ปริศนาโบราณคดี l ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (2) : วรรณคดีที่ต้องทบทวนว่า ‘ยวน’ หรือ ‘สยาม’ พ่าย?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (2)

: วรรณคดีที่ต้องทบทวนว่า ‘ยวน’ หรือ ‘สยาม’ พ่าย?

 

การตั้งชื่อวรรณคดีว่า “ยวนพ่าย” เช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ตกลงแล้ว “ยวน” หรือ “สยาม” ที่เป็นฝ่ายพ่ายกันแน่?

ในเมื่อทั้งสองฝ่าย หมายถึงฝ่ายของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.1991-2031) กับฝ่ายของพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ.1985-2030) ทำการรบพุ่งกันอย่างยืดเยื้อยาวนานถึง 18 ปี โดยต่างก็ช่วงชิงนครรัฐสุโขทัยพร้อมด้วยเมืองสำคัญอื่นๆ แถบลุ่มน้ำยม น้ำน่าน เป็นเดิมพันกลาง

และในความเป็นจริงนั้น ต่างก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มิใช่หรือ?

หากมุมมองของสยามเห็นว่า “ยวนพ่าย” จริงแล้วไซร้ ไฉนช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชที่พิษณุโลก ไยจึงยังต้องส่งพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์สูงมาขอบิณฑบาตทวงเมืองเชลียงคืนจากเชียงใหม่อยู่อีกด้วยเล่า?

ตกลงแล้วเนื้อหาใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” นี้กล่าวถึงสงครามช่วงไหนกันแน่ ระหว่าง “โยนก” กับ “สยาม” ที่ฝ่ายสยามสรุปว่าโยนกพ่ายฝ่ายตน ช่วงต้น ช่วงกลาง หรือช่วงปลาย?

 

“ยวน-โยน-โยนก” คือใคร?

ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “ล้านนา”?

การใช้คำว่าแคว้น “ยวน” อันจงใจจะสื่อถึง “อาณาจักรล้านนา” ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดียอยกพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นยังไม่รู้จักคำว่า “ล้านนา” หรือเช่นไร

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ฤๅแท้จริงแล้วคำว่า “ล้านนา” เป็นคำประดิษฐ์ใหม่ เพิ่งถูกนำมาบัญญัติใช้เรียกอาณาจักรที่อยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไปในยุคสมัยของเรานี่เองกระมัง?

เปล่าเลย คำว่า “ล้านนา” หาใช่คำใหม่ไม่ เป็นคำเก่าเช่นกัน คำนี้ตรงกับภาษาบาลีว่า “ศรีทศลักข์เกษตร” (ทศ = สิบ, ลักข/ลักษ = แสน สิบแสนก็คือล้าน, เกษตร = นา) ปรากฏอยู่ในโคลงนิราศหริภุญไชย (ดิฉันเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วอย่างละเอียดในบทความตอนที่ชื่อว่า “ล้านนา-ลานนา” มหาวิวาทะห้าทศวรรษ ดังนั้นจึงไม่ขอสาธยายอีกในที่นี้)

ชวนให้คิดว่าในสายตาคนภายนอกที่ร่วมสมัยกับพระเจ้าติโลกราช ดังเช่นการรับรู้ของคนกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20-ต้น 21 ไม่เรียกอาณาจักรเหนือสุโขทัยว่า “ล้านนา” แต่กลับเรียกว่า “แคว้นยวน” แทน

 

“ยวน” คำนี้มาจากไหน สามารถใช้เรียกอาณาจักรล้านนาได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่

คำว่า “ยวน” (ไม่ใช่ “ญวน” = เวียดนาม) เป็นคำเดียวกันกับ “โยน” หรือ “โยนก” ปรากฏชื่อแคว้น “โยนกนาคนคร” ใน “ตำนานสิงหนติ” (หมายเหตุ “สิงหนติ” เป็นคำที่ปริวรรตใหม่โดยอาจารย์อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการด้านล้านนาศึกษาแห่งเมืองเชียงราย ใช้แทนที่คำเดิมที่เคยเรียกว่า “สิงหนวัติ”)

เนื้อหาจากตำนานสิงหนติ อธิบายได้ว่าราว พ.ศ.900 เวียงโยนก หรือแคว้นโยนกนาคนคร เจริญขึ้นแทนที่เมืองแห่งแรกที่น่าจะเก่าที่สุดในภูมิภาคนี้ชื่อ “สุวรรณโคมคำ” อันเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับชาวลาวหลวงพระบางภายใต้การปกครองของขุนบรม

ต่อมาสิ้นสุดยุคสุวรรณโคมคำโดยเมืองถล่มลงกลางน้ำของ (แม่น้ำโขง) สันนิษฐานว่าจุดที่เป็นเมืองโบราณสุวรรณโคมคำนี้ อยู่รอยต่อเกาะกลางน้ำพรมแดนไท-ลาว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ส่วนเวียงโยนกก็มาถึงกาลอวสาน ด้วยเหตุที่ชาวเมืองพากันไป “กินปลาไหลเผือก” ทำให้ฟ้าดินพิโรธเมืองจึงล่มสลายไป สันนิษฐานว่าจุดที่เป็น “เวียงหนองล่ม” (บ้างเรียก “เวียงหนองหล่ม”) จนเกิดหนองน้ำหรือบึงกว๊านขนาดใหญ่นั้น ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ณ บริเวณที่ปัจจุบันมีการฟื้นโบราณสถานร้างชื่อ “วัดป่าหมากหน่อ” ขึ้นมาใหม่

