แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ (20)

ในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่องค์พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ (royal incapacity) อังกฤษได้ออกกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่จะครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กฎหมายฉบับนี้คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ.1937 (The Regency Act 1937)

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ.1937 มีสามประการ

เริ่มต้นจากหลักการข้อแรกที่ว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ในขณะที่มีพระชนมายุไม่ครบ 18 พรรษาถือว่าทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้

หลักการที่ว่านี้ถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนครั้งแรกใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ และพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ (พระชนมายุไม่ถึง 18 พรรษา) จะทรงครองราชย์ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regent) โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะทำหน้าที่บริหารพระราชภารกิจในนามของพระมหากษัตริย์

หลักการประการต่อมาคือ ในกรณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ ด้วยทรงพระประชวรหรือไม่สามารถบริหารพระราชภารกิจด้วยเหตุใดก็ตาม ให้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และหลักการข้อที่สามคือ เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ทรงพระประชวร (โดยที่อาการพระประชวรไม่ถึงขนาดที่จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) หรือเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร (the United Kingdom) พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้มีการแต่งตั้งและกำหนดหน้าที่ของสภาสำเร็จราชการแผ่นดิน (Counsellors of State)

และการทำหน้าที่ของสภาสำเร็จราชการแผ่นดินนี้อาจจะทำในลักษณะของการทำหน้าที่ร่วมกัน

 

บทบัญญัติเกี่ยวกับสภาสำเร็จราชการแผ่นดิน พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ.1937 ได้บัญญัติให้สภาสำเร็จราชการแผ่นดินประกอบขึ้นด้วยบุคคลห้าคน และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่าบุคคลทั้งห้าที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสภาสำเร็จราชการแผ่นดินนี้คือใครบ้าง พ.ร.บ. นี้ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลทั้งห้านี้ประกอบไปด้วย

1. พระราชสวามีหรือพระมเหสีในองค์พระประมุข (the consort of the monarch)

2. บุคคลอีกสี่คนที่อยู่ในสายของการสืบราชสันตติวงศ์ตามลำดับและจะต้องมีอายุเกิน 21 ปี

แต่หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ เกิดปัญหาขึ้นในสองกรณี กรณีแรกคือ คือในปี ค.ศ.1939 เพียงสองปีให้หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หกทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา และการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชินีมเหสีได้ทรงตามเสด็จด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ทรงอยู่ในสถานะอันดับแรกของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. ไม่ได้เปิดทางให้มีการแต่งตั้งบุคคลอื่นแทนบุคคลในตำแหน่งที่ พ.ร.บ. ระบุเฉพาะเจาะจงไว้ หรืออนุญาตให้แต่งตั้งบุคคลที่จะสืบราชสันตติวงศ์ในอันดับต่อๆ ไปขึ้นมาแทนได้จนครบ

กรณีที่สองคือ พ.ร.บ. กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากองค์พระประมุขทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ก่อนพระชนมายุ 18 พรรษา และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรวมทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินจะต้องมีอายุ 21 ปี

ดังนั้น ในปี ค.ศ.1939 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หกทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชินี สภาสำเร็จราชการแผ่นดินที่ตั้งขึ้นจึงไม่สามารถมีสมาชิกครบห้าคนได้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ

หนึ่ง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชินี (the consort of the monarch) ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร

สอง เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธในสถานะของผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันดับแรกทรงมีพระชนมายุไม่ถึง 21 พรรษา จึงไม่สามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินได้

 

ข้อสงสัยประการหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำไมองค์พระมุขจึงสามารถบริหารพระราชภารกิจได้อย่างเต็มพระราชอำนาจในขณะที่มีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา

แต่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือสมาชิกสภาสำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป?

ทำให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องลงรอยกันในบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าว

และปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ ในกรณีที่ผู้จะสืบราชสันตติวงศ์ในอันดับแรกมีอายุไม่ถึง 21 ปี จะไม่สามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือสมาชิกสภาสำเร็จราชการแทนพระองค์ได้

เพราะตาม พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ.1937 เจ้าฟ้าหญิงหญิงเอลิซาเบธ—ซึ่งคาดว่าพระองค์จะทรงขึ้นดำรงตำแหน่งองค์รัชทายาท—จะทรงมีพระชนมายุครบ 18 พรรษาในปี ค.ศ.1944 จะยังไม่สามารถเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินได้ เพราะมีพระชนมายุไม่ถึง

แต่จะทรงทำหน้าที่นี้ได้ก็ต่อเมื่อทรงพระชนมายุ 21 พรรษา นั่นคือ หลังจากปี ค.ศ.1947 เป็นต้นไปแล้วเท่านั้น

 

และจากปัญหาดังกล่าวนี้ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หกจึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว

เพราะพระองค์ทรงปรารถนาให้พระราชธิดาทรงมีประสบการณ์ในการบริหารพระราชภารกิจก่อนที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์

พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในข้อนี้จากการที่พระองค์ต้องทรงเสด็จขึ้นครองราชย์โดยไม่มีประสบการณ์มาก่อน ด้วยไม่มีใครคาดคิดว่า สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด พระเชษฐาของพระองค์จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น—–ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีในสถานการณ์พิเศษ นั่นคือ เป็นคณะรัฐมนตรีในภาวะสงคราม เพราะอังกฤษอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง—-เห็นพ้องต้องกันที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ.1943

โดยกำหนดให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะองค์รัชทายาทสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป

ดังนั้น เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธจึงสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินได้ทันทีในอีกสามปีต่อไป (ค.ศ.1944)

 

การแก้ไขดังกล่าวอาจจะนำมาซึ่งข้อโต้แย้งที่ว่า การแก้ไขที่เกิดขึ้นเป็นการย้อนกลับไปสู่สภาพการณ์ในอดีต นั่นคือ แก้ไขตามกรณีเฉพาะตัวบุคคลหรือเฉพาะกรณี ไม่ต่างจากการออกกฎหมายก่อนหน้าที่จะเกิด พ.ร.บ.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เพราะการออกกฎหมายในการแก้ปัญหาการที่องค์พระมหากษัตริย์ไม่ทรงบริหารพระราชภารกิจก่อนหน้าปี ค.ศ.1937 เป็นการออกกฎหมายที่เกิดขึ้นแก้ปัญญาเฉพาะในแต่ละกรณีในแต่ละรัชกาล

แต่ในตัว พ.ร.บ. ที่ออกใหม่ในปี ค.ศ.1943 นี้ ได้กล่าวถึงปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในขณะที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชินี ในปี ค.ศ.1939 และเจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธยังทรงพระเยาว์อยู่ ซึ่งทำให้สภาสำเร็จราชการแผ่นดินมีสมาชิกไม่ครบองค์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับที่กำหนดไว้ พ.ร.บ. ดังกล่าว!

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญประเพณีการปกครองของอังกฤษ