วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จำเดิมแต่ไรมา

หากเอ่ยถึงสามก๊กแล้ว คงมีคนไทยน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ด้วยเป็นวรรณกรรมจีนที่ได้รับการแปลและเรียบเรียงมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และเคยถูกตัดตอนให้มาอยู่ในแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทยให้นักเรียนได้เรียนกัน

ส่วนคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็สามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ไม่ยาก เพราะทุกวันนี้มีผู้แปลเพิ่มขึ้นหลายสำนวนให้เลือกอ่านได้โดยทั่วไป

ด้วยความที่เป็นวรรณกรรมจีนที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน จึงไม่แปลกที่สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฏอยู่ในสามก๊ก มักจะถูกหยิบยกมาใช้อ้างอิงหรือเรียกขานกันอยู่เสมอ

สิ่งละอันพันละน้อยนี้มีตั้งแต่สำบัดสำนวน คำกล่าวเปรียบ คำคม คำพังเพย ตลอดจนเรื่องเล่าในบางช่วงบางตอนที่สนุกสนาน ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นไปทั้งให้ข้อคิดแก่ชีวิตและเพื่อความบันเทิงเริงใจ

นอกจากในแง่วรรณกรรมแล้ว คนไทยยังรู้จัก สามก๊ก ในแง่มุมอื่นๆ อีกด้วย

คือเป็นแง่มุมที่สามก๊กถูกขยายไปสู่ประเด็นต่างๆ

เช่น นำบางช่วงบางตอนหรือตัวละครบางตัวมาเล่าใหม่บ้าง วิเคราะห์บ้าง ประยุกต์ใช้ในชีวิตและงานบ้าง ฯลฯ

จากเหตุนี้ สามก๊กจึงใช่แต่จะเป็นวรรณกรรมที่มีมากกว่าหนึ่งสำนวนเท่านั้น หากการถูกขยายไปสู่ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวยังทำให้เราเห็นอีกด้วยว่า สามก๊กน่าจะเป็นวรรณกรรม (จีน) ที่ถูกขยายไปสู่ประเด็นต่างๆ มากกว่าวรรณกรรม (ไทย) ชิ้นอื่นๆ อีกด้วย

เอาเป็นว่า หากจะบอกว่าคนไทยโดยทั่วไปรู้จักสามก๊กดีในฐานะวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน

และที่ว่ารู้จักนี้ก็มีตั้งแต่รู้ลึกรู้จริงไปจนถึงรู้แต่เพียงแผ่วๆ กว้างๆ จนแม้หากจะมีผู้ใดคิดอ่านจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสามก๊กขึ้นมาในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว แง่มุมนั้นต้องฉีกออกไปจากที่มีอยู่แต่เดิมจนเห็นได้ถึงความแตกต่าง

หาไม่แล้วก็จะเท่ากับว่าที่เขียนมานั้นไม่มีอะไรใหม่หรือหาจุดที่น่าสนใจไม่ได้

 

ที่กล่าวมาโดยตลอดนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสามก๊กที่เป็นวรรณกรรม แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่บ้างว่ายังมีสามก๊กอีกฉบับหนึ่งที่มิใช่งานวรรณกรรม แต่เป็นสามก๊กที่เป็นบันทึกหรือจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์

และเป็นที่รู้อีกเช่นกันว่า สามก๊กที่เป็นวรรณกรรมนั้นก็นำเรื่องในบันทึกฉบับดังกล่าวมาเป็นข้อมูลในการเขียน

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สามก๊กทั้งสองฉบับจะมีความแตกต่างกันในทางเนื้อหา

แน่นอนว่า สามก๊กที่เป็นวรรณกรรมย่อมต้องเติมแต่งเรื่องราวในแบบที่เรียกว่า “ใส่สีตีไข่” ลงไป

