อัญเจียแขฺมร์ : อัตลักษณ์ ‘อัปสรา’ ในนาฏศิลป์เขมร

ภาพจากหนังสือ Cambodian Dancers - Ancient and Modern

ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติรูปแบบแห่งวงการนาฏลักษณ์ศิลปะเขมร ซึ่งเกิดในสมัยสมเด็จราชินีและพระชนนีโกสะมัก โดยมีบุคคลรุ่นหลานอย่างเจ้าหญิงบุปผาเทวีเป็นผู้สานต่อ

และอีกท่านหนึ่งซึ่งจะลืมเสียมิได้ คือพระเจ้าอยู่หัวบรมรัตนโกศพระบาทนโรดม สีหนุ ในฐานะที่ทรงอำนวยการสร้างและกำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “อัปสรา” (2508) ที่มีเจ้าหญิงบุปผาเทวีแสดงนำนั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้การเดินเรื่องเนิบนาบและเบาหวิวในเนื้อหา แต่ทว่า ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของการเผยแพร่นาฏศิลป์ขะแมร์ยุคใหม่ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

และถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลกัมพูชาขณะนั้น มุ่งหมายจะเผยแพร่เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมหลังจากประเทศชาติได้เอกราชไม่นาน

โดยเฉพาะฉากการร่ายรำของกันหา-นางอัปสราเอก ณ หอละครจตุรมุข ที่เผยให้เห็นลักษณะพิเศษของศิลปะชั้นสูงในการร่ายรำ

 

ภาพยนตร์ชุดนี้ ยังมีผู้ร่วมแสดงสำคัญคือ สมเด็จกรมขุนสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ นักบินขับไล่อากาศยานแห่งกองทัพอากาศเขมรภูมินทร์ที่มารับบทจริงตามท้องเรื่อง

กับอีกท่านหนึ่งซึ่งจะลืมเสียไม่ได้ นั่นคือ นายเก็ก วันดี ขณะอายุ 33 ปี กำลังหนุ่มฟ้อเป็นไฮโซคนดังของพนมเปญและได้ฉายาว่าดอนฮวนตามท้องเรื่องของภาพยนตร์

เอกอุดมเก็ก วันดี นี้ยังร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่กำกับฯ โดยสีหนุ อาทิ “แสงแห่งนครวัด” (Ombre Sur Angkor)

ทั้งสอง กรมขุนสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์และ เอกอุดมเก็ก วันดี ต่อมาคืออดีตพระสวามีลำดับที่ 4 และลำดับที่ 5 ในสมเด็จพระเรียมบุปผาเทวี นางเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้

ตามท้องเรื่องยังมีฉากเลิฟซีนพระ-นาง ระหว่างบุปผาเทวีและชีวันมุนีรักษ์ ที่ตกหลุมรักและผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก

ทั้งฉากร้องเพลงเต้นรำที่สวยงามในภาพยนตร์ทุกเรื่องของสีหนุ ซึ่งต่อมาถูกตัดต่อรีเมกประกอบภาพยนตร์ยุคใหม่ ตลอดจนคลิปสั้นๆ ในยูทูบ

ไม่เพียงแต่ฉากสำราญในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังเผยให้เห็นถึงชีวิตนางรำคนหนึ่ง ซึ่งมักจะจบชีวิตวัยสะคราญด้วยการสมรสกับชายแก่แต่มีฐานะเป็นถึงผู้นำประเทศ และการสมรสนี้ยังเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการจากสำนักพระราชวังอีกด้วย

ตอกย้ำวิถีนางรำแห่งราชสำนักกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ใน “สารามณี” นวนิยายที่ โรล็องส์ เมแยร์ แต่งขึ้นในปี 2462 หรือ 46 ปีก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะผลิตขึ้น

 

แต่เรื่องราวของนางรำเอกกันทา (แสดงโดยเจ้าหญิงบุปผาเทวี) ดูจะพิเศษกว่านั้น เพราะแม้จะยินยอมสมรสกับคู่ครองที่มารดาเห็นชอบตามขนบเขมรก็ตาม

ทว่าต่อมา ด้วยความเป็นผู้มีจิตใจเปิดกว้าง ทำให้ประมุขของรัฐ (แสดงโดย พลเอกยึก จูล่ง) เมื่อพบความจริงว่า เธอมีชายคนรักอยู่แล้ว ชายสูงวัยผู้หลงรักเด็กสาวในทันทีจากการที่เห็นร่ายรำบทอัปสรครั้งแรก ก็ยินดีให้เธอมีอิสระ และกลับไปครองรักกับนายทหารนักบินอย่างมีความสุข

ส่วนเขาก็กลับไปหาชู้รักผู้เร่าร้อนคนเก่าและมีรสนิยมทางสังคมที่เฉิดฉายแบบเดียวกับตน

ดูเหมือนผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ จะจงใจลบล้างขนบเก่าแก่แห่งราชสำนักที่ตนคุ้นเคยและถูกกล่าวหามาแต่อดีต

ไม่ว่ากรณีประโลมโลกย์ของ โรล็องด์ เมแยร์ ที่กล่าวหาว่านางละครพระราชทรัพย์คือสมบัติของราชสำนัก

แต่ประโลมโลกย์ฉบับสีหนุนี้ จะเห็นว่า เต็มไปด้วยความทันสมัย การปลดปล่อย และแก้ข้อกล่าวหาของพวกตะวันตกที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทนโรดมบริรักษ์-พระอัยกา

เป็นการลงทุนที่นับว่าได้ผลมาก เพราะอีกด้านหนึ่ง เท่ากับเผยถึงนาฏลีลาที่ได้รับการสร้างสรรค์ฝึกปรือขึ้นมาใหม่อันต่างจาก 4 รัชสมัยแรกในพระบาทองค์ด้วง-พระบาทนโรดม-สีโสวัตถิ์และมุนีวงศ์

นาฏศิลป์ชุดนี้ ปรากฏในชุดเครื่องทรงรัดทรวง มงกุฎ/ชฎาทองแบบเดียวกับนางอัปสรแห่งนครวัด และทรงสมปดหลากเฉดสี ในจำนวน 5 ถึง 7 นาง โดยตัวเอกนั้นมักทรงสมปดเงินและเป็นผู้ที่รำได้อ่อนช้อยสวยงาม

ทันทีที่นางรำบุปผาเทวีปรากฏตัวบนเวทีเป็นคนแรก ลักษณะแห่งความคลาสสิคที่ชวนสิเหน่หา และสะกดผู้คนให้ตะลึงพรึงเพริด

ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า การเผยแพร่ละครพระราชตร็อบหรือนาฏศิลป์แห่งราชสำนักกัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสีโสวัตถิ์ (2447)

ตอนเสด็จประพาสและนำคณะละครไปแสดงในฝรั่งเศสที่มาร์เซย์และปารีส

ในครั้งนั้น ทั้งเครื่องทรงนางละครทั้งหมด ตลอดจนบทเพลงที่ถูกบันทึกในจดหมายเหตุ ล้วนแต่ยังเป็นการแสดงนางละครยังทรงชฎาอุบะดอกไม้ และมีเครื่องทรงประทับทรวงและอื่นๆ ที่ไม่แตกต่างจากละครฉุยฉายและอิเหนาของไทยมาก

อย่างไรก็ตาม การแสดงที่สะกดความหลงใหลต่อชาวยุโรปครั้งนั้น ได้มีอิทธิพลต่อเด็กหนุ่มฝรั่งเศส 2 คน คนหนึ่งคือ โรล็องด์ เมแยร์ (1889) และอีกคนหนึ่งคือ จอร์จ โกรสลิเยร์ (1887-1945)

ทั้งสองต่างหลงใหลในศาสตร์แขนงนี้ โดยต่อมา คนหนึ่งได้กลายเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญของกัมพูชา ส่วนอีกคนหนึ่งได้กลายเป็นนักประพันธ์ที่สาบสูญ

โดยพระเรียมบุปผาเทวีนั่นเองที่ทรงยกย่อง จอร์จ โกรสลิเยร์ ว่าเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ศึกษาศาสตร์การละครเขมร และอาจจะข้อนี้หรือไม่ ที่ราชสำนักกัมพูชาต่อมาในยุคสมเด็จโกสะมักได้นำงานวิจัยของเขาไปต่อยอดจนกลายมาเป็นการแสดงชุดอัปสรา

แสดงให้เห็นตลอดมาว่า ราชสำนักพนมเปญนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนาฏศิลป์ที่เป็นอัตลักษณ์ของตน

ตั้งแต่การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ในเครื่องทรงของนางละครที่จำลองมาจากสมัยนครวัด ตลอดจนท่ารำ/กบัจ และบทเพลงที่มุ่งเน้นไปทางถวายต่อองค์เทพเจ้า

นับเป็นการปลดเปลื้องและทิ้งอย่างสิ้นเชิงแต่นั้น ต่ออิทธิพลเก่าที่รับมาจากกรุงเทพฯ

โดยบทบาทของโกรสลิเยร์ที่ศึกษาด้านนี้ ได้ทิ้งร่องรอยพบว่า ก่อนสมัยปี พ.ศ.2500 นั้น นางละครกัมพูชาไม่เคยสวมชฎาหรือมงกุฎตามที่พวกเขาเรียกกันในการแสดงเลย

แต่ความเป็นนักการศึกษา จอร์จ โกรสลิเยร์ ได้ค้นคว้าวิวัฒนาการละครของกัมพูชาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 สมัยเมืองพระนคร จากบันทึกประกอบภาพเขียน “นาฏละครเขมร-อดีตและปัจจุบัน” (Danseuses Cambodgiennes-Anciennes et Modernes, พ.ศ.2456)

ผลงานชิ้นนี้ มีส่วนทำให้นาฏลักษณ์เขมรได้รับการจดจารในเชิงเอกสารอย่างเป็นทางการชิ้นแรกๆ ที่มีลักษณะเชิงวิชาการ

โกรสลิเยร์ได้จำลองภาพลักษณ์ลักษณะท่ารำถวายองค์เทพในลักษณะต่างๆ สมัยเมืองพระนคร ตลอดจนชุดแต่งกายและเครื่องประดับทั้งจากประติมากรรมนูนต่ำเทวดา นักรบ นางรำและประกอบทั่วไปทั้งจากปราสาทนครวัดและนครธม

แม้ว่าบันทึกของโกรสลิเยร์ ที่ทำให้เห็นว่า ท่ากรีดนิ้วร่ายรำต่างๆ ในกบัจขะแมร์ ไม่ว่าจะเป็นนางโอด นางถวาย นางอาย นางถวายพร ฯลฯ กบัจร่ายรำเหล่านี้และเครื่องทรงอดีตนั้น มีความร่วมสมัยกับชุดนางละครไทยนัก

โดยตามบันทึกระบุว่า ในสมัยนครธมนั้นลักษณะมงกุฎของกษัตริย์ยังเป็นลักษณะครอบเศียรทรงต่ำไม่มีปลายยอด และปลายยอดแหลมดังกล่าวรับอิทธิพลมาจากสยาม

แลนี่เองที่ทำให้คณะละครของพระชนนีโกสะมัก นำมาเป็นแนวทางฟื้นฟูและประยุกต์ขึ้นใหม่ โดยหลุดพ้นไปจากยุคก่อนหน้านี้ที่มีอิทธิพลบางแขนงจากสำนักสยาม

เริ่มจาก ละทิ้งเครื่องประดับเศียรแบบเก่ามงกุฎ/ชฎาในแบบที่เคยใช้ใน 4 รัชกาลก่อน ตลอดการห่มสไบ และหันไปดัดแปลงชุดนางละครตามแบบเทวดาและอัปสรแห่งเมืองนครวัด มาเป็นชุดทรงนางละครทั้งหมด รวมทั้งเครื่องทรงอื่นๆ เช่น กิ่งไม้ และสยายผมครึ่งเอว เหน็บระด้วยพวงดอกจำปา

นาฏลักษณ์ชุดนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545

กระนั้น อัตลักษณ์คอสตูมนางอัปสรา กลับถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของไทย

อย่างต่อเนื่อง และบางครั้งก็ไม่ถูกทั้งกาละและเวลา


หมายเหตุ : กรมขุนสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ อดีตพระสวามีลำดับที่ 4 ในพระพี่นางพระเรียมนโรดมบุปผาเทวี ได้ถึงแก่ทิวงคต 28 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา