ปริศนาโบราณคดี : ‘หัวเสารูปสิงห์’ วัฒนธรรมหินตั้ง แห่งอำเภอบ้านโฮ่ง?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘หัวเสารูปสิงห์’

วัฒนธรรมหินตั้ง แห่งอำเภอบ้านโฮ่ง?

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ดิฉันและคณะผู้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์-โบราณคดีจำนวน 13 คน ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ “กลุ่มเสาหินซ้อน” หลังถ้ำหลวงผาเวียง ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

โดยมีนายสมาน กองแก้ว นายอำเภอบ้านโฮ่ง (ต่อมาไม่นานท่านได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน) กับคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองให้การต้อนรับนำทางสำรวจ

ทางขึ้นสู่ดอยผาเวียงด้านหลังถ้ำหลวง พบขวานหินเป็นระยะๆ ตามรายทาง และพบแท่งหินที่มียอดบนคล้ายรูปหัวสิงห์ ตั้งแต่บริเวณลานจอดรถด้านล่าง

ไม่อยากเชื่อจริงๆ ว่าพวกเราได้พบแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจอย่างสุดจะพรรณนา

ก่อนจะไปถึงกลุ่ม “เสาหินซ้อน” เราต้องผ่าน “ถ้ำหลวงผาเวียง” ณ ปากทางเข้าด้านล่าง ที่ได้รับการฟื้นฟูให้เป็นที่พักสงฆ์ มีถนนขึ้นสู่ดอยขนาดย่อมด้านบน เมื่อถึงทางแยกสามแพร่ง หากเลี้ยวไปทางซ้ายจะเข้าสู่ภายในถ้ำหลวงผาเวียง

ถ้ำแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจยิ่ง ตามตำนานมุขปาฐะ ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่าบริเวณนี้เคยเป็นสถานปฏิบัติธรรมของพระนางจามเทวี หลังจากเสร็จศึกกับขุนหลวงวิลังคะ

พระนางจามเทวีสลดพระทัยยิ่งต่อการเสียชีวิตของขุนหลวงวิลังคะกับไพร่พลทหารจำนวนมาก พระนางจึงสละราชสมบัติให้โอรสแฝดพี่ เจ้ามหันตยศปกครองเมืองลำพูนแทน พร้อมกับออกปฏิบัติธรรมชั่วคราวที่ถ้ำหลวงผาเวียงแห่งนี้

เสาหินตั้งหินซ้อนแท่งที่ 1 ทั้ง 3 ภาพคือแท่งเดียวกันไม่ว่ามองมุมไหนพบว่ายอดเสาจงใจสลักเป็นรูปหัวสิงห์ มีปาก จมูก ใบหู ดวงตา

จริงเท็จอย่างไรไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ เพราะเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

ดิฉันเคยลงพื้นที่สำรวจถ้ำหลวงผาเวียงเมื่อปี 2548 ต้องปีนบันไดสูงชัน ปัจจุบันมีถนนตัดขึ้นสู่หน้าถ้ำพร้อมจัดสร้างพญานาค 1 คู่ มีการติดไฟหลายจุด ภายในถ้ำมีสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง กอปรด้วย

หินปูนประเภทหินงอกหินย้อย คล้ายกับถ้ำที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ร่องรอยฟอสซิลที่ฝังตัวในหินหลากหลายประเภท

ซ้าย-เสาแท่งเล็กตั้งอยู่ข้างช่องประตูทางเข้าสู่ลานเสาหินแท่งที่ 1 ก็ทำรูปหัวสิงห์ เช่นเดียวกับภาพขวา เสาหินแท่งที่ 2 มีร่องรอยใบหน้าสิงห์

ถ้ำค้างคาวอับชื้นในจุดที่ไม่เห็นแสงตะวันอยู่จุดที่ลึกที่สุดของถ้ำ เป็นส่วนที่ไม่ก๊าซออกซิเจน ตอนล่างมีมูลค้างคาวทับถมหนาจนเกิดการหมักหมมของสัตว์ประเภทหนอน-พยาธิ-ทาก (กิมิชาติ) สีขาวซีด ดำรงอยู่ในแอ่งหลายหมื่นตัว ควรค่าแก่การศึกษาด้านชีวภาพเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือ “หินผลึกแก้ว” (คริสตัล) ซึ่งเหลือน้อยมากแล้ว เชื่อว่าเดิมหินย้อยจำนวนมากในถ้ำเคยเป็นหินผลึกแก้วมาก่อน คณะสำรวจมีข้อวิตกกังวลว่า ในอนาคตหากมีนักท่องเที่ยวเข้าไปปริมาณมาก เกรงว่าอาจมีผู้เอามือไปลูบคลำหินผลึกแก้วคริสตัล ทั้งนี้ เหงื่อของมนุษย์จะทำปฏิกิริยาให้หินผลึกแก้วเกิดการเปลี่ยนสีเป็นหินด้านสีน้ำตาลได้

เสาหินแท่งที่ 3 มีขนาดสูงมากที่สุดและมีจำนวนก้อนหินกองซ้อนกันมากที่สุด ตั้งอยู่ประชิดหน้าผา ภาพขวามุมใกล้เห็นรอยบากรูปปาก จมูก หู ตาของสิงห์

หากตรงจุดสามแยกเราไม่เลี้ยวซ้ายไปที่ถ้ำหลวงผาเวียง แต่มุ่งหน้าไต่เขาตรงขึ้นไปเรื่อยๆ สู่เขาสูงชัน จะพบกลุ่ม “เสาหินซ้อน-หินตั้ง” บนดอยผาเวียง อยู่ด้านหลังถ้ำหลวงผาเวียงไม่ไกลนัก

ลานหินตั้งจำนวนมหาศาลนี้ วางกล่นเกลื่อนบนพื้นที่ขนาดใหญ่ริมหน้าผา คณะสำรวจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นหินภูเขาไฟที่ดับเถ้าลาวาแล้ว เนื้อพรุนสีเทาดำ

สิ่งที่เราพบมีดังนี้

เมื่อมองภาพรวมในมุมไกล จะเห็นเสาหินวางเป็นจุดๆ แบบเว้นระยะ ความสูง ลดหลั่นกันไป หลายแท่งยังคงแกะสลักให้เป็นหน้าสิงห์

พบกลุ่มเสาหินเดี่ยวแท่งสูง ที่ใช้หินตั้งก่อซ้อนชั้นขึ้นไปด้วยฝีมือมนุษย์ (บางส่วนเป็นหินซ้อนจากธรรมชาติ แต่สำรวจแล้วพบว่ามีการจัดวางแบบจงใจโดยมนุษย์) จำนวนหลายแท่ง

เสาขนาดใหญ่มี 3 แท่ง และขนาดปานกลาง กับขนาดเล็กลดหลั่น กระจายตัวกันไปอีกจำนวนหลายแท่ง (เนื่องจากพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก คณะเราจึงยังไม่สามารถสำรวจได้หมดทุกจุด)

มีข้อสังเกตว่า ปลายสุดของเสาเหล่านี้ มีรูปลักษณ์คล้าย “หัวสิงห์” คือมีร่องรอยการสลักให้เป็นหน้าสัตว์ดุร้าย ทำปากอ้าแยกเขี้ยว ใบหูใหญ่ และหัวตอนบนมีลักษณะฟูคล้ายขนสิงโต

คณะสำรวจเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดียุคหินมาศึกษาเชื่อมโยงกับคติการทำรูปสิงห์ในหลายอารยธรรมทั้งซีกโลกตะวันตกและโลกตะวันออกอื่นๆ ที่นิยมทำ Lion Gate เช่น อารยธรรมกรีก อารยธรรมเมโสโปเตเมีย เป็นต้น

Lion Gate

พบหินที่ตกแต่งเป็นวงโค้งเกือกม้าหรือรูปตัว U ชิ้นใหญ่น้อย วางเรียงรายโอบล้อมรอบเสาหินซ้อนซึ่งอยู่ตอนกลาง ก่อเป็นวงหลายวงคล้ายกับกั้นให้เป็นลานประกอบพิธีกรรม

พบร่องรอยของการเจาะหินแนวยาวให้เป็นช่องกลมทะลุผ่าน ยาวต่อเนื่องพาดไปมา ลักษณะคล้ายท่อส่งน้ำ

