ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ประวัติศาสตร์ของ “นรก”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถ้าตัดศรัทธาในศาสนาออกไป แล้วพิจารณาปกรณัมต่างๆ ในฐานะข้อมูลทางประวัติศาสตร์

“นรก” ก็เป็นประดิษฐกรรมทางความคิดอีกชิ้นหนึ่งที่ค่อยๆ ถูกแต่งเติมต่อยอดตลอดมาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

นับแต่อดีต มนุษย์มักจะหมกมุ่นในเรื่องของชีวิตหลังความตาย

น่าสังเกตว่าเราเชื่อว่าเมื่อสิ้นลมหายใจไปแล้วเราก็ยังมี “ชีวิต” อยู่ แต่เป็นชีวิตที่อยู่ใน “โลก” อีกมิติหนึ่ง

ซึ่งโลกในมิติที่ว่าสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกในมิติปัจจุบันด้วยวิถีทางใดวิถีทางหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ความตอนต้นในพงศาวดารล้านช้างอ้างว่า “กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”

“ผี” ในที่นี้ไม่ได้เที่ยวแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกใครๆ เหมือนในหนังนะครับ ข้อมูลในวรรณคดียุคเก่าแก่หลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า ผีอาจเป็นได้ทั้งเทวดาหรือชีวิตใหม่ของบรรพบุรุษที่อยู่ในโลกอีกมิติหนึ่ง

จึงเห็นได้ชัดว่าในโลกทัศน์ของชาวอุษาคเนย์ (อย่างน้อยที่สุดก็ในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว) ในยุคเก่าก่อนที่จะยอมรับเอาวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากชมพูทวีปมานั้น พื้นที่สำหรับคนตายยังไม่ถูกแยกออกไปต่างหากจากโลกของคนเป็น ผีที่ตายไปแล้วสามารถให้คุณให้โทษกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ต่างอะไรกับเทวดาถ้าเซ่นไม่ดีพลีไม่ถูก

และแน่นอนว่ายิ่งไม่มีพื้นที่จำแนกเฉพาะสำหรับผีที่ก่อนตายประพฤติดี และผีที่ก่อนตายประพฤติชั่วอย่าง “สวรรค์” หรือ “นรก”

เทพีเอเรซกิคัล ผู้ปกครองขุมนรก ที่โหดร้าย และทนทุกข์ทรมานแห่งแรกในประวัติศาสตร์ความเชื่อของมนุษย์ ตามคติของชาวบาบิโลน ทำจากดินเหนียวเผาไฟ พบที่เมืองบาลิโลนเก่า ทางตอนใต้ของประเทศอิรัก อายุประมาณ 3,900-3,800 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่บริติช มิวเซียม (ภาพจาก: http://www.britishmuseum.org/research/collection_online/collection_object_details.aspx?objectId=1355376&partId=1)

ไทยเรายืมคำว่า “นรก” มาจากภาษาสันสกฤตของพวกพราหมณ์ชมพูทวีป ความหมายที่คุ้นๆ กันดี หมายถึง โลกหลังความตายสำหรับให้คนบาปทนทุกข์ทรมานจากโทษทัณฑ์นานาประการ

แต่ในดินแดนต้นแบบคำว่า “นรก” ยังมีความหมายอื่นอยู่อีกด้วย เช่น ในพจนานุกรมภาษาสันสกฤต ฉบับที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงนักสันสกฤตศึกษาอย่าง Apte ยังให้ความหมายคำนี้ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ภาชนะบรรจุของเหลว?

ในหนังสือสำคัญของพวกพราหมณ์อย่างมหาภารตะ และวิษณุปุราณะ “นรก” เป็นชื่อของปีศาจที่เป็นลูกของพระนารายณ์กับพระภูมิเทวี (คือ แผ่นดิน)

นรกได้ขโมยต่างหูไปจากเทวีอทิติไปยังปราสาทปราคะชโยติษะ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นป้อมปราการไร้พ่าย

เหล่าเทพยดาจึงอ้อนวอนพระกฤษณะ อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ไปปราบจนนรกพ่ายแพ้ตกตายไปพร้อมนำต่างหูคืนมา

 

การที่คำว่า “นรก” มีความหมายเป็นได้ทั้งสถานที่ และตัวบุคคล พาลให้นึกไปถึง ฮาเดส (Hades โรมันเรียก พลูโต/Pluto) มหาเทพผู้ปกครองนรกตามปกรณ์ของพวกกรีก แต่สำหรับชาวกรีกโบราณแล้วคำว่า ฮาเดสนอกจากจะหมายถึงตัวมหาเทพเองแล้ว ยังหมายถึงตัวขุมนรกได้อีกด้วย

ชาวกรีกเชื่อว่าเมื่อคนเราตายไปแล้วต้องข้ามแม่น้ำสติกซ์ (styx) โดยมีคนพายเรือจ้างชื่อ เครอน (Charon) เป็นผู้นำส่ง

ชาวกรีกสมัยเก่าก่อนจึงต้องใส่เหรียญเงินให้กับศพ เพื่อให้ผู้ตายนำไปจ่ายค่าจ้างให้เครอน

เมื่อจ่ายสตางค์ครบ เครอนจะพายเรือพาไปส่งที่ปากประตูทางเข้าของฮาเดสที่มีสุนัขสามหัว เซอร์เบอรัส (Cerberus) เฝ้าอยู่ จากนั้นก็เข้าสู่โลกของฮาเดส

ในภาษากรีกโบราณ “ฮาเดส” แปลว่า “ที่ไม่เคยพบเห็น” ประมาณว่า unseen แสดงว่าโลกของคนตายสำหรับชาวกรีกก็คือโลกที่คนเป็นไม่เคยพบเห็นมาก่อน

แต่นรกฮาเดสของกรีกที่ฟังเผินๆ อาจนึกถึงสถานที่คล้ายกับทัณฑสถานเหมือนนรกในวัฒนธรรมอื่นๆ กลับมีสถานที่ชวนรื่นรมย์อยู่ด้วย เพราะในฮาเดสมีทุ่งอีลีเซียม (Elysium/Elysian field) ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนอันเป็นนิรันดร์ของวีรบุรุษผู้กล้า

หน้าตาของทุ่งอีลีเซียมก็คล้ายกับอุทยานอันสุขสงบ โดยนัยยะแล้ว “อุทยาน” หรือ “สวน” ก็คือ “สวรรค์” นั่นเอง

คำว่า paradise ที่แปลว่าสวรรค์ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำกรีกที่ยืมคำเปอร์เซียมาอีกทอดหนึ่ง

ชาวมุสลิมเมื่อสิ้นชีวิต วิญญาณจะเดินทางไปสู่สถานที่ที่เรียกว่า painidaiza แปลว่า สถานที่ปิดล้อมด้วยกำแพง

กรีกรับมาใช้พูดว่า paradeisos แต่แปลว่า park คือ สวน

ศัพท์คำนี้เป็นรากให้กับคำว่า paradis ในภาษาฝรั่งเศส และ paradise ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่คำว่าอีลีเซียมจะเป็นที่มาของชื่อถนนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกสายหนึ่งคือ ถนนฌอง เอลิเซส์ ในนครปารีส

 

ความเชื่อเรื่องทุ่งอีลีเซียมแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวที่เก่าแก่มากทีเดียว เพราะผู้ที่ปกครองทุ่งแห่งนี้คือ เทพเจ้าโครนัส (Cronus) เทพเจ้าแห่งกาลเวลาผู้เป็นบิดาของมหาเทพทั้งสามคือ ซุส (Zeus) โพไซดอน (Poseidon) และฮาเดส ตามความเชื่อกรีก

ตามตำนานโครนัสเป็นผู้นำของคณะเทพไททัน ผู้ปกครองสวรรค์คือเขาโอลิมปัสมาแต่เดิม จนกระทั่งพวกลูกๆ ของพระองค์นำโดยซุสได้พากันจับคณะเทพไททันไปขังไว้แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นใหญ่แทน

ทุ่งอีลีเซียมของโครนัสจึงเป็นร่องรอยให้เห็นถึง “สวรรค์” หรือโลกแห่งคนตายยุคเก่าก่อนสมัยของปกรณัมเรื่องฮาเดส และทัณฑสถานของพระองค์จะเกิดขึ้น (และก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทพแห่งกาลเวลาที่มีเคียวคอยคร่า “ชีวิต” คนที่ถึงฆาต เป็นผู้ดูแลโลกแห่งความตาย)

โลกของคนตายในชมพูทวีปก่อนที่จะเกิดศาสนาพุทธ พราหมณ์ฮินดู ฯลฯ ก็ไม่ใช่โลกของทัณฑสถาน

กล่าวโดยเคร่งครัดคือยังไม่มีทั้งสวรรค์ และนรก

เพราะในหนังสือพระเวทซึ่งเป็นคัมภีร์รากฐานภูมิปัญญาของอารยธรรมอินเดีย สวรรค์ดูจะเป็นพื้นที่พิเศษที่จัดสรรให้แก่บรรดาเทพเจ้าเป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับในปกรณ์ของพวกกรีก

และที่สำคัญยังไม่มี “นรก”

 

ในพระเวท โลกของคนตายถูกเรียกว่า “ยมโลก” โดยมีพระยมเป็นผู้ปกครอง แต่ยมบาลในพระเวทยังไม่มีภาพลักษณ์ดุร้ายน่ากลัวอย่างที่เข้าใจกันในสมัยนี้ “ยม” (อ่านว่า ยะ-มะ) ในภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ไปก่อน” แปลง่ายๆ ว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ตาย ในพระเวทท่านดูจะมีเซอร์วิสมายด์ คอยจัดสรรที่อยู่แก่คนตาย และควบคุมดูแลความสงบในยมโลกเท่านั้น

โดยไม่ได้สำรวจเพิ่มเติม ผมเดาเอาเองว่าเรื่องราวที่เก่าแก่ที่สุดที่ว่าด้วยความโหดร้ายของปรภพ อยู่ในมหากาพย์ของโลกตะวันออกกลางยุคโบราณคือ “กิลกาเมซ” (Gilgamesh)

