บรูไนกับจีนในมิติใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…จีนกำลังให้ข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจบรูไนในกรอบ Belt and Road Initiatives…”

หากใครติดตามความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนจะมีความรู้สึกอย่างน้อยสองอย่าง

อย่างแรกคือ บรูไนประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยของอาเซียนต้องได้รับการกระตุ้นทางเศรษฐกิจด้วยหรือ

อย่างที่สองคือ เป็นเรื่องใหม่ปนเหลือเชื่อว่ายุทธศาสตร์ใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 ของสาธารณรับประชาชนจีนที่เรียกว่า ข้อริเริ่มแถบและถนน (Belt and Road initiatives) ที่ครอบคลุมยูเรเซียถึง 65 ประเทศจะมีบรูไนของอาเซียนด้วยหรือ

 

บรูไนในอดีต

บรูไนเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปกครองโดยระบอบสุลตาน เป็นประเทศมุสลิม เป็นประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยมากจากทรัพยากรธรรมชาติคือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

แต่เมื่อบรูไนได้รับเอกราชจากอังกฤษในช่วงกลางทศวรรษ 1980 แล้ว ถึงแม้บรูไนจะร่ำรวยด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากแค่ไหน แต่ผู้นำของบรูไนก็ได้ดำเนินการอยู่ 2 อย่างพร้อมๆ กัน

กล่าวคือ ผู้นำของบรูไนรู้ว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ประเทศของตนมีมาก แต่ก็มีวันหมดสิ้นและย่อมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนได้ด้วย

ดังนั้น ผู้นำบรูไนจึงมีนโยบายสำรองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งลดการพึ่งพาแหล่งรายได้ของตนจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

โดยนำเงินทุนจำนวนหนึ่งไปลงทุนในตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศ ทั้งในอังกฤษและยุโรป อีกทั้งบรูไนยังลงทุนธุรกิจกิจการโรงแรมในสิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างที่สองที่สำคัญคือ บรูไนเห็นว่าตนเป็นประเทศเล็ก จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และก็มีบทบาทสำคัญด้านภูมิภาคเสมอมา ทั้งเคยเป็นประธานอาเซียนและบรูไนยังเสนอประเด็นวาระเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการประชุมอาเซียนอีกด้วย

ทว่า ช่วง 3 ปีแห่งภาวะตกต่ำของราคาน้ำมันในตลาดโลก ได้ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจบรูไน จนมีผลต่อรายได้ประชาชาติของประเทศ ในขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกทั้งหลายกลับมีเศรษฐกิจที่เติบโต

จนกระทั่งมีการวิจารณ์ว่า บรูไนกำลังออกจากอุตสาหกรรมน้ำมันที่ประเทศบรูไนได้เคยดำเนินมามากกว่า 80 ปี

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของบรูไนมีถึง 2.5% ในปี 2016 อีกทั้งภาวะถดถอยนี้ยังคงเป็นไปเรื่อยๆ พลังงานอันเป็นรายได้ของประเทศราว 60% ของ GDP คือมูลค่า 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา รัฐบาลบรูไนขาดรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

จึงมีผลต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลบรูไน

เมื่อมังกรผงาด

ตอนนี้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง (Xi Jinping) กำลังเข้ามาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของบรูไน

โดยอยู่ในข้อเสนอทางการเงินมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐในกรอบของ BRI ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

BRI เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมา 5 ปีแล้ว เป็นยุทธศาสตร์ที่แสดงถึงความทะเยอทะยานของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และเปลี่ยนเส้นทางการค้า (Trade route) ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในยูราเซีย 65 ประเทศด้วย

กล่าวในแง่บรูไน การปรับเครื่องมือทางเศรษฐกิจของประเทศ บรูไนต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอก

และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ให้การสนับสนุนทางการเงินครั้งนี้แก่บรูไน

สำนักข่าวทางการของจีนคือ ซินหัว รายงานถึงธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China)เปิดสาขาในบรูไนในปี 2016 ในขณะที่ธนาคารต่างประเทศอื่นๆ ได้หนีจากบรูไนและปิดสาขาธนาคารลง

เดือนกันยายน 2017 ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และสุลตาน ฮันซัน โบลเกีย (Sultan Haji Hassanal Bolkiah) ตกลงเข้าสู่ความร่วมมือระหว่างกันในบริบทของ BRI (1)

บริษัทของจีนคือ Hengyi Petrochemical Co. เสนอพันธบัตร (Bond)มูลค่า 79 ล้านเหรียญสหรัฐในตลาดค้าขายพันธบัตรในเซินเจิ้น (Shenzhen Stock) เพื่อขายให้บรูไนเอามาลงทุนในพื้นที่เกษตรของบรูไน การลงทุนของบริษัทจีน บริษัท Hengyi Petrochemical Co. ยังเข้ามาร่วมทุนด้วยมูลค่ามากกว่า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันบรูไน

โครงการนี้จะทำให้บรูไนใช้พลังงานฟอสซิลทั้งหมดของตน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การสำรองน้ำมันจะถูกนำมาใช้

ในปี 2017 รัฐบาลบรูไนเปิดจุดบินให้กับการบินแบบ Charter Flight ใน 2 เมืองของสาธาณรัฐประชาชนจีน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนให้มากขึ้น

 

ผลประโยชน์น้ำมันและอื่นๆ

ในขณะที่บรูไนกำลังกระจาย (Diversify) เศรษฐกิจของตนที่เคยพึ่งพาแต่การขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

แต่ปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีนและบรูไนกลับร่วมมืออย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมพลังงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองก่อตัวขึ้นด้วย รัฐบาลบรูไนครอบครอง Louisa Reef ใน 200 ไมล์ทะเลอันอยู่นอกเหนือเขตเศรษฐกิจในทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลสาธารรรัฐประชาชนจีนอ้างความเป็นเจ้าของน่านน้ำนี้ และจะไม่มีโอกาสขัดแย้งด้านอธิปไตยของทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและบรูไน

ทางการจีนใช้การเจรจากับรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ อันอาจเป็นการเจรจาที่คล้ายๆ กับที่ทางรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเจรจากับรัฐบาลบรูไน ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนกันได้

นี่เป็นแนวโน้มใหม่ที่ BRI ของทางการจีนใช้ในบรูไน ซึ่งบรูไนอาจสูญเสียมากกว่าได้ประโยชน์ก็ได้

—————————————————————————————————————
(1) “China, Brunei to boost ties” Xinhua 13 October 2017.