หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/’ร่วมทาง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ดวงตาหลายคู่ ย่อมดีกว่าดวงตาเพียงคู่เดียว เป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของการอยู่ร่วมฝูง ทุกตัวช่วยกันระวังภัย โอกาสที่นักล่าจะเข้าโจมตีก็น้อยลง

หลังเลนส์ในดงลึก
ปริญญากร วรวรรณ

‘ร่วมทาง’

ในฤดูฝน
หากผ่านไป หรืออยู่ในเมืองเล็กๆ อันเป็นต้นทางสู่ผืนป่าอนุรักษ์ต่างๆ อย่างเมืองแม่สะเรียง อุ้มผาง บ้านไร่ ลานสัก ทองผาภูมิ สังขละ และอีกหลายๆ เมือง
จะมีสิ่งหนึ่งที่คนเห็นกระทั่งคุ้นตา
นั่นคือ รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งเดิมคงเป็นสีขาว บัดนี้อยู่ในสภาพตัวถังยับยู่ยี่ สูงโย่ง เปอะเปื้อนโคลน มีคนอยู่บนกระบะหลายคน แล่นช้าๆ หรือจอดนิ่ง ไม่ไกลจากตลาดสด
ดูจากสภาพรถ ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า กว่าจะมาถึงเมือง รถและคนผ่านเส้นทางอย่างไรมา
จอบ เสียม เลื่อย เปื้อนโคลน วางข้างถังใส่น้ำแข็งสีแดง
นี่เป็นสภาพปกติเวลาที่คนในป่าอนุรักษ์ออกมาซื้อเสบียง
รถขับเคลื่อนสี่ล้อ อายุร่วม 30 ปี เดิมๆ เทียบกับเหล่า “รถนอกถนน” ซึ่งตบแต่งอย่างเต็มพิกัด อุปกรณ์ครบครัน คงห่างกันราวกับฟ้าและดิน
แต่รถเหล่านี้แหละคือ “พระเอก” ที่โลดแล่นในป่า
พวกมันแล่นไปได้ในสภาพเส้นทางอันเละเทะ
ไม่ใช่เพียงเพราะพลังจากเครื่องยนต์
รถเหล่านี้ย่อมมีอะไรมากกว่านั้น

สํานักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
ใกล้ๆ ด่านตรวจด้านซ้ายมือ บนเนินดิน สูงจากพื้นราวเมตรครึ่ง มี “ซาก” รถยนต์เก่าๆ จอดอยู่
นี่คือ “อีแก่” แลนด์ครุยเซอร์คันเก่งผู้เป็นตำนาน ร่วมบุกเบิกป่าผืนนี้มาพร้อมๆ กับคนอีกหลายคน
อยู่ในเมือง อีแก่คล้ายเป็นรถบุโรทั่ง บรรทุกเต็มปรี่ คนอีกจำนวนไม่น้อยนั่งบนกองสัมภาระ
น้ามืด คนขับ บังคับมันโลดแล่นฝ่าอุปสรรคไปราวกับมีเวทมนตร์
ผมเคยถูกน้ามืดใช้ไปตัดไม้มาแทนแหนบที่หัก ครั้งที่โดยสารอีแก่เข้ามาดูนกในป่านี้ในครั้งโน้น
เมื่อรถติดในหล่ม ล้อแขวนลอย ต้องใช้วิธีเอาไม้มางัดล้อให้ลอยขึ้น เอาหินหรือไม้หนุนล้อ
คนในป่าเรียกวิธีนี้ว่า “กระดี่”
นี่ยังเป็นวิธีที่เราใช้จนกระทั่งถึงวันนี้
ทุกครั้งที่รถติด คนบนรถจะรู้หน้าที่ตัวเอง กระโดดลง คว้าจอบ เสียม ขุดดินใต้ท้อง ไม่ก็ขุดดินเป็นบั้งๆ บนเนินชัน เพื่อให้ล้อตะกุยขึ้นไปได้
เดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่า บางหน่วยระยะทางสัก 60 กิโลเมตร หากเป็นฤดูแล้งอาจใช้เวลา 4 ชั่วโมง
และเป็นเรื่องปกติ ถ้าในฤดูฝน ผ่านไป 2 วัน ยังไม่ถึงจุดหมาย
ฝนตก รถติด คือเรื่องธรรมดา
ขุดดิน เปียกปอน หนาวสั่น เหล้าขาวสักอึกสองอึกช่วยได้
รถผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ เสียงเฮมาพร้อมกับเสียงตบมือ
เฮฮา หัวเราะลั่น ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่เมตรต้องกระโดดลงไปขุดใต้ท้องอีก
คนขับนั้นจะได้รับเกียรติให้นั่งบังคับได้โดยไม่ต้องลงมาคลุกโคลนให้เปื้อน
และเขาจะไม่ได้ยินถ้อยคำ หรือประโยคประเภท
“บอกแล้วว่าอย่ามาร่องนี้”
คราวต่อไป ร่องนี้จะถูกเลี่ยง หากมันสาหัสนัก ก็จะทำทางเบี่ยง
คนขับรถในทางป่า รู้อย่างหนึ่งว่า
หล่มที่ดูจะไม่มีอะไรนั่นแหละ
เผลอตัวไม่ระมัดระวัง นำรถลงไปครั้งใด
เป็นได้ติดเสมอ

ปลายฤดูฝน
ป่าห้วยขาแข้ง
เราเดินทางออกจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำตั้งแต่เช้า
ฝนเพิ่งหยุด แม้ว่าเส้นทางในป่าห้วยขาแข้งจะถูกคนในป่าทุ่งใหญ่พูดถึงอย่างขำๆ ว่า เป็นซูปเปอร์ไฮเวย์ก็ตาม แต่หลังจากพายุฝนเข้าครอบคลุม มีหลายหล่มต้องใช้ทางเบี่ยง และห้วยทับเสลา ที่จะต้องข้ามนั้น หลายครั้งระดับน้ำก็สูง ต้องรอกระทั่งน้ำลดปกติ ห้วยนี้ไม่ใช่ปัญหารถ ข้ามไป-มาได้
แต่นี่สองสัปดาห์แล้ว ที่ระดับน้ำสูงเกินกว่าจะนำรถข้าม
วันนี้ ระดับน้ำลดลงมากแล้ว แต่ยังขุ่นแดง ไหลแรง
“น้ำไม่เท่าไหร่ แต่ทรายที่น้ำพัดมานี่สิ รถติดแน่ๆ” ผมพูดกับน้าหมุด เขาพยักหน้าเห็นด้วย
“ลองเดินดูไลน์ก่อนครับ” เค เปลี่ยนกางเกงใส่ขาสั้นเดินลุยน้ำ
“มาตรงนี้ แล้วตีวงอ้อมหน่อย น่าจะพอไปได้ครับ” เขาตะโกนแข่งเสียงน้ำ เดดไลน์ที่ต้องออกมาส่งงาน รวมทั้งเสบียงหลายอย่างที่ต้องซื้อ ทำให้ผมตัดสินใจนำรถข้าม
ผมหันมาสบตาน้าหมุด
“ลุยครับ” เขาพูดสั้นๆ
ผมขึ้นรถ เกียร์อยู่ในตำแหน่ง low รถเคลื่อนมาได้ถึงกึ่งกลางลำห้วย พื้นทรายยุบ รถติดจม
“วินช์เถอะ” ผมเปิดประตู น้ำไหลเข้ารถ เคและจักรสิน กุลีกุจอลากสายสะลิงไปคล้องต้นไม้ริมฝั่ง เราใช้เวลาร่วม 40 นาที จึงผ่านพ้นถึงอีกฝั่ง น้าหมุดเคลื่อนรถตาม และติดจมเช่นกัน
ผมถอยลงน้ำอีกครั้ง เพื่อเกี่ยวสายสะลิงลากรถน้าหมุดให้พ้นอุปสรรค เราผ่านพ้นมาได้
“เจอกันที่ลานสักครับ” เคขึ้นรถกับพ่อผม กับเพื่อนร่วมทางขึ้นรถในสภาพเปียกปอน
“ผ่านมาแล้วไม่ยากเลย สบายๆ” เสียงน้าหมุดใช้วิทยุแจ้งไปที่สถานี
ดูเหมือนจะไม่มีอะไรยาก
เมื่อผ่านพ้นอุปสรรคมาได้แล้ว

ตลาดสด ผู้คนคึกคัก
เราอยู่ในร้านลาบ เหล้าขาวขวดหนึ่งถูกนำมาแก้เมื่อย
“ขากลับยากกว่าอีก เพราะต้องทวนกระแสน้ำ” จักรสินพูดยิ้มๆ
“คิดอะไรมาก ยังไม่ถึงตอนกลับเลย” เคพูดกับเพื่อน

เดินทางในป่า ความแปลกหน้าระหว่างคนมักหายไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเพิ่งพบเจอกันก็ตาม
ความสัมพันธ์ยิ่งเพิ่มพูนในหมู่คนที่อยู่ร่วมกัน
ขับรถในป่า ผมมักผิดพลาดเสมอ
ในหล่มลึก ที่นำรถลงไปติด
ตอนพบกับอุปสรรค คนจะ “รู้จัก” กันยิ่งขึ้น
นั่นสอนเราว่า
ครั้งต่อไป ควรจะเลือกใครเป็นผู้ “ร่วมทาง”