จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4)

จรัญ มะลูลีม

อิสลามในบรูไน

รัฐสุลต่าน (สุลฏอน หรือ Sultanate) บรูไนดารุสสลาม ตั้งอยู่บนเกาะของบอร์เนียว เป็นประเทศเล็กๆ แต่มีประชากรหลากหลาย ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายระดับของสังคมบรูไน

ในความเป็นจริงองค์สุลต่านได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อให้อยู่ในครรลองแห่งคำสอนของอิสลามและรัฐก็ให้การสนับสนุนในการส่งเสริมศาสนาเป็นอย่างมาก

คนที่ไม่ได้เป็นมุสลิมก็มาจากหลายศรัทธามีสถาบันและองค์กรของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชาวจีน

บรูไนมีประวัติความใกล้ชิดกับอิสลามมาโดยตลอดและอิสลามมาถึงชายฝั่งของบรูไนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีน บรูไนเคยถูกเรียกว่าโปลี (Poli) หรือโปโล

นอกจากนี้ ได้มีการค้นพบเหรียญสมัยเก่าของจีนในดินแดนของบรูไนที่เรียกกันว่าโกตาบารู (Kota Baru) ครอบครัวสุลต่านได้ส่งสินค้าแห่งสัมพันธไมตรี อย่างเช่น งาช้างและเครื่องเทศไปให้ราชวงศ์ซ่ง (Sung dynasty)

และหลังจากนั้นเป็นต้นไปบรูไนก็มีชุมชนนานาชาติเกิดขึ้นในช่วงต้นๆ ที่มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์

หลักฐานอื่นๆ ในทางประวัติศาสตร์อย่างเช่นกวีคลาสสิค (Syair Awang Semaun) ได้บันทึกถึงชัยชนะในกีฬาไก่ชน (Cock fighting) ของสุลต่านบรูไน (Awang Alag Betaar) ที่มีชัยเหนือ ระเด็น อังสุกะ (Raden Angsuka) กษัตริย์มัจปาหิต ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจอยู่ในพื้นที่

มีรายงานว่า อาวัง อาลัก บีตาร ได้เข้ารับศาสนาอิสลามโดยการเชิญชวนของสุลต่านแห่งยะโฮร์ (สิงคโปร์เดิม) หลังจากสุลต่านไปเยือนที่นั่น และต่อมาสุลต่านก็เข้าพิธีสยุมพรกับเจ้าหญิงแห่งยะโฮร์ในช่วงทศวรรษ 1360

หลังจากได้รับพระนามใหม่ว่า มุฮัมมัด ชาฮ์ (Muammad Shah) สุลต่านก็ได้พบกับพ่อค้าอาหรับจากมักกะฮ์ (Makka) คือ ชารีฟ อะลี (Sharif Ali) ซึ่งให้ความรู้เรื่องอิสลามแก่สุลต่านบรูไน ในท้ายที่สุด ชารีฟ อะลี ได้กลายมาเป็นสุลต่านองค์ที่ 3 ของบรูไนและใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่สร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวเข้ากับอิสลาม (Islamization) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสุลต่านมุฮัมมัด ชาฮ์

นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่าในสมัยของสุลต่านโบลกียะฮ์ (Sultan Bolkiah) ซึ่งเป็นสุลต่านองค์ที่ 5 แห่งศตวรรษที่ 16 อิสลามในบรูไนได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความรุ่งโรจน์และทำให้มะลักกา (Malacca) เป็นศูนย์กลางของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายใต้การเป็นผู้นำของสุลต่านโบลกียะฮ์ บรูไนได้ขยายเขตแดนไปไกลถึงฟิลิปปินส์ซาบาฮ์และซาราวัก

การแต่งงานของสุลต่านกับเจ้าหญิงในดินแดนต่างๆ ที่ได้เข้าพิชิตอย่างเช่น ซูลู (Sulu) และมะนิลาช่วยทำให้อิสลามขยายตัวเข้าไปในดินแดนส่วนนี้ของโลก

หลังการมาถึงของสเปนในฟิลิปปินส์จะพบว่ามีการขยายตัวของคริสต์ศาสนาจนนำไปสู่สงครามระหว่างบรูไนกับสเปน (Brunei – Spanish war) ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 17 บรูไนประสบกับความเสื่อมโทรมเมื่อมีความเป็นศัตรูเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัวของสุลต่าน

ตลอดเวลาที่ผ่านมาบรูไนถูกครอบครองโดยอังกฤษ แม้แต่กิจการต่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของอังกฤษ

ในปัจจุบันคาดหมายกันว่ารัฐสุลต่านบรูไนดารุสสลามมีประชากรราวครึ่งล้าน ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของประชากรเป็นชาติพันธุ์มาเลย์

ชาวมุสลิมบรูไนถือสำนักคิดซุนนี ซึ่งเป็นการถือตามหนึ่งในสำนักคิดย่อยของซุนนีคือสำนักคิดชาฟิอี (Shafii)

คนชาติพันธุ์มาเลย์อื่นๆ ในบรูไนอย่างเช่น พวกมูรัตส์ (Murats) และดูซุน (Dusuns) นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ถือผี แม้ว่าส่วนหนึ่งของพวกเขาจะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ก็ตาม

ชาติพันธุ์ชาวจีนในบรูไนคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ เต๋า ขงจื่อ หรือไม่ก็ศาสนาคริสต์ ทั้งนี้ จำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นอิสลาม

จากสถิติในปัจจุบันพบว่าร้อยละ 67 ของประชากรบรูไนดารุสสลามเป็นชาวมุสลิม ร้อยละ 13 เป็นชาวพุทธ ร้อยละ 10 เป็นชาวคริสต์ และที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นความเชื่ออื่นๆ ซึ่งจะรวมถึงฮินดู ซิกข์ บาไฮ (Bahais) หรือไม่ก็ไม่ประกาศตัวว่านับถือศาสนาอะไร แม้อิสลามจะเป็นศาสนาประจำชาติและกฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายของแผ่นดิน แต่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาสามารถปฏิบัติตามคำสอนของและค่านิยมในศาสนาของตนได้อย่างเสรี

รัฐธรรมนูญของบรูไน (1959) ประกาศว่าศาสนาของบรูไนเป็นศาสนาอิสลาม โดยศาสนาอื่นๆ สามารถปฏิบัติได้ด้วยความศานติและปรองดองในทุกส่วนของประเทศ

ค่านิยมอิสลาม ประเพณี และจริยธรรมได้ถูกรวมเข้ามาและได้ปรากฏให้เห็นอยู่ในวัฒนธรรม-สังคมและการเมืองของบรูไน

ความคิดในเรื่อง Malayu Islam Beraja (MIB) หรือกษัตริย์ในรูปแบบมุสลิมมาเลย์ถือเป็นเสาหลักทางสังคม ศาสนา และการเมืองของบรูไน ซึ่งให้ความสำคัญกับเผ่าพันธุ์วัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม

ศาลชะรีอะฮ์ (Shari”ah Courts) หรือศาลศาสนาอิสลามมีบทบาทอยู่ในประเทศ แบบอย่างจารีตของอิสลามจะทำงานควบคู่ไปกับระบอบการปกครองของสุลต่าน ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำเอาหลักการ “กษัตริย์ตามรูปแบบของมาเลย์” มาเป็นอุดมการณ์ของรัฐ

และเป็นพื้นฐานแห่งการบูรณาการณ์ของคนในประเทศ