‘เสาหลักเมือง’ ร่องรอยการบูชายัญมนุษย์ในอุษาคเนย์? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บุคคลระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยหล่นทัศนะเกี่ยวกับที่มาของอะไรที่เรียกว่า “เสาหลักเมือง” เอาไว้ในบันทึกรับสั่งที่มอบให้แก่ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.บัว สนิทวงศ์ และ ม.ร.ว.ธันยวาท สวัสดิกุล ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร วันที่ 28 ธันวาคม 2502) เอาไว้ว่า

“หลักเมืองเป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์”

แถมกรมพระยาดำรงฯ ท่านยังบอกต่อไปด้วยนะครับว่า

“ตัวอย่างหลักเมืองที่มีเก่าที่สุดในสยามประเทศนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ ในแถบเพชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาจารึก อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน (หมายถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบัน) บัดนี้เรียกเป็นภาษาอินเดียในสันสกฤตว่า ‘ขีน’ เป็นภาษามคธว่า ‘อินทขีล’ หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตะปูหัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังลงมาทำด้วยหินบ้าง ไม้บ้าง”

สำหรับกรมพระยาดำรงฯ แล้ว เสาหลักเมืองจึงเป็นเรื่องของพราหมณ์อินเดีย แถมมีชื่อดั้งเดิมเรียกว่า “อินทขีล” อีกต่างหาก

 

ถ้าจะว่ากันด้วยรากศัพท์แล้ว คำว่า “อินทขีล” แปลตรงตัวว่า “ตะปู” หรือ “หมุด” ของ “พระอินทร์” แถมยังมีเทพปกรณ์เก่าแก่ระดับ 4,000-3,500 ปีมาแล้ว อย่างคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในพระเวท เล่าถึงเจ้าตะปูหรือหมุดของพระอินทร์เอาไว้ด้วยว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อสูรตนหนึ่งมีรูป “งูใหญ่” ชื่อ “วฤตรา” ได้นำ “น้ำ” ทั้งจักรวาลไปกักเก็บไว้ที่หุบเขา และขนดไว้ภายในร่างกายของวฤตราสูรเองแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ความชุ่มชื้นขาดหายไปจากโลก จนเกิดสภาวะอันแห้งแล้ง ผู้คนและสรรพสัตว์จึงต่างก็พากันเดือดร้อนทั่วไปหมด

ความจึงได้ร้อนไปถึงพระอินทร์ ในฐานะของผู้เป็นราชาเหนือเทพเจ้าทั้งปวง ให้ต้องแต่งทัพไปปราบวฤตราสูรเพื่อช่วงชิงเอาความชุ่มชื้นกลับมา โดยทัพอันเอิกเกริกของพระอินทร์ประกอบไปด้วย คณะเทพมารุต จำนวนมากมายมหาศาล ที่เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนแล้วมีเสียงดังกึกก้องประดุจเสียงฟ้าร้องครืนครัน พระวรุณหรือที่คนไทยเรียกกันว่าพระพิรุณ และถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฝน พระวิษณุ (หรือที่หลายครั้งในยุคหลังเรียกกันว่า พระนารายณ์) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ พระอัคนี ผู้เป็นเจ้าแห่งไฟ และพระโสม ผู้เป็นเทพแห่งน้ำโสม ผู้ประทานพลังแห่งความกล้าหาญ เป็นต้น

เมื่อพระอินทร์ได้พบกับอสูรวฤตราผู้ชั่วร้ายแล้ว พระองค์ก็ทรงขว้างอาวุธคู่พระหัตถ์ของพระองค์คือ “วัชระ” หรือ “สายฟ้า” ตรงไปปักเข้าที่เศียรของอหิวฤตราสูรเสียจนขาดสะบั้น แล้วความชุ่มชื้นก็กลับคืนสู่โลกอีกครั้ง ด้วยอุปสรรคถืออสูรแห่งความแห้งแล้ง ได้เสียชีวิตจบสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว

ถึงฤคเวทจะพรรณนาความเอาไว้เท่านี้ แต่พวกพราหมณ์ยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า เศียรของอหิวฤตราสูรที่ถูกวัชระปักลงจนขาดสะบั้นไปนั้น ได้จมลงสู่กลางมหาสมุทร และปักลงอยู่ที่ตำแหน่งศูนย์กลางของโลก

ดังนั้น จึงเป็นธรรมเนียมของพวกพราหมณ์ที่จะเรียกตำแหน่งเสาเอกของสิ่งปลูกสร้างอันใดก็ตามไว้ตรงกันทั้งหมดว่า “ตำแหน่งเศียรนาค” ซึ่งก็หมายถึงเศียรของวฤตราสูรที่ถูกวัชระตรึงเอาไว้นั่นเอง

 

โดยนัยยะหนึ่ง “วัชระ” จึงเปรียบเสมือนกับ “เสา” ไม่ก็ “ตะปู” หรือ “หมุด” ที่ตรึงเศียรของวฤตราสูรไว้ พวกพราหมณ์จึงเรียก “สายฟ้า” อาวุธคู่ใจของพระอินทร์ในอีกชื่อหนึ่งว่า “อินทกีละ” หรือ “อินทขีล” (และออกเสียงแบบไทยๆ ว่าอินทขิล) นั่นแหละ

เทพปกรณ์และธรรมเนียมอินเดียว่ามาอย่างนี้ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกเคลิ้มตามนะครับ ยิ่งเมื่อยังมีหลักเมืองที่ถูกเรียกว่า “อินทขิล” กันอย่างโต้งๆ ที่เมืองเชียงใหม่ แถมในจารึกที่เรียกกันว่า “ศิลาจารึกหลักเมืองศรีเทพ” หลักเดียวกันกับที่กรมพระยาดำรงฯ อ้างถึงนั้น มีคำภาษาสันสกฤตอ่านออกเสียงได้ว่า “ขีลัง” อยู่ด้วยก็ยิ่งทำให้กรมพระยาดำรงฯ ถึงกับเอาไปอ้างไว้ในจดหมายที่เขียนถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ต่อมาถูกนำมารวบรวมเอาไว้ในชื่อสาส์นสมเด็จเลยทีเดียว

กรมพระยานริศฯ เองก็ดูจะเชื่อไปในทิศทางเดียวกันนั้นด้วย เพราะข้อความตอบกลับเรื่องที่สมเด็จฯ ทั้งสองท่านนี้พูดคุยกันเรื่อง “เสาหลักเมือง” นั้น ท่านถึงกับบอกว่า “เกล้ากระหม่อมสะดุ้ง และออกอุทานอันไม่เป็นภาษาคน” เมื่อสมเด็จพุทธาจารย์ ญาณวโร (เจริญ สุขบท) แปลคำว่า “อินทขีล” ให้ท่านฟังว่าคือ “ตะปูพระอินทร์”

ด้วยเห็นว่า ศิลาจารึกหลักเมืองศรีเทพ (และยังอ้างถึงหลักเมืองนางรอง) เป็นแท่งหินรูปทรงตะปูหัวเห็ดเช่นกัน

 

แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรเล่าครับว่า เสาหลักเมืองนั้นจะเป็นของที่ภูมิภาคของเราอิมพอร์ตเอามาจากอินเดีย ในเมื่อมีร่องรอยอยู่ให้เพียบเลยว่าบรรพชนคนอุษาคเนย์นั้นมีการสร้างเสาหลักบ้าน (ในชุมชนขนาดย่อม) และเสาหลักเมือง (ในชุมชนขนาดใหญ่) กันในหมู่สังคมที่ยังไม่ได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู แถมยังมีให้เห็นมาจนกระทั่งทุกวันนี้?

เอาเข้าจริงแล้ว เสาหลักเมืองของอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาคจึงควรจะเป็นเรื่องใน “ศาสนาผี” พื้นเมืองเสียมากกว่า

ดังนั้น ร่องรอยที่น่าสนใจก็คือตำนาน ควบตำแหน่งเรื่องซุบซิบเกี่ยวกับการสร้างเสาหลักเมือง ที่ว่ากันว่าต้องมีการบูชายัญมนุษย์ ซึ่งมักจะถูกปฏิเสธว่าไม่จริง (โดยมักจะไม่มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน)

ด้วยคงเพราะไม่เชื่อว่า ความเป็นไทยอันดีงามจะมีร่องรอยแปดเปื้อนเช่นนี้

แต่ร่องรอยหลักฐานอย่างอื่นไม่ได้บอกกับเราอย่างนั้นเสียหน่อย ตัวอย่างเช่น ข้อความในพงศาวดารมอญอย่าง “ราชาธิราช” ที่ระบุว่า

“แล้วมะกะโทให้หาฤกษ์ปลูกปราสาท โหรถวายฤกษ์ ในฤกษ์นั้นว่า วันพฤหัสบดีเดือนหกแรมสามค่ำ ศักราชได้ 648 ปี นักษัตรฤกษ์ยี่สิบสองเป็นราชฤกษ์นั้น จะมีหญิงมีครรภ์แปดเดือนเดินมาเป็นนิมิตได้ฤกษ์เอาเสาลงหลุม จึงมุขมนตรีคนทั้งปวง ครั้นวันฤกษ์ก็พร้อมกันคอยท่าฤกษ์และนิมิตถึงฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงกล่าวพร้อมกันว่าได้ฤกษ์ แล้วก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุมจึงยกเอาเสาปราสาทนั้นลงหลุม โลหิตสตรีนั้นกระเด็นขึ้นมาเป็นอสรพิษแปดตัว เจ็ดตัวนั้นตายในสถานที่นั้น แต่ตัวหนึ่งเลื้อยไปทางทิศประจิม แลโหรทำนายว่า เมืองนี้จะบังเกิดกษัตริย์แปดพระองค์ จะทิวงคตในเมืองนี้เจ็ดพระองค์ แต่พระองค์หนึ่งนั้นจะไปทิวงคตฝ่ายประจิมทิศ”

เรื่องราวในราชาธิราชชวนให้นึกถึงตำนานสร้างเมืองเวียงจันทน์ที่เล่าว่า ในขณะที่สร้างเมือง ทางการได้ประกาศหาผู้ที่จะมาเป็น “ศรี” ของเมือง (“สีเมือง” ในภาษาลาว) นางสี ชาวเมืองทรายฟอง ที่ตั้งท้องไม่มีพ่อ จึงกระโดดลงไปในหลุมที่จะสถาปนาหลักเมือง

ทุกวันนี้ชาวลาวเชื่อกันว่าหลักเมืองเป็นปราสาทขอมหลังหนึ่งในวัดสีเมือง เมืองจันทน์ แต่ที่จริงแล้วน่าจะเป็นหินใหญ่ (megalith) ที่ตั้งอยู่ในวัดสีเมือง ที่ผู้คนยังไปเคารพบูชากราบไหว้ ด้วยถือว่าเป็นประธาน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวัดมากกว่า

 

และก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่า เรื่องเล่าทำนองนี้ก็มีในไทยด้วย ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้มีในเอกสารของฝรั่ง เช่น บทความหนึ่งในวารสาร Siam Society ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ที่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“เมื่อต้น ค.ศ.1634 (พ.ศ.2177 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาท) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้ซ่อมประตูใหม่ทั้งหมด ตรัสสั่งให้จับหญิง (หมายถึงหญิงท้องแก่) ฝังเสาละ 2 คน ประตูหนึ่งมี 2 เสา เพราะฉะนั้น ประตู 17 ประตู จึงต้องการหญิง 68 คน”

เคราะห์ดีขึ้นมาหน่อยที่เรื่องราวข้างต้นนั้นยังถูกบันทึกไว้ด้วยว่า ผู้หญิงทั้ง 68 คนนั้น ไม่ได้ต้องถูกบูชายัญอยู่ที่หลุมเสาทั้งหมด เพราะในบรรดาผู้หญิงที่ถูกจับมาทั้งหมดนี้เกิดมีอยู่ 5 คน ที่อยู่ๆ ก็คลอดลูกออกมา ซึ่งถือเป็นอุบาทว์ ดังนั้น จึงแก้เคล็ดด้วยการจับบูชายัญลงหลุมเสาของประตูไชยแค่เพียง 4 คน ส่วนคนที่เหลือให้โกนหัวแล้วกรีดศีรษะ 2 แฉก แล้วกลับบ้านได้

ข้อมูลทำนองนี้ยังมีอยู่อีก แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับทั้งในราชาธิราช ตำนานสร้างเมืองเวียงจันทน์ และบันทึกที่ฝรั่งอ้างถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง คือเราไม่มีข้อมูลพอจะพิสูจน์หรอกนะครับว่า จริงหรือเปล่า? เพราะอย่างน้อยก็ไม่เห็นมีพงศาวดาร หรือเอกสารไม่ว่าจะภาษาใดเลยที่ยืนยันกับเราได้ว่ามีการบูรณะประตูเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททอง

โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่า มีการจับเอาผู้หญิงท้องแก่ไปฝังอยู่ใต้เสาจริงหรือเปล่าด้วยซ้ำไป

กลองสําริด ราว 2,000 ปีมาแล้ว พบที่ตําบลสือไจ้ซาน อําเภอผู่หนิง มณฑลยูนนาน (ทางภาคใต้ของจีน) มีประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็กประดับบนหน้ากลอง บอกเล่าพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็น “บูชายัญ” ผู้ชายที่ถูกมัดติดเสากลางลานหมู่บ้าน โดยรวมแล้วผู้ร่วมพิธีมี 52 คน ประกอบด้วยหญิงมีอำนาจซึ่งเกล้ามวยผม นั่งเสลี่ยงมีคนหาม แล้วมีหญิงสูงศักดิ์ 4 คนนั่งแวดล้อม นอกนั้นเป็นคนในชุมชนมีฐานะทางสังคมต่างๆ (เรียบเรียงโดยสรุปจากคําอธิบายของ ทองแถม นาถจํานง ภาพจากมิวเซียมมณฑลยูนนาน โดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต เมื่อ พ.ศ.2558)

แต่นอกจากข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือตำนานต่างๆ แล้วก็ยังมีรูปประติมากรรมที่แสดงถึงการบูชายัญมนุษย์อีกเช่นกัน คือรูปประติมากรรมบนหน้ากลองมโหระทึก อายุ 2,300-1,900 ปีมาแล้ว จากมณฑลยูนนาน ในประเทศจีน ที่แสดงรูปการจับมนุษย์มัดไว้กับเสา (หรือหลักของบ้าน) ในลานกลางบ้าน (ซึ่งคือที่ตั้งของเสาหลักบ้าน ในชุมชนต่างๆ ของอุษาคเนย์) ในงานพิธีกรรมบางอย่าง

กลองมโหระทึกพวกนี้สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเดียน (Dian culture) ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในเขตประเทศจีน แต่ในทางวัฒนธรรมนั้นสัมพันธ์กับอุษาคเนย์มากกว่า อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลาที่วัฒนธรรมเดียนเจริญอยู่นั้น ราชวงศ์ฮั่นของจีนที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยกันนั้น ก็ถือว่าคนพวกนี้คือพวกป่าเถื่อน และไม่เคยยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนเลย

เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยหลักฐานต่างๆ บางทีตำนานการฝังคนไว้ที่ใต้หลุมเสานั้น ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียทีเดียวก็ได้นะครับ