ปริศนาโบราณคดี : ‘พระพุทธเมืองรายเจ้า’ วัดชัยพระเกียรติ ใครถวายเกียรติให้แก่ใคร?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘พระพุทธเมืองรายเจ้า’

วัดชัยพระเกียรติ

ใครถวายเกียรติให้แก่ใคร?

 

ดิฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้ไปกราบพระประธานในพระวิหารวัดชัยพระเกียรติ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลศรีภูมิ ใจกลางนครเชียงใหม่ ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์หลวง คงรู้สึกสับสนงุนงงกับข้อมูลที่มีอยู่สองเวอร์ชั่นเป็นอย่างมาก

ข้อมูลชุดแรก แผ่นป้ายทางขึ้นวิหารบอกว่า วัดนี้สร้างโดยพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี (ครองราชย์ พ.ศ.2088-2089) เพื่อถวายพระเกียรติให้แด่พระไชยราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.2077-2089) ช่วงที่ยกทัพขึ้นมาเชียงใหม่ แต่ไม่เข้ามาย่ำยีนครเชียงใหม่ในเขตคูเมือง หากรั้งขบวนเสด็จไว้แค่นอกเมืองแถววัดโลกโมลีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวีจึงรู้สึกว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยามีไมตรีจิตต่อฝ่ายล้านนา จึงได้สร้างอนุสรณ์ไว้เพื่อแสดงความรำลึกถึงพระไชยราชา ทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัด (ไชย) ชัยพระเกียรติ”

เดิมคำว่า “อนุสรณ์” ที่ว่านั้น ยังระบุอีกด้วยว่าหมายถึงการสร้างพระพุทธรูปประธาน โดยมีชื่อที่เรียกกันตามน้ำหนักและกรรมวิธีการหล่อว่า “พระเจ้าห้าตื้อ”

ครั้นต่อมาเมื่อมีการศึกษาแบบเจาะลึกมากยิ่งขึ้น (อันหมายถึงข้อมูลที่จักได้กล่าวถึงต่อไปในเวอร์ชั่นที่สอง) ก็มีการตีความใหม่ว่า สิ่งที่พระนางเจ้าจิรประภาสร้างถวายพระเกียรติแด่พระไชยราชานั้น คือพระวิหาร หาใช่พระพุทธรูปไม่

ส่วนข้อมูลอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ถือเป็นข้อมูลชุดที่สอง ค่อยๆ เริ่มแพร่หลายขึ้นแทนที่ข้อมูลชุดเดิมในช่วงระยะหลังๆ มานี้ นับแต่ได้มีการถอดข้อความปริวรรตอักขระที่ฐานพระประธานภายในวิหาร อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ได้พบความจริงว่า พระพุทธรูปประธานภายในวัดชัยพระเกียรตินั้น หาได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพระนางเจ้าจิรประภาหรือพระไชยราชาแต่อย่างใดเลย

ตรงข้าม กลับเป็นจารึกที่ทำขึ้นในสมัยที่พม่าเข้ามาปกครองล้านนาแล้ว ซึ่งข้อความในจารึกจักได้ทำการวิเคราะห์กันต่อไป

 

วัดผาเกียร ในโคลงนิราศหริภุญไชย

ชื่อของวัด “ชัยพระเกียรติ” หรือ “ไชยพระเกียรติ” นี้ เมื่อเราคุยกับชาวเชียงใหม่อายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดผาเกียร” (บ้างอ่าน ผา-เกี๋ยน บ้างอ่าน ผา-เกียน)

หากอ่าน ผาเกี๋ยน คำดั้งเดิมต้องเป็น ผาเกียร หรือปราเกียร ดังหลักฐานที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญไชย ในบทที่ว่า

“ทุงยู ศรีเกิด ใกล้ ปราเกียร

สามสี่อาวาเจียน จิ่มไหว้”

โคลงสองบาทนี้มีความหมายว่า กวีผู้รจนาได้เคลื่อนขบวนผ่านกลุ่มวัด 3-4 แห่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กันกับวัดพระสิงห์ อันประกอบด้วย วัดทุงยู วัดศรีเกิด และวัดปราเกียร โคลงบางฉบับใช้ “ผาเกียร” เนื่องจากตัว ปร ในภาษาล้านนาออกเสียงเป็นตัว ผ ดังเช่นอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปราสาท ออกเสียงว่า ผาสาท

คำว่า “ปราเกียร” นี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ปริวรรตถอดความโคลงนิราศหริภุญไชย ให้ความหมายว่าหมายถึง “ปราการ-กำแพง”

หากเป็นดั่งนี้ ย่อมแสดงว่า วัดผาเกียร ย่อมมีมาแล้วก่อนสมัยพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี อย่างน้อยก็ก่อนสมัยพระเมืองแก้ว เพราะโคลงนิราศหริภุญไชยรจนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2060 โดยที่กลุ่มวัดผาเกียร ศรีเกิด ทุงยู ได้สร้างขึ้นมาก่อนหน้าทั้งหมดแล้ว

หากพิจารณาตั้งแต่บริบทของชื่อผาเกียร-ปราเกียร ในยุคแรกสร้างวัดนี้ ยังไม่พบว่าชื่อของวัดสื่อถึงการสร้างเพื่อยอยกใคร ยิ่งทำให้การถอดรหัสถึงความผูกพันหรือความจงรักภักดีของพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวีที่มีต่อพระไชยราชา ยิ่งดูห่างไกลมากขึ้นไปอีก

เว้นเสียแต่ว่า รากศัพท์เดิมจะต้องเป็น “ผาเกียรติ์” (ออกเสียงว่า “ผาเกียน” ไม่ใช่ผาเกี๋ยน) ก็อาจดูเข้าเค้ากับคำว่า “พระเกียรติ” มากกว่า

 

คำจารึกที่ฐานพระพุทธเมืองรายเจ้า

กับที่มาของ “พระเจ้าห้าตื้อ”

พระประธานในวิหารวัดชัยพระเกียรติ เป็นตัวอย่างชิ้นงานด้านพระพุทธปฏิมาสมัยล้านนาตอนปลายเพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังได้รับการสร้างขึ้น แม้ว่าพม่าได้เข้ามาปกครองล้านนาแล้ว

กล่าวคือ รูปแบบพุทธศิลป์ยังคงดำเนินตามรอยอัตลักษณ์แบบ “พิมพ์นิยม” ของสกุลช่าง “พระสิงห์ 1” หรือที่เราเรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์จำลอง” นั่นคือ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม พระเกศโมลีดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิตัดเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นๆ อยู่เหนือพระถัน

ยังไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นพระพุทธรูปสกุลช่างพม่าในกลุ่มตองอู อังวะ ที่เน้นการเขียนคิ้วทาปาก คาดหน้าผากด้วยเพชรพลอย ทำจีวรหยักริ้วพลีท นั่งก้มหน้า แต่อย่างใด

ที่ฐานพระพุทธรูปของพระประธานองค์นี้มีจารึกค่อนข้างยาวถึง 3 บรรทัด เขียนเป็นตัวอักษรพม่าส่วนภาษาที่ใช้ประกอบด้วยภาษามอญ พม่า และบาลี

นอกจากนี้แล้วยังมีจารึกในส่วนอื่นๆ ขององค์พระปฏิมาเป็นอักษรธัมม์ล้านนา ได้แก่ บริเวณใต้พระชานุ (เข่า) ขวาเป็นดวงฤกษ์ ใต้พระชานุซ้ายเป็นดวงฤกษ์ ศักราช และหรคุณ และยังมีข้อความจารึกจำนวน 11 บรรทัดอยู่บริเวณด้านหลังของพระพุทธรูปอีกด้วย

ศักราชที่ปรากฏในจารึกคือ จุลศักราช 927 (พ.ศ.2108) ตรงกับรัชกาลของนางพญาวิสุทธิเทวี (ครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ.2107-2121) สมัยที่ราชวงศ์ตองอูของพม่าปกครองล้านนา (พ.ศ.2101-2139)

เนื้อหาของจารึกซึ่งปริวรรตโดย ดร.ฮันส์ เพนธ์ ตั้งแต่ปี 2519 มีข้อความดังนี้

จุลศักราช 927 วันพุธขึ้น 13 ค่ำ เดือนบุษย ตอนบ่าย อังคารและศุกร์อยู่ในนักษัตรฤกษ์ที่ 4 ติถี 11 เจ้าทัพไชยสังรามจ่าบ้าน ณ มหานครชื่อว่าเชียงใหม่ ผู้เป็นข้าหลวงในเจ้าช้างเผือก เจ้าหอคำ เจ้าชีวิตเหนือเจ้าเมืองทั้งปวง (หมายถึงพระเจ้าบุเรงนอง) มีความประสงค์ว่าควรจะมีสิ่งสักการบูชาสำหรับคน เทวดา และพราหมณ์ ตลอด 50 พรรษาอันศักดิ์สิทธิ์ จึ่งได้รวบรวมบรรดาพระพุทธรูปที่แตกหัก นำมาหล่อรูปพระพุทธสัพพัญญู เป็นทองสำริดมีน้ำหนัก 5,000 วิส มีพระนามว่า “พระพุทธเมืองรายเจ้า”

นอกจากนี้ ข้อความด้านหลังพระพุทธรูป ยังระบุถึงการสร้างรั้วลงชาด ปิดทองคำล้อมพระมหาเจดีย์ ตอนท้ายเป็นคำอธิษฐาน ขอให้ตนได้ไปเกิดในสวรรค์ ทันพระศรีอาริยเมตไตรย และถึงแก่นิพพาน

ซึ่งการบุญครั้งนี้ เจ้าไชยสังราม ได้นำเรื่องทูลสมเด็จมหาเทวีเจ้า (หมายถึงนางพญาวิสุทธิเทวี) ผู้ทรงเป็นใหญ่ ในนพบุรีให้ทรงทราบ แล้วทูลเชิญให้ทรงร่วมทำบุญด้วย

เมื่อถอดรหัสคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป พบข้อความสำคัญคือ ต้องใช้ทองสำริดในการหล่อพระพุทธรูปน้ำหนักมากถึง 5,000 วิส หน่วย “วิส” นี้เป็นภาษามอญ ชาวล้านนาคำนวณแล้วพบว่า 5,000 วิส มีน้ำหนัก 50 โกฏิ หรือเรียกอีกอย่างว่า 5 ตื้อ

จึงเรียกพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าห้าตื้อ”

 

 

ใครขอขมาใคร

ทำไมต้องชื่อ “พระพุทธเมืองรายเจ้า”

นัยยะจากเนื้อหาในจารึกทั้งที่ฐานและด้านหลังพระพุทธรูป พบว่ามหาเทวีที่เกี่ยวข้องกับห้วงเวลาดังกล่าว (พ.ศ.2108) คือ นางพญาวิสุทธิเทวี หาใช่พระนางเจ้าจิรประภาเทวีไม่

กษัตริย์ที่ปรากฏนามในจารึก โดยได้รับเกียรติจากผู้สร้าง (เจ้าไชยสังราม) มีอยู่สององค์ ไม่มีพระนามของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

ทว่าปรากฏนามองค์แรกคือ พระเจ้าบุเรงนอง ผ่านสมัญญานามซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ เจ้าช้างเผือก เจ้าหอคำ ประมาณว่าเจ้าไชยสังราม ขุนนางชาวพม่าที่ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณในล้านนา ตั้งใจอุทิศความดีความชอบทั้งหมดให้แก่เจ้าเหนือหัวชาวพม่าองค์นี้

กับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ที่ปรากฏนามในจารึกคือ “พระญามังราย” ปฐมกษัตริย์ล้านนา ภายใต้ชื่อของพระพุทธรูปที่เจ้าไชยสังราม ถวายนามผ่านองค์พระปฏิมาว่า “พระพุทธเมืองรายเจ้า” หรือ “พระพุทธเมิงราย”

ประเด็นนี้เอง ที่ทำให้นักวิชาการด้านล้านนาศึกษาต้องนั่งขบคิดตีความกันว่า การตั้งชื่อพระพุทธรูปโดยเอานามของพระญามังรายมาใช้เช่นนี้ ในมุมมองของแม่ทัพเจ้าไชยสังรามผู้สร้างนั้น ต้องการสื่อถึงนัยยะอะไรกันแน่

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ได้วิเคราะห์ไว้นานแล้วตั้งแต่ก่อนปี 2518 (ยึดเอาปีที่ท่านเสียชีวิต พ.ศ.นั้น) ในหนังสือเรื่อง “ตำนานเมืองเหนือ” ว่า

ผู้สร้างพระพุทธเมิงรายเจ้า คือพระเมกุฏิ (ครองเชียงใหม่ พ.ศ.2094-2107) ซึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่า องค์ความรู้ในยุค 2500-2518 นั้นมีข้อจำกัดมาก เพราะยังไม่มีผู้สันทัดด้านภาษาพม่า การคำนวณศักราชอักขระภาษาพม่าที่ฐานพระพุทธรูป ที่อาจารย์สงวนศึกษามาจึงตรงกับปี 2105 อันเป็นสมัยของพระเมกุฏิ

 

 

 

 

อาจารย์สงวนจึงตีความถึงนัยยะแห่งการสร้างพระพุทธเมิงรายเจ้าว่า “เป็นการขอขมาของพระเมกุฏิต่อพระญามังราย ผู้สร้างนครเชียงใหม่ ในฐานะที่พระเมกุฏิไม่สามารถรักษานครเชียงใหม่ไว้ได้ ด้วยต้องเสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง”

แนวคิดดังกล่าวนี้ได้ส่งอิทธิพลให้แก่การตีความของนักวิชาการรุ่นหลังๆ สืบต่อมา แม้จะทราบกันดีแล้วว่า ผู้สร้างพระพุทธรูปไม่ใช่พระเมกุฏิ แต่เป็นแม่ทัพชาวพม่า กระนั้นก็ตาม การตีความเกี่ยวกับประเด็น “การขอขมา” ตามแนวทางอาจารย์สงวนยังถูกนำมาใช้กันอยู่ นั่นคือการตีความว่า

แม่ทัพไชยสังรามจ่าบ้านผู้นี้ ตั้งใจสร้างพระพุทธปฏิมาเพื่อถวายพระเกียรติแด่ดวงวิญญาณของพระญามังราย ซึ่งเป็นพระเสื้อเมืองเชียงใหม่ เพื่อไถ่โทษ ขอขมา และขอให้ดวงวิญญาณของพระญามังรายไม่โกรธแค้นต่อกองทัพพม่าที่มายึดเมืองเชียงใหม่

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ “พระเจ้าห้าตื้อ” หรือ “พระพุทธเมิงรายเจ้า” แห่งวัดผาเกียร หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญยิ่งแห่งนครเชียงใหม่

ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ในเชิงการตีความถอดรหัสนัยยะทางการเมืองผ่านพุทธปฏิมา มีแต่ความชัดเจนของการถอดข้อความอักขระจารึกที่ลงตัวแล้วเท่านั้น