สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูขวัญศิษย์ ตามรอยลายสือไทย (2) ว่าด้วยศิลาจารึกหลักที่1

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ศิลาจารึก หลักที่ 1

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เอกสารอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ของชาติไทย (หมายเลข 1)

กล่าวถึงความเป็นมาของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

การเมือง การปกครองขนบธรรมเนียม ประเพณี

วัฒนธรรมและวิถีชีวิต การประดิษฐ์ลายสือไทย

และระบบการศึกษาเป็นครั้งแรก

สุโขทัยจึงหมายถึง รุ่งอรุณแห่งความสุข

รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ พิบูลสงครามและเชียงใหม่ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย อุปนายกสมาคมลายสือไทยจังหวัดสุโขทัย มอบเอกสารปึกย่อม 18 หน้า ให้ผมระหว่างรอ ครูทุเรียน พรมมิ ครูผู้เชี่ยวชาญการแกะรอยลายสือไทย เล่าประสบการณ์การทำงานของเธอ

เอกสารที่ว่ามีที่มาจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ อักษรไทย ภาษาไทย พุทธศักราช 1826 ขนาดกว้าง 35 ซ.ม. หนา 35 ซ.ม สูง 111 ซ.ม. เดิมอยู่ที่เนินปราสาทเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (กรุงเทพฯ)

 

จากการถอดความ รวบรวม เรียบเรียง สาระเป็นการเปรียบเทียบการเขียนการอ่านกับอักษรปัจจุบัน โดย นางทองเจือ สืบชมภู ครูอาวุโสอายุ 89 ปี เคยเป็นครูภาษาไทยดีเด่น โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัย อุปนายกสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัยคนที่สอง

ครูทุเรียน พรมมิ ครูเชี่ยวชาญรุ่นต่อมา แกะรอย พัฒนา ทำให้เกิดการเรียนการสอนทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการจนเกษียณราชการ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก สมาคมลายสือไทยจังหวัดสุโขทัย มี นายสามัญ รักษ์บริสุทธิ์ศรี นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัย เป็นนายกสมาคม

นอกจากจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสถานศึกษาสอนในโรงเรียนต่อเนื่องติดต่อกันจนถึงขณะนี้ ยังจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา ครอบครัว ชุมชน เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ศึกษาหลักศิลาจารึก การเขียนประสมคำลายสือไทย จนทำให้เกิดการเปิดเวทีแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ ขยายไปสู่การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะในพื้นที่และนอกพื้นที่ต่อไปอีก

เป้าหมายมิใช่แค่เพียงการศึกษาเพื่อการศึกษา เพื่อสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เทิดทูนพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเท่านั้น แต่เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ นำเนื้อหาสาระ แนวคิด ปรัชญาที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกที่แกะรอย มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

“ความเข้าใจในชีวิตของกันและกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมที่สงบสุขและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไปจนถึงอนาคต” ครูทุเรียนเขียนไว้ในบันทึกสืบสานลายสือไทยของเธอ

ซึ่งเป็นที่มาของการเดินหน้าขยายผลออกไปจากโรงเรียนสู่ชุมชน ในนามโครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะโดยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

 

ผลงานการจากการมุมามะ ทุ่มเทของครูทุเรียนติดต่อกันนานหลายปี จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูได้รับการพิจารณาเป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ระดับครูขวัญศิษย์

“ตอนที่ครูทุเรียนได้รับการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นข้าราชการระดับ 9 เทียบเท่ารองอธิบดี รองผู้ว่าฯ ข้าราชการและครูทั้งจังหวัดฮือฮา แปลกใจกันมากว่า ครูโรงเรียนเทศบาล สอน ป.1 ได้รับเลื่อนขั้นเป็นครูซี 9 ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยได้ง่ายๆ”

“ครูส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เป็นการปรับระดับตำแหน่งในสายวิชาการ จากผลงานที่โดดเด่นชัดเจน ไม่ใช่สายบริหาร โรงเรียนเทศบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพิจารณาแล้วเห็นว่ามีคุณสมบัติ ความสามารถถึงเกณฑ์ควรได้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่งเสริมให้คนเป็นครูพัฒนาตัวเอง ครูทองเจืออาวุโสเป็นรุ่นครูผม ส่วนครูทุเรียนเป็นรุ่นลูกศิษย์ ผมอยู่ตรงกลาง”

