ดีเบตเลือกตั้ง ‘ปธน.สหรัฐ’ ยกแรก ‘ฮิลลารี’ ชนะขาด

การดีเบตแสดงวิสัยทัศน์แบบเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไป มีขึ้นเมื่อคืนวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเช้าวันที่ 27 กันยายนในประเทศไทย

บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดหมายกันว่า การปรากฏตัวเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกของทั้งคู่ที่มีขึ้น 6 สัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้ง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน จะสามารถดึงดูดผู้ชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้จำนวนมหาศาล ที่อาจมากถึง 100 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

โดยสถิติก่อนหน้านี้คือการดีเบตเมื่อ ปี ค.ศ.1980 ระหว่างประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ จากพรรคเดโมแครต และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย โรนัลด์ เรแกน ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน ที่มีผู้ชม 80.6 ล้านคน

การดีเบตครั้งนี้ที่จัดขึ้นที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยฮอฟสตราในเมืองเฮมป์สเตต รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมี นายเลสเตอร์ โฮลต์ ผู้ประกาศข่าวภาคค่ำรายการไนต์ลีนิวส์ ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ยังถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในอีกทางหนึ่งด้วย นั่นคือไม่เคยมีผู้หญิงเข้าร่วมในการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อนนับตั้งแต่มีการจัดขึ้นเมื่อปี 1960

000_gi5fw

แม้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จะตัดสินใจแล้วก่อนหน้าการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน และการดีเบตของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 ครั้ง (อีก 2 ครั้งจะมีขึ้นในวันที่ 9 และ 19 ตุลาคม) จะมีผลแค่เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นเท่านั้น

แต่การดีเบตจะยังคงส่งผลต่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า ใครควรจะมารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก บารัค โอบามา และดูเหมือนว่า จำนวนผู้ที่ยังลังเลจะมีมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อ้างอิงจากผลสำรวจของเอ็นบีซี

แต่เมื่อถึงเวลาจริงแล้ว การดีเบตยกแรกนี้กลับไม่ได้ดุเดือดอย่างที่คาดหวังกันไว้ก่อนหน้า

โดยเริ่มต้นด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย เห็นได้จากการที่ทรัมป์ เรียกขานคู่แข่งของตนอย่างสุภาพด้วยตำแหน่งหลังสุดในฝ่ายบริหารอย่างเป็นทางการว่า “ท่านรัฐมนตรีคลินตัน”

ในขณะที่ ฮิลลารี เรียกตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างคนที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อนด้วยชื่อต้นว่า “โดนัลด์” แต่นั่นเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยเล็กๆ ของการดีเบตหนนี้เท่านั้น

วัดตามมาตรฐานโดยทั่วไปแล้ว ประสบการณ์ ความรู้ ภาวะทางอารมณ์ และการเตรียมตัวที่ดีกว่าของฮิลลารี เอาชนะความไม่อยู่กับร่องกับรอย โหวกเหวกโวยวายของทรัมป์ไปได้แบบขาดลอย

เห็นได้ชัดเจนจากโพลสำรวจทันทีหลังจบการดีเบตของซีเอ็นเอ็น/โออาร์ซี ที่ระบุว่า ผู้ชมหลายสิบล้านคนทั่วสหรัฐที่รับชมการถ่ายทอดสดยกให้ ฮิลลารี เป็นผู้ชนะการดีเบตหนนี้เหนือทรัมป์ ด้วยสัดส่วนสูงถึง 62 ต่อ 27 เปอร์เซ็นต์

การดีเบตหนนี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้จะพยายามควบคุมตัวเองมากเพียงใด ทรัมป์ก็ยังคงเป็นทรัมป์อยู่วันยังค่ำ

การดีเบตดำเนินไปได้ไม่เท่าไหร่ ทรัมป์ก็เริ่มพูดแทรก ขัดจังหวะ ทั้งต่อ โฮลต์ ผู้ดำเนินรายการและทั้งต่อฮิลลารี เป็นระยะๆ ทั้งออกท่าออกทาง ผายมือ จีบนิ้ว ชี้นิ้ว หรี่ตา และแสดงสีหน้าสารพัดอย่างตั้งแต่ไม่พอใจ ไม่เชื่อ

ไปจนถึงเกรี้ยวกราดตลอดเวลา

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS
AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ทรัมป์ ยังคงใช้เรื่องโกหก หลอกลวง จริงบ้างไม่จริงบ้าง และเรื่องที่ทึกทักเอาเองว่าจริง เหมือนอย่างที่เคยกล่าวปราศรัยไว้ในการรณรงค์หาเสียงมาโดยตลอด มานำเสนอและใช้ในการโจมตี ฮิลลารี

จนกระทั่งมีการ “แฟกต์ เช็ก” หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสื่อต่างๆ ยาวเหยียด จนกระทั่งเมื่อเผชิญหน้ากับความจริงหลายๆ เรื่องที่ถูกโยนเข้าใส่ ทรัมป์ต้องใช้วิธีเลี่ยงคำถาม เบี่ยงประเด็นออกไปหรือกระทั่งไม่ตอบคำถามเอาดื้อๆ เลยก็มี

ตัวอย่างเช่น เรื่องการไม่แสดงรายการยื่นเสียภาษี ที่ถูกฮิลลารีตั้งข้อสังเกตพร้อมเหน็บแนมอย่างเจ็บแสบว่า ที่ไม่ยอมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวเพราะว่าทรัมป์ อาจไม่ได้รวยอย่างที่คิด ไม่ได้ใจบุญสุนทานบริจาคเงินจำนวนมากมายอย่างที่กล่าวอ้าง หรืออาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้ด้วยซ้ำ ที่ทรัมป์ถึงกับต้องเบี่ยงประเด็นว่า จะยอมเปิดเผยเรื่องดังกล่าว หากฮิลลารียอมเปิดเผยอีเมล 33,000 ฉบับที่ถูกลบไปจากเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

ความนิ่งและมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำของฮิลลารี ทำให้การดีเบตกลายเป็นเหมือนการ “สอนมวย” กันกลายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องเหยียดเพศตรงข้าม ที่ฮิลลารี หยิบขึ้นมารุกไล่ทรัมป์จนหาทางออกจากมุมไม่เจอ

 

แม้ว่าโพลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกันจะบ่งชี้ว่า ผู้คนกระหายความเปลี่ยนแปลง

โดยส่วนใหญ่มองว่าประเทศนี้อยู่บนเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง

แต่บุคลิกลักษณะนิสัยที่หุนหันพลันแล่น และแนวโน้มที่มักจะไม่อยู่กับร่องกับรอยที่ทรัมป์แสดงออกมาให้เห็นอีกครั้งในการดีเบตครั้งนี้ เป็นเหมือนเครื่องพิสูจน์อีกคำรบว่าทรัมป์เป็นผู้นำสารที่แย่

สุดท้ายแล้วการค่อยๆ “ฆ่าตัวตาย” กลางเวทีของทรัมป์ ทำให้งานของฮิลลารีง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งถกกันนานไป ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอาการ “วุฒิภาวะบกพร่อง” ของมหาเศรษฐีรายนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกับแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระหว่างสองคนนี้ ใครคือผู้ที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมากกว่ากัน