วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (5)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุแห่งสามรัฐ เหตุจากราชสำนัก (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาประวัติศาสตร์จีนได้เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า หายนะแห่งคณะอภิชน (ต่างกู้จือฮว่อ, Disaster of The Partisan Prohibitions) เพื่อให้หมายถึงการลุกขึ้นสู้ของคณะอภิชนที่แม้จะประสบความสำเร็จอยู่บ้างในระยะแรก แต่ก็มาพ่ายแพ้ให้แก่อำนาจฝ่ายเลวของเหล่าขันทีในระยะหลัง

ความพ่ายแพ้นี้มิใช่ความพ่ายแพ้ของการศึกสงคราม หากคือความพ่ายแพ้ของมโนธรรมสำนึกฝ่ายดีของคณะอภิชนเอง

ความพ่ายแพ้นี้จึงไม่เพียงเป็นหายนะเฉพาะที่เกิดแก่คณะอภิชนเท่านั้น หากยังเป็นหายนะของบ้านเมืองอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ “หายนะแห่งคณะอภิชน” จึงถูกแบ่งเป็นสองช่วง

ช่วงแรก คือช่วงที่หลี่อิงฝืนราชโองการอภัยโทษแล้วเกิดวิกฤตตามมา

ช่วงที่สอง คือช่วงที่แผนกำจัดขันทีของราชชนนีโต้วรั่วไหล จนเป็นเหตุให้เหล่าขันทีฉวยโอกาสเข้ากวาดล้างคณะอภิชนจนพ่ายแพ้ย่อยยับไปในที่สุด

สิ่งที่เห็นได้จากเหตุการณ์ “หายนะแห่งคณะอภิชน” นี้อยู่ตรงจุดหมายปลายทางในอันที่จะมิให้คณะอภิชนมีบทบาททางการเมืองการปกครอง ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่ควรมีบทบาทในด้านที่ว่ามากที่สุด ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่ไม่ควรมีบทบาทมากที่สุดซึ่งคือเหล่าขันทีนั้นก็กลับกลายเป็นผู้มีบทบาทในความเป็นจริง

ส่วนที่ว่าเป็นหายนะก็เพราะหลังจากนี้ต่อไป บ้านเมืองจีนก็ตกอยู่ใต้เงาของเหล่าขันทีอีกยาวนาน

บ้านเมืองจีนจึงจ่อมจมอยู่ในความมืดมิด

ดังนั้น ภายหลังจากเหตุการณ์ “หายนะแห่งคณะอภิชน” ผ่านไปแล้ว บ้านเมืองจีนจึงได้แต่รอคอยผู้มากอบกู้เท่านั้น

แต่ภายใต้เงามืดที่เหล่าขันทีแผ่คลุมอยู่นี้ย่อมมิใช่เรื่องง่ายที่ผู้กอบกู้จะปรากฏตัวออกมา นอกเสียจากจะมีเหตุทำให้ปรากฏเท่านั้น และเหตุที่ว่าก็เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติทางการเมือง นั่นคือ กบฏ

 

เหตุจากกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว

หลังจากเหตุการณ์ “หายนะแห่งคณะอภิชน” ผ่านไปแล้ว เหล่าขันทีก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่ไปทั่วบ้านเมือง แน่นอนว่า การแสดงอำนาจเช่นนี้ย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้หากจักรพรรดิไม่อ่อนแอดังที่เป็นอยู่

และความจริงที่น่าเศร้าก็คือว่า ตัวจักรพรรดิเองกลับเข้าไปมีส่วนร่วมกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่นั้นเสียเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองการปกครองของบ้านเมืองจึงเสื่อมทรามลงทุกวัน จนราษฎรต้องเดือดร้อนกันไปทั่ว

ความเดือดร้อนเรื่องหนึ่งของราษฎรก็คือ การขูดรีดราษฎรผ่านการเก็บภาษี ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเหล่าขันทีทำการกวาดล้างคณะอภิชนจนแทบจะสิ้นซากไปแล้ว บ้านเมืองก็ขาดแคลนบุคคลผู้มีความรู้และความสามารถมาเป็นขุนนาง

แทนที่เหล่าขันทีจะเห็นเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข แต่กลับฉวยเป็นโอกาสสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนทันที

 

วิธีการที่เหล่าขันทีใช้ก็คือ การเปิดให้มีการซื้อขายตำแหน่งขุนนางระดับต่างๆ อย่างเปิดเผย

ยกเว้นก็แต่ตำแหน่งสูงๆ เท่านั้นที่ฮั่นหลิงตี้ยังทรงเหนียมอายที่จะทำอย่างเปิดเผย

โดยพระองค์ทรงให้ใช้วิธีประมูลผ่านบุคคลใกล้ชิดอย่างลับๆ ที่รู้กันเฉพาะพระองค์กับเหล่าขันที

ซึ่งจะว่าไปแล้วกิริยาที่ทรงเหนียมอายก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก นอกจากพอให้เห็นเป็นพระจริตที่ถูกดัดให้พอเป็นพิธีมิให้ดูน่าเกลียดจนเกินไปเท่านั้น

บุคคลที่ได้เป็นขุนนางด้วยการซื้อขายตำแหน่งดังกล่าวส่วนหนึ่งย่อมต้องเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่ง

ในส่วนนี้ทำให้พ่อค้ากลายมาเป็นกลุ่มคนที่ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิไปด้วย

แต่ทั้งคนที่เป็นพ่อค้าและไม่ได้เป็นพ่อค้าเหล่านี้ ตอนที่ซื้อตำแหน่งมานั้นย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า หากตนได้เป็นขุนนางแล้ว ตำแหน่งของตนย่อมมีช่องทางในการถอนทุนคืนแล้วสร้างกำไรได้อย่างแน่นอน

และวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปก็คือ การเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเพิ่มขึ้นจากเดิม

 

จากเหตุดังกล่าว ทำให้ราษฎรเป็นทุกข์ บ้านเมืองเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ความไม่พอใจราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป และได้กลายเป็นเชื้อไฟที่ดีในอันที่จะลามไปเป็นไฟกบฏขึ้นในที่สุด

กบฏที่จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำจีนไปสู่ยุคสามรัฐนั้น โดยทั่วไปแล้วมักจะรู้จักกันในนามที่เรียกกันว่า กบฏโพกผ้าเหลือง

ทั้งที่จริงแล้วในเวลานั้นกบฏไม่ได้มีขบวนการนี้เพียงขบวนการเดียว หากยังมีอีกหลายขบวนการ เพียงแต่เป็นขบวนการที่ไม่เข้มแข็งมากนัก พอตั้งตัวก่อการกบฏได้ไม่นานก็ถูกรัฐปราบปรามไปได้ในที่สุด

ในขณะเดียวกันการมีอยู่ของกบฏโพกผ้าเหลืองซึ่งถือเป็นกบฏที่ทรงอิทธิพลที่สุดนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นขบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นทันทีที่ไม่พอใจฮั่นตะวันออก

แท้จริงแล้วขบวนการนี้มีจุดเริ่มต้นจากบุคคลในสำนักที่สมาทานลัทธิเต้า (เต๋า) มาก่อน

เวลานั้นสำนักเต้ามีอยู่หลายสำนัก แต่ละสำนักจะมีจุดโดดเด่นในการเผยแพร่หลักคำสอนเฉพาะตน

ในที่นี้จะได้กล่าวถึงหนึ่งในสำนักที่ต่อมาจะมาเป็นหนึ่งในขบวนการกบฏ ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าสำนักที่ต่อมาคือกบฏโพกผ้าเหลือง

สำนักที่ว่าก็คือ สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว

ผู้ตั้งสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋ว (อู่โต๋วหมี่เต้า, the Way of the Five Pecks of Rice) มีชื่อว่า จางหลิง โดยเมื่อมีชื่อเสียงแล้วก็ถูกเรียกขานว่า จางเต้าหลิง ส่วนสาเหตุที่สำนักของเขามีชื่อที่พิสดารดังที่เห็นก็เพราะเก็บค่าขึ้นครูเป็นข้าวสารแทนเงิน และข้าวสารที่เป็นค่าขึ้นครูนี้ก็เก็บไม่เกินห้าโต๋ว

อนึ่ง โต๋วเป็นหน่วยตวงของจีน หนึ่งโต๋วหากเทียบกับของไทยแล้วจะตกอยู่ที่ประมาณสิบลิตร โดยหมายถึงการตวงข้าวสารของไทยที่ตวงผ่านกระป๋องขนาดหนึ่งลิตรดังเห็นได้จากร้านค้าทั่วไป ดังนั้น ข้าวสารห้าโต๋วจึงเท่ากับประมาณ 50 ลิตร

ค่าที่เทียบนี้เป็นการประมาณการเท่านั้น มิใช่ค่าที่แน่นอน ด้วยว่าเมื่อเทียบกับของตะวันตกที่เป็นแกลลอนก็ยิ่งไม่คงที่ เพราะค่าแกลลอนของตะวันตกมีทั้งแบบอเมริกันและแบบยุโรปที่ให้ค่าที่ต่างกันพอสมควร

สำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วนี้บางที่ก็เรียกว่า สำนักเต้าแห่งสวรรคาจารย์ (เทียนซือเต้า, the Way of the Celestial Master) และผู้ที่เป็นหัวหน้าสำนักจะถูกเรียกว่า สวรรคาจารย์ (เทียนซือ, The Celestial Master)

ด้วยเหตุนี้ จางหลิงหรือจางเต้าหลิงจึงถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า สวรรคาจารย์จาง อันหมายถึง อาจารย์จางแห่งสรวงสวรรค์

 

สํานักเต้าข้าวสารห้าโต๋วนี้จัดเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และมีหลักคำสอนที่มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย เป็นสำนักที่เขียนขยายความตำนานของเหลาจื่อปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งสำนักเต้าว่า เหลาจื่อได้ขี่ควายออกนอกด่านแล้วหายไปทางทิศตะวันตก อันเป็นตำนานที่ผู้สมาทานลัทธิเต้าเชื่อถือมาโดยตลอด

จางหลิงก่อตั้งสำนักเต้าข้าวสารห้าโต๋วขึ้นเมื่อ ค.ศ.142 โดยมีหลักคำสอนที่มุ่งไปในเรื่องของลมปราณ (ชี่) ที่เชื่อว่า ลมปราณแผ่กระจายไปในทุกที่และมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ผู้ใดที่สามารถจัดระเบียบของลมปราณได้ดี ผู้นั้นจะเป็นอมตะ

ทั้งนี้ ผู้มุ่งไปสู่หนทางนี้จักต้องหลีกเลี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ในทุกกรณี หาไม่แล้วเพศสัมพันธ์นั้นก็จักทำลายลมปราณให้สลายไป หนทางที่มุ่งก็จะดับสูญไปด้วย

หลักคำสอนนี้จางหลิงอ้างว่าเป็นหลักคำสอนที่เหลาจื่อได้มอบให้กับตนเป็นผู้ประกาศ และยังบัญชาให้ตนเป็นผู้นำในการขจัดความเสื่อมทรามให้หมดไปจากโลก

จากนั้นก็ร่วมกับ “ผู้ที่ถูกเลือก” (chosen people) ซึ่งก็คือบรรดาสาวกทั้งหลายสร้างรัฐใหม่ขึ้นมา

จากแนวทางคำสอนดังกล่าว ทำให้มีผู้เข้ามาสมาทานสำนักนี้กันมากมาย และเป็นเหตุให้จางหลิงถูกยกให้เป็น “สวรรคาจารย์” คนแรกของสำนักเต้า

จากนั้นจางหลิงจึงได้เคลื่อนย้ายสำนักตนไปตั้งเขตอิทธิพลขึ้นที่บริเวณภาคเหนือของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ในปัจจุบัน ที่นี้เองที่จางหลิงเริ่มเก็บค่าขึ้นครูเป็นข้าวสารห้าโต๋วจนเป็นที่มาของชื่อสำนักในเวลาต่อมา

เวลานั้นมีผู้มาเข้าด้วยกับสำนักนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้ผู้ช่วยสองคนของจางหลิง คนหนึ่งเป็นบุตรชายของเขาชื่อว่า จางเหิง อีกคนหนึ่งเป็นหลานชายของเขาชื่อว่า จางหลู่

โดยต่อมาทั้งจางเหิงและจางหลู่ก็คือผู้สืบทอดอำนาจการนำต่อจากจางหลิงเป็นรุ่นที่สองและสามตามลำดับ