พบหินบางกลุ่มมีลักษณะของ “ไม้กลายเป็นหิน” นอกจากนี้ ยังพบขวานหินโบราณทั้งหินกะเทาะ และหินขัดตลอดเส้นทางขึ้นสู่ดอยผาเวียงในทุกๆ ระยะ

ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คณะสำรวจสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอารยธรรมที่มีความเก่าแก่กว่ายุคโลหะ คือควรเป็นยุคหิน อาจเก่าถึงยุคหินใหม่ เนื่องจากไม่พบวัฒนธรรมการฝังศพด้วยการใช้ก้อนหินก่อล้อมแบบวงตีไก่ของชาวลัวะ รวมทั้งยังไม่พบเครื่องมือเหล็กบริเวณดังกล่าว

พบหินวงโค้งเกือกม้าหลายวง ตั้งเรียงรายล้อมรอบเสาหินแต่ละแท่ง ลักษณะคล้ายเกิดจากการใช้เครื่องมือหินขัดแต่งให้เป็นวงโค้ง

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกแบบสหศาสตร์ ทั้งด้านโบราณคดี ควบคู่ไปกับด้านธรณีวิทยา มานุษยวิทยา ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่างละเอียด ด้วยเหตุที่ไม่เคยพบแหล่งโบราณคดีที่ดูคล้ายหินตั้งอย่างชัดเจนแห่งใดมาก่อนในดินแดนล้านนา

อันที่จริงไม่ไกลจากถ้ำหลวงผาเวียงเกินไปนัก ในเขตตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง ยังมีแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุ 3,000 ปี ที่ดอยแตฮ่อ บ้านห้วยหละ ซึ่งดิฉันได้เคยนำเสนอรายละเอียดในบทความนี้ตั้งแต่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว

หวนกลับไปคราวนี้อีกครั้ง พบว่ามีการสกัดผนังหินปูนตามหน้าผาจนภาพเขียนสีร่วงหล่น ทั้งยังมีการเอาสีขาวไปขีดเขียนทับภาพสีแดงเดิม การลงพื้นที่สำรวจครั้งล่าสุดนี้ดิฉันพบว่า มีภาพเขียนสีหลายภาพได้ร่วงหล่นหายไปจริง เมื่อเทียบกับภาพถ่ายเก่าที่ดิฉันเคยถ่ายไว้ในปี 2552

ยกตัวอย่างเช่น ภาพสัตว์ตัวหนึ่งบนผนังค่อนข้างสูง ลักษณะท่อนบนคล้ายกระดองเต่า ท่อนล่างมีขายั้วเยี้ยคล้ายแมงกะพรุน และภาพสัตว์คล้ายวัวกระทิง

ระหว่างเสาหินหลักแท่งต่างๆ พบช่องทางเดินมีกำแพงเตี้ยๆ คั่น บางจุดมีการเจาะช่องวงโค้ง พบขวานหินหล่นเกลื่อน

ดิฉันพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้ง 3 จุดที่กล่าวมา ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่?

พบว่าบริเวณตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ในอดีตน่าจะเคยเป็นแหล่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหิน ยุคถ้ำ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กรณีของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำและภาพจิตรกรรมฝาผนัง แม้จะมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่เท่ากับการค้นพบ “เสาหินหัวสิงห์”

เนื่องจาก “เสาหินซ้อน-หินตั้งรูปหัวสิงห์” นั้น เป็นจุดที่เก่ามาก แปลกมาก จนชวนให้พิศวงและต้องตั้งคำถามว่า

ในประเทศไทยของเรา มีวัฒนธรรมยุคหินตั้งที่มีการทำ “หัวเสาเป็นรูปสิงห์” ด้วยจริงๆ หรือ? เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาต่อยอดแบบสหศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้วตอนบน

ท่านใดสนใจอยากศึกษาสำรวจเรื่องนี้แบบเจาะลึก หรือมีข้อมูลแลกเปลี่ยน โปรดคุยกันหลังไมค์กับดิฉันได้ในกล่องข้อความของเฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกันนี้