ปริศนาโบราณคดี : พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี

กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (3)

 

ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหลักฐานด้าน “จารึก” ที่เกี่ยวข้องพระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่นไปแล้ว 3 ชิ้น ได้แก่ จารึก “เย ธรฺมา” เขียนด้วยตัวอักษรเทวนาครีแบบอินเดีย ล้อมรอบพระเศียรพระพุทธรูป สอดรับกับรูปแบบพุทธศิลปะสมัยปาละ

กับจารึกบนแผ่นไม้อักษรธัมม์ล้านนาอีกสองชิ้น ชิ้นแรกสร้างโดยพระเจ้ากาวิละปี 2333 สมัยที่ประทับอยู่ ณ เวียงป่าซาง ลำพูน ก่อนที่จะรวบรวมกำลังพลมาฟื้นเวียงเชียงใหม่ในปี 2439

และอีกชิ้นสร้างโดยศรัทธาวัดเชียงมั่น นามหนานเตชะและนางขันแก้ว ระหว่างปี 2465-2467

จารึกทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการไขปริศนาในหัวข้อบทความที่ตั้งไว้ อันจะได้นำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ต่อไป

อนึ่ง ฉบับก่อนยังไม่ได้กล่าวถึง “ตำนาน” ของพระศีลาแต่อย่างใดเลย เราลองมาดูเนื้อหาในตำนานกันสักนิดว่ามีอะไรที่พอจะเชื่อมโยงกับข้อมูลด้าน “จารึก” ได้บ้าง?

 

ตำนานพระศีลาเจ้า

จากหนังสือ “ประชุมตำนานล้านนาไทย” ของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ได้กล่าวถึงตำนาน “พระศีลาดำ” หรือ “พระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น” ว่าเนื้อหานี้ “ครูบาอินถา ถาวโร” เจ้าอาวาสวัดเชียงมั่น (ปกครองวัดระหว่างปี 2497-2525) เป็นผู้แปลเรื่องราวมาจากต้นฉบับใบลานที่เก็บไว้ในวัดเชียงมั่น

ข้อมูลในส่วนนี้บอกเฉพาะชื่อผู้แปล แต่ไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้เขียนตำนาน ตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร

โชคดีที่ข้อมูลจากหนังสือ “ประชุมจารึกล้านนาเล่ม 2 จารึกพระเจ้ากาวิละ” ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยสังคม มช. ปี 2521 ช่วยให้เราสามารถปะติดประต่อเนื้อหาได้ ในตอนที่กล่าวถึงพระเจ้ากาวิละได้สร้างบัลลังก์และซุ้มไม้สำหรับพระศีลาเจ้าองค์นี้เมื่อปี 2333

โดยหนังสือประชุมจารึกเล่มดังกล่าวให้รายละเอียดว่า ระหว่างปี 2325-2340 ช่วงที่พระเจ้ากาวิละยังประทับอยู่ที่เวียงป่าซาง ลำพูนนั้น เมื่อปี 2327 ได้มีพระภิกษุชาวป่าซางรูปหนึ่ง ไม่ทราบชื่อ ได้เขียนตำนานพระพุทธรูปหินองค์หนึ่งชื่อ “พระสีลา” เป็นภาษาบาลี

น่าสนใจที่เดียวที่ “ตำนานพระศีลา (สีลา) เจ้า วัดเชียงมั่น” นี้เขียนขึ้นในยุคพระเจ้ากาวิละ สมัยที่ประทับอยู่ ณ เวียงป่าซาง โดยที่เราไม่อาจทราบได้ว่า พระภิกษุนิรนามรูปนั้นรับทราบข้อมูลเดิมของตำนานมาจากใคร วัดไหน

และพระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น จักเคยประทับอยู่คู่กับพระเจ้ากาวิละตั้งแต่ที่เวียงป่าซางด้วยหรือไม่?

เนื้อหาของตำนานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือ ปฐมเหตุแห่งการสร้างพระศีลาเจ้า ส่วนนี้เต็มไปด้วยอภินิหาร อีกทั้งมีการหยิบยกเอาชื่อตัวบุคคลในพุทธประวัติที่มีอยู่จริง มาโยงว่าเป็นผู้สร้างพระศีลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบพุทธศิลปะที่มีอายุสมัยหลังจากนั้นถึง 1,400 ปี

ส่วนที่สอง เป็นเรื่องราวของพระภิกษุสามรูปชาวล้านนาที่ได้พระพุทธรูปมาจากอินเดีย ส่วนนี้ก็ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้นได้จริง เหตุที่เอาชื่อของพระภิกษุยุคล้านนาที่มีอยู่จริงเมื่อ 500 ปีก่อน ให้ไปพัวพันช่วงชิงพระพุทธรูปกับเหตุการณ์ในยุคพุทธกาล

