พระเจ้าหลีกเคราะห์ เก่าถึงสมัยพระญาแสนภูจริงหรือ? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

พระเจ้าหลีกเคราะห์ เก่าถึงสมัยพระญาแสนภูจริงหรือ? (1)

 

“พระเจ้าหลีกเคราะห์” คือพระประธานในวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ชาวบ้านโฮ่งเดิมเรียกพระองค์นี้ว่า “พระเจ้าหลีกเคราะห์” มาก่อน แต่เนื่องด้วยขนาดของพระพุทธรูปที่ใหญ่โตมาก ทำให้ต่อมาคนหันไปนิยมเรียกว่า “พระเจ้าตนหลวง” แทน

ในบทความนี้ ขออนุญาตเรียกนามเดิมด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก เพื่อป้องกันความสับสนกับพระเจ้าตนหลวงองค์ที่รู้จักกันดีของวัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

และอีกประการหนึ่ง ปัจจุบันทางวัดเองก็มีความประสงค์ที่อยากกลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมคือ “พระเจ้าหลีกเคราะห์” อีกครั้ง โดยพยายามทำเรื่องถึงสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติหลายหนแล้ว แต่ถูกปฏิเสธกลับมา ด้วยเหตุผลที่ว่าชื่อดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเกิดความงมงายได้ ทั้งๆ ที่ชื่อนี้เป็นชื่อดั้งเดิมจริงขององค์พระพุทธรูปมาก่อน อย่างน้อยก็ราวกึ่งศตวรรษ (ตั้งแต่บูรณะเสร็จปี 2505 เป็นต้นมาก็เรียกว่าพระเจ้าหลีกเคราะห์มาโดยตลอด)

ประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนในบทความนี้ก็คือ จริงหรือไม่ที่พระเจ้าหลีกเคราะห์มีอายุเก่าแก่ถึงปี พ.ศ.1909 ตามที่ทางวัดบอกเล่าประวัติ

สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น คือตัวเลขศักราชนี้ไม่ได้ระบุในตำนาน แต่ทางวัดยืนยันยังว่าเป็นการพบตัวอักขระลายลักษณ์อีกด้วย

ถ้าเป็นความจริงตามนี้ ก็เท่ากับว่า “ศิลาจารึกที่วัดพระยืน” ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน ซึ่งทำสถิติในฐานะที่เป็นจารึกตัวอักษรไทล้านนา (หรืออักษรฝักขาม) ชิ้นเก่าแก่ที่สุดที่พบบนแผ่นดินล้านนาขณะนี้ ระบุศักราช พ.ศ.1912 จำต้องถูกล้มแชมป์ลงไปหรือเช่นไร ด้วยการพบจารึกที่เก่ากว่า 3 ปี (พ.ศ.1909) ที่บ้านโฮ่งนี้ ใช่หรือไม่?

เป็นประเด็นที่น่าสนใจชวนติดตามค้นหาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง

 

เดิมชื่อ “วัดโบสถ” หันหน้าไปทิศเหนือ

ก่อนที่จะเจาะลึกถึงเรื่องตัวอักขระระบุ พ.ศ.1909 ว่าพบตรงจุดไหนอย่างไรขององค์พระเจ้าหลีกเคราะห์นั้น เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปพูดถึงสภาพดั้งเดิมของพระพุทธปฏิมาองค์นี้ก่อนที่จะได้รับการบูรณะ

เดิมนั้น วัดพระเจ้าหลีกเคราะห์อยู่ในสภาพกึ่งวัดร้าง สมัยก่อนไม่ได้มีชื่อว่าวัดพระเจ้าหลีกเคราะห์หรือวัดพระเจ้าตนหลวงแต่อย่างใด ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโบสถ” เพราะเหลืออุโบสถอยู่หลังหนึ่ง สร้างราว 150-200 ปี ยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน (หมายเหตุ อุโบสถหลังปัจจุบันที่เห็นเป็นการสร้างขึ้นใหม่ทับที่เดิมหลังที่สองแล้ว)

สิ่งที่น่าสนใจคือ อุโบสถหลังนี้หันหน้าไปทิศเหนือ เพื่อรำลึกถึง “เมืองยอง-มหิยังคณะ” ในรัฐฉาน พม่า เมืองที่ชาวยองต้องจากมา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปเลยเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงตุง

ถือว่าการหันหน้าอุโบสถไปทางทิศเหนือนั้นพบไม่มากนักในการสร้างวัดแถบอุษาคเนย์ ส่วนใหญ่มักหันไปทิศตะวันออกเพราถือเป็นทิศมงคล หรือไม่ก็เอาเส้นทางน้ำที่ไหลผ่านหน้าวัดเพื่อการคมนาคมเป็นหลัก

เป็นอุโบสถที่ยังสามารถใช้ทำสังฆกรรมได้ แม้ว่าไม่มีเสนาสนะหลังอื่นใดในวัด นอกเหนือไปจากชิ้นส่วนของ “องค์พระเจ้าหลีกเคราะห์” ซึ่งพังทลายลงมา

 

ส่วนพระเศียรหลุดจากพระวรกายที่จมดิน

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเกือบได้บูรณะ

พระภิกษุหลายรูปที่ผ่านมาวัดโบสถรู้สึกสลดใจ มีความปรารถนาที่จะบูรณะองค์พระให้สมบูรณ์ดุจเดิมหลายต่อหลายครั้ง นับแต่ครั้งแรกปี 2465 ดำริโดย “ครูบายาสมุทร” แห่งวัดเหล่ายาว เตรียมการทุกอย่างพร้อมสรรพ แต่แล้วท่านเกิดอาพาธและมรณภาพลงไปเสียก่อน

ครั้งที่สอง พ.ศ.2476 คณะศรัทธาได้นิมนต์ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” มาเป็นประธานนั่งหนัก เตรียมอิฐ ปูน ไม้ ทุกอย่างพร้อมแล้วอีกเช่นกัน แต่แนวคิดของครูบาฯ ครั้งนั้นตั้งใจจะทำองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่องค์เดิมโดยไม่บูรณะองค์เก่า ทำให้พระครูอินทนนท์ วัดบ้านก้อง เจ้าคณะแขวงปากบ่อง (ต่อมาคือ อ.ป่าซาง) เมื่อทราบเรื่อง ต้องขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยระงับโครงการนั้นไป

อาจเป็นเพราะช่วงนั้นทางคณะสงฆ์ส่วนกลางมีคำสั่งให้จับตาเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกทางหนึ่งด้วยว่า หากจะไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบเสนาสนะวัดใด ขอให้เจ้าคณะในพื้นที่ยับยั้งไว้

 

ครูบาสองเมืองคือเนื้อนาบุญผู้มาบูรณะ

ในที่สุด พ.ศ.2488 ครูบาสองเมือง หรือพระครูอินทรัตนคุณ เจ้าอาวาสวัดหล่ายแก้ว ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปการแถบบ้านโฮ่ง ทุกครั้งที่แวะมาวัดโบสถมักเกิดความสลดใจ เมื่อได้เห็นสภาพของพระเศียรไปทาง พระวรกายไปทาง จึงดำริโครงการที่จักต้องบูรณะองค์พระปฏิมานี้อีกครั้งให้จงได้

ขณะที่ครูบาสองเมืองนั่งภาวนากัมมัฏฐานที่วัดโบสถ ท่านได้เห็นนิมิตสองประการเป็นลางบอกเหตุให้เดินหน้า

นิมิตแรกคือ เห็นกังสดาลหินสีดำแผ่นหนึ่งที่เจาะรูสำหรับแขวน แผ่นหินกว้างเพียง 3 นิ้ว หนา 1 นิ้ว จึงใคร่ครวญว่า “กังสดาลนี้หากคนตีไม่เป็นก็จะทำให้หินแตกพัง แต่หากตีเป็นจะเกิดเสียงกังวาน” อุปมาดั่งการบูรณะพระพุทธปฏิมานั่งเอง

นิมิตที่สองคือ ท่านหลับฝันเห็นงูใหญ่ที่คอยเฝ้าเวียนวนอยู่ใต้ฐานพระนี้อยู่ โดยไม่ยอมไปผุดไปเกิดใหม่ ด้วยยังมีความกังวลผูกพัน งูใหญ่ได้ฝากฝังขอให้ครูบาสองเมืองช่วยบูรณะพระปฏิมาองค์นี้ให้สำเร็จด้วย

นับจากปี 2488 เป็นต้นมาถึงปี 2503 นานถึง 15 ปีทีเดียว กว่าที่ครูบาสองเมืองจักทำการรวบรวมงบประมาณ กำลังคน กำลังใจ และกำลังปัญญา

กระบวนการทำงานไม่ง่ายนัก เพราะจำเป็นต้องทราบเสียก่อนว่า องค์พระปฏิมาขนาดมหึมาที่ล้มฝังจมดิน ณ วัดโบสถแห่งนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร สร้างขึ้นสมัยไหน องค์ดั้งเดิมมีรูปแบบพุทธศิลป์เช่นไร ทั้งหมดนี้ ทำให้ต้องมีการประสานขอความรู้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในยุคนั้นในระหว่างการบูรณะ

กรมศิลปากรและ อ.สงวน โชติสุขรัตน์ ตีความว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน

ในที่สุด ครูบาสองเมืองได้คำตอบจากกรมศิลปากรและปราชญ์ใหญ่ด้านล้านนาขณะนั้นคือ อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะล้านนารูปแบบเชียงแสน

หลังจากที่ขุดพระเศียรขึ้นมาจากดินแล้ว พบว่าบริเวณพระเกศามีเม็ดพระศกสามชิ้น ที่มีตัวอักขระจารึก (ทางวัดไม่ได้บันทึกว่าเป็นอักษรประเภทใด เพราะอักษรล้านนามี 2 ประเภทคือ อักษรฝักขาม-ไทล้านนา กับอักษรที่เรียกว่าตั๋วเมือง-ธัมม์ล้านนา?)

