On History : ศรีรามเทพนคร เป็นชื่อรัฐ และไม่ได้หมายถึงศิลปะลพบุรี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
(ซ้าย) พระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา อายุราว พ.ศ.1200-1350 ที่กรมศิลปากรนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่พบมาเชื่อมต่อแล้วจัดแสดงเป็นครั้งแรกในนิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร (ขวา) บรรยากาศของนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร”

 

ศรีรามเทพนคร

เป็นชื่อรัฐ

และไม่ได้หมายถึงศิลปะลพบุรี

 

กรมศิลปากรได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร” ขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (บริเวณใกล้ท้องสนามหลวง) ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-30 มิถุนายน พ.ศ.2564 โดยได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นงามหลายชิ้นเลยทีเดียว ที่ไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ไหนมาก่อน

ในส่วนไฮไลต์ของงานก็คงจะหนีไม่พ้นประติมากรรมสำริด รูปพระโพธิสัตว์สี่กร จากบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา อายุราว พ.ศ.1200-1350 ซึ่งเมื่อแรกที่มีการค้นพบนั้น พบเฉพาะส่วนพระเศียร, ชิ้นส่วนพระกร 3 ชิ้น, ชิ้นส่วนพระพาหา (แขนช่วงก่อนถึงข้อศอก) ข้างซ้าย, พระบาทพร้อมพระชงฆ์ข้างขวา และพระบาทข้างซ้าย ซึ่งถูกนำมาเชื่อมต่อกันโดยคำนวณส่วนสูงและขนาดของรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้อย่างที่ควรจะเป็น จนประกอบออกมาเป็นรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทยเลยทีเดียว

(แต่ก็ถูกขโมยซีนไปไม่น้อยโดยประติมากรรมรูปงูน้อยขนาดจิ๋ว ที่ขุดพบบริเวณข้างเมืองอู่ทอง ซึ่งใครต่อใครก็ต้องพากันเอ็นดูในความน่ารักน่าชังของเจ้างูจิ๋วตัวนี้ จนน่าจะเป็นโบราณวัตถุที่ถูกผู้คนชักรูปนำไปอวดลงโซเชียลมีเดีย เหมือนเป็นการเช็กอินกับตัวมาสคอตประจำนิทรรศการครั้งนี้ไปเสียแล้ว)

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นิทรรศการนำมาจัดแสดงนั้น กลับไม่ได้ขับเน้นให้ผู้ชมสามารถได้รับความรู้เรื่องเกี่ยวกับ “ศรีรามเทพนคร” ซึ่งดูจะเป็นประเด็นสำคัญของการจัดแสดงนิทรรศการมากเท่าที่ควรจะเป็น

จนดูเหมือนว่าทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนั้นต้องการที่จะจัดแสดงเรื่องศิลปะในประเทศไทย (เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแทบทุกครั้ง) ที่เน้นความสำคัญของศิลปะลพบุรี หรือที่เรียกอีกอย่างว่าศิลปะเขมรในประเทศไทยมากกว่าปกติก็เท่านั้น

แน่นอนว่า ชื่อนิทรรศการขึ้นต้นด้วยคำว่า “อารยธรรมวิวัฒน์” ซึ่งป้ายจัดแสดงภายในนิทรรศการครั้งนี้ มีคำอธิบายความหมายอยู่ที่ด้านหน้าของทางเข้าชมนิทรรศการ โดยอาจจะสรุปแบบรวบรัดได้ว่าหมายถึง “พัฒนาการทางวัฒนธรรม”

(อันที่จริงแล้ว คำว่า “อารยธรรม” นั้น มีความหมายเชิงเหยียดต่อสิ่งที่ไม่ถูกนับเป็นอารยธรรม คือถูกเรียกว่าเป็นเพียงวัฒนธรรม โดยคำว่าอารยธรรมนั้นเป็นคำที่ถูกผูกศัพท์ขึ้นมาเพื่อแปลคำว่า “civilization” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากมาจากคำว่า “civic” คือความเป็นเมือง ส่วนคำว่า “วัฒนธรรม” นั้น ถูกผูกขึ้นมาเพื่อแปลความหมายของคำว่า “culture” ที่มีรากเกี่ยวข้องกับ “cultivate” คือการเกษตร ที่ไม่ได้หมายถึงเมืองใหญ่แน่ แวดวงวิชาการโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้จึงมีความพยายามที่จะลด ละ เลิก ที่จะใช้คำว่าอารยธรรมกัน)

พัฒนาการทางวัฒนธรรมในที่นี้มี “ศรีรามเทพนคร” เป็นศูนย์กลางของเรื่องที่ผู้จัดนิทรรศการต้องการที่จะเล่าให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้รับชมกัน โดยในนิทรรศการได้ใช้โบราณวัตถุที่ค้นพบในประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาเป็นโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี, ศรีวิชัย, หริภุญไชย และลพบุรีว่า มีพัฒนาการและเกี่ยวข้องกับศรีรามเทพนครอย่างไร พร้อมกันกับที่ได้พยายามนำโบราณวัตถุอีกกลุ่มหนึ่งมาชี้ชวนให้ผู้ชมเห็นว่า ศรีรามเทพนครนั้นส่งผลต่อรัฐในยุคหลังจากนั้นคืออยุธยาและกรุงเทพฯ อย่างไร?

โดยป้ายจัดแสดงภายในนิทรรศการนั้นได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ศรีรามเทพนคร” นั้นก็คือ “ละโว้” หรือ “ลพบุรี” ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่นิทรรศการในครั้งนี้เลือกที่จะเน้นจัดแสดงโบราณวัตถุที่จัดว่าเกี่ยวข้องกับศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทยเป็นหลัก

 

มองดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ?

แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหา เพราะอันที่จริงแล้วตามความเข้าใจโดยทั่วไปนั้น “ศรีรามเทพนคร” หมายถึงรัฐหรือวัฒนธรรมของอยุธยา ในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เมื่อ พ.ศ.1893 ซึ่งมักจะเรียกกันอย่างเคยปากว่า “อโยธยา” ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรท่านก็ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาเองว่า “ศรีรามเทพนคร” คือลพบุรี เพราะข้อสันนิษฐานนี้ผู้เสนอคือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการอ่านจารึกอย่าง อ.ศานติ ภักดีคำ แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อ.ศานติศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ โดยได้เขียนเป็นบทความที่ชื่อ “ศรีรามเทพนคร : สร้อยนามหรือชื่อเมือง” ลงในวารสารวิชาการของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชื่อดำรงวิชาการ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2548 โน่นแล้ว

แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของ อ.ศานติท่านคนเดียว ไม่ใช่ข้อสรุปที่ใครทุกคนยอมรับร่วมกันทั้งหมด

และอันที่จริงแล้วหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติต่อประชาชนอย่างกรมศิลปากรนั้นก็ไม่ควรที่จะเลือกให้ข้อมูลเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งต่อประชาชนเพียงแค่ด้านเดียวไม่ใช่หรือครับ?

 

อย่างน้อยที่สุด นักประวัติศาสตร์รุ่นใหญ่อย่าง อ.อาคม พัฒิยะ และ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เคยเขียนหนังสือร่วมกันในชื่อเรื่อง “ศรีรามเทพนคร : รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น” เอาไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2527 เช่นเดียวกับ อ.วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่ตีพิมพ์หนังสือชุด “อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี มรดกความทรงจำแห่งสยามประเทศ” จำนวน 2 เล่มจบ ออกมาเมื่อ พ.ศ.2562

และนี่ยังไม่นับรวมถึงงานวิชาการของใครอีกหลายต่อหลายคน ที่พูดถึงศรีรามเทพนคร ในฐานะบ้านเมืองอยุธยา ในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 ไม่ว่าจะเป็น อ.มานิต วัลลิโภดม, อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และอีกเพียบ

ดังนั้น มันคงจะดีกว่านี้แน่ ถ้ากรมศิลปากรให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานว่า “ศรีรามเทพนคร” นั้นคืออะไร และมีใครคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคำคำนี้บ้าง มากกว่าที่จะให้น้ำหนักไปกับข้อสันนิษฐานของใครเพียงคนเดียวอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้

 

แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการนิยามความหมายของอะไรที่เรียกว่า “ศรีรามเทพนคร” ในนิทรรศการครั้งนี้หรอกนะครับ

เพราะการที่นิทรรศการครั้งนี้เลือกที่จะอธิบายว่า “ศรีรามเทพนคร” คือ “ลพบุรี”

แต่ลพบุรีที่นิทรรศการนี้หมายถึงนั้น กลับครอบคลุมความหมายว่าคือศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทยนั้นดูจะผิดฝาผิดตัวยิ่งกว่า

คำว่า “ศรีรามเทพนคร” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมสุโขทัยอย่างน้อย 2 หลักคือ จารึกวัดศรีชุม จ.สุโขทัย และจารึกวัดเขากบ จ.นครสวรรค์ และยังมีที่เกี่ยวข้องอีกคือคำว่า “เมืองนครพระราม” ในจารึกลานทองวัดส่องคบ จ.ชัยนาท ที่น่าจะหมายถึงรัฐ หรือชื่อเมืองเดียวกันกับศรีรามเทพนคร (ในนิทรรศการได้นำจารึกวัดเขากบและจารึกลานทองวัดส่องคบมาจัดแสดงไว้ด้วย) นั้นมีอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ไล่เลี่ยกันคือราวช่วงปลายศตวรรษของ พ.ศ.1800- ช่วงต้นศตวรรษของ พ.ศ.1900 เท่านั้น

ดังนั้น การนิยามความหมายของศรีรามเทพนคร ว่าเท่ากับศิลปะลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทยที่กินช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.1150-1800 และพบกระจายอยู่นอกเขต จ.ลพบุรี ไปไกลจนครอบคลุมพื้นที่ทางตอนล่างของภาคอีสานทั้งหมด จึงเป็นปัญหาแน่

เพราะต่อให้ศรีรามเทพนครคือเมืองลพบุรีจริงตามอย่างข้อสันนิษฐานของ อ.ศานติ แต่ศรีรามเทพนครก็ควรจะเป็นคำที่เพิ่งถูกเริ่มใช้เมื่อหลัง พ.ศ.1800 และใช้อยู่สั้นๆ ถึงในช่วงศตวรรษของ พ.ศ.1900 เท่านั้น

ไม่ได้เก่าแก่ไปถึง พ.ศ.1150

และไม่ได้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ราบสูงโคราช หรือภูมิภาคอีสานใต้แน่ๆ

“อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร” เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงได้อย่างสวยงาม จนน่าจูงลูกจูงหลานไปเยี่ยมชม

แต่จะยอดเยี่ยมกว่านี้อีกมาก ถ้ากรมศิลปากรเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมสามารถขบคิดตีความจากข้อสันนิษฐานที่แตกต่างและหลากหลาย ด้วยข้อมูลหลักฐานที่เปิดให้ผู้รับชมสามารถแปลความหมายด้วยวิจารณญาณของตนเอง