สุจิตต์ วงษ์เทศ : “คติเดือนสี่สิ้นปีเก่า” ที่หายไป

แม่น้ำเจ้าพระยามี 2 ฝั่ง คือตะวันออก และตะวันตก ตั้งโรงพิธีพุทธ มีพระสงฆ์สวดมนต์พิธิสัมพัจฉรฉินท์ สิ้นปีเก่าเดือน 4 (ภาพวาดเส้นจากรูปถ่ายโดย เอ. โบรกูรต์ จากหนังสือบันทึกการเดินทางของ อองรี มูโอต์)

เดือน 4 พิธีตรุษ สิ้นปีเก่า ตามคติพราหมณ์ รับจากอินเดียลังกา

มีบอกในกฎมณเฑียรบาล ยุคอยุธยาว่า สัมพัจฉรฉินท์ (ในสมุดข่อยเขียนว่า “เดือน 4 การสํพรรษฉิน”) หมายถึงพิธีสิ้นปี โดยไม่มีพรรณนารายการละเอียดเหมือนเดือน 5 สงกรานต์ แต่มีในคำให้การชาวกรุงเก่า ดังนี้

“เดือน 5 พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาเจริญพระพุทธมนต์ 3 วัน และสวดอาฏานาฏิยสูตร

เวลาสวดมนต์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระมหามงคลอันผูกต่อกับสายสิญจน์ ครั้นถึงวันคำรบ 3 ซึ่งสวดอาฏานาฏิยสูตร เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยรบทั้งกำแพงพระราชวังและกำแพงพระนคร

เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว ให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพาวุธมาประน้ำมนต์และประน้ำมนต์ช้างต้นม้าต้นด้วย เป็นเสร็จการพระราชพิธี 12 ราศี ซึ่งมีตามตำรากรุงศรีอยุธยาเพียงเท่านี้”

สิ้นปี ตัดปี

หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนของ ร.5 อธิบายว่า สัมพัจฉรฉินท์ “เป็นการพิธีประจำปีสำหรับพระนคร ทำเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนครและพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนราษฎร”

“สัมพัจฉรฉินท์” หมายถึง สิ้นปี ตัดปี (เก่า) มีรากศัพท์จากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า สัมพัจฉร แปลว่า ปี, ฉินท แปลว่า ตัด ขาด รวมความแล้วเป็นพิธีตัดปี, สิ้นปี

มีคำเรียกเฉพาะการตัดปีว่าตรุษ หมายถึงพิธีกรรมสิ้นปีจันทรคติ ทำเมื่อสิ้นเดือนสี่ มีประเพณีทำบุญเลี้ยงพระ ดังพรรณนาไว้ในทวาทศมาส โคลงดั้น ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา กับนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ดังนี้

๏ ฤดูเดือนสี่ซั้น          มาดล แม่ฮา
ตรุษโตรษเรียมแดยัน    ด่าวดิ้น
(ทวาทศมาส)

๏ เดือนสี่พิธีตรุษ         เจ้างามสุดผุดผาดดี
ชำระพระชินสีห์          หมดผงเผ่าข้าวบิณฑ์ถวาย ฯ

๏ การบุญผคุณมาศน้อง นารี
ขาวสุดผุดผาดดี           ส่องแก้ว
ชำระสระสรงสี            พุทธรูป
ผงเผ่าเถ้าหมดแล้ว        แต่งข้าวบิณฑ์ถวาย
(นิราศธารโศก)

คติเดือนสี่สิ้นปีเก่า (เพื่อขึ้นปีใหม่เดือนห้า-สงกรานต์) สืบมาถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีบอกในวรรณกรรมอย่างน้อย 2 เรื่อง ดังนี้

นิราศเดือน ของนายมี (หรือเสมียนมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร) กวีสมัย ร.3 เขียนว่า “ถึงเดือนสี่ปีสุดถึงตรุษใหม่” ซึ่งเท่ากับยกเอาพิธีพราหมณ์ผนวกเป็นพิธีพุทธเรียบร้อยนานแล้ว

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ วรรณกรรมสมัย ร.3 ถึงระบุชัดๆ ว่า “ครั้นเดือน 4 ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมุติ เรียกว่า ตรุษฝ่ายพุทธศาสน์…” ต่อจากนั้นพรรณนาว่าประเพณีสำคัญตรงนี้คือ มีสวดมนต์เย็น “เจริญพระอาฏานาฏิยสูตร” มีโรยทรายรอบพระราชนิเวศน์เป็นสัญลักษณ์ป้องกันอาถรรพณ์ต่างๆ แล้วมีการละเล่น “เหล่านักเลงก็เล่นมหรสพเอิกเกริกสมโภชบ้านเมืองเป็นการนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิงก็แต่งตัวนุ่งห่ม ประดับกายอ่าโถง พากันมาเที่ยวดูแห่ดูงาน นมัสการพระในวันสิ้นปีแลขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก”

นี่คือคติพราหมณ์ที่ถูกแปลงเป็นพุทธ ฟักตัวอยู่ในราชสำนักก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อจากนั้นส่งอิทธิพลแพร่หลายสู่ราษฎร ให้ถือคติเดือนสี่ตรุษสิ้นปีเก่า เดือนห้าสงกรานต์ขึ้นปีใหม่

ปัจจุบันประเพณีตรุษสิ้นปีเก่าหายไป คงเหลือแต่สงกรานต์ขึ้นปีใหม่ในคติจากอินเดีย