยโบราณ) ส่งทูตไปถึงจีนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ.๕๔๓ (เซิ่นซี่ระบุว่าเป็นปีที่เริ่มต้นคริสต์ศักราช) หลังจากนั้นก็มีการส่งทูตไปอีก ต่อมาเอกสารจีนจดเอาไว้ว่าเจ้าแคว้นหรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ของฉาน (สยาม) มีชื่อว่า “ย่งเถียง” ได้จัดทูตไปเมืองจีนเมื่อ พ.ศ.๖๗๔ (ค.ศ.๑๓๑)

ต่อจากเย่ฉาง บ้านเมืองรุ่นแรกๆ ในดินแดนลาวจะมีชื่ออยู่ในเอกสารจีนว่า “ถางหมิง” หรือ “เหวินตาน” นักวิชาการและนักค้นคว้าเชื่อกันว่าควรจะมีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่าแขวงเชียงขวางทุกวันนี้

ชื่อ “ถางหมิง” ปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารเรื่องสามก๊ก ว่าได้จัดส่งราชทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดิจีน เมื่อประมาณ พ.ศ.๗๗๐ (ค.ศ.๒๒๗) พร้อมกันกับราชทูตจากฝูหนาน (ฟู้นัน) และหลินอี้ (หลินยี่หรือจามปา)

นักค้นคว้าและนักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ถางหมิง ก็คือ แคว้นศรีโคตรบูร เพราะเมื่อเทียบพัฒนาการของแคว้นนี้ ตลอดถึงการพิจารณาบริเวณที่ตั้ง และการเทียบเสียงการเรียกชื่อเป็นภาษาจีน ก็เกือบจะกล่าวได้ว่าตรงกัน

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในดินแดนลาวอย่างน้อย ๔ อย่าง คือ แม่พิมพ์หินทรายใช้หล่อโลหะ กลองมโหระทึก ไหหิน และหินตั้ง เป็นร่องรอยสำคัญ เพราะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับเย่ฉาง-ฉาน-และถาง

หมิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในดินแดนของลาวด้วยกัน แสดงว่ามีคนตั้งหลักแหล่งอยู่

ในช่วงระยะเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีแคว้นสำคัญอยู่ในดินแดนของลาวทุกวันนี้อย่างน้อย ๒ แคว้น คือ แคว้นที่จีนเรียกว่า ถางหมิง หรือ เหวินถาน (เหวินตาน) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงทั้งสองฟากที่เวียงจัน-ศรีเชียงใหม่ และแคว้นที่จีนเรียกว่า เจนละ (เจิ้นลา) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงทั้งสองฟากในแขวงจำปาศักดิ์

 

เวียงจันทบุรี(ศรีโคตรบูร) “ทวารวดี”ในลาว

ตํานานอุรังคธาตุเล่าเอาไว้ว่า เมื่อเมืองหนองหานหลวง (สกลนคร) และเมืองหนองหานน้อย (อุดรธานี) เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมล่มจม บรรดาผู้คนทั้งหลายจึงอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณที่เรียกว่าหนองคันแทเสื้อน้ำซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ตอนเหนือของเมืองศรีโคตรบูร ในระยะต้นๆ ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นศรีโคตรบูร

หลังจากเมืองมรุกขนครที่เป็นศูนย์กลางของแคว้นได้สลายตัวไปแล้ว บ้านเมืองซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงบริเวณหนองคันแทเสื้อน้ำก็เจริญขึ้น และมีความสำคัญมากขึ้นแทนที่เมืองมรุกขนคร บ้านเมืองที่เกิดใหม่บริเวณหนองคันแทเสื้อน้ำนี้ภายหลังได้ชื่อว่า “จันทบุรี” ทุกวันนี้ก็คือ “เวียงจัน” นั่นเอง

เวียงจัน เป็นเมือง อกแตก มาแต่โบราณ ดังจะเห็นว่ามีแนวคูน้ำและกำแพงอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำโขง กล่าวคือ มีทั้งฟากตะวันออกที่เป็นเวียงจัน และฟากตะวันตกที่เป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ในเขตจังหวัดหนองคาย

รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ศึกษาถึงเรื่องนี้เอาไว้ แล้วมีรายงานว่าเมืองโบราณสองฟากแม่น้ำโขงที่เวียงจันและศรีเชียงใหม่เป็นเมืองอกแตก และมีรูปร่างไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่พบอยู่ทั่วไป ทางฝั่งเวียงจันมีร่องรอยคูน้ำและกำแพงดินอยู่ในสภาพดีพอสมควร และมองเห็นได้ชัดเจน แสดงถึงการขุดลอกและบูรณะในชั้นหลังๆ ลงมา นอกจากนั้นยังมีการขยายคันดินซึ่งอาจจะเป็นถนนหรือคันกั้นน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขึ้นไปทางด้านเหนืออีกด้วย ส่วนทางด้านศรีเชียงใหม่นั้นร่องรอยต่างๆ ลบเลือนมากเพราะทิ้งร้างมานาน…อันเมืองเวียงจันและศรีเชียงใหม่นั้น แต่เดิมคือเมืองเดียวกัน เป็นเมืองมาแต่สมัยทวารวดีตอนปลาย ซึ่งคงตรงกับเหตุการณ์ในอุรังคธาตุ

 

เวียงจันเป็นศูนย์กลางพวกสยาม

นักวิชาการจีนเชื่อว่า คำว่า ถาน หรือ ตาน เป็นคำคำเดียวกันกับ ฉาน หรือ สาน และ ฯลฯ ซึ่งจะหมายถึง “สยาม” ดังนั้น จึงน่าจะเป็นไปได้มากทีเดียวว่า เหวินตาน หรือ เหวินถาน เป็นบ้านเมืองที่อยู่ต่อเนื่องมาจากเย่ฉาง-ฉาน-ถางหมิง ที่มีมาก่อนหน้านี้

เหวินถาน หรือ เหวินตาน ควรจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณสองฟากแม่น้ำโขงที่เป็นศรีเชียงใหม่-เวียงจัน หรืออาจจะหมายถึงเวียงจันโดยตรงก็ได้

ชื่อพยางค์แรกของ เหวินถาน หรือ เหวินตาน ที่สำเนียงจีนว่า “เหวิน” นั้น น่าจะมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับคำว่า “เวิน” อันเป็นชื่อชุมชนที่มีอยู่ทั่วไปทั้งในภาคอีสานและฝั่งลาว เช่น บ้านเวินทรายในเขตเวียงจัน เป็นต้น และในตำนานอุรังคธาตุระบุชื่อชุมชนในภาคอีสานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าเวินอีกมาก เช่น เวินหลอด เวินเพน เวินสุข เวินพระเจ้า เป็นต้น

ทั้งเย่ฉาง ฉาน ถางหมิง และเหวินถานหรือเหวินตานล้วนเป็นชื่อบ้านเมืองที่จีนจดเอาไว้ว่าอยู่ทางทิศเหนือของเจินละ (ซึ่งมีศูนย์กลางครั้งแรกอยู่ที่วัดภูในแขวงจำปาสักของลาว) ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งของเวียงจัน ที่เป็นพวก “เสียมกุก” ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด ซึ่งหมายถึงพวกสยาม