หลังจากนั้น กลุ่มคนที่ยังมีชีวิตรอดตายเหลือมาได้จำนวนหนึ่ง ช่วยกันปรึกษาหารือเลือกหัวหน้าผู้นำคนใหม่ ณ บริเวณเวียงเปิกสา (เวียงปรึกษา) สันนิษฐานว่าปัจจุบันคือบริเวณวัดสองพี่น้อง นอกคูเมืองเก่าเชียงแสน

การสร้าง “เวียงปรึกษา” ครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง เพราะประชากรกลุ่มเดิมจากเวียงโยนกยังมีการสืบเชื้อสายอยู่ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมเรียกขานตัวเองว่า “โยน” หรือ “ยวน” และคำนี้เองน่ะหรือ ที่ต่อมากลายเป็นรากของคำว่า “ไทยวน”

 

 

ความสับสนปนเปกันระหว่าง

“ยวน” กับ “ลาว”

“เวียงปรึกษา” เป็นดั่งสะพานหรือรอยต่อที่เชื่อมให้เกิดเมืองขนาดใหญ่เมืองใหม่ขึ้นมาอีกแห่งคือ “หิรัญนครเงินยาง” เมืองนี้ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นจากบริเวณลุ่มน้ำกกที่เชียงราย จากนั้นกระจายตัวไปยังเมืองเชียงแสน เชียงของ ฝาง เทิง พร้าว พาน เชียงตุง เป็นต้น อันเป็นอาณาบริเวณที่พระญามังรายปกครองดูแลมาก่อนที่จะตีนครหริภุญไชย (ลำพูน-ซึ่งประชากรหลักไม่ใช่ “ยวน” แต่เป็น “มอญ-เม็ง”) ได้ และสร้างเชียงใหม่เป็นราชธานี

ข้อสำคัญคือประชากรแห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางใช้คำนำหน้ากษัตริย์ว่า “ลาว” (ไม่ได้เรียกว่า “พระญา” เหมือนราชวงศ์จามเทวีของหริภุญไชย) เริ่มจากปฐมกษัตริย์ถูกเรียกว่า “ลาวจก” (บางเล่มใช้ “ลาวจง”) จากนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ที่สืบต่อมาอีก 24 พระองค์ก็มีคำว่า “ลาว” ขึ้นต้นทั้งหมด แม้แต่พระบิดาของพระญามังรายก็ยังใช้ว่า “ลาวเมง”

“ลาว” คำนี้หมายถึงอะไร?

บางท่านว่า สื่อถึงชนชั้นปกครองที่มีเชื้อสายตระกูล “ไท-ลาว”

บางท่านอธิบาย คำว่า “ลาว” ไม่ได้หมายถึงชนเผ่าลาว แต่แผลงมาจากชาติพันธุ์ “ลัวะ-ละว้า” ซึ่งเป็นประชากรดั้งเดิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในบริเวณนี้

บางท่านแปลคำว่า “ลาว” ว่าหมายถึง “ท้าวพระญา” หรือ “พี่อ้าย” เป็นการเรียกแบบให้เกียรติ ไม่ได้หมายถึงชาติพันธุ์ลัวะหรือลาวแต่อย่างใด เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นชาว “โยน/ยวน”

จวบปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปถึงการใช้สรรพนามคำว่า “ลาว” นำหน้าชื่อกษัตริย์ของแคว้นหิรัญนครเงินยาง ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ แม้จะมีเวทีสัมมนาทางวิชาการหลายครั้ง

เช่นเดียวกับคนล้านนาพื้นเมืองในทุกวันนี้ หากไม่ใช่เป็นไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยอง ไทเขิน คือมีสำนึกว่าตนเป็นประชากรดั้งเดิมที่บรรพบุรุษไม่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนา หรือจากรัฐฉานของพม่า แต่ไม่ใช่กลุ่มลัวะ-เม็ง (มอญ)

จะขนานนามพวกตนว่าเป็น “คนลาว” ไม่เคยเรียกว่าตัวเองเป็น “ไทโยน” หรือ “ยวน” แต่อย่างใด ผิดกับชาว “ไทโยน/ไทยวน” บ้านเสาไห้ สระบุรี, บ้านคูบัว ราชบุรี, หรือที่น้ำอ่าง อุตรดิตถ์

น่าคิดว่า ระหว่างคำว่า “ยวน” กับ “ลาว” ถูกนำมาใช้ปะปนตีคู่กันตลอดห้วงเวลาอันยาวนาน นับแต่มีการบันทึกวรรณกรรมเรื่อง “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ตั้งแต่ราว 500 กว่าปีที่ผ่านมา จวบจนปัจจุบัน คำว่า “ยวน” กับ “ลาว” ก็ยังเป็นปริศนาอยู่นั่นเองว่า ทำไมจึงต้องใช้คำทั้งสองนี้ควบคู่กันเสมอ ยามต้องการสื่อถึง “จิตวิญญาณดั้งเดิม หรือประชากรหลักของล้านนา”

อันที่จริง คำว่า “ยวน” เป็นคำตกค้างมาจากแคว้นโยนกโบราณ ทั้งๆ ที่เวียงหนองล่มล่มไปแล้ว หากคำว่า “โยนก” กลับยังไม่สูญสลาย เนื่องจากมีประชากรชาวโยนกที่หนีตายไปอยู่เวียงปรึกษา ช่วยกันกอบกู้ซากปรักหักพัง คนกลุ่มนี้น่าจะมีบทบาทในการช่วยสร้างบ้านแปลงเมืองให้แก่แคว้นหิรัญนครเงินยางด้วยหรือไม่

ตำนานการกำเนิดแคว้นหิรัญนครเงินยางส่วนนี้ขาดหายไปไม่ได้เอ่ยพาดพิงถึงชาวโยนที่ตกค้างจากเวียงปรึกษาแต่อย่างใดเลย

จู่ๆ ก็ให้เครดิต “ปู่จ้าวลาวจก” ผู้ไต่บันไดสวรรค์ลงมาหลังจากบำเพ็ญบารมีมานานกว่า 200 ปี ว่าเป็นผู้นำในการสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ขึ้น

เหลือเพียงร่องรอยของการที่ประชากรในแคว้นหิรัญนครเงินยาง ถูกคนกลุ่มอื่นเรียกว่า “ยวน/โยน” ในขณะที่พวกเขากลับเรียกตัวเองว่า “ลาว”?

ดิฉันจะขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า “ลาว” และ “ยวน” ปะปนกันสลับไปสลับมาใน “ยวนพ่ายโคลงดั้น” หลายต่อหลายบท ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อันเป็นสองคำเรียกหลักของชาวกรุงศรีอยุธยาเวลาต้องการสื่อถึงเรื่องราวในเมืองเชียงใหม่หรือเรียกคนล้านนายุคกระโน้น

บทที่ 83 ใช้ “ลาว”

 

แต่นี้จักตั้งต่อ                    กลกานท แลพ่อ

โดยเมื่อพระแสดงฤทธิ                ร่อนแกล้ว

เสด็จมาผ่าผลาญลาว                 ลักโลภ

ที่ยุทธิษฐิรแล้ว                         สู่บรฯ

 

ถอดความได้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแสดงพระบรมเดชานุภาพอย่างกล้าหาญ พระองค์เสด็จมาปราบชาวลาว (คือล้านนา) ซึ่งแอบเข้ามายังเมืองของพระองค์ด้วยใจละโมบ เพราะเหตุที่พระญายุธิษเฐียร เจ้าเมืองเชลียง (เรื่องพระญายุธิษเฐียรจักได้อธิบายอย่างละเอียดในคราวหน้า) ได้ไปอยู่กับข้าศึก (หมายถึงพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา)

ในขณะที่บทที่ 88 ใช้ “ยวน”

 

อยู่ไทธิเบศรเจ้า                 จอมปราณ

พราวพฤๅบพลคชเสน                  เกลื่อนแก้ว

ครั้นพระผ่าผลาญพล                  ยวนย่อย ไปแฮ

ทันที่น้ำลิบแล้ว                         เลิศไชย

 

ถอดความได้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงมีกองทัพไพร่พลและกองทัพช้างที่แกล้วกล้าพร้อมเพรียงมากมาย ทรงเคลื่อนทัพเข้าโจมตีกองทัพชาวยวน (หมายถึงโยนก/ล้านนา) แตกพ่ายย่อยยับไป โดยตามไปทันที่แม่น้ำลิบ (ลี้) และทรงมีชัยชนะเหนือศัตรู

น่าสนใจทีเดียวที่เอกสาร “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ไม่ปรากฏคำเรียกอาณาจักรล้านนายุคพระเจ้าติโลกราชว่า “แคว้นยวน” หรือ “แคว้นลาว” เลย เรียกแต่ “เมืองเชียงใหม่” หรือ “แคว้นพิงค์”

ทั้งยังไม่เรียกอาณาจักรของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า “กรุงศรีอยุธยา” หรือ “สยาม” อีกด้วย หากเรียกว่า “เมืองใต้” เรียกสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า “พระญาใต้/พระเป็นเจ้าเมืองใต้”

ในที่สุด จนแล้วจนรอดตอนที่สองนี้ ก็ยังไม่มีพื้นที่ให้ไขปริศนาว่าตกลงแล้ว “ใครพ่าย” กันแน่ “ยวน” หรือ “สยาม” เนื่องจากจำเป็นต้องเจาะลึกถึงคำเจ้าปัญหาให้กระจะกระจ่างกันเสียก่อน

นั่นคือคำว่า “ยวน” กับ “ลาว”