อำนาจที่ปล่อย(ไม่)ไปของประยุทธ์

จรัญ พงษ์จีน

“อํานาจ” เสพเข้ามากๆ นานๆ “ติดหนึบ” เป็นตังเมทุกราย ไม่ละไว้แม้กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“เสพ” มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จะครบ 4 ปีอยู่รอมร่อในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561

มีแนวโน้มสูงยิ่งว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่ยอมก้าวลงจาก “หลังเสือ” ติด “อำนาจ”

ชัดเจนว่าจะ “ขี่เสือ” ต่อไปแน่ ส่อสัญญาณตั้งแต่ตั้งสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านการเมือง และตั้งอิทธิพลผู้น้อง เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา

ตอกย้ำกระแสก่อตั้ง “พรรคทหาร” ว่าไม่ได้เป็นมโน สอดรับกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันที่แกนนำขาลุยจาก “กปปส.” ประกอบด้วย “สกลธี ภัททิยกุล-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เกี่ยวก้อย “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” จากพรรคชาติไทยพัฒนา ดอดเข้าทำเนียบ พบ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ

จากนั้นเพียงเสี้ยวเดียว “สกลธี” ก็ได้รับแต่งตั้งฝากตัวไว้ในตำแหน่ง “รองผู้ว่าฯ กทม.”

ทั้ง 2 กรณี “สนธยา-อิทธิพล” และ “สกลธี” แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่รับรู้กันโดยทั่วว่า ผู้จูนโมเมนตัม ต้องเป็นฝีมือของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จัดให้

หมายยกระดับให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “นายกฯ รอบ 2” มีมติทางภาพลักษณ์ที่เป็นสากล ดูสง่างาม ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แน่นอนแล้วว่า “นายกฯ ภาค 2” จะเลือกใช้บริการช่องทางที่ 1 “นายกฯ คนใน” ตามมาตรา 88 พรรคการเมืองต้องแจ้ง 3 รายชื่อที่จะเสนอต่อสภา ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือก ส.ส. เข้ามาเกินร้อยละ 5

เท่ากับหมูสามชั้นมากๆ พรรคใหม่ที่จะนำเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯ ต้องได้รับเลือกตั้งแค่ 25 คนขึ้นเท่านั้น

ดีดลูกคิดดูแล้ว หากว่ามาตามช่องทางที่ 2 “นายกฯ คนนอก” ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า “ถ้าเลือกนายกฯ จากช่องที่ 1 ไม่ได้ ให้สมาชิก 2 สภา เสียงต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ยกเว้นใช้มาตรา 88 ได้”

เท่ากับต้องใช้เสียงมากว่า 375 เสียง ผ่านด่านแรกไปแล้ว ตอนโหวตก๊อกสุดท้ายผ่านสบายให้ “นายกฯ คนนอก” รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้อง 2 ใน 3 ของ 2 สภารวมกัน ซึ่งยากเอามากๆ เพราะต้องใช้ฝักถั่วสนับสนุนสูงถึง 500 กว่าคน

ด้วยประการดังกล่าว “สมคิด” จึงสวมบทผู้จัดการรัฐบาลใหม่ ปูทางสะดวกให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มาอย่างองอาจมาดทะนง ในนาม “นายกฯ คนใน”

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยังเป็นแค่ “ประชาธิปไตยทางอ้อม” ประชาชนได้เลือกตั้งผู้แทนฯ ไปทำหน้าที่แทนตัวเองในสภา โดยการคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐาน สำหรับ “เขตเลือกตั้ง” แต่ก็มีลักลั่นพิลึกกึกกือบ้างในสัดส่วน “บัญชีรายชื่อ” ที่ต้องมาจากการ “สรรหา” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จำนวน 250 ที่นั่งในรูปแบบผสมผสาน ถือว่า ติดติ่ง “ประชาธิปไตยทางอ้อม” ขาดความสมบูรณ์อยู่บ้าง แต่ยังไงเสียงก็มีการเลือกตั้งโดยตรงเกิดขึ้นแล้ว

 

วกกลับไปดู “คนขี่เสือ” ที่จะก้าวทะยานต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด ตามกลยุทธ์และวิธีการนั้น คิดกันง่ายยิ่งกว่าสร้างปราสาททราย มีการส่งนอมินีไปจองสิทธิ์จัดตั้งชื่อพรรคการเมืองไว้เป็นกรรมสิทธิ์เรียบร้อยในเบื้องแรกแล้ว หลายกระแสเชื่อว่า ชื่อ “พรรคพลังประชารัฐ”

