On History : The Dig : เรือ กับความตาย / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

The Dig : เรือ กับความตาย

 

ใครต่อใครที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดี แถมยังชอบชมภาพยนตร์ ในวงเล็บว่า และเป็นสมาชิกของ Netflix ก็คงจะได้ผ่านตาหนังเรื่อง The Dig ที่เพิ่งมีให้รับชมกันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้นะครับ

ภาพยนตร์เรื่องที่ว่า สร้างขึ้นจากนิยายชื่อเดียวกัน ที่เขียนขึ้นตามเค้าโครงเรื่องจริง (และมีจินตนาการผสมสาน กับเพิ่มเติมดราม่าบ้างนิดหน่อย เพื่อเพิ่มเติมความสนุกสนาน) ของการขุดแหล่งโบราณคดีที่รู้จักกันในชื่อ “ซัตตัน ฮู” (Sutton Hoo) ซึ่งเก่าแก่ไปจนถึงยุคแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) โดยมีอายุอยู่ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 6

ผมคงจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดของหนัง (ดังนั้น ต่อให้ใครยังไม่ได้ดูก็อ่านได้ ไม่มีสปอยล์) เพราะอยากที่จะเล่าถึงก็คือความสำคัญของเจ้าแหล่งโบราณคดีที่ว่านี้มากกว่า เพราะว่ากันว่า นี่เป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว

เนื่องจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ใน “ยุคมืด” ของเกาะอังกฤษนั้นไม่ได้สิ้นไร้วัฒนธรรมหรือมืดไปตามชื่อยุค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความรุ่งเรืองของยุคคลาสิค คือกรีก-โรมัน ที่ล่มสลายไปก่อนนั้น

ซึ่งหนังก็เปรียบเทียบให้เราเห็นกันชัดๆ ว่า นักโบราณคดีของรัฐเห็นว่าวิลล่าของโรมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเนินดินในซัตตัน ฮู ที่น่าจะอยู่ในยุคมืด

ข้าวของต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้นที่ซัตตัน ฮู ในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในเกาะอังกฤษช่วงที่เคยอยู่ในช่วง “ยุคมืด” ที่เคยเชื่อกันว่าป่าเถื่อนไร้อารยธรรมนั้นมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ศิลปะ เทคโนโลยี และอีกสารพัด จนเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างแหล่งโบราณคดีในยุโรปที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เรียกชื่อยุคนี้ใหม่ว่า “ยุคกลาง” แทนในที่สุด

 

สําหรับใครที่ได้รับชมแล้วก็จะเห็นได้ว่าในหนัง นอกจากพระเอกในเรื่องแล้ว นักโบราณคดีคนอื่นๆ จะเข้าใจกันไว้ก่อนว่าเป็นเรือของพวกไวกิ้ง ซึ่งเข้ามาบุกโจมตีพวกแองโกล-แซกซอนที่อยู่มาก่อน เพราะพวกเขาขุดพบซาก “เรือ” แต่ก็เป็นเรือถูกลากขึ้นมาตั้งอยู่บนบก เพื่อใช้เป็น “สุสาน” ของใครบางคน

และถึงแม้ว่าจะเป็นสุสาน แต่ในการขุดค้นก็ไม่ได้พบร่างกายของเจ้าของสุสานหรอกนะครับ ซากเรือที่ซัตตัน ฮู เป็นสุสานที่สร้างขึ้นอย่างเป็นพิธีกรรม เพื่อเป็นเกียรติ, ระลึกถึงผู้ตายโดยไม่ได้ใส่ร่างของผู้ตายเอาไว้อย่างที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “cenotaph”

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับ “ความตาย” และ “เรือ” ก็เป็นอย่างที่บทในหนังเล่าผ่านปากพระเอกแหละครับว่า คนพวกนี้ใช้เรือล่องจากผืนน้ำข้ามไปยังดวงดาวต่างๆ บนผืนฟ้า (ซึ่งหมายถึงโลกหลังความตาย มากกว่าอวกาศ) แถมความคิดทำนองนี้ก็มีอยู่ทั่วไปทั้งโลก รวมถึงในไทยเสียด้วย

หลักฐานเกี่ยวกับอะไรทำนองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในไทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มี พบอยู่ใน “The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto” หรือที่มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “การท่องเที่ยว การเดินทาง การผจญภัย ของเฟอร์ดินานด์ เมนเดซ ปินโต” (หรือที่ในสำเนียงโปรตุเกสออกเสียงว่า ปินตู) ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2080-2101 และรวมถึงได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาด้วยนั้น ได้บันทึกถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2089) เอาไว้ดังนี้

“บรรดาพิธีซึ่งต้องทำในการนั้น อันเป็นขนบธรรมเนียมของประเทศนี้คือ ตั้งฟืนกองใหญ่อันมีไม้จันทน์ ไม้กฤษณา ไม้กลำพักและกำยาน แล้วนำพระศพของพระเจ้าแผ่นดินองค์ซึ่งสวรรคตนั้นขึ้นวางเหนือกองฟืนดังกล่าว จุดไฟเผาด้วยวิธีการอันแปลกประหลาด

ระหว่างเวลาที่พระศพกำลังไหม้ไฟอยู่ บรรดาประชาชนไม่ทำอะไร เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญเหนือการแสดงออกทั้งหมด”

 

จะเห็นได้ว่า ปินโตระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การถวายพระเพลิงสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ผู้ทรงมีสนมเอกที่โด่งดังอย่างท้าวศรีสุดาจันทร์) เมื่อ พ.ศ.2089 นั้น กระทำขึ้นบน “กองฟืน” ที่ทำขึ้นจากไม้หอมราคาแพงนานาชนิด ไม่ใช่การถวายพระเพลิงบน “พระเมรุมาศ” อย่างที่มักจะเข้าใจกันว่ามีมาตั้งแต่แรกเริ่มของยุคกรุงศรีอยุธยา

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ สิ่งที่ปินโตระบุเอาไว้อย่างละเอียดลออเกี่ยวกับงานพระบรมศพในครั้งนั้น กลับเป็นเรื่องของการเคลื่อนขบวน “พระโกศ” ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระไชยราชาธิราชต่อจากนั้น โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ ดังที่เขาได้พรรณนาเอาไว้ว่า

“แต่ในที่สุดพระศพก็กลายเป็นเถ้าถ่าน พวกเขาเก็บไว้ในพระโกฐเงิน ซึ่งพวกเขาได้จัดลงเรือซึ่งตกแต่งสวยงามมาก ติดตามไปด้วยเรือ 40 ลำ มีพระสงฆ์นั่งเต็ม ซึ่งเป็นพระมีสมณศักดิ์สูงที่สุด…

ต่อจากนั้นก็เป็นขบวนเรือเล็กๆ 100 ลำ บรรทุกรูปปั้นสัตว์ต่างๆ เป็นรูปงู สัตว์เลื้อยคลาน เสือ สิงโต คางคก งูใหญ่ ค้างคาว ห่าน เป็ด สุนัข ช้าง แมว แร้ง ว่าว กา และสัตว์อื่นๆ ซึ่งทำขึ้นมาคล้ายๆ กันนั้น รูปสัตว์เหล่านั้นดูมีชีวิตชีวาเหมือนกับว่ามีชีวิต

ในเรือใหญ่อีกลำหนึ่งมีรูปเจ้าแห่งรูปปั้นทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาเรียกว่างูถ้ำแห่งหลุมลึกแห่งถ้ำงู รูปปั้นนี้มีรูปเป็นงูประหลาดตัวใหญ่เท่าถัง…และบิดเบี้ยวไป 9 หยัก เมื่อเหยียดลำตัวออกแล้วจะยาวกว่า 100 คืบ หัวตั้งตรงขึ้นพ่นไฟซึ่งทำขึ้นออกมาทางตา ทางลำคอและอก ซึ่งทำให้สัตว์ประหลาดนี้ดูน่ากลัวและดูโกรธเกรี้ยว…

