อ่าน “หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ อดีตนายกฯ บรรหาร” (1) : “สายสัมพันธ์ในหลวง ร.9 กับบรรหาร”

คลิกอ่านตอนจบ

ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ “นายบรรหาร ศิลปอาชา” ครอบครัวผู้ถึงแก่อนิจกรรมได้จัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์จำนวนสองเล่ม คือ (1) มังกรสุพรรณคืนฟ้า และ (2) เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย

เล่มแรก เป็นข้อเขียนจากครอบครัวและบุคคลสำคัญในทางการเมือง 5 ท่านที่เคยร่วมงานกับนายบรรหาร ได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ), ประเวศ วะสี, อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย, มีชัย ฤชุพันธุ์ และวิษณุ เครืองาม พร้อมภาพถ่ายบอกเล่าแต่ละช่วงชีวิตของนายบรรหาร

ส่วนเล่มหลัง เดิมทีคือประวัติชีวิตของนายบรรหาร ที่เตรียมจัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 84 ปี

แต่การเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ทำให้หนังสือที่เตรียมจัดพิมพ์ในวันเกิด กลายเป็นหนังสืองานศพแทน

จุดเด่นของ “มังกรสุพรรณคืนฟ้า” อยู่ที่ข้อเขียนของวิษณุนั่นเอง

บุคคลสำคัญท่านอื่นๆ เขียนถึงนายบรรหาร คนละ 1 หน้า 2 หน้า ทั้งยังเขียนถึงในลักษณะที่เป็นทางการอย่างมาก

แต่วิษณุเขียนถึงบรรหาร 9 หน้า ไล่เรียงตั้งแต่การพบปะกันครั้งแรกระหว่างทั้งคู่ ในเดือนมกราคม 2534 ระหว่างที่วิษณุเข้าไปรายงานตัวกับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีป้ายแดง

ก่อนลากยาวถึงวันสุดท้ายของชีวิตนายบรรหาร เมื่อวิษณุสั่งร้านดอกไม้ให้จัดแจกันดอกไม้ไปเยี่ยม “แต่วันรุ่งขึ้นนั้นเองดอกไม้ยังส่งไปไม่ถึง มีผู้โทร.มาปลุกผมแต่เช้าตรู่แจ้งว่าท่านนายกฯ บรรหารถึงแก่อสัญกรรมแล้ว”

วิษณุผูกพันกับนายบรรหาร เพราะเป็น “นายคนหนึ่งของผมในจำนวนนายกรัฐมนตรี 8 คนที่ผมเคยทำงานด้วย” ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

หากแต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ไม่ได้จบลงเมื่ออีกฝ่ายลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบนายกับลูกน้อง

ลากยาวไปสู่ความสัมพันธ์ชุดอื่นๆ รวมแล้วกว่า 25 ปี

ข้อเขียนของวิษณุ ไม่เพียงบอกเล่าสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างนายบรรหารและวิษณุ หากแต่ยังเป็นข้อเขียนที่บอกเล่าสายสัมพันธ์แห่งความจงรักภักดีที่นายบรรหารมีต่อสถาบันกษัตริย์ ได้เป็นอย่างดี ในยุคที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกตั้งคำถามในเรื่องนี้

ความเป็นคนจงรักภักดี

วิษณุเล่าว่า คุณธรรมสำคัญในตัวบรรหารคือ

“ความเป็นคนจงรักภักดี ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกตำแหน่ง ท่านก็พูดถึงและปฏิบัติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความเคารพนับถือเสมอต้นเสมอปลาย และอธิบายให้คนรอบข้างฟังได้อย่างดีว่าบ้านเมืองนี้อยู่มาได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างไร ท่านจะเป็นเดือดเป็นร้อนทุกครั้งเมื่อทราบว่ามีคนจ้วงจาบหรือขาดความคารวะยำเกรงผิดวิสัยของคนไทย”

เหมือนกับที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เขียนถึงบรรหารว่า “ใครจะมองท่านอย่างไรไม่รู้ แต่ผมเห็นว่าท่านเป็นนักการเมืองที่นึกถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหมดหัวใจ”

วิษณุยังเล่าถึงสายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับบรรหาร ไว้อย่างละเอียดว่า เมื่อนายกฯ บรรหารเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อรัฐมนตรีคณะใหม่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ตอนหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งถามนายกฯ “หนักใจไหม”

นายกฯ บรรหาร กราบบังคมทูลว่า “หนักใจ เพราะแม้เคยทำงานการเมืองมามาก แต่ก็ไม่เคยเป็นนายกฯ”

“ทรงพระสรวลรับสั่งว่า ถ้าไม่เริ่มต้นก้าวแรก ก็ไม่มีการดำเนินก้าวต่อไป เมื่อแรกรับราชสมบัติ พระองค์เองก็ไม่เคยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นายกฯ บรรหารเคยเป็นรัฐมนตรี เคยบริหารมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น แต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิมและทำให้มากขึ้น เคยทำกับสุพรรณฯ อย่างไร ก็ทำอย่างนั้น แต่ต้องทำแก่ประเทศไทยให้ทั่วถึง”

รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

วิษณุย้ำว่า ในยุคสมัยของบรรหาร ถือเป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีชาวสุพรรณฯ ผู้นี้ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะการเตรียมงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่ง “รัฐบาลได้เตรียมการจัดงานถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ นายกฯ บรรหารไปตรวจการก่อสร้างพระเมรุมาศและการซ่อมราชรถด้วยตนเองทุกสัปดาห์ บางครั้งไปกลางวันแล้วยังออกไปเดินดูตอนกลางคืนอีกด้วยว่าเวลาประดับไฟจะเป็นอย่างไร ดึกๆ ประชาชนผ่านไปมามีความปลอดภัยและสะดวกไหม”

นายกฯ บรรหารจัดแบ่งหมวดหมู่งานที่เกี่ยวเนื่องกับการรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาท ว่ามีสามเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ เรื่องน้ำ เรื่องจราจร และปัญหาความยากจนของราษฎร

ตัวอย่างเช่น ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เมื่อนายกฯ บรรหารได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้ “ทรงยกตัวอย่างถนนบางสาย การระบายการจราจร การขยายถนน สะพาน นายกฯ บรรหารดูจะสนองพระราชปรารภได้ดีว่าถนนสายไหน อยู่ที่ไหน การก่อสร้างมีปัญหาอย่างไร เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีคมนาคมมาแล้ว มาถึงตอนหนึ่ง รับสั่งว่าบางครั้งรถติดเพราะถนนตัน ซอยตัน ถ้าทำให้ทะลุถึงเชื่อมถึงกันก็แก้ปัญหาได้ อย่างในซอยข้างบ้านนายกฯ ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ลึกเข้าไปเป็นซอยตัน ทั้งปลายซอยยังแคบ แถมมีแอ่งมีหลุม ถ้าถมเสีย แล้วขยายปลายซอยให้กว้าง หาทางไปเชื่อมกับอีกซอย รถจะเลี้ยวเข้าออกแก้ปัญหาจราจรที่แยกสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้”

นายกฯ บรรหารถึงกับกราบบังคมทูลว่ายังไม่เคยเข้าไปดูในซอย “รับสั่งว่าฉันก็ไม่เคยไป แต่ดูจากภาพถ่ายทางอากาศ และฟังวิทยุรายงานการจราจรจนเห็นภาพ”

กลับจากเข้าเฝ้าฯ วันนั้น สิ่งที่นายกฯ บรรหารทำเป็นอันดับแรกคือ “วันนั้นนายกฯ บรรหารชวนผมขับรถเข้าซอยข้างบ้านไปดูให้เห็นกับตา ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่รับสั่ง จึงให้แก้ไขในเวลาต่อมา”

ในช่วงที่มีพระพิธีธรรม ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินทุกคืน เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็มักจะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถวายรายงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำ ปัญหาการจราจร

“เป็นโอกาสให้นายกฯ บรรหารได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสหลายครั้ง เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ…บางเรื่องทรงอธิบายแก่เจ้าหน้าที่แล้วรับสั่งว่า นายกฯ ลองไปช่วยคิดต่อว่าทำได้ไหม ฉันเองคิดมานานเพิ่งนึกได้ตอนฟังพระสวด บางครั้งก็รับสั่งว่า เรื่องนี้แม่เคยเห็นเขาทำกันที่โน่นที่นี่แล้วแก้ปัญหาได้ก็มาเล่าให้ฟัง พอนึกถึงแม่ก็เลยนึกถึงเรื่องที่ท่านเคยเล่า”

ในปี 2539 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

“ซึ่งนายกฯ บรรหารได้ลงมาเป็นแม่งานกำกับงานทุกมิติตั้งแต่ต้นเช่นเดิมด้วยความเอาใจใส่…ศิลปะการทำงานของท่านไม่ว่าในงานใดนับแต่งานพระเมรุมาศ งานประชุมผู้นำนานาชาติจนถึงงานกาญจนาภิเษก คือท่านจะเรียกเจ้าหน้าที่มาสอบถามรายละเอียดแบบกำหนดปฏิทินวันต่อวันว่าใครทำอะไร เมื่อใดและอย่างไร สงสัยอะไรยามใด เที่ยงคืนตีหนึ่ง ท่านก็โทร.ถามจนไม่มีใครกล้าลาไปต่างประเทศ”

นายกฯ บรรหารยังได้คำชมพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อนำบัญชีรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ที่ผ่านการสรรหา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

“ท่านนายกฯ และผมได้กราบบังคมทูลถวายรายงานสรุปวิธีดำเนินการ และความหลากหลายของสาขาอาชีพตลอดจนองค์กรผู้เสนอ และจำแนกเพศ วัย วุฒิ ประสบการณ์ ทอดพระเนตรอยู่นานแล้วรับสั่งว่า ทำได้เรียบร้อยดีนะ แต่ที่ว่าหลากหลายอาชีพยังไม่เห็นอีก 2-3 อาชีพ ดังนั้น เมื่อมีตำแหน่งลงในเวลาต่อมา จึงได้มีการเสนอบุคคลจาก 2-3 อาชีพที่ว่านั้น เรื่องนี้ท่านนายกฯ บรรหาร ภูมิใจมาก และมักพูดว่า เป็นประวัติศาสตร์”

นายกรัฐมนตรี

ที่เข้าเฝ้าฯ บ่อยที่สุด

วิษณุปิดท้ายด้วยการย้ำว่า นายกฯ บรรหารนั้น “ท่านเป็นคนจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก อะไรที่เป็นพระราชประสงค์ พระราชปรารภ จะสนองด้วยความกระตือรือร้น เรื่องนี้เด่นชัดมาก ในบรรดานายกฯ ทั้งหมดนี่ ผมได้ติดตามท่านไปเข้าเฝ้าฯ มากที่สุด เพราะตัวท่านเข้าเฝ้าฯ บ่อยที่สุด ในบรรดานายกรัฐมนตรีทั้งหมด สังเกตได้ว่า เวลาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชปฏิสันถารด้วยความคุ้นเคย เพราะบางทีก็เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด เล็กน้อย สนุกๆ ไม่เคร่งเครียด พระอารมณ์ดี”

ใน “เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย” ซึ่งเป็นหนังสืองานศพอีกเล่ม เล่าไว้ว่า ในช่วงที่บรรหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยเกิดความราบรื่นในทางการเมืองโดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล และในพรรคชาติไทยเอง “ก็ทำให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้นปวดศีรษะอย่างมาก และดูเหมือนว่า ที่พึ่งสูงสุดของนายกรัฐมนตรีก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

เหมือนที่บรรหารเล่าว่า “ผมก็กลุ้มใจ กินยาแก้ปวดได้ทุกวัน… ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง มีอยู่วันหนึ่งผมก็ไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน พระองค์ท่านก็แนะนำหลายอย่าง ผมก็อยากให้พระองค์แนะนำทางด้านการเมืองว่าจะทำยังไง พระองค์ท่านบอก นี่คุณบรรหาร เรื่องภายในพรรคชาติไทยพระองค์ทรงทราบด้วยว่ามีหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มเอ่ยชื่อได้หมดเลย ผมก็ตกใจ ไปแก้กันเอาเองแล้วกันนะ ฉันไม่แก้ ฉันไม่เกี่ยวกับการเมือง แล้วไปบอกทุกคนด้วยว่า พระองค์ไม่เกี่ยวข้อง”

บรรหารยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น “มีอยู่ 3 ข้อที่นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไปคือ แนะนำ สนับสนุน แล้วก็ตักเตือน” เหมือนที่เคยพระราชทานคำแนะนำตักเตือนนายกฯ บรรหาร

“อย่างเตือนก็เหมือนกันนะ นอนไม่หลับไปหลายวัน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปย้ายผู้ว่าฯ ข้าราชการระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย พระองค์ทรงไม่เห็นด้วย ดุ แต่ก็กราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่าเหตุผลคืออะไร พระองค์ทรงเข้าพระทัย”