เรืยนสุข สนุกสอนกับ sQip (4) ครูของครู…สุขหลังเกษียณ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม เงื่อนไขที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ไม่ว่าปริมาณหรือคุณภาพ หนีไม่พ้นมาจากเหตุปัจจัยภายในกับภายนอก การศึกษาก็เช่นเดียวกัน

ความเชื่อส่วนใหญ่มักจะเอนเอียงไปทางเหตุปัจจัยภายในเป็นตัวชี้ขาดมากกว่า เพราะเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ ไม่ได้เกิดจากการบังคับ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีใจเป็นตัวตั้ง เป็นประธาน ความเปลี่ยนแปลงจากภายในจึงจะจบลงด้วยความราบรื่นเรียบร้อย

กระบวนการโรงเรียนพัฒนาต่อเนื่อง ตามแนวทาง sQip ประกอบด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาด้วย 5 มาตรการก็ตาม แต่พิเคราะห์แล้วล้วนเป็นเงื่อนไขปัจจัยจากภายนอกเป็นตัวช่วยเข้าไปสนับสนุน ตัวละครหลัก คือ ครู ผู้บริหาร นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน

แม้ 5 ตัวช่วย เข้าไปหนุนเสริมอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน ถ้าเงื่อนไข ปัจจัยภายในไม่อำนวย ไม่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ช้าหรือไม่เกิดขึ้น

ตัวช่วยทุกตัวล้วนมีความสำคัญก็ตาม แต่จะพบว่าโมเดล sQip จัดวาง Q-coach ไว้ในลำดับแรก

สะท้อนการให้น้ำหนักกับพี่เลี้ยงหรือโค้ชสูง เพราะเป็นบทบาทระหว่างคนกับคน ขณะที่ 4 Q ที่เหลือ เป็นเรื่องของระบบ ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา

 

Q-coach ทำหน้าที่สนับสนุนทางวิชาการและมีความสัมพันธ์แนวราบกับโรงเรียน เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ให้แต่ละฝ่ายและทุกฝ่ายสุมหัวคุยกัน ว่างั้นเถอะ

พูดภาษาวิชาการให้ขลังก็ประมาณว่า กระตุ้นและเอื้ออำนวยกระบวนการเปลี่ยนแปลง นำเข้ามาตรการอีกสี่องค์ประกอบไปยังโรงเรียนและเชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยกระบวนการทำให้เกิดชุมชนเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning community) : PLC คำฮิตร่วมสมัยสู่ศตวรรษที่ 21

สุมหัวเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดอีก 4 Q คือ Q-goal, Q-PLCs, Q-inflo, Q-network หรือถ้ามีอยู่แล้วก็ทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นกับโรงเรียน 200 โรง ที่เข้าโครงการวิจัยทดลอง แบ่งเป็น 7 กลุ่ม

แต่ละกลุ่มจะมีทีม Q-coach 3-4 คนรับผิดชอบตามรายภาค ทุกคนเป็นนักการศึกษาที่ผ่านประสบการณ์จริงมายาวนานจนเกษียณ ยังมีไฟอยู่ เต็มใจทำงานพัฒนาการศึกษาต่อไป

ได้แก่

 

ทีมแรก กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน โรงเรียนที่เข้าร่วม เชียงใหม่ (26 แห่ง) แม่ฮ่องสอน (13 แห่ง) 1.นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นางนิตยา บุญเป็ง อดีต ผอ.โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เชียงใหม่ 3.นายจำนงค์ อภิญดา อดีต ผอ.โรงเรียนสันป่าตอง (สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร) เชียงใหม่ 4.นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ อดีต ผอ.โรงเรียนแม่อายวิทยาคม เชียงใหม่

ทีมสอง กลุ่มจังหวัดน่าน-เชียงราย โรงเรียนที่เข้าร่วม น่าน (21 แห่ง) เชียงราย (16 แห่ง) 1.นายเสรี พิมพ์มาศ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 (แพร่-น่าน) เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นายประเสริฐ กันธะวัง อดีต ผอ.โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เชียงราย 3.นายการันต์ จันทรานันต์ อดีต ผอ.โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย 4.นายศักดิ์ดา พูลสุข อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริมกสิกร) อ.เมืองน่าน

ทีมสาม กลุ่มจังหวัดลำปาง-สุโขทัย โรงเรียนที่เข้าร่วม ลำปาง (12 แห่ง) สุโขทัย (12 แห่ง) 1.นายไพศาล ประทุมชาติ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42 (นครสวรรค์-อุทัยธานี) เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นางเบญจวรรณ ไกรวุฒินันท์ อดีต ผอ.โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ลำปาง 3.นายรังสิทธิ์ ชัยแก้ว อดีต ผอ.โรงเรียนสามเงาวิทยาคม จ.ตาก

ทีมสี่ กลุ่มจังหวัดสุรินทร์-อำนาจเจริญ โรงเรียนที่เข้าร่วม สุรินทร์ (18 แห่ง) อำนาจเจริญ (6 แห่ง) 1.นายนิพนธ์ เสือก้อน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.โรงเรียนวัดราชโอรส กรุงเทพฯ เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นายปรีดา ลำมะนา อดีต ผอ.โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ร้อยเอ็ด 3.นายสมนึก ศูนย์กลาง อดีต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์ เขต 3

ทีมห้า กลุ่มจังหวัดอยุธยา-กาญจนบุรี โรงเรียนที่เข้าร่วม อยุธยา (16 แห่ง) กาญจนบุรี (13 แห่ง) 1.นายทรงวิทย์ นิลเทียน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.โรงเรียนสตรีนนทบุรี เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นายพรชัย ยิ้มพงษ์ อดีต ผอ.โรงเรียนสิงห์บุรี 3.นายสมหมาย ปราบสุธา อดีต ผอ.โรงเรียนวิสุทธรังษี กาญจนบุรี

ทีมหก กลุ่มจังหวัดเพชรบุรี-ชลบุรี โรงเรียนที่เข้าร่วม เพชรบุรี (9 แห่ง) ชลบุรี (13 แห่ง) 1.นายธีระพันธุ์ ธีรานันท์ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นายอภิสิทธิ์ รื่นจิตร์ อดีต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 (ชลบุรี-ระยอง) 3.นายอำนาจ เดชสุภา อดีต ผอ.โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์

ทีมเจ็ด กลุ่มจังหวัดสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต โรงเรียนที่เข้าร่วม สุราษฎร์ธานี (17 แห่ง) ภูเก็ต (8 แห่ง) 1.นางประภาศรี อุยยามฐิติ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ผอ.โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เป็นหัวหน้า ทีมประกอบด้วย 2.นางสาวสดศรี ตันสุธัญลักษณ์ อดีต ผอ.โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย (2553-2555)

3.นายณชัย เขมนิพัทธ์ อดีต ผอ.โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย (2555-2557)

 

บทบาทของท่านเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนครูของครู ต้องทำงานหนักยิ่งกว่าครูและผู้บริหาร จึงควรบันทึกไว้เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า

ต่างนำประสบการณ์จริง ทั้งที่ดีและขมขื่น คนละหลายสิบปีมาเป็นข้อคิด แบบอย่างให้ครู ผู้บริหาร ปรับเปลี่ยนบทบาท วิธีการจากความเคยชินเดิมๆ ดีแต่สั่ง สอนให้ท่อง สอนให้จำ ทำงานไม่เป็นระบบ มาเป็นสอนให้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เด็กรู้จักสรุปรวบยอดเป็นความรู้ด้วยตัวเอง

จากสั่งลูกเดียว เป็นเย้ายวน ชวนเชิญ ยั่วยุ กระตุ้น ให้สงสัย กล้าตั้งคำถาม และลงมือทำด้วยตัวเอง ผิดเป็นครู ถูกเป็นครู ไม่ด่าว่ากัน

ภาษาวิชาการก็ว่า เป็นผู้อำนวยการความรู้ ผู้อำนวยความสะดวก Facilitator หรือ Co ordinator ทำนองนั้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน การเรียน จากที่เน้นตำรา ทฤษฎี ตัวหนังสือ มาเน้นภาคปฏิบัติจริง

โค้ชของครูหรือโค้ชของนักเรียนก็ตาม จึงต้องทำอย่างที่ครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญาชอบพูดกัน ลดเลิกพื้นที่แห่งความกลัว เปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งความรัก สร้างบรรยากาศความอบอุ่นและแรงบันดาลใจ

ครูก็สนุกสอน เด็กก็สนุกเรียน มีความสุขอยากมาโรงเรียน หมั่นตั้งคำถาม เอ๊ะๆๆๆ ไม่ใช่ อ๋อ นั่งอ้าปากหวอตลอดเวลา

การพัฒนาการศึกษาตามโมเดล sQip จะบรรลุเป้าหมายถึงระดับใด ศิลปะ กระบวนท่าของโค้ช มีส่วนสำคัญยิ่ง

แม้ผ่านประสบการณ์กันมาคนละมากมาย การไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ตลอดเวลายังเป็นหลักยึดไม่เปลี่ยนแปลง ก่อนปฏิบัติการจริง ทั้งทีมโค้ช ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคน จึงมีรายการ จูนคลื่นความคิด ปรับพฤติกรรมร่วมกันเสียก่อน

ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ ที่สำคัญ ทำอะไร และทำอย่างไร ไว้ค่อยเล่ากันต่อไป