ปริศนาโบราณคดี : 100 ปีชาตกาล นักประวัติศาสตร์ล้านนา ‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

100 ปีชาตกาล

นักประวัติศาสตร์ล้านนา

‘อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์’ (จบ)

 

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ถือเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเก็บข้อมูลชั้นต้น (หรือที่เรียกกันในศัพท์วิชาการว่า “ข้อมูลขั้นปฐมภูมิ”) ในภาคสนามอย่างแท้จริง

จากอัลบั้มภาพถ่ายที่ “คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์” ธิดาคนโตของอาจารย์สงวน เอาให้ดิฉันและทีมงานดู พบว่าเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการขลุกตัวสัมภาษณ์ตุ๊เจ้าวัดต่างๆ หลายภาพล้อมวงคุยท่ามกลางพ่อน้อยพ่อหนาน กับภาพคนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์อีกปึกใหญ่ ในพื้นที่ร้อยเอ็ดเจ็ดย่าน

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ กับพี่น้องชนเผ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

บางภาพท่านถ่ายกับขบวนคาราวานของพ่อค้าวัวต่างถิ่น สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ การได้พบภาพของอาจารย์สงวนถ่ายคู่กับ “ดร.ฮันส์ เพนธ์” นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาล้านนา ท่านได้ล่วงลับไปแล้วเมื่อทศวรรษก่อน อยู่หลายภาพ ทำให้คณะเราอดสงสัยไม่ได้ เมื่อสอบถามคุณพันธุ์นพิต ได้ความกระจ่างว่า

“ดร.ฮันส์ เพนธ์ จากสถาบันวิจัยสังคม มช. ได้มาหาคุณพ่อหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขอให้คุณพ่อช่วยนำทางไปพบชาวบ้าน ชี้ช่องที่มาของแหล่งข้อมูลเชิงลึกตามสถานที่ต่างๆ เพราะ ดร.เพนธ์ทราบดีว่า ในช่วงเวลานั้น อาจารย์สงวนน่าจะเป็นบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ซอกแซกสืบเสาะค้นหาแหล่งข้อมูลทั่วล้านนา ดังนั้น ต้องรู้เบาะแสว่าควรไปสัมภาษณ์ใคร หมู่บ้านไหน ได้อย่างดีที่สุด”

อาจารย์สงวน พา ดร.ฮันส์ เพนธ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในถิ่นทุรกันดาร

 

ซึ่งสอดคล้องต้องตรงกับคำพูดของ “ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร” นักจารึกวิทยา ผู้เคยทำงานในสถาบันวิจัยสังคมร่วมกับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ที่กล่าวว่า

“ดร.เพนธ์เล่าให้อ้ายฟังเสมอว่า กว่าจะได้ข้อมูลพวกคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ในชนบทรอบนอก มาถ่ายไมโครฟิล์มเก็บไว้ศึกษาในคลังจารึกของสถาบันวิจัยสังคมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว ชาวบ้านเขากลัว เห็นปุ๊บวิ่งหนีปั๊บ

อาจารย์สงวน พา ดร.ฮันส์ เพนธ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในถิ่นทุรกันดาร

 

โชคดีที่ ดร.เพนธ์ได้อาจารย์สงวนช่วยนำทางไปทุกหนทุกแห่ง อาจารย์สงวนยังแนะนำอีกด้วยว่า ชาวบ้านเขาไม่ได้ต้องการเงินทองอะไรจากเราหรอก แค่แบกถังน้ำมันก๊าดกัน 2 แขนข้างละ 2-3 ปี๊บไปแจกจ่ายให้พวกเขาเป็นการแลกเปลี่ยนกับข้อมูลที่เราได้มา ชาวบ้านก็ดีใจสุดๆ แล้ว เพราะยุคนั้นไฟฟ้ายังไปไม่ถึงทุกหมู่บ้าน

อ้ายเข้าใจว่าช่วงนั้นทั้งสองท่าน (หมายถึง ดร.เพนธ์และอาจารย์สงวน) แขนสองข้างคงขึ้นกล้ามเป็นมัดๆ มาดแมนน่าดูเลย” ว่าแล้วกวีอารมณ์ดีของเราก็หัวเราะชอบใจ

ถ่ายที่โรงพิมพ์ “สงวนการพิมพ์” ด้านนอก

 

คนที่เป็นปัญญาชนแวดวงนักคิดนักเขียน นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ ในแถบล้านนาที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับอาจารย์สงวนเท่าที่ประเมินดูคร่าวๆ ก็น่าจะได้แก่ ส.ธรรมยศ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ชุ่ม ณ บางช้าง อ.ไชยวรศิลป์ (อสิธารา) บุญเสริม ศาสตราภัย ไกรศรี นิมมานเหมินท์ สิงฆะ วรรณสัย มณี พยอมยงค์ และปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เป็นต้น

ทุกวันนี้เหลือบุคคลร่วมสมัยเพียงอีกไม่กี่ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ วิจิตร ไชยวรรณ์ และอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ปราชญ์ใหญ่เมืองลำปาง

บุคลิกหรือภาพลักษณ์ของอาจารย์สงวนที่คนทั่วไปเห็นคือ เป็นผู้ชายสะพายกล้อง แต่งกายคล้ายคนภาคกลาง สวมเสื้อเชิ้ต บางครั้งทับด้วยสูทสากล ไม่ใช่ผ้าเมืองแบบเสื้อผ่าหน้าติดกระดุมห่วง มีกระเป๋าต่ำสองใบแล้วปล่อยชายเสื้อนอกกางเกงเฉกคนพื้นเมืองทั่วไป เช่นเสื้อหม้อห้อม

ส่วนกางเกงนั้น กี่ภาพต่อกี่ภาพที่เราเห็นมักเป็นกางเกงทรงสแล็กส์แบบสากล แต่คุณพันธุ์นพิตเล่าว่า ตอนอยู่บ้านนั้น ท่านจะสวมเสื้อยืดสีขาว ใส่กางเกงสบายๆ ที่เรียกกันว่า “เตี่ยวสะดอ” อยู่เสมอ

อัตลักษณ์สำคัญอีกอย่างที่สะท้อนถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนของอาจารย์สงวน คือสวมแว่นสายตาเป็นประจำ ช่วงบั้นปลายชีวิตเปลี่ยนเป็นแว่นดำกรองแสง เพราะต้องเดินทางออกแดดอยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามถึงเมนูอาหารที่ชอบทานเป็นประจำ ธิดาคนโตของอาจารย์สงวนตอบว่า “จำได้ดีว่าคุณพ่อชอบทานต้มจืด ส่วนอาหารพื้นเมืองจะเป็นตำบะหนุน (ยำขนุนอ่อน) น้ำเหมี้ยงหมี่ ยำหนัง บางครั้งก็เห็นท่านอมเหมี้ยงด้วย”

ถ่ายที่โรงพิมพ์ “สงวนการพิมพ์” ด้านใน

อีกแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง เห็นอาจารย์สงวนเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แบบนี้ ทว่าอีกด้านหนึ่งนั้น

“คุณพ่อเคยมีความสนใจในด้านการเมืองด้วยมิใช่น้อย ถึงกับครั้งหนึ่ง ท่านตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ข้าเจ้าบ่าแน่ใจว่าปี พ.ศ.ไหน เขตใด สังกัดพรรคการเมืองอะไร เคยเห็นภาพผ่านตาแว้บๆ ว่าท่านยืนคู่กับนายเลิศ ชินวัตร บิดาของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นทีมเดียวกันหรือเป็นคู่แข่งกัน ที่แน่ๆ คุณพ่อแพ้เลือกตั้ง น่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิตด้านการเมืองครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวเท่านั้น” คุณพันธุ์นพิตกล่าว

อันที่จริงหากเราถอดความเป็นปราชญ์หรือนักประวัติศาสตร์ออกไป หมวกอีกใบที่อาจารย์สงวนสวมคู่ขนานกันมาเนิ่นนานก็คือการเป็น “นักข่าว นักหนังสือพิมพ์” ด้วย

ดังนั้น ความสนใจต่อปัญหาบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกอยู่แล้วของคนในแวดวงนักข่าว

หน้าปกผลงานหนังสือบางส่วน

ในแง่ชีวิตสมรส หลังจากที่อาจารย์สงวนแต่งงานครั้งที่ 2 กับคุณป้าจำเรียงแล้ว ใช้ชีวิตร่วมกันมาสักระยะ กลับไม่มีบุตร-ธิดา ฝันร้ายจากการเสียชีวิตขณะคลอดลูกของ “แม่นาง” ภริยาคนแรก ในช่วงวัยหนุ่มสมัยเป็นครูดอยของอาจารย์สงวน ยังเฝ้าตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์สงวนเพียรถามตัวเองว่า หรือชาตินี้เขาจะไม่สามารถมีลูกได้ ทำไมเขาจึงช่างอาภัพเรื่องลูกเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่อยากมีทายาทใจจะขาดเพื่อช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ด้านการเผยแพร่ผลงาน ในที่สุดอาจารย์สงวนจึงขอแยกทางจากคุณป้าจำเรียง มาแต่งงานใหม่กับคุณแม่อัมพร (ศิริพร) สาวงามแห่งแม่ริม

คุณแม่อัมพรได้ให้กำเนิดคุณพันธุ์นพิต ผู้ให้สัมภาษณ์ข้อมูลครั้งนี้ กับน้องสาวอีกคนที่มีอายุห่างกัน 3 ปี ชื่อปริศนา (หรือปรารถนา)

“ช่วงที่แยกทางกับคุณป้าจำเรียง โรงพิมพ์สงวนการพิมพ์ ที่คุณพ่อเคยบริหารร่วมกับคุณป้า ก็ยกให้คุณป้าไป คุณป้าเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นรุ่งเรืองการพิมพ์ ส่วนคุณพ่อต้องมาเปิดโรงพิมพ์สงวนการพิมพ์แห่งใหม่ เป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็ก อยู่แถวถนนโชตนา จากนั้นคุณพ่อก็ย้ายถิ่นฐานจากหนุ่มสังคมในเวียง มาอาศัยอยู่แถบชนบทในบ้านหลังเล็กๆ ของฝ่ายคุณแม่อัมพร ที่อำเภอแม่ริม”

คุณพันธุ์นพิตเล่าว่า เมื่อมีคนถามอาจารย์สงวนว่า ท่านได้รวบรวมเรื่องราวอัตชีวประวัติตัวเองไว้ในหนังสือเล่มใดบ้างหรือไม่ อาจารย์สงวนมักตอบคนผู้นั้นว่า

“ไม่มี หากจะศึกษาชีวิตของข้าพเจ้า โปรดอ่าน ‘คำนำ’ ในหนังสือทุกเล่มที่ข้าพเจ้าเขียน เพราะทุกวลี ทุกถ้อยคำ สะท้อนสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งใจสื่อสารถึงผู้อ่านแบบตรงไปตรงมา ทั้งหมดนั้นคือชีวิตของข้าพเจ้าแล้ว”

หน้าปกผลงานหนังสือบางส่วน

ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาจารย์สงวนเจอพิษเศรษฐกิจถึงกับต้องปิดโรงพิมพ์ที่ถนนโชตนา หากต้องการพิมพ์ผลงาน ต้องหอบต้นฉบับไปโรงพิมพ์โอเดียน ที่กรุงเทพฯ

คุณพันธุ์นพิตและน้องสาวเติบโตมาแถววัดพระนอนขอนตาล ได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อสงวนตั้งแต่วัยเยาว์ว่าต้องช่วยกันทำหน้าที่เก็บรวบรวมผลงานของคุณพ่อไว้อย่าให้สูญหาย

ทำให้เมื่อโตขึ้น คุณพันธุ์นพิตเฝ้าติดตามหาหนังสือ บทความของคุณพ่อที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เริ่มจากถามทางญาติพี่น้องก่อน บางเล่มก็ไปได้มาจากบ้านคุณอา เช่น นิยายโบราณคดีเล่ม 1-2

คุณพันธุ์นพิตได้พบว่า มีหนังสือหลายเล่มที่ยังไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง ส่วนใหญ่เป็นหนังสือแจก เช่น ตำนานวัดเจ็ดยอด คำเวนทาน ตำรายาพื้นเมือง ตำราอาหาร รวมทั้งหนังสือแนวค้นคว้าด้านอักขรวิทยา เช่น พื้นเมืองไทย อู้คำเมือง (หนังสือรวบรวมคำศัพท์ภาษาถิ่นล้านนา) รวมสาระนิยายไทย เป็นต้น

คุณพันธุ์นพิตได้คัดเลือกหนังสือบางเล่มที่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการมักนำไปใช้อ้างอิงตลอดกาล นำเสนอต่อ “คุณประพต เศรษฐกานนท์” เจ้าของและผู้อำนวยการโรงพิมพ์ศรีปัญญา ให้พิจารณาดำเนินการจัดพิมพ์ใหม่ โดยแทรกภาพประกอบให้สวยงาม พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถเพิ่มในบางจุด

หนังสือของอาจารย์สงวนที่ได้รับการทยอยพิมพ์ใหม่ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมามีจำนวน 6 เล่ม ได้แก่ ตำนานเมืองเหนือ ไทยวนคนเมือง ประเพณีไทยภาคเหนือ คนดีเมืองเหนือ ประชุมตำนานล้านนา และประวัติศาสตร์ถิ่นเหนือกับเรื่องอื่นๆ เร็วๆ นี้กำลังจะออกมาใหม่อีกสองเล่มคือ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เป็นงานแปลจากอักษรธรรมล้านนา และ “สารคดีจากลานทอง”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ถามคุณพันธุ์นพิตว่า เคยมีการจัดทำบัญชีรายชื่อหนังสือทั้งหมดเรียงลำดับก่อนหลังบ้างไหม เพื่อจะได้สะดวกต่อการศึกษาถึงพัฒนาการความสนใจในแต่ละยุคของอาจารย์สงวน ว่าช่วงนั้นๆ ท่านทุ่มเทค้นคว้าให้ความสำคัญแก่งานหัวข้อไหนบ้าง

ลูกสาวอาจารย์สงวนตอบว่า เรื่องนี้พยายามสืบค้นอยู่ อย่างไรก็ดี เธอได้จัดทำดัชนีรวบรวม “ผลงานวรรณกรรม” (หมายถึงหนังสือและบทความ) ของอาจารย์สงวนไว้แล้วมากกว่า 50 เล่ม และหากแยกย่อยเป็นหัวข้อบทความในแต่ละเล่ม ก็มีไม่ต่ำกว่า 1,000 หัวเรื่อง

“ความฝันของข้าเจ้า คือการสานปณิธานต่อจากคุณพ่อ ข้าเจ้าอยากทำห้องสมุด เก็บรวบรวมผลงานทุกชิ้นทุกเล่มของอาจารย์สงวน เปิดบริการให้ผู้สนใจมานั่งอ่าน ค้นคว้า”

หน้าปกผลงานหนังสือบางส่วน

 

คุณพันธุ์นพิตได้พาคณะเราไปเยี่ยมชมชั้นบนของ “บ้านวรรณกรรมล้านนา” สถานที่ที่เธอเตรียมจัดทำห้องสมุด จากนั้นก็เชิญชวนเราไปเที่ยววัดพระนอนขอนตาล เมื่อเราถามถึงประวัติวัด เธอตอบว่า

“พูดถึงประวัติวัดนี้ ทำให้ข้าเจ้านึกถึงลุงคนหนึ่งขึ้นมา ชื่อลุงปั๋นไท มีอาชีพตัดต้นตาลแถวหน้าวัด หาบน้ำตาลสดมาขายที่บ้านเราเสมอ วันหนึ่งแกถามคุณพ่อว่า “ลุงหงวนเขียนประวัติวัดอะไรต่อมิอะไร แล้วทำไมจึงไม่เขียนประวัติวัดขอนตาลบ้าง”

คุณพ่อตอบไปว่า เคยถามทางวัดแล้วว่าวัดเรามีตำนานเรื่องเล่าอะไรบ้างไหม ทางวัดบอกไม่มีทั้งเรื่องเล่า ไม่มีทั้งคัมภีร์ เลยไม่รู้ว่าจะเขียนประวัติวัดนี้ได้อย่างไร

คำอธิบายดังกล่าวทำให้เราต้องหันมาทบทวนถึงคำครหาของนักอ่านรุ่นหลังบางคน ที่ตั้งคำถามว่าทำไมอาจารย์สงวนจึงมีข้อมูลมากมายเหลือเกิน ผลงานบางชิ้น “นั่งเทียน” เขียนเองบ้างหรือไม่?

“หากคุณพ่อไม่เคารพต่อ ‘ข้อมูลดิบ’ หรือหลักฐานชั้นต้นแล้วไซร้ ท่านก็น่าจะเสกสรรปั้นแต่งเนื้อหาประวัติวัดพระนอนขอนตาลขึ้นมาใหม่ได้โดยง่าย เพื่อเอาใจชุมชนแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เขียนผิดเขียนถูกทุกคนก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นวัดที่อยู่หน้าบ้านเราเอง ก็นี่ขนาดเป็นวัดที่อยู่หน้าบ้านเราแท้ๆ คุณพ่อยังไม่กล้าเขียนประวัติแบบสุ่มสี่สุ่มห้าให้เลย เพราะความที่ไม่มีหลักฐานชั้นต้นอ้างอิงใดๆ ที่จะให้เขียน”

หน้าปกผลงานหนังสือบางส่วน

 

อาจารย์สงวนจากไปในวันที่ 31 มกราคม 2518 ด้วยวัยเพียง 54 ปี สถานที่ปลงศพคือวัดเชตวัน แถวประตูท่าแพ บริเวณเดียวกันกับย่านที่ท่านเกิด อัฐิของท่านถูกนำไปจุดเป็นพลุหรือบอกไฟที่วัดชัยมงคล ริมน้ำแม่ปิง

ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ครั้งนี้ ดิฉันและคณะนักวิชาการที่ไปขอสัมภาษณ์ข้อมูลจากธิดาของท่าน ขอน้อมใจรำลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้อุทิศทุ่มเทให้แก่วงการประวัติศาสตร์ล้านนาจนตราบลมหายใจสุดท้าย

ด้วยจิตคารวะ