แหย่ง : ล้านนาคำเมือง

แหย่ง

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “แหย่ง”

แหย่ง เป็นพรรณไม้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schumannianthus dichotomus(Roxb.) Gagnep. เป็นไม้ล้มลุก ขึ้นในที่ชุ่มน้ำ และจัดอยู่ในกลุ่มของพืชวงศ์คล้า

คำว่า dichotomus มาจากลักษณะการแตกกิ่งของต้นแหย่งที่จะแตกกิ่งทีละสองกิ่งไปเรื่อยๆ ต้นแหย่งขึ้นเป็นกอ สูง 2-4 เมตร ลำต้นกลมแข็งสีเขียวเป็นมัน ใบรูปไข่กว้างแกมรี ปลายแหลม ก้านใบแผ่เป็นกาบ มีดอกสีขาวช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ผลเป็น 3 พู มี 1-3 เมล็ด เหง้ามีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ

ส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงต้นแหย่งหรือคล้าแล้ว คนล้านนาจะคุ้นเคยกับ “สาดแหย่ง” คือ เสื่อที่สานจากต้นแหย่งมากกว่า

สำหรับการทำสาดแหย่งมีกรรมวิธีดังต่อไปนี้

คนทางเหนือนิยมนำต้นแหย่งที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป มาสานเสื่อ เริ่มจากการตัดต้นของมันเหลือตอให้สูงพอสมควรเพื่อให้มันแตกหน่อใหม่

นำก้านแหย่งมาแยกขนาดตามความยาวกองไว้ใต้ถุนบ้าน จากนั้นจึงทำการ “หักแหย่ง” โดยเอามีดผ่าต้นแหย่งออกเป็นสองซีก นำมาหักกับหลักไม้ไผ่ที่ฝังดินไว้ หันด้านผิวของแหย่งเข้าหาตัวแล้วหักกับหลัก แล้วดึงเอาเยื่อไม้ด้านในออก ค่อยๆ ทำไปทีละท่อน จนตลอดความยาว จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้ง รอสานเป็นเสื่อต่อไป

การสานสาดแหย่งนิยมสานกับพื้นดิน ใต้ถุนบ้าน ก่อนลงมือสาน ชาวบ้านจะเอาตอกแหย่งไปแช่น้ำให้คืนตัว แล้วสานเป็นลายสองจนได้ผืนเสื่อขนาดตามต้องการ ส่วนมากจะมีความกว้างเท่ากับความสูงของต้นแหย่ง

แล้วนำเสื่อที่ได้มาปูบนพื้นบ้าน บริเวณที่คนในครอบครัวจะมานั่งสังสรรค์กัน ไม่ว่าจะใช้รองนั่งกินข้าวขันโตกพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว กระทั่งนอนเอนหลังพักผ่อนยามบ่ายก็ได้

สาดแหย่งที่ถักทอจากต้นแหย่ง เป็นเสื่อมีสีน้ำตาลอ่อน มีความเลื่อมมันตามธรรมชาติ ยิ่งใช้ไปนานๆ ผ่านการเช็ดถูทำความสะอาด ก็จะยิ่งมีสีงดงามและเป็นมันวาวมากขึ้น

ข้อดีของสาดแหย่งนอกจากความสวยงามแล้ว คือความแข็งแรงทนทานใช้งานได้นานกว่าเสื่อชนิดอื่น หากเก็บรักษาดีๆ เช่น ใช้แต่บนบ้าน อายุใช้งานจะมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

ที่สำคัญสามารถทำความสะอาดง่าย แค่นำมาเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ เอาคราบสกปรกออก แล้วตากแดดให้แห้งสนิทก็เป็นอันเรียบร้อย เมื่อต้นแหย่งถูกน้ำ เส้นใยตามธรรมชาติจะดูดน้ำเข้าไปทำให้แหย่งนิ่มขึ้น และคืนตัว มีการขยับเข้าที่ตามลายถักทอ เมื่อสาดแหย่งแห้งก็จะมีการหดของตอกแหย่ง เป็นการรัดสาดแหย่งเข้ามาใหม่ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงเหมือนเดิม

นอกจากจะใช้ในครัวเรือนแล้ว คนล้านนายังนำสาดแหย่งไปปูตามโบสถ์ วิหาร ปูนั่งนอนบนร้าน ปูพื้นดินเพื่อเป็นที่นั่งรับรองแขกจำนวนมาก เวลามีงาน

ทุกวันนี้รีสอร์ต หรือในสปาต่างๆ หากต้องการให้ความรู้สึกถึงความเป็นล้านนา สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติก็นิยมใช้สาดแหย่งไปปูประดับทั้งที่ฝา และที่พื้น