แต่ไม่ทันไรก็ชอบแสดงพฤติกรรมแปลกๆ ไล่จับปลาในบ่อ ฟาดเรียบเขียด อึ่งอ่าง ดึงกลุ่ม มุ้ง ซุ้ม การเมือง แบบไม่บันยะบันยัง จึงถูกปากหอยปากปูทางการเมืองชักใยให้เป็น “พรรคพลังดูด”

คิวยาวเป็นหางว่าว ทั้งกลุ่มมัชฌิมา ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” มุ้งริมน้ำของ “สุชาติ ตันเจริญ” ค่ายนครปฐมแห่งตระกูล “สะสมทรัพย์” สรุปคือ “พรรคใหม่” เขารวดเร็วฉับไว ไม่เอาแต่ป้อ ล่ออย่างเดียว “ดูด” ทุกเม็ด

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” เต็ง 1 ว่าที่ “นายกฯ คนใน” ที่เมื่อก่อนเกลียดนักการเมืองยังกะ “หนอน” แต่ระยะหลังๆ ทัศนคติก็เปลี่ยนไป

สะท้อนผ่านการขยันลงพื้นที่ “ครม.สัญจร” ถี่เอามากๆ และทุกหัวเมืองที่ออกสนาม ล้วนเป็นกันเอง “คนการเมือง” กลับมาดีที่หนึ่งกันไปเลย

จับจากจุดสตาร์ตดูได้จาก ไปสุพรรณบุรี อันเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคชาติไทยพัฒนา ผลัดกันชมผลัดกันเชยกับแกนนำพรรคเจ้าถิ่นด้วยความเมามัน โดยมี “ประภัตร โพธสุธน” แสดงนำ

ไม่กี่วันต่อไป สัญจรไพรไปสุโขทัย ปิดห้องคุยกับเจ้าถิ่นที่ชื่อ “สมศักดิ์” และคณะนักการเมืองท้องถิ่นในสังกัดกันกะหนุงกะหนิง จากนั้นเดินสายไปตีกอล์ฟที่สนามนิกันติ นครปฐม 4 พี่น้องแห่ง “สะสมทรัพย์” ทั้ง “เผดิมชัย-ไชยยศ-ไชยา-อนุชา” ตั้งแถวรับบรรยากาศชื่นมื่นสุดอภิรมย์เลย

ที่ถูกจับตามากที่สุด คาดว่าน่าจะมีไฮไลต์สำคัญ พอเห็นตุ๊กตารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งได้รางๆ

ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม “บิ๊กตู่” จะนำ ครม. ไปประชุมสัญจรที่จังหวัดสุรินทร์กับบุรีรัมย์ และมีกำหนดการพบปะประชาชนที่สนามช้างอารีน่า พร้อมกับตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพแข่งขันจักรยานชิงแชมป์โลก สนามที่ 15

รู้กันอยู่แล้วว่า “บุรีรัมย์” ถิ่นของใคร และ “ช้างอารีน่า” อันเป็นสนามเหย้าของ “ปราสาทสายฟ้า” เจ้าของชื่อ “เนวิน ชิดชอบ” คนคนเดียวกับที่เสียงดังฟังชัด ซ้ายหันขวาหันในพรรค “ภูมิใจไทย” ได้ดีที่สุด

“หนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เจอกับใคร เสียงสูง เสียงใหญ่ได้ แต่กับพี่โอ่ง ชิดซ้าย

“บิ๊กตู่” เดินสายมาทั่ว “สุพรรณบุรี” ตีกรรเชียงไป “สุโขทัย” สัญจรไพรไปภาคตะวันออก หรือเยือนนครปฐม ก็ยังไม่มีใครเยี่ยมวรยุทธ์ ครบทุกองค์ประกอบเทียบเท่า ดังนั้น การต้อนรับอาคันตุกะในฐานะ “เจ้าบ้าน” ของ “เนวิน ชิดชอบ” ในต้นเดือนพฤษภาคม คงต้องมี “คำตอบ” รัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้ง

ใครผสมกับใคร เป็นฐานหนุนมั่ง

ไผเป็นไผ ดูไม่ออก รู้แต่ว่า “ประชาธิปัตย์” กำลังจะเสียรังวัดแบบสุดๆ

ทั้งลูกพรรคถูก “ดูด”

“ท่อน้ำเลี้ยง” ก็น่าจะแย่ลง