พระเจ้าหลีกเคราะห์ เก่าถึงสมัยพระญาแสนภูจริงหรือ? (จบ)

พระสิริราชวังโสชาตะสมัยพระญากือนา

ประเด็นเรื่องการโยงเอา “พระสิริราชวังโส” มหาราชครูแห่งล้านนามาให้เป็นผู้สร้างพระเจ้าตนหลวง หรือพระเจ้าหลีกเคราะห์ แห่งบ้านโฮ่งนั้น

อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อมูลที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก กล่าวคือ หากจารึกที่ระบุบนพระเกศโมลีของพระเจ้าหลีกเคราะห์ตรงกับจุลศักราช 728 หรือ พ.ศ.1909 จริง ตัวเลขนี้ย่อมไม่ใช่รัชสมัยของพระญาแสนภูแล้ว เพราะพระญาแสนภูกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 3 ผู้เป็นหลานปู่ของพระญามังราย ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1868-1877

ส่วนปี 1909 จะตรงกับสมัยพระญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1898-1928

พระสิริวังโสสร้างพระแก้ว-พระคำ

นาม “พระสิริวังโส” (ยังไม่มี ‘ราช’) ปรากฏครั้งแรกในตำนานพื้นเมืองเชียงแสน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่าปี จ.ศ.744 หรือ พ.ศ.1925 ท่านมีบทบาทในการนำ “พระแก้ว” กับ “พระคำ” จากเมือง “ช้าพร้าว/ชาคราว” (แจ้พร้าว?) มาทำพิธีที่เกาะดอนแท่น กลางลำน้ำโขงที่เชียงแสน

“… มหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อ สิริวังโส นำเอาพระพุทธรูปสององค์ คือว่าพระแก้วแลพระคำ มหาธาตุเจ้ามาแต่ช้าพราว มาถึงแล้วยามนั้น ท่านเล็งเห็นเกาะดอนแท่นที่นั้น เป็นเพิงใจนัก จักใคร่สร้างวัดสองหลังนี้ จึงให้คนเมื้อเมตตามหากษัตริย์เจ้ากือนายังเชียงใหม่โพ้น”

นัยยะแห่งเนื้อหานี้บอกอะไรเราได้บ้าง

1. อย่างน้อยที่สุดปี 1925 สมัยพระญากือนา พระสิริวังโส (ไม่มีคำว่า ‘ราช’) เป็นพระจากเมืองแจ้พร้าว เดินทางมาที่เชียงแสน ซึ่งผิดไปจากข้อมูลที่กล่าวว่า ท่านอัปเปหิตัวเองไปอยู่ที่บ้านโฮ่งตั้งแต่ปี 1909 แล้ว

2. การพบจารึกคำว่า “พระคำ” บนเกตุมาลา (หรือเม็ดพระศก?) ของพระเจ้าหลีกเคราะห์ที่บ้านโฮ่งนี่เองใช่ไหม ที่ได้กลายเป็นกุญแจศัพท์สำคัญ ทำให้ปราชญ์วัดผ้าขาวป้าน คือท่านอาจารย์เมืองอินทร์ (เอกสารไม่ได้ระบุนามสกุล) พยายามช่วย พระดวงดี พรหฺมโชโต (ต่อมาคือพระครูสุนทรธรรมานุรักษ์) วิเคราะห์ว่า พระสิริราชวังโสน่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธรูปที่บ้านโฮ่งด้วย เหตุที่ท่านเคยสร้าง “พระคำ” องค์มหึมามาก่อนแล้วที่เชียงแสน

พระสิริวังโสหรือสิริราชวังโส เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หลังจากเหตุการณ์เรื่องท่านได้นำ “พระแก้ว-พระคำ” มาทำพิธีอภิเษกที่เกาะดอนแท่นนำไปสู่การสร้างวัดพระแก้ว-พระคำที่เชียงแสนแล้ว ชื่อของท่านก็ปรากฏอีกหลายครั้งในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ผู้เป็นนัดดา (หลาน) ของพระญากือนา

เช่น เหตุการณ์ ปี จ.ศ.769 (พ.ศ.1950) “ศึกห้อ (ฮ่อ)” หมายถึงจีนตอนใต้ ยกมารบกับล้านนา พระสิริวังโสทำพิธีเสกให้ฟ้าผ่าใส่ชาวห้อตาย พระญาสามฝั่งแกนจึงยกให้เป็น “มหาราชครู”

และนามของท่านก็ปรากฏอีกเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยพระเจ้าติโลกราช ว่ายังดำรงตำแหน่งเป็นมหาราชครูอย่างน้อยในปี จ.ศ.784 (พ.ศ.1965) ซึ่งก็ถือว่ายาวนานมากแล้วสำหรับมหาเถระรูปหนึ่ง ที่มีอายุตั้งแต่สมัยพระญากือนาจนถึงติโลกราช 4 รัชกาลทีเดียว

อันที่จริงชื่อของ พระสิริราชวังโส มิได้ปรากฏในจารึกบนพระเศียรพระเจ้าหลีกเคราะห์แต่อย่างใด หรือมาตรแม้นสมมติว่าปรากฏนามของท่าน ชีวิตของพระมหาเถระรูปนี้ก็อยู่ในช่วงพระญากือนาลงมาจนถึงพระเจ้าติโลกราชเท่านั้น ย่อมไม่เก่าไปถึงสมัยพระญาแสนภู

อีกทั้งกรณี “พระคำ” ที่เชียงแสน ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า หมายถึง “พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปขนาดมหึมาที่พระวรกายหายไป เหลือแค่พระเกตุมาลาชิ้นใหญ่ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสนนั้น ปัจจุบันนักวิชาการรุ่นใหม่ “อภิชิต ศิริชัย” ก็ทำการศึกษาค้นหาหลักฐานอย่างละเอียดแล้วได้ข้อสรุปว่า “พระคำ” ในตำนานช่วงนั้น ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับพระเกศโมลีองค์ใหญ่

ปมปริศนาทั้งหมดนี้ ดิฉันได้รับปากกับ “พระไพโรจน์ ปญฺญาวชิโร” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าตนหลวงที่บ้านโฮ่ง ในช่วงลงพื้นที่วัดครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (ส่วนภาพประกอบที่มีเจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูนด้วยนี้ ถ่ายตั้งแต่ปี 2556 แล้ว) ว่าจะขอเข้ามาช่วยสอบชำระ ปรับปรุงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของพระเจ้าหลีกเคราะห์ (พระเจ้าตนหลวง) องค์นี้ให้ถูกต้อง

โดยได้เรียนชี้แจงแก่ทางวัดแล้วว่า มิได้มีเจตนามาจับผิด หรือประณามผู้วิเคราะห์ข้อมูลในอดีตแต่อย่างใด เพราะทราบดีถึงข้อจำกัดหลายประการในการศึกษาพระพุทธรูป เริ่มจากยุคครูบาสองเมืองได้บุกเบิกเริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี 2488 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการสืบค้นหาหลักฐานด้านต่างๆ ให้ลงตัว

จารึกบนเกศโมลีนั้นอยู่ที่ไหน

เราคงต้องกลับมาสู่จุดเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่ “จารึกบนพระเศียรของพระเจ้าหลีกเคราะห์” กันอีกครั้ง แค่มาตั้งคำถาม 3-4 ข้อ

ข้อแรก ตกลงตัวจารึกนั้นจารตรงส่วนไหนกันแน่ ระหว่างตัวพระเกศโมลี (จิกโมลี) ซึ่งศัพท์ทางโบราณคดีเรียก “พระรัศมีเปลว” ที่เป็นแท่งยาวสูง หรือว่าอยู่ในเม็ดพระศก? เพราะคำว่า “พบจารึกบนพระเศียร 3 ชิ้น” นั้น เป็นคำที่ค่อนข้างกว้างกำกวม สามารถตีความว่าเป็นไปได้ทั้งเม็ดพระศกและเกศโมลี

ข้อสอง “พระยาจอมปู่เรือนมูล” ที่อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ แปล ปรากฏในจารึกว่าเป็นผู้สร้าง “พระพุทธรูปคำ” คือใคร คงต้องนำชื่อบุคคลท่านนี้ไปเปรียบเทียบกับเอกสารอื่นๆ ที่ร่วมสมัยเดียวกันด้วย เพื่อสอบค้นว่าในห้วงเวลาที่ท่านสร้างพระปฏิมาองค์นี้ ช่วงนั้นบ้านโฮ่งมีชื่อเดิมและสถานะอย่างไร ทำไมจึงมีแนวคิดรวมทั้งศักยภาพที่สามารถสร้างพระองค์ใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ อีกทั้งชื่อของ จอมปู่เรือนมูล เคยปรากฏที่ใดอีกบ้าง ประเด็นนี้จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อประวัติความเป็นมาของอำเภอบ้านโฮ่งเลยทีเดียว

ข้อสาม การที่ทางวัดบอกว่า ได้นำเอาตัวจารึกมอบให้ปราชญ์ผู้รู้ด้านอักขระล้านนาช่วยอ่านปริวรรตแล้วนั้น ไม่ว่าอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ก็ดี กลุ่มอาจารย์จากโรงเรียนบ้านเวียงยอง ก็ดี เมื่ออ่านเสร็จแล้วมีการส่งวัตถุที่มีจารึกคืนวัดโบสถหรือไม่ (วัดโบสถคือชื่อเดิมของวัดพระเจ้าตนหลวง) เหตุการณ์ช่วงนี้ทางวัดไม่ได้บันทึกปี พ.ศ.ไว้ แต่ดิฉันพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นราว พ.ศ.2500-2504 อันเป็นช่วงที่อาจารย์สงวนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะนักประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นช่วงที่ทางวัดโบสถเริ่มไปประสานหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงแสน อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ฉะนี้แล้ว หากต้องการความกระจ่างชัดขึ้น เราคงต้องสอบถามชาวบ้านแถววัดโบสถที่มีอายุเกิน 80 ปี (เพราะ 65 ปีที่แล้วบุคคลเหล่านี้ยังเป็นวัยรุ่นอายุราว 10 กว่าปีเป็นอย่างต่ำ น่าจะพอจำความได้บ้าง)

หรือหากมีการส่งคืนวัตถุแล้ว ทางวัดได้นำไปบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของเศียรพระพุทธปฏิมาช่วงที่กรมศิลปากรมาช่วยบูรณะด้วยแล้วหรือไม่ ทำให้ทุกวันนี้เราไม่พบตัวจารึกดังกล่าว ไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายตัวอักขระ

ประเด็นสุดท้าย แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่อง “ศักราช จ.ศ.728” อันตรงกับ พ.ศ.1909 ปัญหาคือคนรุ่นหลังไม่มีใครสามารถเห็นตัวอักขระต้นฉบับ ย่อมทำให้สงสัยว่า จ.ศ.728 ในจารึกบนพระเศียรนั้น เป็นการอ่านที่ถูกต้องหรือไม่

ล้านนาใช้ตัวอักษรอะไรก่อนจารึกวัดพระยืน

ดิฉันสนใจประเด็นนี้อย่างมาก ดังที่เรียนให้ทราบตั้งแต่ฉบับก่อนแล้วว่า หากศักราช 1909 ในจารึกนี้คือความจริง ก็เท่ากับว่า จารึกบนเศียรพระเจ้าหลีกเคราะห์ สามารถล้มแชมป์ “จารึกวัดพระยืน” ได้เลย

ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร ดิฉันคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าการที่เราจะต้องไปเชื่อมโยงว่าผู้สร้างคือ พระสิริราชวังโส หรือเก่าถึงสมัยพระญาแสนภูแห่งเมืองเชียงแสนหรือไม่ เสียอีก แต่เราควรพิสูจน์ให้ได้ว่า

จารึก จ.ศ.728 นั้น เขียนด้วยตัวอักษรประเภทใด เป็นตัวอักขระธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) หรือว่าอักษรฝักขาม (ไทล้านนาแบบสุโขทัย) แบบจารึกวัดพระยืน ดังที่ดิฉันได้ตั้งคำถามมาแล้วในฉบับก่อน

ไม่ว่าจะเขียนด้วยตัวอักษรใดอักษรหนึ่ง ก็ล้วนแล้วแต่น่าตื่นเต้นทั้งสิ้น

เพราะหากเป็นตัวอักษรธัมม์ล้านนา จารึกพระเจ้าหลีกเคราะห์ก็จะมีอายุเก่าแก่กว่า จารึกลานทองสมเด็จพระมกาเถรจุฑามุณิ ถึง 10 ปี

จารึกลานทองคือเลขทะเบียน สท.52 พบที่ฐานอุโบสถวัดมหาธาตุ สุโขทัย จารเมื่อ พ.ศ.1919 เป็นจารึกหลักแรกในประเทศไทยที่พบว่ามีการใช้ตัวอักษรธัมม์ล้านนา

หรือยิ่งหากเขียนด้วยตัวอักษรฝักขาม ไทล้านนาแบบสุโขทัย ก็จักยิ่งน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก เพราะตามที่เราทราบกันดีว่า พระสุมนเถระเป็นบุคคลแรกที่นำเอาตัวอักษรไทสุโขทัยมาสถาปนาในดินแดนล้านนาที่วัดพระยืนในปี 1912 ตามคำอาราธนาของพระญากือนา

แต่จารึกบนเศียรพระเจ้าหลีกเคราะห์ (ซึ่งไม่ทราบว่าใช้ตัวอักษรประเภทใดจาร) ระบุศักราช 1909 เก่ากว่าจารึกฝักขามวัดพระยืน 3 ปี และเก่ากว่าจารึกลานทองมหาธาตุสุโขทัยถึง 10 ปี

สมมุติว่าการอ่านศักราชไม่ผิดพลาด และอักษรนั้นเป็นฝักขาม แสดงว่ามีพระภิกษุสายสุโขทัยได้เดินทางขึ้นมาเขตตอนใต้ของลำพูน (คือบ้านโฮ่ง) ก่อนการมาถึงของพระมหาสุมนเถระในปี 1912 ถึง 3 ปีแล้ว

ดิฉันคิดว่าข้อมูลทั้งหมดนี้เราไม่ควรมองข้าม ขอฝากไว้ให้ช่วยกันพินิจพิจารณา โดยตัดประเด็น พระสิริราชวังโส กับพระญาแสนภูออกไปก่อน เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง

สิ่งที่น่าสนใจคือชื่อ “พระยาปู่จอมเรือนมูล” กับ พุทธศักราช 1909 นี้เท่านั้น

ส่วนคำว่า “พระเจ้าหลีกเคราะห์” จะเอายังไงต่อดี ในเมื่อพระสิริราชวังโสไม่ได้หลีกภัยจากนารีหนีจากเชียงแสนมาอยู่บ้านโฮ่งจริงตามข้อสันนิษฐานของอาจารย์เมืองอินทร์ วัดผ้าขาวป้าน (เพราะศักราช 1909 พระสิริวังโส ยังอยู่เมืองแจ้พร้าว) หากไม่มีเหตุการณ์นี้ ดังนั้น พระเจ้าหลีกเคราะห์ก็ต้องเป็นโมฆะตามไปด้วยใช่หรือไม่

อาจไม่จำเป็นเสมอไป ในเมื่อทางวัดโบสถมีความตั้งใจจะบูรณะพระพุทธปฏิมาองค์มหึมาจนสำเร็จแล้ว เพียงเท่านี้ดิฉันถือว่าเจตจำนงอันยิ่งใหญ่และงดงามของ “ครูบาสองเมือง” สืบทอดมาถึงพระดวงดีหรือ “พระครูสุนทรธรรมานุรักษ์” ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้สาธุชนในละแวกบ้านโฮ่งได้ “หลีกเคราะห์หลีกกรรม” ในระดับหนึ่งแล้ว

นั่นคือ การไปไม่ปล่อยให้พระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่องค์หลวง ซึ่งสร้างมานานกว่า 5-600 ปีต้องอยู่ในสภาพน่าสลดหดหู่ใจ ย่อมถือว่าโบราณาจารย์ทุกท่านได้กระทำการ “หลีกเคราะห์” ปลดเปลื้องความไม่สบายอกไม่สบายใจให้แก่ผู้พบเห็นแล้ว •

 

 

พระเจ้าหลีกเคราะห์ เก่าถึงสมัยพระญาแสนภูจริงหรือ? (1)