ชิ้นหนึ่ง ส่งให้อาจารย์สงวนช่วยอ่านได้ความว่า “พระยาจอมปู่เรือนมูลได้ริสร้างแป๋งพระพุทธรูปเจ้าคำองค์นี้ เมื่อปีสง้า แรม 7 ค่ำ ฤกษ์ 3 เดือนสารทระ”

กับอีกชิ้นหนึ่ง ได้ส่งให้คณะครูโรงเรียนประชาบาลบ้านเวียงยอง ในเมืองลำพูนช่วยอ่านได้ความว่า “พระพุทธรูปเจ้าคำองค์นี้ ได้ริรังสร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช 728” ซึ่งเมื่อเอา 1181 ไปบวก จะเท่ากับ พ.ศ.1909

ต่อมาครูบาสองเมืองมอบหมายให้ลูกศิษย์เอกชื่อ พระดวงดี พรหฺมโชโต จำพรรษาอยู่วัดดอยแดน ต่อมาเป็นพระครูสุนทรธรรมานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่สองหลังจากฟื้นวัดพระเจ้าตนหลวง (ถือว่าครูบาสองเมือง หรือพระครูอินทรัตนคุณ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก) เดินทางไปสืบค้นข้อมูลที่เมืองเชียงแสน เนื่องจากขณะนั้น หน่วยศิลปากรที่ 4 ตั้งอยู่ที่เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย ยังไม่มีหน่วยที่เชียงใหม่

 

พระสิริราชวังโสสมัยพระญาแสนภู เป็นผู้สร้าง “พระเจ้าหลีกเคราะห์”?

จากรหัสจุลศักราช 728 กับคำว่า “พระเจ้าคำ” นี้เอง เมื่อพระดวงดีได้ไปสอบถามผู้รู้ชื่อ “อาจารย์เมืองอินทร์ วัดผ้าขาวป้าน” ที่เชียงแสน กอปรกับการประมวลองค์ความรู้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของหน่วยศิลปากรและจากการพูดคุยกับอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ทำให้พอจะสรุปที่มาที่ไปของพระองค์นี้ได้ว่า

ผู้สร้างพระเจ้าตนหลวงหรือพระเจ้าหลีกเคราะห์องค์นี้คือ “พระสิริราชวังโส” (สิริราชวํโส) ผู้เป็นพระมหาราชครูอยู่ที่วัดพระแก้ว เมืองเชียงแสน ตรงกับรัชกาลของพระญาแสนภู?

ซึ่งก่อนหน้านั้น เคยสร้าง “พระเจ้าล้านตื้อ” มาก่อนแล้วองค์หนึ่ง (?) เป็นพระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่มาก แค่เฉพาะพระเกตุโมลีก็มีขนาดมหึมา

พระสิริราชวังโส เป็นผู้เคร่งครัดในธรรม วันหนึ่งขณะเดินบิณฑบาต ได้พบทาริกาน้อยนอนแบเบาะภายในเรือนที่ท่านกำลังรับบาตร เพ่งเห็นโดยญาณว่าทาริกาผู้นี้เคยเป็นเนื้อคู่ของท่านมาก่อน และชาตินี้ก็ตามมา จึงพิจารณาว่าหากท่านยังคงอยู่ในเมืองนี้ต่อไป ก็อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียทางพรหมจรรย์ได้

จึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองเชียงแสน หนีมาไกลจนถึงบ้านโฮ่ง แล้วสร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งให้ใหญ่โตเหมือนครั้งที่เคยสร้างไว้ที่เชียงแสน เพื่อเป็นการ “หลีกเคราะห์กรรม” หรือหลบหลีกจากการที่ไม่ต้องสึกออกไปครองเรือนในอนาคต

ทั้งหมดคือ “การประมวลเนื้อหา” ถึงความน่าจะเป็น โดยที่จารึกเขียนไว้แค่ “พระยาจอมปู่เรือนมูล” เป็นผู้สร้างพระองค์นี้ ไม่มีคำว่า พระสิริราชวังโส แต่อย่างใด

อะไรเป็นมูลเหตุทำให้ท่านอาจารย์เมืองอินทร์ แห่งวัดผ้าขาวป้าน ที่เชียงแสน ช่วยผูกโยงเรื่องราวของพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่ถูกทิ้งร้าง ณ วัดโบสถ บ้านโฮ่ง ไปได้ไกลมากถึงสมัยพระญาแสนภู โดยมีตัวละคร พระสิริราชวังโส เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย?

โปรดติดตามอ่านต่อฉบับหน้า •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