ภิกษุณีก้าวไกลในสงขลา

ภิกษุณีธัมมนันทาเดินสายลงไปให้การบรรพชาสามเณรีที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม เกาะยอ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561

คราวนี้ มีผู้บวชสามเณรี 26 รูป คนเล็กที่สุด อายุ 7 ขวบ ฟันแท้ยังขึ้นไม่เต็มเลยค่ะ

ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 แต่มาต่อท้ายด้วยภิกษุณีอาราม เมื่อ พ.ศ.2555 เมื่อแม่ชีทั้ง 9 รูปที่อยู่ที่นั่น บวชสามเณรีทั้งหมด

ปัจจุบัน ภิกษุณีที่เป็นหัวหน้าชื่อท่านภิกษุณีธัมมกมลา เวลานี้ มีที่บวชภิกษุณีแล้ว 7 รูป นอกนั้นยังเป็นสิกขมานาและสามเณรี

วันที่ 20 กรกฎาคม จะมีที่ประกาศสิกขมานาอีก 2 รูป นั่นหมายถึงว่า รอเข้าแถวและพร้อมที่จะอุปสมบทเมื่อผ่าน 2 พรรษา ในต้นปีหน้า เมื่อจะมีการอุปสมบทนานาชาติที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ภิกษุณีอารามแห่งนี้ก็จะมีสมาชิกที่จะไปอุปสมบทด้วย

จำนวนภิกษุณีสงฆ์ก็เพิ่มขึ้นทีละขั้นตอนเช่นนี้

 

หลังจากบรรพชาเสร็จ ท่านพระครูวาทีธรรมวิภัช (ดร.พระมหาสุชาติ) เจ้าอาวาสวัดแหลมพ้อ เกาะยอ ก็กรุณาให้โอวาท

นานๆ ผู้เขียนจะได้มีโอกาสฟังธรรมะที่ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ได้สาระ จึงรู้สึกอิ่มเอิบใจเป็นพิเศษ

ท่านว่า ภาษาบาลีว่า สาธุโข ปัพพัชชา การบรรพชาเป็นสิ่งที่ดี ผู้มาร่วมก็ดี ความดีเป็นมงคล เรียกว่า ชีวิตที่คิดดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี เป็นมงคลทั้งนั้น อย่าไปหาความดีที่อื่น อยู่ที่ตัวเราเป็นที่ตั้ง ความคิดดี การพูดการกระทำที่ดี เป็นสิ่งที่คงทน ความดีเป็นปัจจัตตัง ต้องทำที่ตัวเรา

ท่านทบทวนกับสามเณรีว่า ตอนที่บวชนั้น สามเณรีถือว่าเป็นสามเณรีทันทีที่กล่าวไตรสรณคมน์ครบสามครั้งทั้งพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

สามเณรีต้องถือศีล 10 แล้วก็ขอนิสสัยจากปวัตตินี คือขออยู่ด้วย จึงกล่าวว่า อหัง อัยเย นิสสยัง ยาจามิ ที่ขออยู่ด้วยนี้ ขออยู่ด้วยในฐานะศิษย์อยู่กับอาจารย์ เรียกว่า ขอแบบมีพิธีกรรม ขออยู่ด้วยในฐานะสามเณรี จึงต้องเข้าถึงไตรสรณคมน์ ถือเป็นเหล่ากอของพระภิกษุณี ต้องรู้กฎกติกา รู้ศีล 10 รู้กิจวัตร บิณฑบาต ปัจจเวกขณ์

เรียกว่าการเป็นสามเณรีจึงเป็นการเข้ามาอย่างถูกต้องตามพิธีกรรม

 

ทีนี้ ปวัตตินี ก็บอกว่า ปฏิรูปัง คือต้องปฏิรูป ปรับเปลี่ยนตนเองนะ

ประการแรก ต้องเปลี่ยนที่ใจ ต้องยอมรับในสิ่งที่เราไม่คุ้น ทั้งการกิน การอยู่ จะถือตามอำเภอใจของตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าหากว่า ใจไม่ยอมรับ ก็ต้องถอยออกไป คือ ต้องสึกออกไป

