อัญเจียแขฺมร์ : แด่ หนุ่มสาว (2)

อภิญญ ตะวันออก [email protected]

ในสวนดอกไม้ ในสวนวิทู

ฉันมักจะหงุดหงิด แต่ก็เข้าใจได้ว่ามักเป็นเรื่องหนึ่งที่ฉันมักตะไล-ตามใจไปกับการร่ายชื่อตัวละครเขมรในแบบต่างๆ และมีบางครั้ง-ที่ทำให้ฉันลังเลทดลองไปกับการสะกดชื่อตัวละครในแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลภาษาที่หยิบมาใช้

จนดูเหมือนฉันกลายเป็นคนที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายในวิธีสะกดชื่อของชาวเขมร คงเหมือนที่สำนักบางแหล่งเรียก พล พต ว่า สล็อต ซาร์/Slot S?r ทั้งที่จริงคือ สล็อต ซอ/ขาว

และอีกคราวหนึ่งฉันเรียกสถาปนิก Vann Monivann/วัน โมนีวรรณ ในแบบไทย แต่ในบางครั้งก็อยากสะกดเป็นโมนีวัณณในแบบภาษาเขมร

โดยเหตุที่ฉันวนเวียนติดพันกับค่าผันแปรในหัวข้อนี้

ในที่สุดฉันก็ไปลงโทษที่ตัวเอง โดยการเปลี่ยนสะกดคำอภิญญามาเป็นอภิญญแบบแขฺมร์ซะเอง

ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันมา โดยเฉพาะชื่อเฉพาะบนฐานการสะกดแบบไทย ก็หาความหมายกันไป ตั้งแต่บัตตัมบอง/พระตะบอง เสียม/สยาม เสียมเรียบ/เสียมราฐ (ไม่ยักจะใช่สยามราฐ) สีโสวัตถิ์/ศรีสวัสดิ์

ฉะนั้น ใครจะสนละว่า ซวง ซีคอน (Suong Sik?un) ฉบับที่แล้วจะกลายเป็น ซวง ซีเกือน ในฉบับนี้ ซึ่งที่มาก็คือ ฉันสะกดชื่อของเขาจากฉบับต้นทางภาษาฝรั่งเศส แต่ปลายทางความคิดกลับเป็นแบบภาษาอังกฤษ และกลางทางที่หมายจะเห็นจากภาษาเขมรเปรียบเทียบนั้น

ก็มาไม่ทันอารมณ์คนหนุ่มสาวอย่างฉัน ที่มักโถมไปกับความคิด

 

แต่พวกคนหนุ่มที่มีชีวิตพุ่งโพลงไปด้วยความฝัน ความคิดและจินตนาการ อย่าง จิออร์จิโอ ฟาเบร็ตติ (Giorgio Fabretti) ตอนนั้น คงไม่มีใครคาดนึกหรอกว่า นักก่อตั้งกองทุนพิทักษ์พล พต (Save Pol Pot Fund) นักข่าวอิตาลีผู้นี้จะมีความฝันอันเดียงสาต่อ สล็อต ซอ/พล พต ถึงเพียงนั้น

แต่หลังจากปี ค.ศ.1997 ที่เขาเริ่มเคลื่อนไหวราวกับไม่มีความหมายและผิดที่ผิดเวลา

หลายปีผ่านไป มันก็ได้พิสูจน์ว่า เรื่องของฟาเบร็ตติหนุ่มในตอนนั้น ยังแฝงด้วยมุมมองของการตีความและการให้คุณค่าทฤษฎีสังคมนิยมแบบกัมปูเจียที่มักถูกโจมตีว่า โง่เขลา ต่ำทราม และมีแต่ความบ้าคลั่งรุนแรง ปราศจากความเป็นมนุษย์

ซึ่งถ้าในความหมายของงานอย่าง : Itin?raire d”un Intellectuel Khmer Rouge จะทำให้หลายคนจมไปกับความคิดในเชิงสะเทือนอารมณ์ต่อวิถีปัญญาชนหนุ่มสาวเขมรที่หลายคนล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อแห่งลัทธิชาตินิยมและความเกลียดชังแล้ว

นับประสาอะไรที่ จิออร์จิโอ ฟาเบร็ตติ จะปลาบปลื้มชื่นชมกับ พล พต บ้างไม่ได้

ดังที่ในเดือนกันยายน ค.ศ.1998 เขาเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงเดอะแคมโบเดียเดลี่

ถ้าฟาเบร็ตติยังอยู่และรับรู้ได้ เขาควรจะภูมิใจที่ความคิดบางประเด็นของเขา ถูกนำไปกล่าวเป็นวาทกรรมซ้ำๆ ในศาลเขมรแดง

เหมือนที่ ซวง ซีเกือน, สหายคง/สหายทน, ชื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งในปี 2012 เขายังมีรหัสนามว่า : TCW-694 ในฐานะพยานอดีตผู้นำเขมรแดง เอียง ซารี บุคคลที่เขาใกล้ชิดและภักดีประหนึ่งครอบครัวเดียวกัน

และเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้เขาเขียน “บนรอยทางปัญญาชนเขมรแดงคนหนึ่ง” อย่างเหมาะด้วยเวลา

จนแม้อดีตภรรยาผู้ใกล้ชิดอย่าง ลอเรนซ์ พิกก์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขาในเชิงความคิดและความเจ็บปวดร่วมกันในต่างกรรมต่างวาระ

รวมกับนี่คือเรื่องราวของปัญญาชนโดยแท้ ซวง ซีเกือน จึงแทบไม่เคยปริปากถึงอดีตคู่ชีวิตในเชิงโรแมนติกที่พวกเขาต่างใช้ชีวิตหนุ่มสาวร่วมกัน

ผ่านช่วงเวลายุคปฏิวัตินักศึกษาพฤษภาคม/1968 ชีวิตที่หอบหิ้วเดินทางไปทุกหนแห่งร่วมกันทั้งคิวบา-ฮาวาน่า มอสโกร่วม 2 เดือน ที่ซึ่ง ซวง ซีเกือน และพิกก์ร่วมพบปะนิสิตเขมรในมอสโก และแวะเยี่ยมสถาบันเลนิน ซีเกือนวิพากษ์ขบวนการหนุ่มสาวมอสโกว่าไม่สู้จะเปิดกว้างในกิจกรรมทางความคิด เมื่อเปรียบกับขบวนการฝ่ายซ้ายและปัญญาชนในปารีส

และทำให้ทราบว่า สหภาพโซเวียตขณะนั้นให้การรับรองรัฐบาลลอนนอล จนสีหนุเปลี่ยนแผนไปจัดตั้งรัฐบาลต่อสู้ที่กรุงปักกิ่ง

และที่นี่ ตอนฤดูร้อนของปี 1970 เมื่อคนทั้งสองไปถึงและอาศัยในอาคารหนึ่งของโรงแรมมิตรภาพที่สหายกลุ่มเอียง ซารี อาศัยราวเป็นครอบครัวเดียวกัน

ในปีถัดมา ซวง-พิกก์ก็ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก-นาเร็นลืมดูโลกที่ปักกิ่งด้วยนายแพทย์อเมริกันผู้ทำคลอด และยังเป็นหมอประจำตัวคนเดียวกับท่านประธานเหมาอีกด้วย

ทั้งสองยังอยู่ในปักกิ่งถึง 4 ปี กว่าที่ซีเกือนจะเดินทางไปเขตปลดปล่อยที่เวียดนามใต้, กัมพูชา และต่อมาเขาถูกส่งไปสมทบ เอียง ทีริต, ลอง นาริน ในกองงานวิทยุและโฆษณาที่กรุงฮานอย (1974)

ซีเกือนนั้นถึงกับเผชิญกับโรคคิดถึงบ้าน วันๆ เอาแต่ดูรูปถ่ายลูกสาวทั้งสอง (โดยละที่จะกล่าวคิดถึงภรรยา)

แต่ความจริงก็ประจักษ์ว่า เมื่อพิกก์หอบลูกสาว 2 คนมาสมทบกับเขาที่พนมเปญ เธอประสบกับความหายนะ

ลอเรนซ์ พิกก์ บรรยายว่า มันคือร่องรอยความเจ็บปวดตั้งแต่ครั้งที่เธอถูกส่งตัวไปอยู่ที่ค่ายกักกัน B-1 ในความผิดข้อหา “วิพากษ์องค์การ”

แต่สหายทน-ชื่อจัดตั้งสามีของเธอ กลับเพิกเฉยอดทนต่อภรรยาที่ถูกองค์การลงโทษ ราวกับเกรงว่าหน้าที่การงานของตนจะวินาศไปด้วย

หนังสือเล่มนี้ คือ “กับดักเขมรแดง” (Le pi?ge khmer rouge) ที่ ลอเรนซ์ พิกก์ เขียนขึ้นและตีพิมพ์ในปี 2013 หลังจากอดีตสามีไปให้การที่ศาลเขมรแดงเพียงครึ่ง!

และเว้นห่างจาก “โพ้นขอบฟ้า : ห้าปีกับชีวิตเขมรแดง” (Au-Del? du ciel : cinq ans chez les khmer rouges, 1984) ถึง 29 ปีที่ทำให้เรื่องราวในความสัมพันธ์เธอ-เขาต่างค่อยๆ เปิดเผยออกมา

ราวกับทั้งสองต่างเลี่ยงที่จะไม่ “เอ่ย” ถึงซึ่งกัน

 

ในตอนหนึ่งของเนื้อหา มันคือการที่เธอถูกส่งไป “อบรม” ที่ค่ายบี-1 โทษฐานที่เธอเกิดมาเป็นชาวฝรั่งเศส-หญิงต่างชาติที่น่าชิงชัง และ ลอเรนซ์ พิกก์ น่าจะเป็นสตรีต่างแดนเพียงคนเดียวที่เหลือรอดชีวิตจากระบบพล พต

เธอถูกลงโทษให้เขียนคำสารภาพ แต่ ลอเรนซ์ พิกก์ เลือกที่จะต่อสู้กับความเป็นมนุษย์ จากการปกป้องตนเองไม่ให้ถูกล้างสมอง เธอกลายเป็นกบฏต่อระบบที่แม้แต่สามีของเธอก็ไม่ออกมาปกป้อง ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะไปเยี่ยมเยียนลูกๆ ซึ่งถูกพรากไปเลี้ยงดูในค่ายเด็กอีกแห่งหนึ่ง

ถึงตอนนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่า ลอเรนซ์ พิกก์ ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่ง พิกก์น่าจะได้รับการติดต่อให้เป็นพยานปากสำคัญอันเกี่ยวกับ B-1 : เขตกักกันเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศที่ เอียง ซารี ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกระทำทารุณกรรมต่อมนุษยชาติ

แต่ เอียง ซารี ก็ชิงลาโลกไปเสียก่อน และ ลอเรนซ์ พิกก์ ไม่เคยรับเชิญเป็น TCW ให้แก่ฝ่ายใดทั้งโจทก์และจำเลย

โดย ซวง ซีเกือน นั้นยอมรับว่า มันเป็นความผิดพลาดของตนที่สมรสกับหญิงต่างชาติ และทำให้เธอต้องถูกลงโทษจากองค์การ โดยที่เขาเองไม่กล้าออกมาปกป้อง เพียงเพราะเกรงกลัวอาญาธอร์/ทางการ

ซึ่ง ลอเรนซ์ พิกก์ นั้น ก็ไม่เคยปริปาก ตัดพ้อต่อว่า ในความเจ็บปวดอันเกิดจากจากความรักที่เธอตัดสินใจผิดพลาดในความโดดเดี่ยวไร้ทางออกของ ลอเรนซ์ พิกก์ เมื่อถูกส่งไปอบรมสติ ที่เธอเรียกมันว่า คือการล้างสมอง เพื่อเคารพต่อองค์การและกล่าวว่าตนเองที่กระทำผิดไป แบบเดียวกับที่ ซวง ซีเกือน ต้องเขียนคำสารภาพผิดว่าตนเป็นจารชนซีไอเอ

ที่จริง ซวง ซีเกือน ควรถูกส่งตัวไปตวลสแลง (S-21) หรือบี-1 (แล้วแต่โทษหนักเบา) แบบเดียวกับภรรยา แต่มีบางอย่างที่ทำให้เชื่อว่า เอียง ซารี ได้ปกป้องเขาไว้รวมทั้ง เกียต ชน และ จวนน์ ประสิต ซึ่งมีหลักฐานไม่ชัดเจนจาก เอียง ซารี ที่ค้าน พล พต โดยกล่าวว่า

หากนำสองคนนี้ไปลงทัณฑ์ แผนกต่างประเทศก็ถึงกาลต้องปิดตัว

 

แต่พิกก์และซวงก็เหลือรอด พวกเขาอยู่กันเช่นไร? จนพนมเปญถูกกองทัพเวียดนามยึดครอง ซึ่งทำให้ ลอเรนซ์ พิกก์ ต้องหอบหิ้วลูกๆ ข้ามฝั่งไปชายแดนไทยและเป็นเหตุให้ทารกคนที่ 3 และบุตรชายคนแรกที่เกิดต้นปี ค.ศ.1979 ของพวกเขาต้องเสียชีวิตไปซึ่งหน้า

พิกก์กลับฝรั่งเศสไปกับลูกๆ แต่ไม่นานเธอก็ไปเจนีวาเพื่อพบกับ ซวง ซีเกือน ที่นั่นร่วมสี่เดือนก่อนเขาจะเดินทางไปยูเอ็นกรุงนิวยอร์ก ในฐานะตัวแทนคณะกัมพูชาประชาธิปไตย

ทว่า ความสัมพันธ์ที่สวิตเซอร์แลนด์ และความบาดหมางการเมืองที่กัมพูชานั้นได้ถูกชำระสะสางเมื่อ ลอเรนซ์ พิกก์ กลับให้กำเนิดเด็กชายนิโกลาส์

ช่างซับซ้อน อ่อนไหวและยากจะนิยามในความรักของพิกก์-ซวง ที่เริ่มต้นสวยงามจากอุดมคติทางการเมืองที่งดงามในแบบหนุ่มสาวยุค 60″s

ที่สุดแล้ว การเรียนรู้ความเจ็บปวดอันเกิดจากขบวนการเปลี่ยนสังคมกัมพูชา ที่เธอและเขาพลีชีพร่วมแนวทางมาแต่ต้น จึงไม่แปลกเลยที่เธอและเขาจะสูญเวลาแห่งความหวัง

ไปกับวันคืนอันโหดร้าย


เชิงอรรถ : http://www.cambodiadaily.com>archives