มหากาพย์กิลกาเมซเล่าถึงการผจญภัยของกษัตริย์กิลกาเมซแห่งเมืองอูรุค บริเวณลุ่มน้ำยูเฟรติส นักวิชาการบางท่านเชื่อว่ากษัตริย์องค์นี้อาจจะมีชีวิตอยู่จริงเมื่อราว 4,700 ปีที่แล้ว

แต่เรื่องราวของพระองค์ถูกจารลงบนแผ่นดินเหนียว 12 แผ่น และถูกเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดของกษัตริย์อัสซีเรีย แผ่นจารึกดินเหนียวเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,700 ปีที่แล้ว โดยในบรรดาแผ่นดินเหนียวเหล่านี้มีอยู่สองแผ่น คือแผ่นที่ 7 กับแผ่นที่ 12 ที่พรรณนาถึงความโหดร้ายในปรภพ ซึ่งมีผู้ปกครองเป็นสตรีชื่อ เอเรซกิคัล (Ereshkigal) โดยความทุกข์ทรมานทั้งหลายที่ถูกบรรยายไว้ก็คือ ความทุกข์ทนเท่าที่มนุษย์ในยุคนั้นจะจินตนาการถึงได้

อย่างน้อยที่สุดในลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส ก็คงเริ่มมีความคิดเรื่องทัณฑสถานหลังความตายเมื่อ 2,700 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คงส่งพล็อตความคิดที่ว่าต่อไปยังเครือข่ายส่วนอื่นๆ ของโลกอีกทอดหนึ่ง

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ บริเวณพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดินแดนเมโสโปเตเมีย มีปฏิสัมพันธ์อยู่กับอารยธรรมใหญ่ส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างกรีก-โรมัน และชมพูทวีปอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาสำคัญอีกสองศาสนาได้แก่ คริสต์ และอิสลาม

 

คําว่า “hell” ในภาษาอังกฤษแปลว่า “นรก” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “hel” ที่แปลว่า “หลบซ่อน” หมายซึ่งเป็นต้นรากศัพท์ของคำว่า “hall” ที่แปลว่าอาคารหลังคาคลุม

คำว่า hell จึงมีความหมายตรงตัวว่า “สถานที่ที่ถูกซ่อนเอาไว้” มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า hell ต่างจาก hall ตรงที่ต้องลึก 6 ฟุต ประเพณีฝังศพของพวกฝรั่งจึงต้องขุดหลุมให้ลึกถึง 6 ฟุตเป็นอย่างน้อย นัยว่าเป็นการส่งให้ถึงสัมปรายภพ

จากรากศัพท์คำว่า hell หมายถึงสถานที่อยู่มากกว่าทัณฑสถาน (แน่นอนว่าคงไม่มีใครคิดจะขุดหลุมลึก 6 ฟุตเพื่อส่งญาติพี่น้องไปรับกรรมในนรก)

เราจึงเห็นถึงร่องรอยได้ว่า โลกของคนตายกับทัณฑสถานของคนตายเป็นสิ่งที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว กวีชื่อก้องอย่าง ดังเต้ (Dante Alighieri, ค.ศ.1265-1321) ผู้ประพันธ์เรื่อง Divine Comedy ซึ่งได้พรรณนาภาพของนรกอย่างละเอียด จึงเลือกที่จะไม่ใช้คำว่า “hell” แต่ประดิษฐ์คำขึ้นมาใช้ใหม่ว่า “inferno” ซึ่งหมายถึง ลูกไฟขนาดมหึมา และสภาวะที่โกลาหลได้

เช่นเดียวกับในกวีเรื่อง Paradise Lost ของ จอห์น มิลตัน (John Milton, ค.ศ.1608-1674) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1667 ก็เลือกที่จะประดิษฐ์ชื่อนครหลวงของนรกว่า “pandemonium” ที่ปัจจุบันมีความหมายว่า “โกลาหล” แต่ถ้าถอดความหมายที่มิลตันประสมคำออกมาจะได้ว่า “pan” แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง

ส่วน “demonium” มาจาก “daimon” ที่แปลว่า “ปีศาจ” ในภาษากรีก

 

คําว่า “นรก” ทั้งไทยทั้งเทศที่ผมยกมาจึงมีความหมายทับซ้อนกันอยู่ระหว่าง โลกของคนตาย และสถานที่ลงทัณฑ์คนบาป ความน่ากลัวของนรกจึงเกิดจากภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากการพรรณนาของกวี ประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนสามารถจินตกรรมไปถึงได้ อย่างบทลงโทษทางกฎหมาย หรือวิบัติภัยจากธรรมชาติ ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้ผู้คนกลัวเกรงต่อนรก ไม่ใช่เป็นเพราะเราไม่รู้จักในสถานที่ที่ถูกเอาไปซ่อนไว้ (hell) เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะ “วิวรณ์” หรือภาพที่เราเชื่อว่าถูกเปิดเผยโดยอะไรบางอย่าง (apocalypse) จนจินตกรรมไปถึงมันต่างหาก