ส่วนที่สาม เริ่มมีการระบุชื่อเมืองในแผ่นดินไทยแว่นแคว้นต่างๆ มีชื่อของกษัตริย์ล้านนาผู้โด่งดังคือพระเจ้าติโลกราชเข้ามาปรากฏ พร้อมกับชื่อวัดต่างๆ ที่สร้างในสมัยของพระองค์ อาทิ วัดป่าแดง วัดหมื่นสาร และหอพระแก้ว

ปัญหาคือ เหตุการณ์ทั้งสามส่วนนี้ กำหนดให้พระภิกษุสามรูปของล้านนาเป็นบุคคลที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าอชาตศัตรูในยุคพุทธกาล ซ้ำพระภิกษุสามรูปนี้ยังครอบครองพระศีลาเจ้าอย่างยาวนานมาจนถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชอีกด้วย

แน่นอน หลายท่านอาจจะย้อนถามว่า จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไรจาก “ตำนาน” เล่า? เพราะตำนานก็คือตำนาน จับนู่นโยงนี่ไปเรื่อย ศักราชก็ไม่ระบุ แถมชอบเอาบุคคลสำคัญที่มีตัวตนอยู่จริงมาเป็นตัวละคร ให้ตัวละครโน้นไปพบตัวละครนี้ ทั้งที่อยู่คนละยุคสมัยกัน

แต่ดิฉันเห็นว่า ตำนานพระศีลาเจ้า เป็นตำนานที่ไม่ควรมองข้าม มีนัยยะอะไรหลายอย่างที่เราต้องช่วยกันถอดรหัส

พระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น ภาพจากหนังสือประชุมจารึกล้านนาภาค 2 จารึกพระเจ้ากาวิละ ของสถาบันวิจัยสังคม มช.

พระเจ้าอชาตศัตรู-พระมหากัสสปะ

จากประธานสังคายนาพระไตรปิฎก

กลายเป็นผู้สร้าง “พระศีลาเจ้า”?

ตํานานเรื่องนี้เปิดฉากด้วยการอ้างถึงบุคคลสำคัญที่มีอยู่จริงในยุคพุทธกาลสองคนคือ พระเจ้าอชาตศัตรู กับพระมหากัสสปะ โดยระบุว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้เพียง 7 ปี 7 เดือน กับ 7 วัน แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่ทางโลก และพระมหากัสสปะ ผู้เป็นใหญ่ทางธรรม

ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปที่นำวัสดุ “หินพิมพการ” มาจากท้องมหาสมุทร แล้วให้ช่างแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางเสด็จบิณฑบาตในเวียงราชคฤห์ปราบช้างนาฬาคิรีด้วยความเมตตา

รวมทั้งมีรูปพระอานนท์ถือบาตรอยู่ด้านซ้าย (ของพระพุทธรูป แต่เราจะเห็นเป็นด้านขวา) พระพุทธรูปสูง 1 คืบกับ 4 นิ้ว กว้างประมาณ 1 คืบ

ในความเป็นจริงนั้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ 3 เดือน ชื่อของพระเจ้าอชาตศัตรู กับพระมหากัสสปะ ได้ถูกจารึกไว้ในฐานะของประธานการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของโลกมากกว่า โดยไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า ขณะที่บุคคลทั้งสองกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว ได้มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยแต่ประการใด

ด้วยเหตุที่อีกหนึ่งความเป็นจริงก็คือ การสร้างพระพุทธรูปขึ้นครั้งแรกของโลกยังไม่เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพ หรือแม้แต่หลังพุทธกาลไปอีกนานตราย 5 ศตวรรษก็ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด

ดิฉันพอจะจับเค้าใจความได้ว่า การหยิบยกเอาพระเจ้าอชาตศัตรูมาเป็นประธานในการสร้างพระพุทธรูปปางทมานช้างนาฬาคิรีในตำนานครั้งนี้ คงเนื่องมาจากผู้เขียนตำนานเห็นว่า ช้างนาฬาคิรีเป็นช้างตกมันที่เทวทัตตั้งใจส่งมาจะให้พุ่งชนพระเจ้า

เหตุการณ์ตอนนั้นเกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์ กรุงที่พระเจ้าอชาตศัตรูปกครอง และช่วงนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูกำลังหลงผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางของพระเทวทัตอย่างแรงกล้าถึงขนาดเรียกว่า “พระอาจารย์”

เหตุนี้กระมัง ตำนานจึงพยายามเชื่อมโยงว่า ผู้สร้างพระพุทธรูปปางปราบช้างนาฬาคิรีควรเป็นพระเจ้าอชาตศัตรู ทั้งๆ ที่ในความจริง เป็นงานพุทธศิลป์อินเดียสกุลช่างปาละราว พ.ศ.1400-1500 แล้ว

 

การฝังคาถา 7 จุดสู่ 9 จุด

ต้นกำเนิดการปักหมุด

ของพระบัวเข็ม-พระแสนแสว้?