ประการที่สอง เปลี่ยนที่วาจา คือ คำพูด ภาษาไทยนั้น กำหนดภาษาสำหรับคนสามกลุ่ม คือ เจ้านาย พระสงฆ์ และชาวบ้าน ภาษาที่ใช้กับผู้ที่บวชเป็นสามเณรและเป็นพระก็เป็นอีกภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ ต้องปรับตัวเองให้ได้ จะพูดกูมึงเหมือนที่เคยทำในสมัยที่เป็นฆราวาสไม่ได้

ประการที่สาม ปรับเปลี่ยนที่กาย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน เนื้อหนัง ต้องปลงผม ต้องตัดเล็บ ให้สมกับเป็นสมณะ

นักบวชไม่ว่าหญิงหรือชายถ้ายังไว้เล็บยาว ก็เรียกว่า ไม่ปรับนิสัยให้สมกับเครื่องแบบผ้ากาสาวพัสตร์ที่สวมใส่ ชาวบ้านเห็นก็ตำหนิ ไม่ศรัทธา

ดังนั้น ผู้ทรงศีลจะต้องปรับตนให้อยู่ในกรอบของศีล จารีต และประเพณี เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นสมณะ

 

ต่อมาปวัตตินีสอนว่า โอปายิกัง คือให้น้อมกายใจให้เข้าถึงที่พึ่งอันสูงสุดในพระไตรรัตน์ ที่พึ่งที่สูงสุด คือ พระพุทธคุณ ถึงที่พึ่งในพระบริสุทธิคุณ ด้วยการปฏิบัติตามศีลและข้อวินัย ถึงในพระปัญญาคุณ คือ เข้าใจพระธรรมโดยเหตุผล เข้าถึงในพระมหากรุณาคุณ ด้วยการไม่เห็นแก่ตัว

ท่านอาจารย์สอนให้ตั้งมั่นอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา ชั่วดี อยู่ที่ศีล ส่วนสมาธินั้น เป็นเครื่องป้องกันมาร มีปัญญาที่จะรู้จักใช้เหตุผล คิดให้รอบคอบ เอาประโยชน์สูงสุด รักษาพระธรรมวินัยไว้ให้ได้ ถ้าเป็นสุปัญญา ก็เข้าสู่มรรคผลนิพพาน ถ้าเป็นทุปัญญา ก็เฉโก ไปตามทางของเปรต อสุรกาย และท้ายสุด คือนรก

พระอาจารย์อธิบายคำว่า อริยสงฆ์ ให้ดูตามพระที่เป็นอริยะ ว่าท่านปฏิบัติตามธรรมข้อไหนที่ทำให้ท่านเป็นอริยะ แล้วปฏิบัติตาม

สำหรับอริยสงฆ์นั้น นางวิสาขาก็เป็นสงฆ์ เป็นสงฆ์ที่เกิดจากการละสังโยชน์ สำหรับสมมติสงฆ์นั้น ต้องเป็นสี่รูปขึ้นจึงจะเรียกว่าสงฆ์ แต่ถ้าเป็นอริยสงฆ์ รูปเดียวก็เป็นสงฆ์

 

เมื่อปวัตตินี พูดว่า “ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ” เณรจะต้องรู้ว่า เมื่อบวชแล้ว จะเป็นจุดศูนย์รวมการมองของคนอื่น ใครเห็นก็เกิดศรัทธา หน้าที่ของคนบวชคือ ต้องปลูกศรัทธา ยังความเลื่อมใสให้มากขึ้น ผู้บวชต้องเป็นที่พึ่งของตนเองและคนอื่น

พระอาจารย์พูดถึงว่าสภาพพุทธศาสนาในปัจจุบัน ถ้าเป็นไม้ผล ก็เป็นชนิดที่บ้าใบ การที่เราปลูกมะม่วง เราก็หวังกินผลมะม่วง

แต่ถ้ามันบ้าใบ คือ ดกแต่ใบ เจ้าของก็จำเป็นต้องตัด ต้องลิดกิ่งแต่งยอด เพื่อให้ได้ผล ให้เป็นหน้าที่ที่เราช่วยกันคิดว่า

ทำอย่างไรศาสนาพุทธจะผลิดอกออกผล

นี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยกันทำช่วยกันปรับเปลี่ยน

 

ในการไปบรรพชาสามเณรีคราวนี้ ได้พบอดีตท่านผู้ว่าฯ ท่านสมพงษ์ ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาหลายจังหวัด แต่ไปเกษียณที่จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเป็นชาวจังหวัดสงขลา บ้านเกิดของท่านอยู่ที่ ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ ท่านมีความสนใจจะสร้างวัดภิกษุณีให้ มาดักรอท่านธัมมนันทา ตอนที่ท่านธัมมนันทาสอนเณรบวชใหม่อยู่นั้น ก็เห็นคุณลุงคนหนึ่งมานั่งฟังอยู่หลังห้อง พอสอนเสร็จแล้ว จึงทราบว่าเป็นท่านผู้ว่าฯ อุตส่าห์มารอ เพื่อที่จะนัดหมายให้ไปดูที่ที่ท่านจะสร้างวัดถวาย

ตกลงเราไปเยี่ยมท่านตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านอายุ 82 แล้ว แต่ยังแข็งแรง ขับรถเอง สถานที่ที่จะสร้างวัดภิกษุณีนั้น อยู่บนถนนตรงข้ามที่ทำการ อบต.ท่าหิน มีโรงอาหารใหญ่ ที่ดัดแปลงให้ใช้งานเป็นศาลาได้เลย

ท่านธัมมนันทาท่านมีวิธีคิดว่า ต้องกำหนดพื้นที่ที่จะเป็นอุโบสถให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยวางตำแหน่งกุฏิพระ

คณะที่ไปนอกจากท่านผู้ว่าฯ แล้ว ก็มีภิกษุณีจากเกาะยออีก 4 รูป โดยที่วางแผนกันว่า ภิกษุณีที่บ้านเกิดอยู่ที่ท่าหินนี้ จะมาเป็นเจ้าอาวาสดูแลงานบุกเบิกรุ่นแรก หลังจากที่ท่านผู้ว่าฯ ท่านรับปากว่าจะจัดการสร้างกุฏิสงฆ์ 10 ห้องทันที ท่านจะทำถนนให้ผ่านด้านหน้าของโบสถ์ด้วย

งานพระศาสนาในส่วนของภิกษุณีสงฆ์ก็รุดหน้าไปในลักษณะนี้ ผู้เขียนคิดว่า ในช่วงเมษายนปีหน้า ท่านธัมมนันทาน่าจะต้องรับนิมนต์ลงมาบวชเณรให้ที่วัดภิกษุณีที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นที่ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา นี้เอง

เมื่ออยู่กันเป็นสงฆ์แล้ว จึงค่อยสมมติสีมา เพื่อให้เป็นที่ทำสังฆกรรม ซึ่งในขั้นแรกยังไม่ต้องลงทุนสร้างพระอุโบสถ เพียงแต่กำหนดเขตสีมาให้ชัดเจน ท่านธัมมนันทาท่านว่า อุโบสถไม่ต้องทำหลังใหญ่ เพราะเป็นที่ประกอบสังฆกรรมของสงฆ์เท่านั้น ส่วนศาลา และวิหาร ที่จะรับรองญาติโยมสมควรทำให้ใหญ่โตกว้างขวางได้เพื่อรองรับคนจำนวนมากได้

ที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาคุณภาพของพระภิกษุณีและสามเณรีให้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแก่ตนและคนอื่น

วัตรทรงธรรมกัลยาณี ซึ่งเป็นภิกษุณีอารามแห่งแรกในประเทศไทย มีอายุมา 60 ปีแล้ว จึงเห็นความสำคัญในการจัดการอบรมพระภิกษุณี สามเณรี ซึ่งทำทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายน ในปีนี้ก็เช่นกัน จะมีการอบรมพระวินัยเริ่มวันที่ 1 มิถุนายนค่ะ สมัครเข้ามาได้ไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่สงขลานั้น มีทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามเป็นหลักอยู่ทางปักษ์ใต้ มีพระภิกษุที่สั่งสอนอบรมให้ภิกษุณีมีวัตรปฏิบัติงดงาม

และเวลานี้ดูเหมือนว่า งานของภิกษุณีที่สงขลาเริ่มจะแตกเซลล์ขยายจากเกาะยอไปสทิงพระอีกด้วย ล้วนเป็นเรื่องที่ดีงามควรสนับสนุนทั้งสิ้น

ขอให้ญาติโยมทางสงขลาดูแลหน่อเล็กๆ ของพุทธบริษัทที่กำลังเติบโตด้วย