ในขบวนนี้ เรือทุกๆ ลำไปขึ้นบกที่วัด ชื่อวัด…พระอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งบรรจุอยู่ในโกฐเงิน ได้ประดิษฐานไว้ที่นั่น

และพร้อมกันนั้นก็ยังมีเสียงน่ากลัวไม่หยุดหย่อน มีเสียงปืนใหญ่ ปืนครก กลอง ระฆัง แตร และเสียงหนวกหูประเภทอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่ได้ยินแล้วจะไม่สั่น

พิธีนี้สิ้นสุดลงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เพราะว่าพวกรูปเหล่านี้ทำด้วยวัตถุที่ไหม้ไฟได้ และเรือก็เต็มไปด้วยน้ำมันดินและยางสนหรือชัน น่ากลัวมาก เปลวไฟปรากฏขึ้นมาตอนนั้น ดังที่คนอาจกล่าวได้ดีว่ามันเป็นเปลวไฟที่พลุ่งมาจากนรก

ดังนั้น ในชั่วครู่นั้น บรรดาเรือนั้นๆ และสิ่งทั้งหมดที่อยู่ในเรือเหล่านั้นก็ค่อยๆ หมดไป

เมื่อถึงตอนนี้ และบรรดาสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งดูมีชีวิตชีวาซึ่งมีราคาจำนวนมากไหม้หมดไปแล้ว บรรดาประชาชนทุกคนซึ่งมาชุมนุมออกันอยู่ที่นี่ และดูเหมือนมีจำนวนนับไม่ถ้วน ก็ได้กลับคืนสู่บ้านเรือนของตน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ-ผู้เขียน)

 

ข้อความในบันทึกของปินโตข้างต้น แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ได้ความว่า หลังจากบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระไชยราชาธิราชลงในพระโกศเงินเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญขึ้นสู่กระบวนเรือ ที่แวดล้อมไปด้วยประติมากรรมรูปสัตว์นานาชนิด โดยมีรูป “งูถ้ำ” (ซึ่งคงจะหมายถึง “พญานาค”) เป็นประธานแล้วแห่แหนไปประดิษฐาน ณ วัดแห่งหนึ่ง จากนั้นก็กระทำการ “เผา” ทั้งเรือและประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ จนหมด เป็นอันจบพิธี

ตามคติพื้นเมืองของศาสนาผีในอุษาคเนย์ มีความเชื่อทำนองว่า “ความตาย” ไปทาง “น้ำ” ซึ่งต้องใช้ “เรือ” เป็นพาหนะนำส่งให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ บางวัฒนธรรมสลักรูปเรือไว้บนภาชนะสำริดสำหรับใส่ศพ หรือสลักรูปเรือไว้บนเครื่องประโคมอย่างมโหระทึกกลองทอง ที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพ

บางพวกก็เอาศพ หรือกระดูก (และอาจมีที่เป็นเถ้ากระดูก) ไปใส่ไว้ใน “โลงศพ” รูปร่างคล้ายเรือ

แถมยังมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีธรรมเนียมการทำรูปเรือเล็กๆ ใส่ไว้ในกำมือของศพอีกด้วย

(น่าสังเกตด้วยว่า ประเพณีอย่างนี้ยังตกทอดสืบมาจนทำให้ราชรถต่างๆ ในงานออกพระเมรุยังประดับด้วยรูป “พญานาค” แทนที่จะเป็นรูป “ครุฑ” ทั้งที่เป็นการเคลื่อนขบวนทาง “สถลมารค” คือทางบก ไม่ใช่ทาง “ชลมารค” คือทางน้ำ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกด้วย)

เอาเข้าจริงแล้วความเชื่อในการใช้เรือเป็นสุสานที่ซัตตัน ฮู ที่เราเห็นได้จากหนังเรื่อง The Dig นี้ จึงมีพื้นฐานความคิดในทำนองเดียวกันกับพิธีศพที่บ้านเรานั่นแหละครับ