ปริศนาโบราณคดี : ‘หลวงพ่อเพชร’ หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (1)

(ซ้าย) หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดท่าถนน จ.อุตรดิตถ์ (ขวา) หลวงพ่อเพชรจำลอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่

 

‘หลวงพ่อเพชร’

หรือแท้จริงคือ ‘พระสิงห์ 1 ล้านนา’? (1)

 

ในประเทศไทยมีพระประธานองค์สำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันในระดับชาติที่มีชื่อเดียวกันว่า “หลวงพ่อเพชร” อยู่สององค์ องค์หนึ่งอยู่ที่อุตรดิตถ์ อีกองค์หนึ่งอยู่ที่พิจิตร

หลวงพ่อเพชรทั้งสององค์นี้มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างแปลกคล้ายกัน กล่าวคือ ไม่ทราบระยะเวลาการหล่อสร้างที่แน่ชัด ไม่ใช่งานพุทธศิลป์ในพื้นถิ่นของภาคเหนือตอนล่าง แต่ได้มาโดยการขนย้ายจากต่างถิ่น

โดยเฉพาะกรณีของหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรนี้ ระบุชัดเจนว่าได้มาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ ทำให้เกิดการสร้าง “หลวงพ่อเพชรจำลอง” ขึ้นเป็นพระประธานในวัดพระธาตุศรีจอมทอง และแทนที่จะเรียกว่า “พระเจ้าเพชร” ตามธรรมเนียมของชาวล้านนาที่นิยมเรียกพระพุทธรูปว่า “พระเจ้า”

แต่กลับเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” ตามอย่างภาคกลาง โดยที่วัฒนธรรมล้านนาไม่เคยมีการเรียกพระประธานว่า “หลวงพ่อ” มาก่อน

อิทธิพลการเรียก “หลวงพ่อเพชร” นี้ต่อมายังกระจายไปถึงการเรียกพระพุทธรูปแห่งอื่นๆ ในล้านนาที่ประทับขัดสมาธิเพชรว่า “หลวงพ่อเพชร” กันอีกหลายแห่ง เช่นที่ “เวียงท่ากาน” สันป่าตอง

เท่านั้นไม่พอ วงการท่องเที่ยวล้านนายังได้สร้างสโลแกนดึงดูดผู้มาเยือนให้กราบ “หลวงพ่อเพชร” เพื่อขอพรในทำนองว่า เมื่อกราบแล้วจะบังเกิดโชคลาภร่ำรวยได้เพชรนิลจินดา

ทั้งๆ ที่ “เพชร” คำนี้ไม่ได้หมายถึงวัสดุอันเลอค่าที่นำมาใช้สร้างพระพุทธรูป หากแต่เป็นการเรียกตามท่านั่ง ซึ่งในงานพุทธศิลป์สยามก็มีท่านั่งหลักๆ อยู่สองท่า คือขัดสมาธิราบ กับขัดสมาธิเพชร

ประเด็นที่จะชวนคุยในตอนนี้มีอยู่ 3-4 ประเด็นคือ

1. การกำหนดอายุพระพุทธรูปของหลวงพ่อเพชรทั้งสององค์ ตกลงสร้างเมื่อไหร่กันแน่

2. ที่มาแห่งการสร้างพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ต่างจากประทับขัดสมาธิราบอย่างไร

3. จริงหรือที่พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชรของล้านนา ต้องเป็นกลุ่มพระสิงห์ 1 เท่านั้น

4. นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับปมปัญหาที่ถามกันมากว่า ยังสมควรเรียกพระพุทธรูปกลุ่มพระสิงห์ 1 ล้านนาว่าพระเชียงแสนกันได้อยู่หรือไม่?

 

หลวงพ่อเพ็ชร์เมืองอุตรดิตถ์

นามศักดิ์สิทธิ์แบบ 2 อิน 1

 

ที่มาของ “หลวงพ่อเพ็ชร์” (เป็นชื่อเฉพาะที่เขียนแบบนี้) พระคู่บ้านคู่เมืองชาวอุตรดิตถ์ ปรากฏในหนังสือที่วัดท่าถนนหรือวัดวังเตาหม้อพิมพ์แจก ความยาวกว่า 45 หน้า สรุปได้ว่า

แรกเริ่มเดิมทีถูกฝังซ่อนอยู่ในดินปลวกที่ป่าสะแก จนชาวบ้านมาพบพระเกตุมาลาโผล่ออกจากดินปลวกนั้น จึงแจ้งให้ “หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง” แห่งวัดหมอนไม้ทราบ

หลวงพ่อด้วงกับชาวบ้านจึงช่วยกันชักลากนำพระพุทธรูปออกมาและพยายามเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดหมอนไม้ด้วยความทุลักทุเลอยู่หลายวัน เนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมาก และระยะทางก็ไกลหลายกิโลเมตร บางช่วงบางตอนองค์พระถึงกับพลัดตกน้ำก็มี

ซ้ำเมื่อนำมาไว้ที่วัดไม้หมอนแล้ว ยังมีชาวบ้านป่าสะแกรวมตัวกันไปฟ้อง “เจ้าเมืองคง” ว่าการกระทำเช่นนี้เสมือนเป็น “พระลักพระ” อีกด้วย ความที่เมื่อนำพระพุทธรูปออกมาขัดสีฉวีวรรณแล้วพบว่าเป็นเนื้อสำริดผสมนาก งดงามเปล่งประกายฉายรัศมี จนอาจทำให้ชาวบ้านป่าสะแกเกิดความเสียดาย

โชคดีที่เจ้าเมืองคงตัดสินว่าหลวงพ่อด้วงไม่มีความผิด ไม่ถือว่าเป็นการโจรกรรมในลักษณะ “พระลักพระ” หากแต่เป็นการนำเอาสมบัติแผ่นดินที่ถูกซุกซ่อนไว้มาบูชาใหม่

หลังจากนั้น 1 ปีหลวงพ่อด้วงเห็นว่าสภาพของวัดหมอนไม้เป็นวัดขนาดเล็กที่ไม่มีอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธปฏิมาให้สมกับสง่าราศี จึงได้นำไปที่วัดวังเตาหม้อถวายให้แก่ “หลวงพ่อเพ็ชร์” พระภิกษุผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองอุตรดิตถ์อย่างกว้างขวางแทน

เรื่องราวทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา พ.ศ.2443 พระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้ชะลอเอาพระพุทธรูปที่มีความงามและความสำคัญจากทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้ในระเบียงคตวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นจำนวนมาก

พระพุทธปฏิมาองค์งามที่หลวงพ่อเพ็ชร์ดูแลก็เป็นหนึ่งในผลพวงแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครองนั้นด้วย ส่งผลให้พระภิกษุ “หลวงพ่อเพ็ชร์” ทุกข์ระทมโศกาดูรจนถึงขั้นหัวใจสลาย

ท่านได้ปฏิญาณตนว่าจะไม่ขออยู่วัด ตราบที่วัดไม่มีพระพุทธปฏิมา หลวงพ่อเพ็ชร์ได้ออกจากวัดหายไปไม่ฉันภัตตาหารต่อเนื่องกันนานหลายวัน ในที่สุดได้มีผู้ไปพบศพท่านบนยอดเขานาตารอด

การมรณกรรมของท่านครั้งนั้น เป็นดั่งภาพแทนความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวอุตรดิตถ์ เชื่อว่าน่าจะส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาลสยามอยู่บ้าง ทำให้อีก 10 ปีต่อมา ได้มีการส่งพระปฏิมาองค์นี้กลับคืนสู่วัดท่าถนน

สมัยที่หลวงพ่อเพ็ชร์มีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้มีการขนานนามพระปฏิมากรองค์ดังกล่าวแต่อย่างใด ครั้นเมื่อชาวอุตรดิตถ์ได้รับกลับคืนมาแล้ว จึงพร้อมใจกันเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” อย่างไม่มีข้อแม้

“เพ็ชร์” แรก เรียกเพื่อรำลึกถึงนามของพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เคยถวายชีวิตปกป้องรักษาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองให้แก่ชาวอุตรดิตถ์จนวายปราณ

“เพชร” ที่สอง เรียกให้สอดคล้องกับท่านั่งประทับขัดสมาธิเพชรของพระพุทธรูป

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” ของอุตรดิตถ์จึงมีการสะกดแบบพิเศษกว่าที่อื่นๆ

 

หลวงพ่อเพ็ชร์ เป็นศิลปะล้านนา

หรือศิลปะสุโขทัย?

