วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (7)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว ในที่นี้จะอธิบายความหมายของชื่อ เปาชิงเทียน ก่อน

คำในพยางค์แรกคือ เปา นั้นไม่มีปัญหาว่าคือชื่อสกุล

ส่วนคำว่า ชิงเทียน (จีนกลาง) นี้หากแปลตรงๆ จะแปลได้ว่า ฟ้าใส แต่ถ้าเรียกขานตามคำแปลนี้ในภาษาไทยร่วมสมัยก็จะกลายเป็นชื่อผู้หญิงไป ด้วยในอดีตไม่สู้จะได้ยินคำนี้มาเป็นชื่อมากนัก

ในทำนองเดียวกัน หากใช้คำไทยร่วมสมัยเช่นกันแล้ว คำว่า ชิงเทียน น่าจะแปลว่า โปร่งใส ที่หมายถึง บริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้ที่ตั้งชื่อนี้ (เปาชิงเทียน) ไม่ว่าจะเป็นชื่อวรรณกรรม หนัง หรือละครชุดก็ตาม คงตั้งใจให้มีความหมายเช่นนี้จริงๆ เพราะสะท้อนถึงบทบาทในชีวิตจริงของเปาเจิ่งได้ตรงดี

ดังนั้น ตัวละครบางตัวในละครชุด เปาบุ้นจิ้น จึงมักเรียกเปาบุ้นจิ้นว่า เปาชิงเทียน อยู่บ่อยครั้ง

ยกเว้นก็แต่ศัตรูของเปาบุ้นจิ้นเท่านั้นที่จะเรียกเปาบุ้นจิ้นว่า เจ้าเปาหน้าดำ หรือ เปาเฮยจื่อ

และผู้ที่เรียกเปาบุ้นจิ้นด้วยคำนี้มากที่สุดก็คือ ราชครูผาง

 

จากนี้ก็มาถึงชื่อ เปาบุ้นจิ้น ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่าไม่พบในสารบบชื่อของเปาเจิ่งแต่อย่างไร ผู้รู้ที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนในอดีตเคยอธิบายว่า ชื่อในพยางค์แรกกับพยางค์หลังคือ เปา กับ จิ้น นั้นคือคำว่า เปา กับ เจิ่ง ในภาษาจีนกลาง ส่วนคำในพยางค์ที่ 2 คือ บุ้น นั้นท่านมิได้อธิบายว่าคือคำใด

แต่จากที่ได้สอบถามจากผู้รู้ในปัจจุบันแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า เหวิน ในภาษาจีนกลาง คำนี้ในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า บุ๋น ซึ่งเป็นคำมีมักใช้คู่กับคำว่า บู๊

คำว่า บุ๋น มีความหมายกว้างขวางมาก คือหมายถึง วัฒนธรรม อารยธรรม วรรณคดีหรืออักษรศาสตร์ นักคิดนักเขียน ฯลฯ หากสังเกตจากความหมายที่ว่าแล้ว บุ๋น หรือ เหวิน จะมีนัยประหวัดไปถึงปัญญาหรือความคิด ซึ่งต่างกับคำว่า บู๊ หรือ อู่ (จีนกลาง) ที่มีนัยประหวัดไปถึงกำลังหรือการต่อสู้

ด้วยเหตุนี้ สังคมจีนจึงแยกใช้คำทั้งสองเคียงคู่กันโดยมีความหมายตรงข้ามกัน และเมื่อนำมาใช้ในบริบททางการเมืองการปกครองแล้ว บุ๋นจะถูกใช้ไปในทางราชการพลเรือน ผู้ที่เป็นขุนนางฝ่ายนี้จะถูกอยู่ในฝ่ายบุ๋นหรือฝ่ายเหวิน ส่วนบู๊ก็จะถูกใช้ในทางราชการกลาโหม

ผู้ที่เป็นขุนนางฝ่ายนี้จึงย่อมเป็นขุนศึกหรือเจ้าพนักงานตำรวจ ฝ่ายนี้จึงถูกจัดอยู่ในฝ่ายบู๊หรือฝ่ายอู่

เปาบุ้นจิ้นนั้นชัดเจนว่าเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น จึงเป็นไปได้ที่คำว่า บุ้น ที่เพี้ยนมาจากคำว่า บุ๋น จะถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อในพยางค์ที่ 2 ทั้งเพื่อยกย่องเปาเจิ่งในเชิงปัญญาความคิด หรือเพื่อสื่อความหมายว่าเปาเจิ่งเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น

ที่สำคัญ คำว่า บุ๋น หรือ บุ้น นี้ไม่อาจเทียบเคียงกับคำว่า ชิง ในภาษาจีนกลางได้เลย เพราะคำว่า ชิง ในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้นออกเสียงว่า เช็ง

และในเมื่อชื่อละครชุด เปาบุ้นจิ้น เป็นคนละชื่อกับชื่อที่ใช้จริงเช่นนี้ และที่เป็นชื่อที่ใช้ในไทยนั้นก็ต่างกันตรงชื่อในพยางค์ที่ 2 ดังได้อธิบายไปข้างต้นแล้ว

จึงเป็นไปได้ที่ชื่อ เปาบุ้นจิ้น อาจเป็นชื่อที่ใช้เฉพาะจนเป็นที่คุ้นเคยกันในหมู่ชาวจีนแต้จิ๋ว ที่คงมีเรื่องเล่าของเปาเจิ่งในถิ่นของตนผ่านวรรณกรรมหรืองิ้ว

และเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่มีหนังและละครโทรทัศน์ขึ้นมา ชื่อในวรรณกรรมหรืองิ้วที่ว่าจึงถูกนำมาใช้ในหนังหรือละครโทรทัศน์ไปตามความคุ้นเคยดังที่เห็น

จากเหตุนี้ ชื่อในละครชุดที่ควรเป็น เปาชิงเทียน (จีนกลาง) หรือ เปาเช็งเทียน (แต้จิ๋ว) จึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่กลับใช้ชื่อที่คุ้นเคยแทน นั่นคือ เปาบุ้นจิ้น

 

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ข้อสันนิษฐานนี้ส่วนหนึ่งแม้จะทำไปโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากผู้รู้ก็จริง แต่ถึงที่สุดแล้วก็ยังคงต้องการข้อที่ยืนยันจากผู้รู้อื่นๆ มากกว่านี้ อย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ในทางการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจีนในไทยเราเอง

จากที่ได้กล่าวมาโดยตลอดนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเปาเจิ่งที่เทียบเคียงกับละครชุด เปาบุ้นจิ้น ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ในไทย ซึ่งก็คงพอแก่การตามสมควรแล้ว จากนี้ไปจะได้กล่าวถึงเรื่องราวของเปาเจิ่งในอีกบางด้านที่อยู่นอกเหนือกรอบที่ได้กล่าวมา

อันประกอบไปด้วยชีวิตในบางด้าน ชีวิตหลังจากได้จากโลกนี้ไป และฐานะทางการเมืองในบางช่วงของยุคคอมมิวนิสต์นี้ เป็นอาทิ

เรื่องแรกคือเรื่องชีวิตในบางด้านที่จะหยิบยกมากล่าวถึงนี้คือชีวิตครอบครัว ที่ผู้เสพเรื่องราวของเปาเจิ่งผ่านละครชุด เปาบุ้นจิ้น มักจะเข้าใจกันว่า เปาบุ้นจิ้นมีชีวิตที่เป็นโสด ไม่มีครอบครัวและลูกหลานสืบตระกูล

จนมีผู้คิดสัปดนไปว่า บางทีเปาบุ้นจิ้นอาจเป็นเพศที่สามโดยมีกงซุนเช่อหรือจั่นเจาเป็นเพื่อนร่วมชีวิตก็เป็นได้

 

ใครที่คิดเช่นนี้ขอให้หยุดคิดไปได้ เพราะแม้ในละครชุดจะทำให้คิดว่าเปาบุ้นจิ้นเป็นโสดก็จริง แต่กับชีวิตจริงของเปาเจิ่งแล้วไม่เพียงจะไม่เป็นเช่นที่ว่าเท่านั้น หากแต่คนที่คิดเช่นนั้นได้รู้ความจริงแล้วก็อาจถึงขั้นอิจฉาเปาเจิ่งไปด้วยก็ได้

ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะในชีวิตจริงนั้นเปาเจิ่งมีภรรยา 3 คน และใน 3 คนนี้ได้ให้กำเนิดทายาทแก่เปาเจิ่งรวม 4 คนด้วยกัน โดยเป็นบุตรชาย 2 คนและบุตรี 2 คน บุตรชายคนแรกได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร และเสียไปในขณะที่เปาเจิ่งยังมีชีวิตอยู่

ส่วนบุตรี 2 คนได้ออกเรือนไปกับขุนนางในตำแหน่งอาลักษณ์

ในแง่นี้หากว่าตามประเพณีจีนก็จะหมายความว่า บุตรีทั้งสองหากจะมีทายาทแล้ว ทายาทนั้นจะเป็นผู้สืบตระกูลในฝ่ายสามี หาใช่ในฝ่ายเปาเจิ่งไม่

ส่วนทายาทคนสุดท้ายเป็นบุตรชายซึ่งสามารถเป็นผู้สืบตระกูลให้แก่เปาเจิ่งได้ แต่กลับมีปัญหาอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เพราะทายาทคนนี้มีภูมิหลังที่ออกจะแหวกประเพณีสมัยศักดินาของจีนอยู่ไม่น้อย

ด้วยว่าเป็นทายาทที่กำเนิดจากภรรยาที่มีที่มาติดข้างจะสวนทางกับจารีตศักดินา โดยเมื่อดูจากคำที่กำกับอยู่กับชื่อของภรรยาผู้นี้แล้วสามารถทำให้ตีความไปได้ 2 ทาง

ทางหนึ่ง ตีความได้ว่าเป็น “ผู้รับใช้ข้างกาย” หากกล่าวตามความหมายปัจจุบันแล้วภรรยาผู้นี้ก็คือ สาวใช้

อีกทางหนึ่ง ตีความได้ว่าเป็น “ผู้ที่ถูกส่งตัวมาเป็นเพื่อนแต่ง” ในทางนี้อาจหมายถึงหญิงที่ผู้อื่นมอบให้แก่เปาเจิ่ง หากว่าตามความหมายนี้ก็แสดงว่าเปาเจิ่งได้หญิงคนนี้มาเพื่อบำเรอความสุข ซึ่งในธรรมเนียมสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติของขุนนางจีนในสมัยศักดินา

ดังนั้น หากเป็นไปตามความหมายในทางแรกแล้วก็อาจกล่าวด้วยภาษาพูดในปัจจุบันได้ว่า เปาเจิ่ง “ฟันสาวใช้”

ส่วนในทางที่สองมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นนางบำเรอในฮาเร็มตามวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง หรืออินเดียในสมัยที่ถูกมุสลิมยึดครอง เพราะโดยมากแล้วขุนนางจีนไม่ได้มีหญิงประเภทนี้นับเป็นสิบๆ คน แต่จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะมีความหมายในทางใด หญิงที่มีฐานะไม่ต่างกับภรรยาประเภทนี้จะไม่ได้รับการยกย่องจากคนในตระกูล

ซ้ำในบางกรณีก็ถึงขั้นถูกขับออกจากบ้านขุนนางก็มีไม่น้อย

และในกรณีเปาเจิ่งก็คือ ภรรยาคนนี้ถูกขับออกจากจวนของเปาเจิ่งจริงๆ

แต่ที่ทำให้ภรรยาผู้นี้มีที่ทางในประวัติของเปาเจิ่งก็เพราะทายาทที่เป็นบุตรชายนี้เอง

 

กล่าวกันว่า ที่ทางดังกล่าวเกิดขึ้นในคราวฉลองครบรอบ 60 ปีของเปาเจิ่ง งานนี้มีขุนนางมาร่วมอวยพรมากมาย แม้แต่จักรพรรดิซ่งเหญินจงก็ยังทรงส่งตัวแทนพระองค์มาร่วมอวยพรด้วย แต่ก็เล่ากันว่า งานวันนั้นเปาเจิ่งหามีความสุขไม่ เพราะแม้มีอายุมากขนาดนั้นที่พึงจะยินดีก็จริง แต่การไร้ทายาทมาสืบตระกูลดังกล่าวต่อให้มีอายุมากกว่า 60 ก็ไร้ความหมาย

แต่ในระหว่างงานนั้นเอง สะใภ้ใหญ่ของเปาเจิ่งก็ได้นำเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในวัยหัดพูดมาแนะนำเปาเจิ่งว่า นี่คือบุตรชายของท่าน

แน่นอนว่า เมื่อแรกได้ยินเปาเจิ่งย่อมต้องตกใจเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้ฟังคำอธิบายของผู้เป็นสะใภ้แล้ว เปาเจิ่งก็กลับยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะแม้จะเกิดจากภรรยานอกธรรมเนียมประเพณีก็จริง แต่การที่ภรรยาผู้นี้ให้กำเนิดบุตรชายเช่นนี้ ธรรมเนียมประเพณีสมัยนั้นย่อมไม่ขัดขวาง

ผลก็คือ ภรรยาผู้นี้ได้มีที่ทางในประวัติของเปาเจิ่ง

ส่วนเปาเจิ่งก็ได้ทายาทมาสืบตระกูล และทายาทผู้นี้เองที่ทำให้ตระกูลเปาได้สืบสกุลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ถึงตรงนี้คนที่คิดสัปดนว่าเปาบุ้นจิ้นหรือเปาเจิ่งในชีวิตจริงเป็นเพศที่สามนั้นคงเลิกคิดได้

แต่จะถึงขั้นอิจฉาที่เปาเจิ่งว่ามีภรรยาถึง 3 คนหรือไม่อย่างไร คงเป็นเรื่องของแต่ละคน

โดยเฉพาะกับภรรยาคนที่สามซึ่งหากตีความว่าเป็นหญิงที่มีผู้อื่นมอบให้มาแต่งแล้ว หญิงผู้นี้น่าที่จะมีรูปร่างหน้าตาดี เพราะในทางปฏิบัติแล้วคงไม่มีผู้มอบคนใดที่จะเลือกหญิงอัปลักษณ์มาให้เป็นแน่

 

หลังจากที่เปาเจิ่งจากโลกนี้ไปและมีทายาทสืบตระกูลเรื่อยมาแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ตัวเขาจะต้องมีหลุมศพถูกฝังอย่างเป็นที่เป็นทางที่บ้านเกิด

สุสานของเปาเจิ่งที่บ้านเกิดนี้ก็คือที่เมืองเหอเฝยในมณฑลอานฮุย ไม่ใช่เมืองไคเฟิงอันเป็นหนึ่งในเมืองที่เปาเจิ่งเคยรับราชการ และเป็นเมืองที่ผู้ที่เสพเรื่องราวผ่านวรรณกรรมอาจจะรู้สึกคุ้นเคยกว่าเมืองเหอเฝย

เมื่อมีสุสานก็ย่อมมีลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาทำพิธีรำลึกในเทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง) แต่สุสานของเปาเจิ่งก็ไม่ต่างกับสุสานอื่นๆ ที่มิอาจหลีกพ้นภัยต่างๆ เมื่อบ้านเมืองจีนเกิดวิกฤตขึ้นมา

วิกฤตนี้บางทีก็ทำให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายหลุมศพของเขา

บางคราก็ทำให้หลุมศพของเขาถูกปล้นสะดม ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดีทั้งสิ้น

เพราะตามประเพณีจีนถือกันมากว่าการขุดสุสานบรรพชนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง