ปริศนาโบราณคดี l ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (1) : เลิกเรียก ‘ลิลิต’ และปริศนาใครแต่ง พระยุพราชหรือพระมหาเถระ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ (1)

: เลิกเรียก ‘ลิลิต’ และปริศนาใครแต่ง

พระยุพราชหรือพระมหาเถระ?

 

เลิกเรียก “ลิลิตยวนพ่าย” กันแล้วหรือ?

ปัจจุบันนี้นักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์และวรรณกรรมไทย ไม่มีใครเรียกวรรณคดีสมัยอยุธยาต้นเล่มดังกล่าวว่า “ลิลิตยวนพ่าย” อีกต่อไปแล้ว

 

 

ผิดกับในอดีตที่เราได้ยินชื่อเรียกวรรณกรรมสองเล่มเคียงคู่กันเสมอคือ “ลิลิตยวนพ่าย” กับ “ลิลิตตะเลงพ่าย”

ลิลิตยวนพ่าย แต่งร่วมสมัยกับเหตุการณ์จริงสมัยอยุธยาต้น เพื่อสดุดีวีรกษัตริย์นาม “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” ซึ่งมีชัยชนะต่อชาว “ยวน” หรือแคว้นโยนกทางตอนเหนือ

ส่วนลิลิตตะเลงพ่าย แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แบบหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ย้อนยุคกลับไปสมัยอยุธยา เพื่อสดุดีวีรกษัตริย์นาม “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งมีชัยชนะต่อเมือง “ตะเลง”

คำว่า “ตะเลง” หากแปลตรงตัว ย่อมหมายถึงเมืองของชาวมอญ คือหงสาวดี หากบังเอิญว่าในช่วงนั้นเมืองตะเลงหรือหงสาวดีถูกปกครองโดยกษัตริย์พม่านามบุเรงนอง ฉะนั้น เราต้องเข้าใจร่วมกันว่า ผู้ที่เป็นศัตรูของกรุงศรีอยุธยาตัวจริงนั้นคือพม่า หาใช่มอญไม่

เห็นได้ว่า ทั้งคำว่า “ยวน” และคำว่า “ตะเลง” ล้วนเป็นคำ “เจ้าปัญหา” ที่ต้องพินิจพิเคราะห์กันอย่างละเอียด (คำว่า “ยวน” จักได้ถอดรหัสไขปริศนาในตอนที่ 2 ฉบับหน้าต่อไป)

อย่างไรก็ดี มันคือภาพสะท้อนมุมมองของชาวสยามในอดีตที่มีต่อ “เชื้อชาติ-สัญชาติ” ของบุคคลอื่นเป็นอย่างดี

อันที่จริง นามเดิมของวรรณคดีสมัยอยุธยาต้นเล่มสำคัญ ก่อนจะถูกเรียกว่า “ลิลิตยวนพ่าย” อย่างเป็นทางการในยุคหลังๆ เพื่อให้ล้อกับชื่อวรรณคดี “ลิลิตตะเลงพ่าย” นั้น

เคยมีชื่อเรียกกันว่า “โคลงยอพระเกียรติพระเจ้าช้างเผือก” หรือ “โคลงยวนพ่าย ยอพระเกียรติพระเจ้าช้างเผือก กรุงเก่า” มาก่อน

พบว่าไม่มีคำว่า “ลิลิต” ปรากฏนำหน้าแต่อย่างใด ผิดกับ “ลิลิตตะเลงพ่าย” ที่จงใจรจนาในรูปแบบผูกร้อยให้เป็น “ลิลิต” มาตั้งแต่ต้น

ลิลิตคืออะไร เชื่อว่าผู้อ่านรุ่นหลัง หรือผู้ที่ไม่ได้ศึกษาวรรณคดีเชิงลึกย่อมไม่รู้จัก

“ลิลิต” เป็นคำประพันธ์ร้อยกรอง ที่ใช้ฉันทลักษณ์สองรูปแบบประกอบด้วย “ร่าย” กับ “โคลง” เรียงร้อยสลับไปสลับมาได้แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ร่ายชนิดใด หรือโคลงชนิดใด ไม่ว่าจะเป็นโคลงสุภาพหรือโคลงดั้น และไม่ว่าจะเป็นโคลงสี่ โคลงห้า โคลงสาม หรือโคลงสอง ฯลฯ

ในวรรณคดีเรื่อง “ยวนพ่าย” นี้ พบว่าใช้ “โคลงดั้น” แบบโคลงสี่ ร้อยเรียงตลอดทั้งเรื่อง อันเป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่อ่านยากมาก อุปสรรคคือการส่งสัมผัสระหว่างบท กับระหว่างบาทนั้น มีการทิ้งช่วงนาน และบางครั้งถูกตัดตอนด้วยการโยนไปที่คำตอนกลางของในบาทอีกด้วย แทนที่จะส่งสัมผัสไปยังตัวท้ายบาทของวรรคแรก

ทำให้การอ่านโคลงดั้นนั้น ไม่เกิดความราบเรียบลื่นไหลผิดกับโคลงสี่สุภาพ กว่าจะรอฟังเสียงสัมผัสสระรับ-ส่งกันแบบลงตัวได้ในแต่ละช่วง ไม่ต่างไปจากการ “ดำน้ำลึก” กลั้นหายใจอยู่ในก้นทะเลลึก กว่าจะได้โผล่ขึ้นมาสูดอากาศใหม่ให้เต็มปอดได้ในแต่ละครั้ง ต้องลุ้นนานมาก

ลักษณะคำประพันธ์ประเภท “ร่าย” ที่ปรากฏในโคลงยวนพ่ายนี้ ถือว่ามีสัดส่วนที่ “น้อยมาก” แค่ในบทเปิด หรือประณามพจน์ 1 บทหลักๆ กับอีกบทหนึ่งตอนกลางๆ เรื่องเท่านั้น รวม 2 บท ซ้ำยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สำนวนภาษาของร่ายบทที่สองนั้น เป็นการแต่งเสริมขึ้นมาภายหลังอีกด้วย

ในเมื่อฉันทลักษณ์เกือบทั้งหมดของคำประพันธ์คือ “โคลงดั้น” ไม่ใช่ “โคลงสลับกับร่าย” ตลอดทั้งเรื่องเฉกลิลิตเรื่องอื่นๆ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย แห่งราชบัณฑิตยสถาน มีศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธานการชำระสะสาง จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ว่า

“เห็นควรยกเลิกการเรียกวรรณคดีเล่มนี้ว่า ‘ลิลิตยวนพ่าย’ แต่ควรเรียกว่า ‘โคลงยวนพ่าย’ หรือ ‘ยวนพ่ายโคลงดั้น’ สุดแท้แต่จะเห็นสมควร ให้เป็นการถูกต้อง”

ด้วยเหตุนี้ เอกสารยุคหลังในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการใช้คำว่า “โคลงยวนพ่าย” หรือไม่ก็ “ยวนพ่ายโคลงดั้น” แทนที่ “ลิลิตยวนพ่าย” ตลอด

สำหรับดิฉันแล้วขออนุญาตคำหลัง เพราะมันช่วยเน้นให้เห็นถึงรูปแบบคำประพันธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า “โคลง” ที่ใช้แต่งเรื่องนี้ คือ “โคลงดั้น” ไม่ใช่ “โคลงสี่สุภาพ

 

 

ใครแต่ง “ยวนพ่ายโคลงดั้น”

ฆราวาสหรือพระภิกษุ?

มาอีกหนึ่งคำถามยอดนิยม เป็นปริศนาเหมือนกันหมดเวลาศึกษาวรรณคดีโบราณ ไม่ว่า โคลงนิราศหริภุญไชย โคลงนิราศดอยเกิ้งแก้ว ลิลิตพระลอ รวมทั้งยวนพ่ายโคลงดั้น ก็หนีไม่พ้นปรัศนีนี้

เหตุที่คนยุคก่อนมักไม่ค่อยบอกกันตรงๆ ว่า “ตัวข้าคือผู้เขียน” กลับใช้วิธีแอบซ่อนฉายา สัญลักษณ์ หรือทิ้งลายแทงอะไรไว้นิดๆ หน่อยๆ พอให้คนรุ่นหลังได้สนุกระคนหัวปั่นต่อการสืบค้น

คงเป็นเพราะการสร้างงานเขียนแนวสดุดีกษัตริย์สมัยก่อน ผู้เขียนไม่อาจเสนอตัวออกหน้าออกตามากเกินไปด้วยกระมัง

ยิ่งคนที่อ่านออกเขียนได้ยุคกระโน้นล้วนแต่เป็นคนชั้นปกครอง อำมาตย์ ขุนน้ำขุนนาง หรือกลุ่มคนอีลีตเท่านั้น ผู้แต่งที่หากไม่ใช่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ยิ่งต้องหลบไป Low Profile

ทำให้ผู้อ่านยุคหลังต้องมานั่งคลำทาง ไล่อ่านทีละตัวทุกคำ ทุกพจน์ ทุกวรรค ทุกบาท ทุกบท ว่าผู้เขียนซ่อนชื่อพรางตัวอยู่ในหลืบวลีไหนกันหนอ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่าผู้ประพันธ์เรื่องนี้คือ พระราชโอรสองค์กลางของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ออกสมรภูมิร่วมรบศึกเมืองเหนือกับพระราชบิดา ดังมีคำอธิบายในการพิมพ์ลิลิตยวนพ่ายครั้งแรก ปี 2465 ว่า

“หนังสือยวนพ่ายนี้ แต่งเมื่อศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้แต่งหาปรากฏไม่ สังเกตดูโดยทางสำนวน ดูเป็นสำนวนเก่ามาก ทั้งความรู้เรื่องพงศาวดารในตอนที่แต่งนั้นก็รู้ถ้วนถี่กว่าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่ เพราะฉะนั้น น่าที่จะแต่งในเวลาใกล้ๆ กับเหตุการณ์ที่กล่าวถึง จึงยังสามารถรู้เรื่องได้ถ้วนถี่ สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.2034 จน พ.ศ.2072”

ความที่ “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2” (นามเดิม พระเชษฐา) ครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยาอย่างยาวนาน ร่วมสมัยกับกษัตริย์ล้านนาองค์สำคัญสองพระองค์คือ พระญายอดเชียงราย และพระญาแก้ว (พระเมืองแก้ว) โดยยังมีบทบาทในการยกทัพไปตีหัวเมืองเหนืออยู่เนืองๆ ก็ชวนให้น่าคิดไม่น้อย

พ.ณ ประมวญมารค หรือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เห็นว่าในเรื่องยวนพ่ายยังปรากฏนามพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอีกองค์หนึ่งว่า “อินทราชา” ผู้ซึ่งเมื่อขึ้นครองราชย์คือ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3”

พระอินทราชาสร้างวีรกรรมสำคัญในการไสช้างเผือกเข้ารบกับกองทัพฝ่ายล้านนาแถวเมืองลำปาง จนถูกปืนยิงกลางหน้าผากได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมายังทรงทำหน้าที่เป็น “ผู้สำเร็จราชการ” แทนพระราชบิดาชั่วคราวราว 8 เดือนเศษ ในช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จออกทรงผนวชที่วัดจุฬามณี พิษณุโลก

พระอินทราชาแม้จะครองราชย์ช่วงสั้นๆ เพียง 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2031-2034 ก็ตาม แต่เป็นโอรสที่ออกรบร่วมกับพระราชบิดาทุกครั้งเลยก็ว่าได้

เห็นได้ว่าในช่วง 70-100 ปีที่ผ่านมานั้น บุคคลหัวหอกทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมไทยสองท่าน ได้สันนิษฐานว่า พระราชโอรสพระองค์ใดพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ควรเป็นผู้รจนาเรื่องยวนพ่าย

จนกระทั่ง “พระบริหารเทพธานี” อดีตข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง ผู้เรียบเรียงหนังสือ “พงศาวดารชาติไทย” ตั้งข้อสังเกตว่า โคลงยวนพ่ายบทที่ 13 ในวรรค 2 ของบาทที่ 1 ปรากฏคำว่า “สุริยวงษ์”

ทวิบททวิชาตเชื้อ       สุรยวงษ์ ท่านฤๅ

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้แต่งเรื่องนี้คือ “พระสุริยวงษ์” พระโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ประสูติแต่พระสนม ในระหว่างที่ทรงผนวชมีฉายาว่า “สุรยวงษ์” มีบทบาทสำคัญคือเป็นตัวแทนพระสงฆ์สยามเสด็จไปลังกาเพื่อนิมนต์พระสงฆ์ลังกามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

 

กล่าวโดยสรุปคือ พระบริหารเทพธานี เห็นด้วยว่าผู้แต่งยวนพ่ายควรเป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพียงแต่โอรสองค์นั้นควรเป็นบรรพชิตมากกว่าคฤหัสถ์ เพราะใช้ภาษาได้ลึกซึ้ง และในบรรดาโอรสนั้น มีอยู่องค์หนึ่งเป็นนักบวชมีฉายาว่า “พระสุริยวงษ์” (หรือ สุรยวงษ์)

พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา เห็นด้วยที่ว่าผู้แต่งเรื่องยวนพ่ายน่าจะเป็นพระภิกษุดังข้อเสนอของพระบริหารเทพธานี แต่ไม่น่าจะใช่ “พระสุริยวงษ์” เพราะคำว่า “สุริยวงษ์” เป็นคำเปรียบเปรยเอ่ยอ้างแบบกว้างๆ ว่ากษัตริย์ในแถบอุษาคเนย์ล้วนสืบเชื้อสายมาจากไม่ “สุริยวงศ์” ก็ “จันทรวงศ์” กันอยู่แล้ว คำนี้จึงไม่จะเป็นนามเฉพาะ

ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี ได้ตั้งข้อสังเกตใหม่ ชี้ให้ผู้อ่านดูบาทที่ 3 ของโคลงบทที่ 58 มีการทิ้งร่องรอยไว้ ดังนี้

สารสยามภาคยพร้อง              กลกานท นี้ฤๅ

คือคู่มาลาสวรรค์                   ช่อช้อย

เบญญาพิศาลแสดง               เดอมกรยติ พระฤๅ

คือคู่ไหมแสร้งร้อย                 กึ่งกลาง

ผู้ที่รจนายวนพ่าย ควรมีนามว่า “พระเบญญาพิศาลเถระ” ได้หรือไม่ ตามที่เอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวอธิบายถึงสมณศักดิ์ของ “พระปัญญาพิศาลเถระ” ณ วัดราชาธิวาส ว่า สืบสายมาจากสมณศักดิ์เก่าดั้งเดิมของฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่สมัยอยุธยา

ในเวทีสัมมนาทางวิชาการ “600 ปีชาตกาล พระญาติโลกราช อโศกมหาราชแห่งล้านนา” เมื่อปี 2552 จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ปราชญ์ใหญ่ด้านล้านนาศึกษา เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่าผู้รจนายวนพ่ายโคลงดั้น น่าจะเป็น “พระปัญญาพิศาลเถระ” มากกว่าพระราชโอรสพระองค์ใดพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเกริ่นนำว่าด้วยรูปแบบฉันทลักษณ์กับปริศนาว่าใครคือผู้รจนา ฉบับหน้าจะเข้าสู่เนื้อหาที่ว่า ชื่อโคลง “ยวนพ่าย” นั้น ตกลงแล้ว “ยวน” หรือ “สยาม” พ่ายกันแน่?

และทำไมบางครั้งสยามเรียกล้านนาว่า “ยวน” บางครั้งก็เรียกว่า “ลาว”?