อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (14) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ว่าด้วยศาลไต่สวนศาสนา

การไต่สวนศาสนาในโลกใหม่หาได้เป็นไปอย่างเสรี แทบทุกขั้นตอนจะถูกกำกับด้วยกฎเกณฑ์

นับตั้งแต่ขั้นตอนของการค้นหาหลักฐานมัดตัวผู้ถูกกล่าวหาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการลงทัณฑ์

กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าคำแนะนำหรือข้อแนะนำ (Instruction) ซึ่งมีพัฒนาการมานานนับศตวรรษ

ในปี 1484 (แปดปีก่อนการค้นพบโลกใหม่ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส) โทมัส เดอ ตอเก้มาดา-Thomas de Torquemada ผู้เป็นประธานคนแรกของศาลศักดิ์สิทธิ์ที่สเปนได้ประกาศข้อปฏิบัติที่ศาลไต่สวนศาสนานับตั้งแต่ระดับศาลขนาดใหญ่จนถึงศาลย่อยต้องปฏิบัติตาม

และตอเก้มาดาได้ปรับปรุงกฎเกนฑ์ดังว่าแทบทุกปีจนสิ้นอายุขัย

ทายาทคนต่อมาของเขาคือ ดิเอโก้ เด เดซ่า-Diego de Deza ได้ประกาศข้อปฏิบัติใหม่ในปี 1500 (ซึ่งใช้งานในโลกใหม่)

และเมื่อถึงปี 1561 ข้อปฏิบัติเหล่านี้ก็กลายเป็นดังประมวลกฎหมายอย่างละเอียดลออที่มีทั้งหมดถึงแปดสิบเอ็ดมาตรา

ซึ่ง “ทุกดินแดนภายใต้การปกครองของสเปนต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด”

ประมวลกฎหมายเหล่านี้ได้ทำให้ในการพิจารณาการไต่สวนศาสนาของเหล่าลูกขุนและผู้พิพากษา

ไม่อาจใช้วิจารณญาณส่วนตนได้อีกต่อไป

 

การไต่สวนศาสนาในโลกใหม่นั้นเริ่มต้นอย่างเคร่งครัดและดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ที่ว่า เมื่อแรกมีศาลไต่สวนศาสนา ประธานของการไต่สวนศาสนาทุกกรณีในโลกใหม่อันได้แก่ พระคาร์ดินัล ดิเอโก้ เด เอสปิโนซ่า-Diego de Espinosa ได้เพิ่มบทเฉพาะกาลบางบท

บทเฉพาะกาลเหล่านี้มีตั้งแต่การแบ่งแยกประเภทของจำเลย วิธีการเก็บรักษาหลักฐาน การแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เวลาที่จะเริ่มการไต่สวน

รวมทั้งข้ออนุญาตให้คณะผู้ไต่สวนสามารถส่งข้อหารือกลับไปยังประเทศสเปนได้หากคดีที่พิจารณานั้นมีความซับซ้อนหรือความยุ่งยากเกินลักษณะคดีทั่วไป

เมื่อครั้งที่ หลุยส์ เด คาร์วายัล-Luis de Carvajal ชายหนุ่มชาวยิวถูกนำตัวขึ้นศาลไต่สวนศาสนาในเดือนพฤษภาคม ปี 1589 นั้น เขาเข้าสู่กระบวนการได้ด้วยการถูกสัมภาษณ์จากอัยการของศาลฯ สองท่านคือ เเฮร์นันเดซ โบนิล่า-Hernandez Bonilla และ ซานโตส การ์เซีย-Santos Garcia

หลังจากนั้นเขาถูกส่งตัวไปยังผู้คุมนาม อริอัส เด วัลเดส-Arias de Valdes เพื่อนำเขาไปขังยังห้องที่อยู่ชั้นล่างของที่ทำการศาลไต่สวนศาสนาในเม็กซิโก

ห้องที่คุมขังนั้นมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าคุกลับ หรือ Secret Cell ห้องขังที่ว่านี้มีไว้ขังพวกนอกศานาหรือพวก Heretics ที่เป็นจำเลยคดีสำคัญของโลกใหม่

หลุยส์ถูกสั่งให้เปลื้องผ้าและพบว่าเขาพกเงินตรามาเป็นจำนวนเจ็ดรีลครึ่ง (Seven and a half reals) และพบว่าเขาพกเครื่องประดับเงินแท้ที่มีราคาราวแปดรีล (Eight reals) ทั้งเงินตราและเครื่องเงินนี้ถูกริบและนำไปบันทึกลงในสมุดประวัติส่วนตัวของเขา

เงินทองเหล่านี้จะถูกเบิกไปเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ค่าแรงของผู้คุมและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของจำเลยแต่ละคนในภายหลัง

ในบันทึกของหลุยส์นั้นเขาเล่าว่า “ห้องขังนั้นมืดและทึม” อีกทั้งยังเย็นยะเยือกและแทบปราศจากแสงสว่าง มีเพียงเทียนที่อนุญาตให้ถูกจุดเพื่อให้แสงสว่างได้ตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น

เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะญาติมิตรหรือคนรู้จักใดๆ ได้เลย ไม่มีจดหมาย ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีหนังสือให้อ่าน

ไม่มีบทสวดสำหรับไว้ใช้สวดมนต์ภาวนา

ไม่มีบทกวีให้อ่านประกอบความบันเทิงเริงใจ

มีเพียงแต่ความคิดคำนึงของเขาเท่านั้นที่จะเป็นความเพลิดเพลินได้ หากเขาไม่เสียชีวิตไปก่อน สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่พำนักของเขาจนกว่าคดีความจะสิ้นสุดลง

เขาจะมีสิทธิออกจากมันต่อเมื่อถูกเบิกตัวไปเพื่อสอบสวนเพิ่มหรือไม่ก็ในวันเสาร์ที่เขาจำต้องออกไปยังลานโล่งภายในศาลฯ โดยมีผู้คุมประกบอย่างแน่นหนาเพื่อให้แม่บ้านเข้าทำความสะอาดและให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งผิดปกติใดๆ ในคุกลับแห่งนี้

จากแง่มุมของคณะกรรมการไต่สวน การสร้างความโดดเดี่ยวแก่จำเลยเป็นสิ่งที่จำเป็น

มันกีดกันพวกเขาจากการได้รับคำแนะนำจากเพื่อนฝูงหรือญาติมิตรถึงหนทางในการต่อสู้คดี

อีกทั้งยังปกป้องไม่ให้จำเลยรับรู้ว่าคดีของเขาดำเนินไปในทิศทางใด

นอกจากนี้ มันยังส่งผลทางจิตวิทยาที่ทำให้จำเลยรู้สึกสิ้นหวังลงทุกที

และไม่คิดแข็งขืนต่อกระบวนการไต่สวนนั้น

 

ความรู้สึกสิ้นหวังของจำเลยนั้นเกิดขึ้นจากการยอมรับความจริงว่าไม่เคยมีความยุติธรรมในศาลไต่สวนทางศาสนา

ผู้พิพากษาสองคนอันเป็นตัวละครหลักของการไต่สวนพร้อมด้วยอัยการของศาลฯ จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางเอาผิดจำเลย

ในขณะที่ผู้เป็นจำเลยไม่อาจกระทำการใดอื่นได้เลย แม้ว่าในกระบวนการไต่สวนศาสนา จำเลยจะได้อนุญาตให้มีทนายแก้ต่างได้ก็ตามที

หากทว่าทนายแก้ต่างนั้นก็ทำงานให้กับคณะไต่สวนศาสนาได้เช่นกัน

ทนายผู้นั้นไม่มีสิทธิพบกับจำเลยโดยลำพังและถูกห้ามไม่ให้กระทำการแก้ต่างให้จำเลยจนลุล่วงหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย

เขาไม่มีสิทธิแม้จะนำข้อกล่าวหาของจำเลยออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยซ้ำไป

หน้าที่เขามีประการเดียวคือการทำให้ความผิดของผู้เป็นจำเลยชัดเจนขึ้น

ข้อแนะนำต่อการไต่สวนศาสนาในเรื่องนี้ชัดเจนอย่างยิ่งคือ

“ผู้ทำการไต่สวนศาสนาจักต้องแนะนำให้จำเลยเห็นถึงความสำคัญของการพูดความจริงและรับสารภาพ และการกระทำที่ว่านั้นอาจกระทำการผ่านทางอัยการของศาลไต่สวนศาสนาหรือผ่านทางทนายของจำเลย ทางใดทางหนึ่งก็ย่อมได้”

ทนายจำเลยที่ทำหน้าที่ปกป้องจำเลยหรือต่อสู้เพื่อจำเลยอย่างแข็งขันให้พึงสังวรณ์ว่าเขาอาจถูกมองเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีที่ว่านั้นด้วย

บ่อยครั้งทีเดียวที่ทนายจำเลยขอลาออกกลางคันเมื่อแลเห็นว่าลูกความของเขาอันได้แก่จำเลยไม่ยอมเขียนคำรับสารภาพและพร้อมจะต่อสู้อย่างยืดเยื้อในคดีความนั้น

 

จําเลยทุกคนจะต้องผ่านสถานการณ์สำคัญสามเหตุการณ์ด้วยกัน

สถานการณ์แรกคือวันที่คณะผู้ไต่สวนศาสนาอ่านความผิดของจำเลยให้ผู้เป็นจำเลยได้รับทราบ

สถานการณ์นี้มักไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจำเลยถูกจับกุม แต่มักเกิดขึ้นหลังจากการที่จำเลยถูกทรมานให้ยอมรับว่าเขาได้กระทำความผิดดังที่ถูกกล่าวหาจริงและคดีความนั้นมีมูลพอต่อการไต่สวนในกาลต่อไป

สถานการณ์ที่สองคือสถานการณ์ที่จำเลยถูกนำตัวไปยังห้องทรมาน (Torture Chamber) สถานการณ์ที่ว่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อจำเลยมีท่าทีเหมือนยังไม่ยมจำนนต่อข้อกล่าวหาและดูเหมือนว่ายังมีข้อมูลอื่นปกปิดอยู่หรือมีการปิดบังผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีนั้นๆ เขาจะถูกนำตัวไปผ่านกระบวนการทรมานในรูปแบบที่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่ซ่อนไว้ (In Caput Propium) หรือกระบวนการทรมานในรูปแบบที่ยอมเปิดเผยผู้สมรู้ร่วมคิด (In Caput Alienum)

ทางเดียวที่จำเลยจะรอดพ้นจากความทรมานนี้ได้คือการโน้มน้าวให้คณะผู้ไต่สวนศาสนาเชื่อว่าเขาได้บอกกล่าวทุกสิ่งในคดีนี้ออกไปหมดแล้ว

สถานการณ์ที่สามคือสถานการณ์ที่เขาถูกเบิกตัวมารับทราบคำพิพากษาหรือเข้ารับการลงทัณฑ์ที่เป็นสถานการณ์ใหญ่ที่เรียกว่าการแสดงออกถึงการประกาศความศรัทธาครั้งสุดท้ายต่อพระเจ้า หรือ Auto da Fe หรือ Act of Faith

ในตอนเริ่มแรกของคดีความ จำเลยจะเต็มไปด้วยความบกพร่องสงสัย เขาไม่มีทางทราบว่าใครคือโจทก์ผู้กล่าวหาเขาด้วยซ้ำไป

ไม่มีทางล่วงรู้ว่าคณะผู้ไต่สวนศาสนามีพยานหลักฐานอะไรในมือบ้าง หรือว่าเพื่อนหรือญาติมิตรคนใดของเขาถูกจับกุมคุมขังด้วยบ้าง แม้ว่าเขาอาจจะพอคาดเดาบางอย่างได้จากข้อกล่าวหา

หากแต่ในกระบวนการไต่สวนชื่อเสียงเรียงนามของพยานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ จะมีเพียงการอ้างถึงคนเหล่านั้นว่าเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ (Certain Person) หรือญาติใกล้ชิดที่เชื่อถือได้ (Certain Relative) เท่านั้นเอง

 

ในคดีความที่จำเลยเป็นชาวยิว การถูกทรมานให้สารภาพนั้นมีความเสี่ยงตรงที่การสารภาพนั้นอาจนำพาอันตรายจำนวนมากมายังมิตรสหายหรือญาติพี่น้องได้

ดังนั้น จำเลยทั้งหลายจึงมักปิดปากเงียบจนกว่าข้อกล่าวหาจะถูกประกาศต่อเขา

พวกเขาจะยืนยันว่ามีความศรัทธาต่อศาสนจักรอย่างหมดจิตหมดใจและจะไม่พยายามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการไต่สวนศาสนาใดเลย

ในกรณีของ หลุยส์ เด คาร์วายัล คดีของเขาเริ่มต้นขึ้นในวันที่สิบสองพฤษภาคม

สองวันหลังจากการที่เขาถูกจับกุมตัวได้ เมื่อคณะไต่สวนขึ้นนั่งบัลลังก์ หลุยส์ก็เริ่มต้นด้วยการประกาศชื่อ เพศ อายุ สถานภาพครอบครัว วันเกิด อาชีพ และรายชื่อของญาติพี่น้อง

เขาไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ที่เปลี่ยนศาสนาในภายหลัง หากแต่อ้างว่าเขาเป็นชาวคริสต์ตั้งแต่กำเนิด โดยไม่มีสายเลือดของชาวมัวร์ ยิว หรือเผ่าพันธุ์ใดอื่นปะปน เขาไม่เอ่ยถึงสาเหตุที่เขาเชื่อว่าเขาถูกจับกุมเพราะเหตุผลทางศาสนา แต่อ้างว่าเป็นเพราะลุงของเขามุ่งปรารถนาในทรัพย์สินของเขาเท่านั้นเอง

เขากล่าวว่า “เขาไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดต่อศาสนจักรเลย ไม่ว่าจะด้วยทางวาจาหรือทางกาย และเขาไม่อาจสารภาพหรือยอมรับในโทษที่เขาไม่ได้กระทำได้”

และเมื่อ หลุยส์ เด คาร์วายัล ไม่สารภาพ กระบวนการกดดันและทรมานเขาก็เริ่มต้นขึ้น