ในเมื่อจุดเริ่มต้นของการพบ “หลวงพ่อเพ็ชร์” นั้น พบในวัดร้างกลางป่าที่มีต้นสะแกขึ้นปกคลุมจำนวนมาก โดยองค์พระถูกหุ้มด้วย “ดินปลวก” นั่นคือคำบอกเล่าเก่าสุดที่สืบค้นได้ เราจึงไม่สามารถระบุที่มาได้ไกลเกินไปกว่านั้นว่ามีใครได้ชะลอเคลื่อนย้ายมาจากดินแดนล้านนาหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร

ดังนั้น การศึกษาในประเด็นว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” มีอายุราวพุทธศตวรรษไหน และเป็นพุทธศิลป์ล้านนาแบบที่เรียกกันว่าสิงห์ 1 หรือไม่นั้น คงหาคำตอบได้จากแนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นตัวช่วย

พบว่าแม้พุทธลักษณะโดยรวมของหลวงพ่อเพ็ชร์จะเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะล้านนาที่เรียกกันว่า “พระสิงห์ 1” อาทิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมอมยิ้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน มีชายสังฆาฏิสั้นๆ บนพระอังสะซ้าย ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง

ทว่าก็ยังมีอีกหลายจุดที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากพระสิงห์ 1 ล้านนา

นั่นคือ การทำพระเพลา (หน้าตัก) กว้างกว่าพระสิงห์ล้านนาทั่วไป และอาสนะที่รองรับนั้นเป็นฐานเขียงแบนแบบหน้ากระดานเรียบๆ ไม่ใช่ฐานบัวคว่ำบัวหงาย

โดยเฉพาะพระเศียรนั้นค่อนข้างยกสูงตั้งตรง ไม่โป่งออกแบบพระสิงห์ล้านนา รองรับพระเมาลี (อุษณีษะ) หรือจอมกระหม่อมที่เป็นทรงกรวยสูงพอประมาณ ปิดปลายด้วยรัศมีลูกแก้วกลมใหญ่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เปรียบเทียบพุทธลักษณะของหลวงพ่อเพ็ชร์กับพระพุทธรูปสำริดจากวัดสระศรี เมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ในหนังสือ “ลักษณะไทย : พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” ว่า

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2000-2090) สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจแล้ว ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากสกุลช่างที่เรียกว่า “พระสิงห์” หรือ “พระพุทธสิหิงค์จำลอง” ของล้านนา โดยฝีมือช่างผู้สร้างมีความอ่อนหวานแบบสุโขทัย

จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าหากเราพบพระพุทธรูปที่ดูละม้ายคล้ายคลึงกับ “พระล้านนาสิงห์ 1” ที่ไหนก็แล้วแต่ ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่า จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นบนแผ่นดินล้านนาเสมอไปเท่านั้น ด้วยเหตุที่รูปแบบของพระสิงห์ 1 นี้ได้ส่งอิทธิพลให้แก่นายช่างสมัยสุโขทัยและอยุธยาอีกด้วย

 

หลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตร

สร้างสมัยพระนเรศวร

นำลงมาสมัยพระนารายณ์?

ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อเพชร พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวพิจิตรนั้น ระบุไว้ในหนังสือ “พระพุทธปฏิมาเมืองไทย” รวบรวมและเรียบเรียงโดย “สมบัติ จำปาเงิน” สรุปความอย่างย่อๆ ได้ว่า

พระพิจิตรผู้เป็นเจ้าเมืองได้สร้างวัดชื่อ “นครชุม” มีพระอุโบสถใหญ่โตสวยงาม ในห้วงเวลานั้น กองทัพจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพผ่านเมืองพิจิตรเพื่อขึ้นไปปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระพิจิตรมีความคุ้นเคยกับนายทัพคนหนึ่ง จึงได้ขอร้องให้ช่วยหาพระพุทธปฏิมาที่มีลักษณะงามมาฝาก

เมื่อเสร็จศึกแล้ว นายทัพผู้นั้นได้อาราธนาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับขัดสมาธิเพชร (ต่อมาคนภาคเหนือตอนล่างเรียก “หลวงพ่อเพชร”) ลงแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำปิง เอามาฝากไว้ที่จวนเจ้าเมืองกำแพงเพชร

พระพิจิตรขึ้นไปอัญเชิญหลวงพ่อเพชรลงมายังเมืองพิจิตร ประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุมสืบมา กระทั่งปี 2445 ทางราชการกับประชาชนได้สร้างวัดท่าหลวงขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อเพชรเป็นการเฉพาะ

จากข้อมูลนี้ ไม่ระบุศักราชว่าแม่ทัพอยุธยาขึ้นไปตีเมืองเหนือเมื่อไหร่ ทั้งยังไม่บอกถึงแหล่งสถานที่ที่หลวงพ่อเพชรเคยประดิษฐานมาก่อนอีกด้วย

เอกสารเล่มอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลตามสื่อออนไลน์ที่คัดลอกต่อๆ กันมากล่าวถึงหลวงพ่อเพชรเพิ่มเติมจากหนังสือของอาจารย์สมบัติว่า

“ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เกิด ‘ขบถจอมทอง’ เมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปราม เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรได้ปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์”

สิ่งที่ดิฉันสะดุดใจคือ การเรียกเมือง “จอมทอง” หน้าด่านสำคัญทางทิศใต้ของเชียงใหม่ว่าเป็น “ขบถ” จนทำให้กรุงศรีอยุธยามีสิทธิ์ยกทัพขึ้นไปปราบ เรื่องนี้ดิฉันเคยทักท้วงไว้แล้วสองหนในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี ครั้งแรกในบทความเรื่องนางลาวทอง และครั้งที่สองตอนเขียนเรื่องพระนางจิรประภามหาเทวี

โดยตั้งคำถามว่า “กรุงศรีอยุธยามีสิทธิ์อะไรมาเรียกหัวเมืองสำคัญของลุ่มน้ำปิงตอนกลางคือจอมทอง ซึ่งขึ้นตรงกับล้านนาเชียงใหม่มาตลอด ว่าเป็นกบฏหรือขบถ?”

ในที่นี้จึงไม่ขอเสียเวลามาถกเถียงเรื่องเดิมๆ อีกรอบ เพราะจะทำให้ประเด็นสำคัญที่วางไว้ถูกเบี่ยงเบนไป นั่นคือการขึ้นไปเอาพระพุทธรูปที่วัดพระธาตุศรีจอมทองของแม่ทัพคนหนึ่งเพื่อนำไปฝากพระพิจิตรนั้น ตรงกับสมัยใดกันแน่?

ใช่สมัยที่แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนหรือไม่ โดยวรรณคดีเรื่องนี้ก็ผูกเรื่องให้ขุนแผนยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงทอง จนได้นางลาวทองไปเป็นเมียอีกคน

ในขณะที่เอกสารของวัดพระธาตุศรีจอมทอง กล่าวถึง “หลวงพ่อเพชร” พระประธานองค์ปัจจุบันในวิหารจัตุรมุขว่า เป็นการจำลองมาจากหลวงพ่อเพชรองค์เดิมที่สร้างขึ้นราว พ.ศ.1660-1800 ปัจจุบันอยู่เมืองพิจิตร องค์จำลองนี้นำมาประดิษฐานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2541

อายุสมัยของ “หลวงพ่อเพชร” ตามที่ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองระบุไว้ให้เก่าถึงยุคหริภุญไชยนั้น ดูขัดแย้งกับรูปแบบพุทธศิลป์ของหลวงพ่อเพชรมากพอสมควร ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้กำหนดอายุของหลวงพ่อเพชรไว้ว่า อยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 (คือราว พ.ศ.2140-2170)

เนื่องจากทำพระพักตร์ออกสี่เหลี่ยม พระเศียรค่อนข้างสั้น เม็ดพระศกแหลมแบบศิลปะอยุธยาตอนกลางแล้ว เป็นช่วงที่ล้านนารับอิทธิพลหลายอย่างของอยุธยาขึ้นไป และยิ่งเมื่อพินิจดูศักราชที่อาจารย์พิริยะกำหนดไว้ว่าอยู่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ย่อมตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถพอดี

อาจเป็นไปได้ว่า หลวงพ่อเพชรวัดพระธาตุศรีจอมทองสร้างขึ้นโดยช่างล้านนา ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และถูกนำลงมาไว้ที่พิจิตรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะยุคนี้มีการยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ โดยกวาดต้อนผู้คนและของมีค่าจากเชียงใหม่มาไว้ที่สยามจำนวนมาก