ในขณะที่สามก๊กที่เป็นงานประวัติศาสตร์ย่อมดูจริงจังน่าเชื่อถือกว่า

จากความแตกต่างดังกล่าวทำให้รู้โดยปริยายว่า สามก๊กที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ย่อมเกิดก่อนที่เป็นวรรณกรรม

และฉบับที่เป็นวรรณกรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันหากไม่มีฉบับที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์

และจากความแตกต่างที่ว่านี้ หากเป็นสามก๊กที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์แล้วจะเรียกว่า ซานกว๋อจื้อ (จดหมายเหตุสามรัฐ) ที่เขียนโดย เฉินโซ่ว ส่วนที่เป็นวรรณกรรมจะเรียกว่า ซานกว๋อเอี๋ยนอี้ (นิยายอิงพงศาวดารสามรัฐ) ที่แต่งโดย หลอกว้านจง

ด้วยเหตุที่สามก๊กฉบับวรรณกรรมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทยอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีงานที่เขียนถึงวรรณกรรมชิ้นนี้อยู่มากมาย งานศึกษานี้จะกล่าวถึงสามก๊กในแง่มุมประวัติศาสตร์จริงๆ แต่พอสมควร

และเป็นการศึกษาในฐานะที่มิใช่ผู้เชี่ยวชาญที่เจนจบเรื่องสามก๊ก ในแบบ “แฟนพันธุ์แท้” ที่แม่นยำจนรู้จักตัวละครหรือเหตุการณ์ในเรื่องไปเสียทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผิดไปจากความคาดหวังใดๆ ที่พึงมีก็ย่อมได้

สิ่งที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า งานศึกษาสามก๊กในแง่มุมที่เป็นประวัติศาสตร์นั้น ใช่ว่าจะไม่มีผู้ศึกษาเสียเลยทีเดียว ที่จริงแล้วมีอยู่ แต่ไม่มากนัก

และที่มีอยู่นี้มักจะกล่าวถึงแง่มุมที่ว่าปนไปกับแง่มุมที่เป็นวรรณกรรม จนบางทียากที่จะแยกออกว่าแง่มุมใดเป็นประวัติศาสตร์และแง่มุมใดเป็นวรรณกรรม

ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่ความผิดของผู้ศึกษา แต่เป็นเพราะเอาเข้าจริงแล้วแง่มุมทั้งสองนี้ก็ซ้อนทับกันอยู่ในหลายตอนหลายประเด็น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่งานศึกษานี้ใช้คำทับศัพท์เป็นภาษาจีนกลาง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่คุ้นชินกับวรรณกรรมสามก๊กที่ทับศัพท์คำจีนด้วยภาษาถิ่นฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนต้องนึกให้ได้ว่าคือคำใดที่ตนคุ้นชิน ในที่นี้จะระบุคำทับศัพท์เดิมในงานวรรณกรรมด้วยการกำกับคำนั้นไว้ในวงเล็บหนึ่งครั้ง

และเพื่อให้เรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้แตกต่างไปจากสามก๊กที่เป็นวรรณกรรมอย่างที่คุ้นเคยกัน ในที่นี้จึงเลี่ยงที่จะไม่เรียกเรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไปว่าสามก๊ก

แต่จะเรียกให้ต่างออกไปว่าสามรัฐ

 

จดหมายเหตุสามรัฐ กับเอกสารอื่น

ในฐานะผู้ให้กำเนิด จดหมายเหตุสามรัฐ หรือ ซานกว๋อจื้อ อันเป็นที่มาของวรรณกรรมเรื่อง สามกว๋อเอี๋ยนอี้ (นิยายอิงประวัติศาสตร์สามรัฐ) หรือสามก๊ก จึงควรที่จะได้ทำความรู้จักกับเฉินโซ่วก่อนเป็นปฐม

เฉินโซ่ว (ค.ศ.233-297) มีชื่อรองว่า เฉิงจว้อ มีชีวิตในยุคสามรัฐ (ซานกว๋อ, ค.ศ.220-280,) ต่อเนื่องกับยุคราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420)

เขาเกิดที่เมืองอานฮั่น ปัจจุบันนี้คือเมืองหนานชงในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)

กล่าวกันว่า เฉินโซ่วได้รับการศึกษาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจนเรียนรู้ได้เร็ว

และวิชาที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือประวัติศาสตร์

จากความสนใจนี้ทำให้เฉินโซ่วสามารถจดจำตำราในแนวที่ว่าได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะซ่างซู (รัฐตำนานปกรณ์) ที่ว่าด้วยเรื่องราวทางการเมืองในยุคต้นประวัติศาสตร์จีนที่ชำระโดยขงจื่อ (ก.ค.ศ.551-479) และ จว่อจ้วน (อรรถกถาจว่อ) ที่อธิบายขยายความปกรณ์ ชุนชิว (วสันตสารท) อันเป็นตำรายุคต้นประวัติศาสตร์จีนอีกเล่มหนึ่งที่ชำระโดยขงจื่อเช่นกัน ส่วน สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ของซือหม่าเชียน และ ฮั่นซู (ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น) ที่เป็นตำราร่วมสมัยเดียวกับเขานั้นก็ยิ่งจดจำได้ดี

ในฐานะบัณฑิต เฉินโซ่วได้รับราชการเป็นขุนนางในรัฐสู่ (จ๊กก๊ก) หรือสู่ฮั่น ที่เป็นหนึ่งในสามรัฐที่ทรงอิทธิพลในยุคสามรัฐ

ชีวิตขุนนางของเขาไม่สู้จะราบรื่นนัก ด้วยว่าเขาไปมีความขัดแย้งกับฮว๋างเฮ่า ขันทีกังฉินที่รับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์หลิวซ่าน (อาเต๊า) ที่สืบทอดอำนาจต่อจากหลิวเป้ย (เล่าปี่) ผู้เป็นราชบิดา

ความขัดแย้งนี้มีที่มาจากเฉินโซ่วไม่ยอมก้มหัวให้ฮว๋างเฮ่า

และจากเหตุนี้ ฮว๋างเฮ่าจึงใช้อิทธิพลของตนผลักดันกษัตริย์หลิวซ่านให้ย้ายเฉินโซ่วออกจากเมืองหลวงไปรับราชการยังเมืองที่ห่างไกล

 

ตอนที่เฉินโซ่วถูกย้ายนั้นรัฐสู่กำลังเข้าสู่ยามสนธยา จนรัฐสู่ล่มสลายใน ค.ศ.263 ไปแล้วอีกสองปีคือใน ค.ศ.265 เฉินโซ่วจึงได้ย้ายไปอยู่ที่รัฐเว่ย

ที่รัฐนี้เฉินโซ่วได้รู้จักกับขุนนางคนหนึ่งชื่อ จางฮว๋า (ค.ศ.232-300) ซึ่งชื่นชมในความรู้ความสามารถและการไม่ติดยึดในลาภยศสรรเสริญของเฉินโซ่ว

และเห็นว่า คนอย่างเฉินโซ่วไม่สมควรที่จะถูกลดชั้นจนถูกปลดออกจากตำแหน่งดังที่อยู่ในรัฐสู่

จางฮว๋าจึงชักชวนเฉินโซ่วให้มารับราชการที่รัฐเว่ย ที่ซึ่งต่อมาก็คือที่ตั้งราชสำนักของราชวงศ์จิ้น

ชีวิตและงานในราชสำนักจิ้นมีข้อมูลไปสองทาง

ทางหนึ่งเล่าว่า หน้าที่การงานของเขาไม่สู้จะราบรื่นนัก ทั้งนี้ เป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่สองคนที่สนับสนุนเฉินโซ่วมีความขัดแย้งกัน เลยทำให้ตำแหน่งของเขามีอุปสรรค

อีกทางหนึ่งเล่าว่า หน้าที่การงานของเฉินโซ่วเจริญก้าวหน้าก็ด้วยการสนับสนุนของขุนนางผู้ใหญ่สองคนนั้น

ทางหลังนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ในสายตาของขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสองนั้นเห็นว่าความรู้ความสามารถของเฉินโซ่วนั้นเหนือกว่าซือหม่าเชียนด้วยซ้ำไป

แต่ไม่ว่าทางใดจะเท็จจะจริงอย่างไร ข้อมูลหนึ่งที่กล่าวสอดคล้องต้องกันก็คือ หนึ่งในสองของขุนนางผู้ใหญ่ที่ว่านั้น ไม่สู้จะพอใจผลงานบางบทของ จดหมายเหตุสามรัฐ ในส่วนที่ว่าด้วยรัฐเว่ยมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตาม เฉินโซ่วได้ผลิตงานเขียนขึ้นมาราว 200 ชิ้น

ในจำนวนนี้มีอยู่ 30 ชิ้นที่เขาเขียนร่วมกับคนอื่น

ในบรรดานี้ผลงานชิ้นที่มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานกันย่อมต้องเป็นจดหมายเหตุสามรัฐอยู่แล้ว

 


จดหมายเหตุสามรัฐ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่จีนถูกแบ่งเป็นสามรัฐ

บันทึกนี้จึงว่าด้วยเรื่องราวของรัฐทั้งสามอันประกอบไปด้วยรัฐเว่ย (วุยก๊ก) รัฐสู่ (จ๊กก๊ก) และรัฐอู๋ (ง่อก๊ก)

วิธีการบันทึกจะเป็นไปโดยแบ่งอธิบายเรื่องราวของรัฐทั้งสามไปทีละรัฐ

โดยเรื่องราวของรัฐเว่ยจะมีอยู่ 30 บท รัฐสู่ 15 บท และรัฐอู๋ 20 บท รวมแล้วจะมีทั้งหมด 65 บท จากทั้งหมดนี้จะสังเกตได้ว่า เรื่องราวรัฐสู่มีน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่เฉินโซ่วเองก็เริ่มรับราชการที่รัฐนี้ ซึ่งดูจะขัดแย้งกับเรื่องของสามรัฐฉบับวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวของรัฐสู่อย่างพิสดาร

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุสามรัฐ ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสี่พงศาวดารที่เรียกรวมกันว่า สี่พงศาวดารสมัยแรก (เฉียนซื่อสื่อ)

โดยพงศาวดารอีกสามในสี่ชิ้นก็คือ สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ของซือหม่าเชียน ฮั่นซู (พงศาวดารฮั่น) และ โฮ่วฮั่นซู (พงศาวดารฮั่นสมัยหลัง)

สี่พงศาวดารสมัยแรก เป็นบันทึกประวัติศาสตร์จีนชุดแรกจากที่มีอยู่ 24 ชุด โดยชุดที่ถัดจากสี่พงศาวดารฯ ก็คือบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ต่างๆ หลังราชวงศ์ฮั่น และบันทึกในลำดับที่ 24 ก็คือบันทึกของราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644)

ส่วนบันทึกของราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ยังไม่มีการชำระและเรียบเรียงมาจนทุกวันนี้

หากทำสำเร็จเมื่อไรแล้ว เรื่องราวของราชวงศ์ชิงก็จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์จีนชุดที่ 25

ส่วนเหตุผลที่ว่า เหตุใดบันทึกของราชวงศ์ชิงจึงยังไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่ราชวงศ์นี้ก็ล่มสลายมากว่าร้อยปีแล้ว

เรื่องนี้มีที่มาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างราชบัณฑิตของฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่กับฝั่งจีนไต้หวัน ที่ต่างมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่อย่างไรเสียก็ไม่อาจบันทึกร่วมกันได้

เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการอธิบายเหตุการณ์ไปตามทัศนะทางการเมืองของตน

ในเมื่ออุดมการณ์ต่างกัน ทัศนะก็ย่อมต่างกันไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยากที่เราจะได้เห็นบันทึกชุดที่ 25