อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (16) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

มีปริศนาอันลึกลับหลายข้อหลายประการที่เกี่ยวข้องกับชายผู้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งการพิมพ์และการอ่านในศตวรรษที่สิบห้า

เป็นปริศนาของชายผู้ชื่อว่า โยฮันส์ กูเตนเบิร์ก-Johannes Gutenberg

เรารู้ว่าเขาเกิดในปี 1398 และตายจากโลกนี้ไปในปี 1468

แต่อะไรคือสาเหตุหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้ชายผู้มีอาชีพเดิมเป็นเพียงช่างทองหันมาสนใจการทำตัวเรียงพิมพ์หรือ Movable Type อันนำไปสู่การพิมพ์นั่นยังเป็นปริศนาอยู่

และอะไรคือสาเหตุที่หลังจากการพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับ 42 บรรทัด ที่ถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของโลกที่ผ่านการพิมพ์แบบอุตสาหกรรมในปี 1454 แล้ว ชายผู้นี้กลับไม่ประสบความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่เขาครอบครองเทคนิควิทยาการซึ่งน่าจะทำรายได้ให้แก่ตนเองอย่างมหาศาล

และหากเขาค้นพบวิธีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเรียงพิมพ์จริงตามหลักฐานที่เขากล่าวอ้างในปี 1450 อันเป็นช่วงเวลาสี่หรือห้าปีก่อนหนังสือเล่มแรกจะปรากฏขึ้น

ช่วงเวลานั้นเขาทำอะไรอยู่

เขาหายตัวไปไหนและมีหนังสือเล่มอื่นก่อนหน้าพระคัมภีร์ไบเบิลหรือไม่ที่เขาจัดพิมพ์ขึ้นแต่ไม่ได้นำมันออกสู่สาธารณชน

 

ปริศนาทั้งหลายเริ่มต้นจากการกำเนิดของเขา กูเตนเบิร์กเกิดที่เมือง เมนซ์-Mainz (อันเป็นเมืองที่เขาประกอบการพิมพ์เป็นครั้งแรกด้วย) ในประเทศเยอรมนี

เขาเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพ่อค้าคนหนึ่ง ที่ว่ากันว่าพ่อของเขานั้นนอกจากจะทำอาชีพค้าขายทั่วไปแล้วยังทำอาชีพเสริมเป็นช่างทองที่ผลิตเหรียญตราให้กับบิชอปแห่งเมืองเมนซ์ด้วยอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น กูเทนเบิร์กอาจได้วิชานี้จากพ่อของเขาก็เป็นได้

แต่นั่นก็ไม่ใช่บทสรุป มีบุตรชายจำนวนมากที่ถูกปฏิเสธความรู้เฉพาะทางจากผู้เป็นบิดา โดยเฉพาะในบุตรชายคนสุดท้องที่ไม่มีภาระต้องรับผิดชอบใดๆ ในกิจการของครอบครัว

ในปี 1411 มีเหตุการณ์จลาจลที่เมืองเมนซ์ ครอบครัวผู้มีอันจะกินทั้งหลายพากันหลบหนีไปเมืองอื่น

เชื่อกันว่าครอบครัวของกูเตนเบิร์กเองได้อพยพไปยังเมืองเอลวิลล์หรืออัลตาวิลล่าริมฝั่งแม่น้ำไรน์ที่แม่ของเขามีที่ดินที่นั่น

กระนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งว่ากูเตนเบิร์กอาจไม่ได้อพยพตามครอบครัวไปด้วย

เราไม่มีหลักฐานว่าเขาพำนักอยู่ที่ไหนจนถึงปี 1434 ที่เขาเขียนจดหมายหาเพื่อนโดยลงที่อยู่ของเขาในฐานะพลเมืองประจำเมืองสตราสบวกก์-Strassbourg

การขุดคุ้ยอย่างหนักของนักประวัติศาสตร์พบว่า ในปี 1418 ที่มหาวิทยาลัยเออร์เฟิร์ต-University of Erfurt มีชื่อนักศึกษาคนหนึ่งนาม โยฮันส์ เดอ อัลตาวิลล่า ซึ่งหมายถึงโยฮันส์ ผู้มาจากเมืองอัลตาวิลล่า

และใกล้เคียงได้มากว่านั่นอาจหมายถึงตัว โยฮันส์ กูเตนเบิร์ก นั่นเอง

 

จดหมายที่กูเตนเบิร์กมีไปถึงมิตรสหายในปี 1434 ระบุว่าเขาได้พำนักอยู่ที่เมือง สตราสบวกก์ในฐานะช่างทองซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเขาได้ทุนจากที่ไหนมาเปิดกิจการ

แต่เมื่อถึงปี 1439 กูเตนเบิร์กเปลี่ยนงานมาทำงานใหญ่คือการทำกระจกโลหะสลักรูปทางศาสนาซึ่งพวกจาริกแสวงบุญชอบพกติดตัว

ยอดขายของกระจกที่ว่ามีปริมาณมากเสียจนกูเตนเบิร์กคิดจะขยายกิจการ

ในข้อเสนอเรียกหาผู้ร่วมทุนของเขานั้น กูเตนเบิร์กอ้างว่าใครก็ตามที่ยินดีร่วมทุนกับเขาจะได้ล่วงรู้ความลับบางประการซึ่งเขาค้นพบด้วยตนเอง

เชื่อกันว่าความลับที่ว่านั้นคือการค้นพบวิธีการพิมพ์หนังสือด้วยตัวเรียงพิมพ์

หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยืนยันว่ากูเตนเบิร์กคงอยู่ในสตราสบวกก์จนถึงปี 1444 ปรากฏในสัญญาที่เขารับจ้างทำงานชิ้นหนึ่ง

หลังจากนั้นเขาหายตัวลึกลับไปเป็นเวลาสี่ปี

ก่อนจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งที่เมืองเมนซ์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาในปี 1448

โดยเขาเริ่มต้นทำกิจการเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการพิมพ์ด้วยเงินที่หยิบยืมมาจากน้องเขย

ไม่มีอะไรยืนยันว่าเขาเปลี่ยนตนเองมาจากช่างทองสู่ช่างพิมพ์ได้อย่างไร

แม้จะมีคำอ้างว่าช่วงเวลาที่หายไปนั้นเขาได้ฝึกฝนการพิมพ์ด้วยเทคนิคการขุดขีดลวดลายลงบนแผ่นโลหะ (Intaglio) จากชายผู้หนึ่งที่ใช้สมญานามว่า “ปรมาจารย์แห่งการพิมพ์สำรับไพ่”

เมื่อถึงปี 1450 กิจการการพิมพ์ของกูเตนเบิร์กดูจะเป็นรูปร่างมากขึ้นเมื่อมีนายทุนคนหนึ่งนาม โยฮัน ฟุสต์-Johann Fust ให้เขายืมเงินสำหรับการลงทุนในกิจการนี้สูงถึงแปดร้อยกิลเดอร์

กูเตนเบิร์ก พร้อมด้วย ฟุสต์ และ ปีเตอร์ สกอฟเฟอร์-Peter Schoffer ผู้เป็นบุตรเขย สามคนช่วยกันก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้น

และเมื่อถึงปี 1452 โครงการจัดพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลก็เริ่มต้น

ใช้เวลาราวสามปี เมื่อถึงปี 1454 พระคัมภีร์ไบเบิลจำนวน 180 เล่ม ที่มีบรรทัดในแต่ละหน้ายาวถึง 42 บรรทัด ก็ออกสู่ท้องตลาด ราคาขายของพระคัมภีร์อยู่ที่ 30 ฟลอรินส์-Florins ซึ่งเท่ากับเงินเดือนของเสมียนคนหนึ่งในเวลาสามปี

เราอาจคิดว่านี่เป็นตัวเลขที่สูงมาก หากแต่ถ้าเป็นต้นฉบับคัดลอกด้วยลายมือซึ่งใช้เวลาผลิตมากกว่าหนึ่งปี จะไม่มีทางที่คนธรรมดาจะเป็นเจ้าของพระคัมภีร์ได้เลย

ปัจจุบันพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับ 42 บรรทัดหลงเหลืออยู่ในโลกเพียง 48 เล่ม

โดยสองเล่มนั้นอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติในอังกฤษซึ่งสามารถเข้าชมออนไลน์ได้

 

ความสวยงามและประณีตของพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ได้รับคำชื่นชมโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้ในองค์สันตะปาปาพิอุสที่สองที่กล่าวชื่นชมในจดหมายที่ท่านมีไปถึงพระคาร์ดินัล คาร์วายัล ในปี 1455ว่า “ตัวหนังสือนั้นสวยงามเป็นระเบียบ ไม่ลำบากในการอ่านเลย พระคุณเจ้าน่าจะอ่านมันได้สบายตาโดยไม่ต้องพึ่งแว่นตาด้วยซ้ำไป”

ความสำเร็จที่ว่าดูจะอยู่กับกูเตนเบิร์กไม่นาน ในปี 1456 กูเตนเบิร์กขัดแย้งกับนายทุนของเขาคือ โยฮัน ฟุสต์

และทำให้ฟุตส์เรียกร้องเงินที่กูเตนเบิร์กหยิบยืมไปคืน

เขาอ้างว่ากูเตนเบิร์กนำเงินไปใช้ในกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการพิมพ์อันเป็นการผิดสัญญา

ฟุสต์ส่งเรื่องไปยังศาลและศาลได้มีคำสั่งให้ฟุตส์เป็นผู้ชนะ

เมื่อไม่มีเงินคืนและตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ฟุสต์ก็เข้ายึดครองกิจการการพิมพ์ของกูเตนเบิร์กที่เมืองเมนซ์ในที่สุด

เขาร่วมมือกับสกอฟเฟอร์ก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี 1457 หนังสือจากโรงพิมพ์แห่งนั้นใช้ชื่อว่า โรงพิมพ์ฟุตส์-สกอฟเฟอร์

โดยไม่มีชื่อของกูเตนเบิร์ก ผู้คิดค้นวิธีการพิมพ์ร่วมอยู่ในนั้นอีกต่อไป

 

กูเตนเบิร์กหลีกหนีไปเปิดกิจการขนาดเล็กเกี่ยวกับการพิมพ์ ว่ากันว่าเขารับงานทุกอย่างแม้แต่การหล่อตัวพิมพ์ที่เขาเป็นผู้คิดค้นเทคนิคนี้ให้กับโรงพิมพ์ต่างๆ ทั่วยุโรป

มีความเชื่อว่าภายใต้แรงกดดันจากความยากจน กูเตนเบิร์กสามารถพิมพ์หนังสือพจนานุกรมคาทอลิกชิ้นใหญ่ที่มีจำนวนหน้าถึงเจ็ดร้อยกว่าหน้าออกมาวางขายถึงสามร้อยชุดอันถือเป็นงานชิ้นเอกในยุคนั้น แต่เนื่องจากไม่มีชื่อของกูเตนเบิร์กในหนังสือ ทุกอย่างจึงเป็นเพียงความคาดเดาเท่านั้นเอง

ปี 1462 เกิดสงครามแย่งชิงตำแหน่งผู้ปกครองเมืองเมนซ์ระหว่างชนชั้นสูง ก่อนที่อาร์กบิชอป อดอล์ฟ ฟอน นัสโซ-Adolph Von Nassau จะได้ตำแหน่งนี้ไป

กิจการการพิมพ์หยุดชะงัก กูเตนเบิร์กตัดสินใจย้ายกลับไปเอลวิลล์ เขาน่าจะย้อนกลับมาเมืองเมนซ์แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิตที่ปรากฏชื่อของเขาว่าได้เสียชีวิตลงในปี 1468 ร่างของเขาถูกฝังที่วิหารฟรานซิสกันประจำเมืองเมนซ์ เรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับเขาไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ วิหารดังกล่าวถูกเผาทำลายในสงครามการเมืองครั้งต่อมาและร่างของกูเตนเบิร์กที่สุสานก็หายสาบสูญไป เหลือไว้เพียงชื่อของเขาในฐานะบิดาแห่งการพิมพ์ยุคใหม่เท่านั้นเอง

ช่องว่างแห่งเวลาที่หายไปของกูเตนเบิร์กนั้น ก่อให้เกิดสิ่งที่น่าสนใจจำนวนมาก

ในปี 2012 นักเขียนชาวอาร์เจนตินานาม เฟเดริโก้ อันดาฮาซี่-Federico Andahazi ได้เขียนหนังสือนวนิยายขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า The Book of Forbidden Pleasures

หรือ “หนังสือแห่งความหฤหรรษ์ที่เร้นลับ”

นวนิยายเรื่องนี้เล่าถึงช่วงเวลาที่กูเตนเบิร์กหายไปสี่ปีในสตราสบวกก์

และเป็นช่วงเวลาที่เกิดคดีฆาตกรรมหญิงสาวอาชีพโสเภณีอย่างต่อเนื่อง

ผู้ตายจะถูกถลกหนังไปใช้ในการทดลองบางอย่างที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการพิมพ์

อันดาฮาซี่พยายามใช้หลักฐานบางประการแสดงให้เห็นว่ากูเตนเบิร์กนั้นเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธินอกศาสนา เขาพึ่งอำนาจจากแม่มดและซาตานจนทำให้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่าการพิมพ์

และพระคัมภีร์ไบเบิลนั่นคือการพิมพ์ออกมาเพื่อไถ่บาปในความรู้สึกของเขาเอง

นวนิยายเรื่องนี้ก่อให้เกิดการสืบค้นประวัติของกูเตนเบิร์กขึ้นอีกครั้ง

กระนั้นก็ยังไม่สามารถค้นพบได้ว่าร่างของเขาถูกย้ายไปยังที่ใด

หากศตวรรษที่สิบห้าเป็นศตวรรษแห่งการค้นพบโลกใหม่ และครึ่งหลังของศตวรรษเป็นช่วงเวลาของชายผู้มีชื่อว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษย่อมเป็นช่วงเวลาของ โยฮันส์ กูเตนเบิร์ก