ตํานานอธิบายต่อไปว่า พระเจ้าอชาตศัตรูพร้อมด้วยพระอรหันต์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์มาตั้งจิตอธิษฐาน จากนั้นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จเข้าไปบรรจุในส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูป ได้แก่ พระเศียร 1 องค์ พระนลาฏ (หน้าผาก) 1 องค์ อีก 2 องค์เสด็จเข้าในพระอังสะ (บ่า) สองข้าง องค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระอุระ (หน้าอก) และอีก 2 องค์เสด็จเข้าสถิตในพระชานุ (เข่า) ทั้งสอง

น่าสนใจว่า การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ของล้านนา ที่ชาวล้านนารู้จักกันดีนั้น นอกจากพระศีลาเจ้าแล้ว ยังพบเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้ในตำนานพระแก้วมรกต ที่บันทึกไว้ทั้งในชินกาลมาลีปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์อีกด้วย ตำนานทั้งสองเล่มเขียนตรงกันว่า

เมื่อพระวิสสุกรรมสร้างพระรตนปฏิมาเสร็จภายใน 7 วัน 7 คืน พระนาคเสนยังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์เข้าไว้ในองค์พระรตนปฏิมา กล่าวคือ องค์ 1 อยู่ที่พระเมาลี องค์ 1 อยู่ที่พระนลาฏ องค์ 1 อยู่ที่พระอุระ 2 องค์อยู่ที่พระหัตถ์ทั้งสอง และอีก 2 องค์อยู่ที่พระชานุทั้งสอง

พบว่าต่างกันแค่ 2 จุด คือเปลี่ยนจากการบรรจุพระธาตุที่หัวไหล่ 2 ข้าง มาเป็นเข่า 2 ข้าง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาถึงรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปที่มีการฝังอัญมณีก็ดี การฝังพระสารีริกธาตุตามจุดต่างๆ ในพระวรกายก็ดี หรือการบรรจุหัวใจพระเจ้าก็ดี

พบว่าเรื่องราวทำนองนี้ล้วนเป็นคติการสร้างพระพุทธรูปของช่างอินเดียเหนือฝ่ายมหายานในนิกายวัชรยาน (ตันตระยาน) ทั้งสิ้น โดยแนวคิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากศิลปะสกุลช่างปาละ ซึ่งก็สอดคล้องกับรูปแบบพุทธศิลป์ของพระศีลาเจ้าองค์ที่เรากำลังศึกษาอยู่นี่ด้วยเช่นกัน

แนวคิดการฝังพระสารีริกธาตุ 7 องค์ตามจุดต่างๆ 7 จุดนี้ ในทางวัชรยานมองว่าจุดทั้ง 7 เทียบได้กับ “จักระทั้ง 7” ของตำแหน่งในร่างกายมนุษย์ ที่แทนค่าหรือเทียบได้กับตำแหน่งของจักรวาล เป็นการล้อกันระหว่างจักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายใน กล่าวคือ มีความเชื่อเรื่องฐานต่างๆ ของจักระ ว่าทางเดินของลมปราณมนุษย์ไปสิ้นสุดลง ณ จุดใดบ้าง

พบว่าต่อมาในวัฒนธรรมล้านนาและกลุ่มมอญพม่า ได้เพิ่มการปักหมุดหรือการฝังสารีริกธาตุจาก 7 จุด เพิ่มเป็น 9 จุด โดยมีทั้งส่วนพระบาท (หรือไม่ก็พระชงฆ์-เข่า) 2 จุด ตามแนวคิดของพระแก้วมรกต และยังมีทั้งส่วนพระอังสะ 2 จุดตามแนวคิดของพระสีลา

ตัวอย่างของการฝังคาถาหรือของมีค่าไว้ 9 จุดในงานพุทธศิลป์ล้านนา ได้แก่ การสร้างพระบัวเข็มมีการฝังเข็มไว้ 9 จุด หรือคติการสร้างพระเจ้าแสนแสว้ ก็เน้นการหล่อพระพุทธเจ้าจาก 9 ชิ้นส่วน

สัปดาห์หน้ามาต่อกันในตำนานอีกสองส่วนที่เหลือ มีทั้งเรื่องไกลตัว และเรื่องที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้น