รศ.ดร.มังกรเล่าความเป็นมา

 

ครูทุเรียนเคยเป็นนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพลตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบประถม 7 ศึกษาต่อโรงเรียนการช่างสตรีประจำจังหวัดสุโขทัย 3 ปี ต่อวิทยาลัยครูพิษณุโลก ต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนจบปริญญาตรีสาขาศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย รับราชการเป็นครูโรงเรียนเทศบาลวัดไทยชุมพล สอนวิชาภาษาไทยตลอดมาจนเกษียณราชการปี 2555

เธอเล่าความเป็นมาถึงแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้า แกะรอยลายสือไทยจากหลักศิลาจารึก ว่า อาจารย์ ดร.มังกร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ชวนและกระตุ้นให้เขียน หาวิธีถ่ายทอด วิเคราะห์ข้อความ เทียบกับของเดิม ความยาว 124 บรรทัด 4 ด้าน แปลความเป็นภาษาไทยสมัยใหม่

เริ่มทำตั้งแต่ปี 2541 หลักที่ 1 แกะเสร็จสร้างเป็นนวัตกรรมการศึกษา ทำหลักสูตรประกอบการเรียนการสอนปี 2542 สร้างแบบเรียนอักษรลายสือไทย แบบฝึกเขียนลายสือไทยขั้นพื้นฐาน แบบฝึกทักษะหลักสูตรท้องถิ่นลายสือไทย ใช้เรียนในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนผ่านการเรียนในหลักสูตรนับพันคน จัดอยู่ในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ชั้นมัธยม 4-6 ยังไม่ได้เริ่ม

ขั้นตอนการผสมคำ พยัญชนะเดิมมี 39 ตัว ของใหม่มี 44 ตัว สระเดิมมี 20 รูป วรรณยุกต์ 2 รูป เอกกับโท ภาษาไทยดั้งเดิมเป็นอย่างไร ต่อมาเปลี่ยนเป็นปัจจุบันอย่างไร การเรียนจะสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปตลอด

ใช้หลักศิลาจารึกเป็นสื่อ เป็นเครื่องมือ แยกเป็นด้านๆ ศิลาจารึกเขียนไว้อย่างไร เอามาเชื่อมโยงกัน เอาหลักสูตรใหม่เป็นฐานสร้างสุขภาวะทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา

สมาคมลายสือไทยจัดรุ่นแรก กระบวนการอ่านเขียนเรียนรู้ลายสือไทยจากหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 อบรมครูทุกปีให้ไปสอนในโรงเรียนของตัว รุ่นที่ 2 ครอบครัว ชุมชน รับสมัคร 100 คน มา 300 คน

 

ทางจังหวัด เทศบาลสนับสนุนต่อเนื่อง สมาคมลายสือไทยเกิดเมื่อปี 2541 ไม่ยุ่งเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องที่มาศิลาจารึกปลอมหรือไม่ปลอม เราทำงานอนุรักษ์ของเราไป ที่ครูทองเจือท่านรวบรวมเอกสาร ความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจติดตามข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เอาไปประกอบการวินิจฉัย เป็นจุดยืนความคิดเห็นของท่าน

เทศบาลเมืองสุโขทัยธานีและสมาคมลายสือไทยจังหวัดสุโขทัย จัดทำเป็นหนังสือ ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มรดกความทรงจำแห่งโลก คือของจริง พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2552 หลังจากประเด็นข้อถกเถียงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2532

“เราไม่ว่าอะไรกัน คนเราคิดต่างกันได้ สำคัญที่ความจริงคืออะไร อยู่ที่หลักฐาน หน้าที่เราทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจที่เขาเขียนได้ อ่านได้ มีผลดีต่อการเรียนและพฤตินิสัยของเด็ก บันทึกความดีของเด็ก ได้รับการยกย่องชื่นชมจากโรงเรียนอื่นๆ ปัจจุบันไม่มีบุคคลากรที่จะสอนเรื่องนี้มากพอ” ครูทุเรียนย้ำ

“หลักสูตรและการสอนภาษาไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร” ผมตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลง

คำตอบของเธอสะท้อนมุมมองที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงการสอนสมัยใหม่อย่างไร ไว้ว่ากันต่อไป